ข่าว: SMF - Just Installed!
 
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
+  กระดานธรรมะ
|-+  กระดานสนทนาธรรม
| |-+  ชี้แจงข้อธรรม
| | |-+  อรูปฌาน โง่ ? อาฬารดาบส และอุทกดาบส
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: อรูปฌาน โง่ ? อาฬารดาบส และอุทกดาบส  (อ่าน 11444 ครั้ง)
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2008, 03:23:38 PM »

          เนื่องด้วยคนมากมายเข้าใจว่า ผู้ทรงฌานอยู่ จะต้องไม่มีปัญญา บรรลุปัญญาอันบริสุทธิ์ไม่ได้ เจริญสติภาวนาไม่ได้ โดยเฉพาะอรูปฌาน ซึ่งหลายคนเข้าใจว่า โง่ ควรพิจารณาดูนัยยะคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถี่ถ้วน ดังเช่น เมื่อครั้งหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้โดยชอบ ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงดำริว่าจะไม่น้อมพระทัยไปเพื่อการแสดงธรรม เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น เป็นสิ่งยากแก่สรรพสัตว์ทั่วไปจะพึงเห็นตามได้ พรหมท่านหนึ่ง จึงได้มาอาราธนาพระพุทธองค์ให้เผยแพร่พระธรรม โดยอ้างเหตุว่า สัตว์ที่ธุลีในตาน้อย สามารถรู้ทั่วถึงธรรมได้ มีอยู่ หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงวินิจฉัยแล้ว จึงตัดสินพระทัยเผยแพร่ ดังนั้น จึงทรงพิจารณาว่า ผู้ใดบ้าง ที่จะเป็นผู้ที่บรรลุธรรมที่พระองค์จักแสดงได้รวดเร็วที่สุด ก็จึงทรงระลึกได้ถึงผู้ที่บรรลุอรูปฌานขั้นสูงสุดทั้งสองท่าน คือ ท่านอาฬารดาบส และท่านอุทกดาบส ดังใจความตอนหนึ่งในพระไตรปิฏก ดังนี้



พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑


พุทธปริวิตกกถา

            [๑๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้แล เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไรเราพึงแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน. ทีนั้นเทพดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้วพระพุทธเจ้าข้า. แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่า อาฬารดาบสกาลามโคตรสิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว จึงทรงพระดำริว่า อาฬารดาบสกาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน.
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรม แก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า อุทกดาบส รามบุตรนี้แลเป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่อุทกดาบส รามบุตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน.  ทีนั้น เทพดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อุทกดาบส รามบุตรสิ้นชีพเสียวานนี้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า. แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่า อุทกดาบส รามบุตรสิ้นชีพเสียวานนี้แล้ว จึงทรงพระดำริว่าอุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน.
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก ได้บำรุงเราผู้ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรอยู่ ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อนครั้นแล้วได้ทรงพระดำริต่อไปว่า บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ. พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ ณ  อุรุเวลาประเทศตามควรแก่พุทธาภิรมย์แล้วเสด็จจาริกไปทางพระนครพาราณสี.


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------


           ดังนี้ จะเห็นว่า เหตุที่พระองค์ทรงระลึกถึงดาบสทั้งสองก่อนนั้น มิใช่เพราะเคยมีคุณแก่พระองค์มาก่อน แต่เพราะเห็นว่า เป็นผู้ฉลาด จะเป็นผู้บรรลุธรรมได้โดยฉับพลัน ผิดจากคำบางคำที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้

           อย่างไรก็ดี ถึงแม้พระพุทธองค์จะได้ยกย่องอานิสงค์ของผู้ได้ฌาน สมาบัติ กสิณ ฯลฯ ว่าเป็นเลิศในโลก แต่ก็ยังไม่อาจเทียบได้กับการตรัสรู้พระนิพพาน อันเป็นธรรมอยู่เหนือโลก ไม่ข้องในโลก ดังนั้น ผู้หลงอยู่ในฌาน หรืออำนาจวิเศษในโลกต่างๆ ย่อมกล่าวได้ว่า เสื่อมจากธรรมอันประเสริญยิ่งกว่า คือ พระนิพพานธรรมนั่นเอง แต่ถึงกระนั้น ก็มิใช่เหตุแก่บุคคลทั่วไป ในการตำหนิธรรมเหล่านี้ เนื่องด้วย เป็นธรรมที่ผู้เข้าถึงอินทรีย์เหล่านี้แล้ว จึงจะเป็นผู้วินิจฉัยได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า วิสัยของผู้ได้ฌาน เป็นหนึ่งในอจินไตยสี่ ดังตอนหนึ่งในพระไตรปิฏก ดังนี้




พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต


อจินติตสูตร
 
            [๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 15, 2008, 12:29:56 AM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
gig
Member
Newbie
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8


« ตอบ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2009, 10:18:07 PM »

ก็ไม่ได้อยากคิดจนเป็นบ้าหรอกนะครับ แต่มีข้อข้องใจเล็กน้อย จึงอยากปรับแก้ความเขลาของตนเองให้กระจ่างขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยครับ ขออธิบาย อจินไตยตามความเข้าใจส่วนตัวก่อนนะครับ หากผิด ก็ช่วยแก้ไข ด้วยนะครับ

อจินไตย : สิ่งที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจตามปกติสามัญ ถ้าเรายังไม่ได้ประสบสิ่งนั้นๆด้วยตนเอง พิสูจน์ไม่ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ แต่มีอยู่จริง ?

พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย : (ข้อนี้ไม่กล้าคิดคำตอบเองครับ-ช่วยอธิบายพอเข้าใจก็พอครับ)

ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน : คำว่าฌานในที่นี้คืออภิญญาฌาน(ฤทธิ์?) ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ย่อมหมายถึงถ้าเรายังไม่มีอภิญญาก็ไม่ควรไปคิดว่าบุคคลผู้นั้นได้อภิญญาฌานมาอย่างไรใช่หรือไม่ และไม่ควรไปคิดว่าเราจะมีบ้างอย่างเขาไหม ทำอย่างไรจึงจะมีได้ เพราะเป็นสิ่งที่ฝึกเอาเองไม่ได้ ถ้ามีวาสนาก็จะได้มาเองกระนั้นหรือ ? เพราะเห็นมีบางสำนักเขาจัดให้มีการฝึกอภิญญา และเหมือนว่าจะมีกันได้ทุกคนถ้าฝึกอย่างถูกขั้นตอน ?

วิบากแห่งกรรม : ตามที่ศึกษามาทำให้ทราบว่ากรรมนี้เกิดจากวิบากที่เราได้เคยกระทำมาในชาตินี้หรือก่อนๆก็ตาม แต่ถ้าเราหมกมุ่นครุ่นคิดว่าไปทำอะไรกับใครไว้ที่ไหน เมื่อไร โดยที่เราไม่มี "บุพเพนิวาสานุสสติญาณ" จึงทำให้เป็นบ้าใช่หรือไม่

ความคิดเรื่องโลก :  คือคิดว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร โลกนี้เกิดมาอย่างไร ใช่หรือไม่ แต่ในแง่วิทยาศาสตร์ก็คิดหาคำตอบต่างๆนี้อยู่ โดยหาหลักฐานต่างๆมาอ้างอิงทฤษฎีของตน  ตัวอย่างเช่นโลกเป็นส่วนหนึ่งที่หลุดออกมาจากดวงอาทิตย์ และก็จัดเป็นหลักสูตรให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วไป อย่างนี้แล้วทำไมถึงไม่เป็นบ้ากันไปหมด ?
บันทึกการเข้า
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 03, 2009, 04:26:12 PM »


          อจินไตย ๔ ประการ เป็นธรรมที่กำหนดรู้ได้ด้วยอินทรีย์เท่านั้น ไม่อาจรู้ได้ด้วยตรรกะทั่วไป หรือการคาดเดา หรือด้วยการรู้เป็นบางส่วน มิเช่นนั้นแล้ว จะหลง

          พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น บุคคลจะรู้ทั่วถึงได้ด้วยภูมิที่บริบูรณ์แล้วเท่านั้น แต่อาจรู้บางส่วนได้ ด้วยการอนุเคราะห์ ไม่สามารถวิเคราะห์เทียบเคียงได้ด้วยวิสัยของบุคคลทั่วไป

          คำว่า ฌาน หมายถึง เครื่องเพ่ง ปกติใช้โดยความหมายถึงระดับความมั่นคง และความประณีต ของสมาธิ ก็คือ ระดับของการบรรลุสมาธิ นั่นเอง เป็นคนละความหมายกับคำว่า ญาณ ที่ใช้ตามหลังคำว่า อภิญญา นั้น ใช้คำว่า ญาณ หรือ ญาณะ แปลว่า ความรู้ยิ่ง ไม่ใช้คำว่า ฌาน ดังนั้น ไม่ควรใช้คำว่า อภิญญาฌาน แต่ใช้คำว่า อภิญญาญาณ โดยความหมายว่า อภิ-ปัญญา-ญาณ ส่วนการบรรลุอภิญญาญาณนั้น อาศัยการบรรลุฌานขั้นต่างๆ เมื่อตั้งมั่นทรงอยู่ในฌานนั้นๆแล้ว จึงน้อมใจไปเพื่อความรู้อันยิ่งในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การเห็นในสภาพ หรือสถานที่ ที่เกินขอบเขต พ้นไปจากวิสัยทั่วไปที่ตาเนื้อ หรือตาของมนุษย์ จะพึงเห็นได้ เรียกว่า ทิพยจักษุ ฯลฯ เป็นต้น ส่วนว่า บุคคลใดจะบรรลุหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุ อันเป็นปัจจัยในการบรรลุ หากเหตุพร้อม และมีกำลังมากพอ ญาณนั้นก็ย่อมปรากฏ ย่อมเป็นไป

          เรื่องวิบากแห่งกรรมนั้น เข้าใจไปตามที่บอกมาอย่างนั้น ก็พอจะได้

          ความคิดเรื่องโลก ตามที่ได้ถามมาว่า ทำไมถึงไม่เป็นบ้ากันไป นั่นเป็นเพราะนักวิชาการพวกนั้น ไม่ได้คิดเอาเองทั้งหมด แต่เป็นการวิเคราะห์ ตั้งสมมุติฐาน หรือทฤษฏี ไปตามหลักการ ไปตามสภาพ ที่ตนสามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักวิชาของตน แล้วนำมาปะติดปะต่อ แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่พ้นการเดา แต่ก็ยังไม่สุดโต่งไปเสียทีเดียว เพราะรู้ว่า ยังเป็นเพียงทฤษฏีอยู่ ยังไม่ใช่ข้อพิสูจน์ ส่วนพวกที่สุดโต่งว่าต้องเป็นเช่นนั้นจริง ก็ย่อมเป็นผู้ประกอบไปในความหลงแล้ว ความหลงทั้งหลาย ล้วนเป็นวิปลาส เพียงแต่ ถ้าไม่เกินไปกว่าเกณฑ์มาตรฐานของคนทั่วๆไปในสังคมนั้นๆ ชาวบ้านก็ไม่เรียกว่า วิปลาส ถึงแม้ว่าจริงๆแล้ว จะประกอบอยู่ด้วยส่วนของความวิปลาสอยู่บ้างก็ตาม ส่วนนักศึกษา หรือนักเรียน ที่อ่าน ท่อง จดจำ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้อื่นเขียนเอาไว้ในตำรา นั่นก็เป็นความพยายามที่จะเข้าใจหลักการในตำรานั้นเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว ยังไม่ใช่การครุ่นคิดอย่างมุ่งมั่น ว่าจะรู้กำเนิดของโลก หรือกำเนิดของจักรวาลได้ อย่างแท้จริง





« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 04, 2009, 02:52:19 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง