เนื่องด้วยคนมากมายเข้าใจว่า ผู้ทรงฌานอยู่ จะต้องไม่มีปัญญา บรรลุปัญญาอันบริสุทธิ์ไม่ได้ เจริญสติภาวนาไม่ได้ โดยเฉพาะอรูปฌาน ซึ่งหลายคนเข้าใจว่า โง่ ควรพิจารณาดูนัยยะคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถี่ถ้วน ดังเช่น เมื่อครั้งหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้โดยชอบ ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงดำริว่าจะไม่น้อมพระทัยไปเพื่อการแสดงธรรม เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น เป็นสิ่งยากแก่สรรพสัตว์ทั่วไปจะพึงเห็นตามได้ พรหมท่านหนึ่ง จึงได้มาอาราธนาพระพุทธองค์ให้เผยแพร่พระธรรม โดยอ้างเหตุว่า สัตว์ที่ธุลีในตาน้อย สามารถรู้ทั่วถึงธรรมได้ มีอยู่ หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงวินิจฉัยแล้ว จึงตัดสินพระทัยเผยแพร่ ดังนั้น จึงทรงพิจารณาว่า ผู้ใดบ้าง ที่จะเป็นผู้ที่บรรลุธรรมที่พระองค์จักแสดงได้รวดเร็วที่สุด ก็จึงทรงระลึกได้ถึงผู้ที่บรรลุอรูปฌานขั้นสูงสุดทั้งสองท่าน คือ ท่านอาฬารดาบส และท่านอุทกดาบส ดังใจความตอนหนึ่งในพระไตรปิฏก ดังนี้พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑
พุทธปริวิตกกถา [๑๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้แล เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไรเราพึงแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน. ทีนั้นเทพดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้วพระพุทธเจ้าข้า. แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่า อาฬารดาบสกาลามโคตรสิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว จึงทรงพระดำริว่า อาฬารดาบสกาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรม แก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า อุทกดาบส รามบุตรนี้แลเป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่อุทกดาบส รามบุตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน. ทีนั้น เทพดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า อุทกดาบส รามบุตรสิ้นชีพเสียวานนี้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า. แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบว่า อุทกดาบส รามบุตรสิ้นชีพเสียวานนี้แล้ว จึงทรงพระดำริว่าอุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก ได้บำรุงเราผู้ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรอยู่ ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อนครั้นแล้วได้ทรงพระดำริต่อไปว่า บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ. พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ ณ อุรุเวลาประเทศตามควรแก่พุทธาภิรมย์แล้วเสด็จจาริกไปทางพระนครพาราณสี.----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ดังนี้ จะเห็นว่า เหตุที่พระองค์ทรงระลึกถึงดาบสทั้งสองก่อนนั้น มิใช่เพราะเคยมีคุณแก่พระองค์มาก่อน แต่เพราะเห็นว่า เป็นผู้ฉลาด จะเป็นผู้บรรลุธรรมได้โดยฉับพลัน ผิดจากคำบางคำที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ดี ถึงแม้พระพุทธองค์จะได้ยกย่องอานิสงค์ของผู้ได้ฌาน สมาบัติ กสิณ ฯลฯ ว่าเป็นเลิศในโลก แต่ก็ยังไม่อาจเทียบได้กับการตรัสรู้พระนิพพาน อันเป็นธรรมอยู่เหนือโลก ไม่ข้องในโลก ดังนั้น ผู้หลงอยู่ในฌาน หรืออำนาจวิเศษในโลกต่างๆ ย่อมกล่าวได้ว่า เสื่อมจากธรรมอันประเสริญยิ่งกว่า คือ พระนิพพานธรรมนั่นเอง แต่ถึงกระนั้น ก็มิใช่เหตุแก่บุคคลทั่วไป ในการตำหนิธรรมเหล่านี้ เนื่องด้วย เป็นธรรมที่ผู้เข้าถึงอินทรีย์เหล่านี้แล้ว จึงจะเป็นผู้วินิจฉัยได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า วิสัยของผู้ได้ฌาน เป็นหนึ่งในอจินไตยสี่ ดังตอนหนึ่งในพระไตรปิฏก ดังนี้พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
อจินติตสูตร [๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------