ข่าว: SMF - Just Installed!
 
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
+  กระดานธรรมะ
|-+  กระดานสนทนาธรรม
| |-+  ชี้แจงข้อธรรม
| | |-+  ดูจิต ตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ดูจิต ตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ  (อ่าน 3638 ครั้ง)
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2008, 02:53:28 PM »

ตามพระไตรปิฏก อันเป็นบันทึกคำเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่ถือเป็นบรรทัดฐานน่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบันนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงการ ดูจิต ไว้ในสองพระสูตร อันเป็นพระสูตรที่ทรงตรัสถึงเรื่องสัมโพชฌงค์ ๗ ประการ ทั้งสองพระสูตร ดังต่อไปนี้ เท่านั้น ไม่ทรงตรัสคำว่า ดูจิต ในพระสูตรอื่นนอกเหนือไปจากนี้เลย

พระสูตรแรก




พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

 

สีลสูตร
การหลีกออก ๒ วิธี
             [๓๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ การได้เห็นภิกษุเหล่านั้นก็ดี การได้ฟังภิกษุเหล่านั้นก็ดี การเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นก็ดี การเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้นก็ดี การระลึกถึงภิกษุเหล่านั้นก็ดี การบวชตามภิกษุเหล่านั้นก็ดี แต่ละอย่างๆ เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมของภิกษุเห็นปานนั้นแล้ว ย่อมหลีกออกอยู่ด้วย ๒ วิธี คือ หลีกออกด้วยกาย ๑ หลีกออกด้วยจิต ๑ เธอหลีกออกอยู่อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึง ย่อมตรึกถึงธรรมนั้น.
             [๓๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุหลีกออกอยู่อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึง ย่อมตรึกถึงธรรมนั้น สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เธอมีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมเลือกเฟ้น ตรวจตรา ถึงความพินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา.
             [๓๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุมีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมเลือกเฟ้น ตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เมื่อภิกษุเลือกเฟ้น ตรวจตรา พินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ความเพียรอันไม่ย่อหย่อนเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว
             [๓๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อภิกษุเลือกเฟ้น ตรวจตรา พินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน อันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ ปีติที่ไม่มีอามิสย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร.
             [๓๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติที่ไม่มีอามิสย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจกอปรด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ.
             [๓๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจกอปรด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ จิตของภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น.
             [๓๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เธอย่อมเป็นผู้เพ่งดูจิตที่ตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น ด้วยดี.
             [๓๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งดูจิตที่ตั้งมั่นแล้ว  อย่างนั้น ด้วยดี สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์.



อานิสงส์การเจริญโพชฌงค์
             [๓๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ผลานิสงส์ ๗ ประการ อันเธอพึงหวังได้ ผลานิสงส์ ๗ ประการเป็นไฉน?
             [๓๘๒] คือ (๑) ในปัจจุบัน จะได้บรรลุอรหัตผลโดยพลัน (๒) ในปัจจุบันไม่ได้บรรลุ ทีนั้นจะได้บรรลุในเวลาใกล้ตาย (๓) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป (๔) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป ทีนั้น จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป (๕) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอานาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี ทีนั้น จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป (๖) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี ทีนั้น จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป (๗) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้
บรรลุ ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี ไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี และไม่ได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี ทีนั้นจะได้เป็นพระอนาคามีผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อโพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้
ผลานิสงส์ ๗ ประการเหล่านี้ อันเธอพึงหวังได้.

 
จบ สูตรที่ ๓



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 21, 2008, 04:04:21 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2008, 03:42:33 PM »


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

 

อานันทสูตรที่ ๑
ว่าด้วยปัญหาของพระอานนท์
             [๑๓๘๐] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้ออันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๗ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๗ ข้อ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๒ ข้อให้บริบูรณ์ มีอยู่หรือหนอ? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีอยู่ อานนท์.
             [๑๓๘๑] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้อ ... ธรรม ๗ ข้ออันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๒ ข้อให้บริบูรณ์เป็นไฉน?
             พ. ดูกรอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.
             [๑๓๘๒] ดูกรอานนท์ ก็สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออกย่อมรู้ชัดว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า ในสมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเรากล่าวกายอันหนึ่ง ในบรรดากายทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.
             [๑๓๘๓] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติหายใจออก หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้สุขหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก ... หายใจเข้า ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร? เพราะเรากล่าวเวทนาอันหนึ่งในบรรดาเวทนาทั้งหลาย ซึ่งได้แก่การกระทำไว้ในใจให้ดีซึ่งลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.
             [๑๓๘๔] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้จิตหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักตั้งจิตมั่นหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก  ... หายใจเข้า ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ สำหรับผู้มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.
             [๑๓๘๕] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัดหายใจออก ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความดับหายใจออก  ... หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ... หายใจเข้า ในสมัย
นั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสนั้นด้วยปัญญา จึงวางเฉยเสียได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.
             [๑๓๘๖] ดูกรอานนท์ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์.
             [๑๓๘๗] ดูกรอานนท์ ก็สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์? ในสมัยใด ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ในสมัยนั้น สติของเธอย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยใด สติของภิกษุตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ ในสมัยนั้น เธอมีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา.
             [๑๓๘๘] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุมีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อเธอค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา เป็นอันชื่อว่า ปรารภความเพียร
ไม่ย่อหย่อน
             [๑๓๘๙] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด เมื่อภิกษุค้นคว้าพิจารณาสอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา เป็นอันชื่อว่า ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติอันหาอามิสมิได้ ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร.
             [๑๓๙๐] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ปีติอันหาอามิสมิได้ ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ แม้กายของภิกษุผู้มีใจเอิบอิ่มด้วยปีติก็ย่อมสงบ แม้จิตก็ย่อมสงบ.
             [๑๓๙๑] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด แม้กายของภิกษุผู้มีใจเอิบอิ่มด้วยปีติก็ย่อมสงบ แม้จิตก็ย่อมสงบ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ จิตของภิกษุผู้มีกายสงบ มีความสุข ย่อมตั้งมั่น.
             [๑๓๙๒] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายสงบ มีความสุข ย่อมตั้งมั่นในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี.
             [๑๓๙๓] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี ในสมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ.
             [๑๓๙๔] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ... เห็นจิตในจิต ... เห็นธรรมในธรรม ในสมัยนั้น สติของเธอย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม.
             [๑๓๙๕] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด สติของภิกษุย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารเหมือนสติปัฏฐานข้อต้น) เธอย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี.
             [๑๓๙๖] ดูกรอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมเพ่งดูจิตซึ่งตั้งมั่นอย่างนั้นอยู่ด้วยดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ชื่อว่า เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ.
             [๑๓๙๗] ดูกรอานนท์ สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.
             [๑๓๙๘] ดูกรอานนท์ ก็โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์  ... วิริยสัมโพชฌงค์ ... ปีติสัมโพชฌงค์ ... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรอานนท์ โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์.

จบ สูตรที่ ๓


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2008, 04:34:24 PM »


สติปัฏฐาน ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ, ข้อปฏิบัติมีสติเป็นประธาน, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง, การมีสติกำกับดูสิ่งต่างๆ และความเป็นไปทั้งหลาย โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส มี ๔ อย่างคือ
       ๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย
       ๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา
       ๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต
       ๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม;
       เรียกสั้นๆ ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม

โพชฌงค์ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้หรือองค์ของผู้ตรัสรู้มี ๗ อย่าง
       คือ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม) ๓. วิริยะ ๔. ปิติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา

(หมายเหตุ  สังเกตว่า สติปัฏฐาน เป็นธรรมเพื่อละกิเลส นิวรณ์ มิให้ครอบงำความเห็น หรือทัสสนะของจิต ส่วน โพชฌงค์ เป็นธรรมเพื่อละสังโยชน์ อันเป็นเหตุให้บรรลุพระนิพพานธรรม)

ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ, ความสงบใจและอารมณ์, ความสงบเย็น, ความผ่อนคลายกายใจ

วิมุตติ หมายถึง ความบริสุทธิ์ หลุดพ้น

วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นในวิมุตติ, ความรู้เห็นว่าจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย

อามิส เครื่องล่อใจ, เหยื่อ, สิ่งของ
(ปีติที่ไม่มีอามิส แปลได้ว่า ปีติที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องล่อ เช่นวัตถุปัจจัยทั้งหลาย หรือ กามคุณทั้งหลาย ฯลฯ เป็นต้น)

สัมปยุต แปลว่า ประกอบด้วย

อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้จ้องจะเอาของเขา

โทมนัส ความเสียใจ, ความเป็นทุกข์ใจ




บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2008, 04:57:37 PM »

          ๑.  สังเกตว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงการดูจิต ดัวยประโยคว่า "... เพ่งดูจิตที่ตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น..." เสมอ มิได้แสดงโดยวิธีอื่นเลย

          ๒.  สังเกตว่า การ "ดูจิต" ที่ทรงตรัสสอนนั้น เป็นฐานะที่มีได้แก่ผู้เจริญสมาธิสัมโพชชงค์บริบูรณ์แล้วเท่านั้น มิได้ตรัสเป็นอย่างอื่น เนื่องด้วย ทรงสอนให้ "เพ่งดูจิต" ที่ "ตั้งมั่นแล้ว" เท่านั้น มิได้สอนให้เพ่งดูจิตที่ยังสัดส่าย หรือยังฟุ้งซ่านอยู่ เพราะจิตที่ยังสัดส่ายฟุ้งซ่านอยู่นั้น ย่อมไม่สามารถดูได้อย่างแท้จริง ย่อมไม่สามารถเท่าทันตามความเป็นจริงได้เลย เป็นธรรมดา

          ๓.  สังเกตว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่สมาธิแบบทั่วๆไป ไม่ใช่สมาธิแบบง่ายๆ หรือตื้นเขิน แต่เป็นสมาธิที่เกิดจากการเจริญโพชฌงค์ ๕ ข้อแรกมาแล้ว เป็นอย่างดี โดยบริบูรณ์ และ โพชฌงค์นั้น จะเจริญให้บริบูรณ์ได้ ย่อมต้องกระทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์ กล่าวว่า กิเลส นิวรณ์ สอดแทรก หรือครอบงำมิได้ ดังนั้น ย่อมมิใช่สมาธิแบบลวกๆ เช่นว่า ขณิกะสมาธิ(สมาธิแบบตั้งๆ ล้มๆ) หรืออุปจาระสมาธิ(สมาธิแบบเฉียดฌาน แต่ไม่ถึงฌาน กล่าวคือ เป็นสมาธิที่ต้องคอยกำหนดประคองไว้อยู่ตลอด จึงจะไม่หลุด) แต่เป็นสมาธิอย่างบริบูรณ์ กล่าวคือ ไม่ต้องคอยบังคับประคองอยู่ตลอด ก็สามารถรักษาไว้ได้โดยไม่คลาดเคลื่อน ซึ่งก็คือนิยามความหมายของสมาธิขั้นที่เรียกว่า "ฌาน" นั่นเอง ดังนี้ จึงเป็นที่มาของคำสอนครูบาอาจารย์เช่น พระอาจารย์เสาร์ หรือหลวงปู่มั่น ว่า ฌาน ไม่เกิดแก่ผู้ไม่มีสมาธิ ญาณ(ความรู้ยิ่ง) ไม่เกิดแก่ผู้ไม่มีฌาน ปัญญา ย่อมไม่เกิดแก่ผู้ไม่มีญาณ และ วิมุตติ(ความหลุดพ้น) ย่อมไม่เกิดแก่ผู้ไม่มีปัญญา ฯลฯ เป็นต้น อีกประการหนึ่ง เมื่อค้นพระไตรปิฏกดูแล้ว ไม่พบว่า พระพุทธเจ้าทรงเคยตรัสถึง ขณิกะ และอุปจาระสมาธิเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ทรงตรัสถึง ฌาน ต่างๆเป็นอันมาก ประกอบอยู่ในคำสอนที่แสดงขั้นตอน หรือวิธีการบรรลุธรรม ฯลฯ ดังที่ได้ยกตัวอย่างไว้แล้วในกระทู้อื่น


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 21, 2008, 06:17:07 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.141 วินาที กับ 18 คำสั่ง