ข่าว: SMF - Just Installed!
 
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
+  กระดานธรรมะ
|-+  กระดานสนทนาธรรม
| |-+  สาระธรรมทั่วไป
| | |-+  สัพเพเหระธรรม
0 สมาชิก และ 6 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 [2] 3 4 ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: สัพเพเหระธรรม  (อ่าน 35255 ครั้ง)
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #15 เมื่อ: กันยายน 26, 2008, 04:09:54 PM »


          ดังที่หลายคนได้เคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว ว่าเวทนาย่อมครอบงำผู้ไม่ทนความยั่วยุ จึงเรียกว่า เป็นผู้ยังอ่อนแออยู่ ผู้ยังอ่อนแออยู่ย่อมแสวงหาปัจจัย เพื่อบรรเทาเวทนาบางอย่างบ้าง เพื่อสนอง หรือพอกพูนในเวทนาบางอย่างบ้าง เพื่อให้ความทะยานอยากนั้น ตกไป แล้วก็กลับเป็นเหตุให้ทำอย่างเดิมซ้ำอีก นี่เอง จึงเป็นเหตุให้บุคคลทั้งหลาย ประกอบซึ่งความเบียดเบียนกันอยู่เป็นธรรมดา เพราะแก่งแย่งปัจจัยกัน ทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น วัตถุ บ้าง ฯลฯ ทั้งที่เป็นนามธรรม เช่น ทิฏฐิ ความเชื่อ ศรัทธา บ้าง ฯลฯ

          ผู้นมสิการความอ่อนแอ และความเบียดเบียนกันอยู่ แห่งสัตว์เหล่านั้นได้ ย่อมปรารภความเมตตา

          คนโดยมาก อาจเข้าใจว่า เมตตา คือ เสียสละเพื่อผู้อื่น ที่จริงแล้ว เมตตา คือ ความไม่เบียดเบียน ความไม่ปรารถนาเบียดเบียน หรือ ความปรารถนาความไม่เบียดเบียน ส่วน การสละ นั้น คือ ทาน และ การเสียสละตนเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือ จาคะ

          ทั้งหลาย เหล่านี้ บางท่านอาจทราบอยู่แล้ว แต่ เรากล่าวอีกว่า ผู้รังเกียจความถูกเบียดเบียนจากผู้อื่น ย่อมถูกยั่วยุง่าย ย่อมเป็นผู้ถูกต้องความเบียดเบียนได้มาก เพราะเพ่งเล็งแต่ผล ไม่นมสิการเหตุ แต่ ผู้นมสิการว่า ความเบียดเบียนเป็นธรรมดาของโลก เป็นผลวิบากแห่งความอ่อนแอที่สั่งสมมาช้านาน ด้วยความไม่รู้ เสมือนผู้ถูกไฟสุมตนอยู่ ก็ยังแสวงหาฟืนมาใส่ตนอยู่เนืองๆ ด้วยความไม่รู้ชัด ด้วยความไม่รู้จริง เมื่อนมสิการเช่นนี้ ย่อมพ้นความยั่วยุได้ง่าย ผู้ฉลาด ย่อมพิจารณาธรรมโดยทั่วถึง ย่อมพ้นซึ่งโทสะ และความโศกอันเป็นผลจากความรังเกียจ แต่ก็ไม่ลงความเห็นว่า ความเบียดเบียน เป็นสิ่งควร

          เมื่อเกิดไฟป่า ผู้รู้ ย่อมโค่นต้นไม้ที่อยู่บริเวณรอบๆไฟป่านั้นลงเสีย หลักการนี้ สามารถใช้เป็นหลักในการพิจารณาตน และผู้อื่นได้ เช่นว่า เมื่อเรามีโทสะ เพราะความยั่วยุจากผู้อื่น ให้เว้นการพิจารณา หรือเพ่งเล็งผู้อื่นก่อน หรือเมื่อเห็นว่า ผู้อื่น ถูกโทสะครอบงำอยู่ เราควรเว้นการกระทำตนให้ยั่วยุบุคคลผู้นั้น ถึงแม้ด้วยความปรารถนาดีก็ตาม เว้นเสียแต่มีเหตุอื่นจำเป็นยิ่งกว่า

          เมื่อเกิดความกระทบกระทั่งใจกัน ผู้ฉลาด ย่อมพิจารณาตนก่อน ผู้เขลา ย่อมมัวคอยจดจ้องเพ่งเล็งแต่ผู้อื่น


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 26, 2008, 04:15:29 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #16 เมื่อ: กันยายน 29, 2008, 04:18:41 PM »


          บุคคลโดยมาก เห็นความตายเป็นสิ่งใหญ่ และมีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับความตาย บ้างก็รังเกียจเพราะกลัวความพลัดพรากจากสิ่งที่หวงแหน บ้างก็ว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้คิดอะไรมาก บ้างก็ยินดีเพราะจะได้พ้นไปจากชีวิตที่ลำบาก หรือไม่สมหวังของตน หรือมีบ้างบางคน ก็ตั้งตนเป็นผู้ชี้นำผู้อื่น ว่าให้ควรมองความตายอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร เพื่อตายแล้วจะได้ดี หรือจะได้พ้นไปจากทุกข์ บางทีก็โดยนัยว่า จะเป็นทางลัดไปสู่ความพ้นทุกข์ เมื่อตายไปแล้ว

          ผู้ฉลาด ย่อมแสวงหนทางแห่งสุข หรือหนทางแห่งความพ้นทุกข์ ในปัจจุบัน ในชาตินี้ ในอัตภาพนี้ ไม่ใช่คอยหวังภพหน้า ชาติหน้า หรือไปรอเอาเมื่อตาย เพราะที่แท้แล้ว นั่นไม่ใช่ทางลัด ถึงแม้ว่าสภาวะจิตในขณะก่อนตายนั้น จะมีส่วนในการกำหนดภพต่อๆไปก็ตาม ผู้มีปัญญาดี เมื่อเห็นว่า ตายอย่างไร ด้วยสภาวะจิตอย่างไร จึงจะดี ย่อมประกอบจิตตนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ให้เป็นไปอย่างนั้น เช่นว่า อยากตายอย่างสงบ ก็พึงมีชีวิตอย่างสงบ อยากตายอย่างเป็นสุข ก็พึงประกอบชีวิตตนอย่างเป็นสุข อยากตายแล้วไม่ต้องเกิดอีก ก็ต้องเพียรชำระกิเลส นิวรณ์ ความทะยานอยากทั้งหลาย ออกจากจิต จนกระทั่งบรรลุวิชชา พ้นไปจากความสุดโต่งในทิฏฐิทั้งหลายอันข้องอยู่ในโลก ในกาม ทั้งในส่วนที่เห็นว่าน่ายินดี และทั้งในส่วนที่เห็นว่าน่ารังเกียจ เช่น ทิฏฐิว่า เราจะเป็นสุขได้ ก็เพราะประสบสิ่งใดๆในโลก เช่น ทรัพย์สิน ชื่อเสียง อำนาจ และความมีพลานามัยสมบูรณ์ หรือ ทิฏฐิว่า เราจะพึงเป็นสุขได้ เพราะไม่ประสบสิ่งใดในโลก เช่น ความเสื่อมทรัพย์ ความไม่เป็นที่ยอมรับนับถือ ความถูกข่มเหง ความเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ เป็นต้น  หรือแม้แต่ทิฏฐิสุดโต่งในทางกลับกัน ของบุคคลบางพวก ก็ตาม เช่น ทิฏฐิว่า เราจะเป็นสุขได้ ก็ต่อเมื่อปราศจากลาภ ยศ สรรเสริฐ ความได้มาในสิ่งที่ต้องการ ฯลฯ เป็นต้น ก็จริงอยู่ว่า พระศาสดาทรงสอนให้เราละความยินดีในโลกธรรม แต่ก็มิได้สอนให้สุดโต่งไปด้วยความรังเกียจ แต่ทรงสอนให้แทงตลอดทั่วถึงในธรรม ทั้งที่เป็นคุณ และที่เป็นโทษ ก็จะพ้นไปจากความยินดี และความรังเกียจ ได้

          อีกประการหนึ่ง ความตาย ก็เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง กลไกอย่างหนึ่ง ในกระบวนการเวียนว่ายตายเกิดเท่านั้น ไม่ใช่แก่นแท้อะไร ไม่ได้มีความสำคัญมากกว่าการมีชีวิตอยู่ หรือแม้เมื่อหลังจากตายไปแล้ว เพียงแต่ปัจจัย หรือสภาพอาจแปรเปลี่ยนไปตามกรรมอันเป็นปัจจัยเท่านั้น ถ้าจะเปรียบการมีชีวิตคือการรับประทานอาหารแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า คือการเปลี่ยนที่ เปลี่ยนอาหาร ที่รับประทานเท่านั้น เว้นเสียจะเลิกรับประทานอาหารได้ เท่านั้น ดังนั้น  หากปรารถนาความหลุดพ้น ก็ให้ขวนขวายเอาในปัจจุบันเถิด อย่าไปมัวหวังเอาน้ำบ่อหน้า ที่เราเองยังไม่รู้ ยังไม่พิสูจน์ได้ หรือหากรู้ ก็เพียงรู้เพราะคนอื่นเขาบอกต่อๆกันมา ว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนี้ เมื่อหลงเชื่อไป บางทีก็กลายเป็นทำให้ตนพลาดประโยชน์สำคัญไปเสียเปล่า เพราะคนบางคนที่เขาตั้งตนสอนเรา เราก็ไม่รู้แท้ว่าเขารู้อะไร เห็นอะไร บรรลุประโยชน์อะไร อันเป็นภายใน บางทีเราก็ได้แต่ประเมินคาดเดาจากสำนวนโวหารของเขา ว่าคม ว่าลึกซึ้ง ว่าจับใจ ฯลฯ เช่นบางคนก็สอนเปรียบเทียบว่า ศีล เป็นสะเก็ดไม้ สมาธิเป็นเปลือกไม้ ญาณ หรือปัญญาต่างๆ เป็นกระพี้ ส่วนความบรรลุทางใจที่ไม่กำเริบ เป็นแก่น ก็ฟังดูมีเหตุผล และเป็นการตีความคำในพระไตรปิฏกตามความเข้าใจของตน แต่บางทีก็ยังไม่แยบคายพอ เช่นว่า ที่ตีความแบบนี้ เพราะพระพุทธเจ้าทานสอนประมาณว่า ถ้ามีแต่ศีล ก็เสมือนได้แค่สะเก็ดไม้ ถ้ามีศีลแล้วได้สมาธิด้วย ก็เสมือนได้เปลือกไม้ ถ้ามีศีล มีสมาธิ และได้ญาณด้วย ก็เสมือนได้ถึงกระพี้ไม้ ถ้าบรรลุหลุดพ้น ก็เสมือนได้แก่นไม้ เมื่ออ่านแล้ว ก็ตีความไปแบบนั้น ก็สอนคนอื่นไปแบบนั้น แต่กลับละเลยข้อสำคัญว่า  ถ้าไม่มีสะเก็ด ก็ไม่มีเปลือก ถ้าไม่มีเปลือก ก็ไม่มีกระพี้ ถ้าไม่มีกระพี้ ก็ไม่มีสิ่งที่เป็นแก่นอยู่ ก็ความหลุดพ้น อันเป็นแก่นนั้น ย่อมเป็นที่อันศีล สมาธิ และญาณ หรือปัญญา ประกอบรวมลงเข้าด้วยกันโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า หากมีเพียงศีล ไม่มีสมาธิ ก็นับว่าได้เพียงแต่สะเก็ดไม้ นั้น ไม่ได้หมายความว่า ศีล เป็นเพียงแค่สะเก็ดไม้เท่านั้น แต่ท่านสอนว่า ศีล ที่ไม่ประกอบด้วยสมาธิ เปรียบเป็นสะเก็ดไม้ เมื่อศีลประกอบเข้ากับสมาธิ แต่ไม่เข้าถึงญาณ ท่านเปรียบว่า เสมือนเป็นเปลือกไม้ ก็มิได้หมายความว่า สมาธิเป็นเพียงเปลือกไม้ ฯลฯ เป็นต้น สรุปแล้ว ท่านสอนให้เจริญ ศีล สมาธิ และญาณ หรือปัญญา ให้บริบูรณ์ ก็จะหลุดพ้นไปจากทุกข์ได้โดยมั่นคง ไม่ใช่เพื่อให้จำแนกความสูงต่ำของธรรม แต่ที่เปรียบเทียบ ก็เพื่อให้เห็นความสำคัญว่า หากองค์ประกอบไม่ครบถ้วน ก็จะพึงบรรลุคุณประโยชน์ได้น้อยกว่า เท่านั้นเอง ไม่ใช่สอนให้คนหมิ่น ศีล ว่าด้อยกว่าสมาธิ หรือหมิ่นสมาธิ ว่าด้อยกว่า ญาณ หรือปัญญา หรือเพื่อหมิ่นญาณ ว่าด้อยกว่าความหลุดพ้นเลย  เมื่อผู้สอน ไม่รู้แก่น ก็พาคนที่เชื่อถือเข้าใจผิดตามๆกันไป ก็พึงระวัง

          ก็จริงอยู่ว่า ชีวิตนี้ สังขารร่างกายนี้ ประกอบขึ้นมาด้วยอำนาจแห่งวิบาก หรือกรรม ดังนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ยังอาศัยสังขารอัตภาพนี้อยู่ ก็ย่อมพ้นจากวิบากอันเป็นธรรมดาของการมีชีวิตมิได้ แต่ความมีชีวิตอยู่ หรือความตาย ไม่ใช่คำตอบของปัญหาเลย มีแต่เพียงว่า ผู้ยังข้องอยู่ ยังทะยานอยู่ ในกามราคะ เมื่อกายนี้ยังดำรงอยู่ เขาก็ทุกข์ได้ เมื่อกายนี้ดับไป หรือแตกสลายไป เขาก็จะเข้าไปอาศัยในกายอื่น สังขารอื่น วนเวียนต่อๆไป ก็ทุกข์ได้อีก ส่วนผู้ไม่ข้องแล้ว ในกามราคะ เมื่อกายนี้ยังดำรงอยู่ เขาก็ไม่ทุกข์ด้วยจิตตน เมื่อกายนี้ ชีวิตนี้ ดับไป แตกสลายไป เขาก็ไม่มีความทะยานไป เพื่อภพอื่น ชาติอื่น อาหารอื่น สังขารร่างกายอื่น หรืออัตภาพอื่น อีกต่อไป เพราะเห็นว่า ทั้งหลายเหล่านี้ มิใช่มีอยู่เพื่อตน หรือเพื่อความเป็นไปแห่งตน ว่าเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ สัตว์นั้น สัตว์นี้ หรือบุคคลนั้น บุคคลนี้ เลย ความทุกข์ทั้งหลายในโลก ก็ย่อมไม่มีที่กำเริบแก่เขาได้อีก ก็มีเพียงเท่านี้

          สรุปแล้ว ก็ขอให้ผู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน เพียรขวนขวายในธรรมอันเป็นความสงบสุขในปัจจุบันนี้อยู่เถิด อย่าพึงหวังในสิ่งที่อ้างว่า เป็นทางลัดอะไรเหล่านั้นอยู่เลย ก็แม้แต่บางคนที่อ้างอยู่ ว่า ตนเป็นผู้บรรลุประเสริฐ ไม่ข้องติดสมบัติอะไรในโลกแล้ว จึงมาแสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นอยู่ แต่เมื่อเห็นว่า จะมีบุคคลอื่นจะดีกว่าตน หรือจะแบ่งศรัทธาของผู้คนไปจากตน ก็ยังขุ่นเคืองอยู่ หรือแม้กระทั่งคิดร้ายกล่าวร้ายให้แก่ผู้อื่น ก็มี เช่นนี้แล้ว จะพึงหวังประโยชน์อันบริสุทธิ์ อันปราศจากโทษ ไปใยกันเล่า แม้เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว บางคนก็จะมีปัญหาว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าอาจารย์ไหนน่าเชื่อถือได้จริง นี่ก็เป็นปัญหาที่มีปัจจัยซับซ้อน เป็นไปตามฐานะวาสนาของบุคคล แต่สิ่งที่พึงนมัสสิการไว้ในใจให้ดีก็คือ ความไม่สุดโต่ง ความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งต่างๆในโลก จะต้องเป็นไปทางเดียวเสมอไป ก็จะระงับโทษบางประการได้


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 29, 2008, 04:24:59 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #17 เมื่อ: กันยายน 29, 2008, 08:40:29 PM »


          ปัจจุบันนี้ มีบุคคลบางพวก มีความเห็น และสั่งสอนผู้อื่นไปตามทิฏฐิของตนว่า อวิชชา หรือสังโยชน์ อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้สัตว์วนเวียนเกิดแก่เจ็บตายอยู่ ก็คือ การเห็นผิด หรือหลงไปว่า กายนี้ เป็นเรา ใจนี้ เป็นเรา นั่นเอง โดยนัยว่า การเห็นผิดเหล่านี้ คือ สักกายะทิฏฐิ อันเป็นสังโยชน์เบื้องต่ำข้อหนึ่ง (พระพุทธองค์สอนว่า สังโยชน์ คือเครื่องทำให้สัตว์วนเวียน มีสิบข้อ และสามข้อแรก ที่เรียกว่า สังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นสังโยชน์สามข้อที่บุคคลจะต้องละได้เสียก่อน จึงจะบรรลุพระโสดาบัน และข้อแรกของสังโยชน์เบื้องต่ำ ก็คือ สักกายะทิฏฐิ ที่แปลกันโดยทั่วไปเป็นภาษาไทยว่า การหลงผิดในกาย ว่าเป็นตน ว่าเป็นตัวตน ฯลฯ) ก็เป็นที่มาของแนวความคิดในคนบางกลุ่ม หรือบางอาจารย์ว่า ถ้าเห็นได้ว่า กายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา ก็จะละสักกายะทิฏฐิได้ ก็จะบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ด้วยหลักการง่ายๆเพียงนี้เอง

          โดยมีตรรกะขั้นตอนเรียบง่าย เข้าใจได้ง่าย ปฏิบัติได้ง่าย ประมาณนี้ว่า  ให้มีสติคอยตามรู้กายนี้ ว่าเป็นสิ่งปรวนแปร เช่นว่า กายนี้ เดี๋ยวดี เดี๋ยวเจ็บ หรือป่วย หรือเมื่อเวลาผ่านไป ก็แก่ชราทรุดโทรมลง ไม่เป็นไปอย่างต้องการ บังคับไม่ได้ เป็นความทุกข์ จึงไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา เป็นเพียงก้อนเนื้อ หรือวัตถุธาตุ หรือคล้ายเครื่องจักรชนิดหนึ่ง ที่เราอาศัยอยู่เท่านั้น เป็นต้น และอีกประการหนึ่ง ว่า ให้มีสติคอยตามรู้ใจนี้ ได้แก่ความคิด ความอยาก ความลังเลสงสัยในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นสิ่งปรวนแปรเช่นเดียวกัน เช่นว่า บางทีก็คิดเรื่องนี้ บางทีก็คิดเรื่องนั้น บางทีก็คิด บางทีก็ไม่คิด บางทีก็สงสัย บางทีก็ไม่สงสัย บางทีก็สงสัยมากขึ้น บางทีก็สงสัยน้อยลง หรือความโกรธ เช่นว่า บางทีไม่โกรธ บางทีก็โกรธ บางทีก็โกรธมากขึ้น บางทีก็โกรธน้อยลง ฯลฯ เป็นต้น และเมื่อเห็นลักษณะอาการความปรวนแปร ความเป็นทุกข์ หรือความไม่เป็นไปดั่งต้องการ และความควบคุมบังคับไม่ได้ (เช่นว่า เมื่อโกรธ แล้วรู้ตัวว่าโกรธ แต่จะเจตนาให้ความโกรธนี้หายไป หรือบรรเทาเบาบางลงไปนั้น ไม่ได้) เหล่านี้แล้ว ก็นัยว่า จะเป็นการรู้เห็นพระไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ของกาย และใจ หรือบางทีก็อ้างไปถึงว่า เป็นการเห็นความเป็นจริงของ นาม และ รูป นั่นเอง เมื่อเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกาย และใจนี้ ไปเรื่อยๆ จนสติระลึกขึ้นมาได้เองโดยอัตโนมัติ ว่า กายนี้ ใจนี้ ไม่เที่ยง ไม่ใช่เรา ก็จะเป็นปัญญา ก็จะพ้นจากความหลงผิดในกาย ก็จะพ้นจากสมมุติสัจจะไปได้ ก็จะละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๓ ข้อ ได้เอง ด้วยเหตุผลตรรกะว่า การรู้เห็นกาย และใจนี้ ว่าไม่ใช่เรา ก็คือ การละสักกายะทิฏฐิ หรือ การถือผิดในกายได้ นั่นเอง ก็เป็นอันว่าละสังโยชน์เบื้องต่ำข้อแรกไปได้ และ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเชื่อโดยสนิทใจ ว่า พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มีจริง ฯลฯ ก็จะสิ้นความลังเลสงสัย เมื่อสิ้นความลังเลสงสัย ก็จะละวิจิกิจฉา ซึ่งเป็นสังโยชน์ข้อที่สองได้ (สังโยชน์ข้อนี้ แปลกันโดยทั่วไปเป็นภาษาไทยว่า ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในพระรัตนตรัย)  ส่วนสังโยชน์เบื้องต่ำข้อที่สาม ก็คือ สีลัพพตปรามาส ที่แปลกันทั่วไปว่า ความยึดถือในศีล และข้อวัตรที่ผิดๆ ซึ่งบางสำนักก็แปลกันว่า คือความมีศีลได้เอง โดยไม่ต้องไปกำหนดศีล เมื่อแปลดังนี้แล้ว ก็อธิบายว่า เมื่อมีสติรู้กายได้ตามความเป็นจริง ว่าปรวนแปร ว่าไม่ใช่เราได้แล้ว ก็ถือว่า เป็นการรู้นามรูปตามความเป็นจริงแล้ว และเมื่อมีสติรู้ทันกายใจ หรือนามรูปได้ตามความเป็นจริงแล้ว ใจก็จะเป็นศีลได้เอง เป็นอัตโนมัติ เพราะกิเลสครอบงำจิตมิได้ โดยไม่ต้องคอยกำหนด ไม่ต้องมีใครมาบอกศีล ฯลฯ เพียงเท่านี้ ก็เป็นพระโสดาบันได้ และยังมีการพยายามอธิบายไปถึงสังโยชน์ข้อที่เหลือโดยตรรกะในทำนองเดียวกันนี้ เรียบๆ เข้าใจง่าย จนเข้าสู่ความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

           คนบางพวก เมื่อพบเห็นคำสอนเช่นนี้ ก็ยินดียิ่ง เพราะหากคำสอนเหล่านี้เป็นจริงแล้ว พระนิพพาน ก็น่าจะเป็นของง่าย เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ง่าย บรรลุได้ง่าย ไม่ต้องเพียรขวนขวายอดทนลำบากลำบนมากมายอย่างที่ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระปฏิบัติ หรือพระป่าบางสายสอนกันมา บำเพ็ญเพียรกันมา อย่างเช่น พระอาจารย์เสาร์ หรือหลวงปู่มั่น ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งท่านสอนให้เพียรภาวนา ฝืนกิเลส อดทนต่อกิเลส จนเกิดสมาธิ จนจิตสำรวมเข้า แล้วรวมลงเป็นหนึ่ง ผุดขึ้น ตื่นขึ้น เป็นดวงสว่าง เป็นธรรมเอก แล้วจึงน้อมพิจารณาสัจจะความเป็นจริงจากสภาพอันปรากฏแก่จิตนั้น แล้วเจริญวิปัสสนา จนเกิดปัญญารู้แจ้งในความเป็นจริงของจิต ของการวนเวียน จนกระทั่งบรรลุถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นไปในที่สุด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ต้องใช้เวลา ความอดทน และความเพียรเป็นอันมาก คนทั่วไปก็ไม่ยินดี ถึงจะมีศรัทธา แต่ก็เห็นว่า ลำบากเกินกว่าที่ตนเองจะทำได้ บางคน นั่งสมาธิครู่เดียวก็อึดอัด ครู่เดียวก็เมื่อย ครู่เดียวก็ฟุ้ง ครู่เดียวก็เคลิ้ม หรือหลับไป ลองทำดูสักระยะหนึ่ง ก็ท้อ ก็เบื่อ บางทีก็สรุปไปว่า แนวทางนี้ไม่เหมาะกับจริตของตน เมื่อเจอผู้ที่ประกาศตนว่าเป็นพระป่า หรือเป็นสายพระป่า หรือมีพระป่ารับรอง แล้วมาสอนว่า ธรรมะ เป็นสิ่งเรียบง่าย ปฏิบัติง่าย สะดวก บรรลุได้รวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องมีสมาธิมาก ไม่ต้องเสียเวลาในการทำกรรมฐาน เป็นหนทางง่ายสุด สะดวกสุด เร็วที่สุด เป็นทางตรงสู่ปัญญาความหลุดพ้น ก็เป็นธรรมดาที่บุคคลมากมายจะเห็นดีด้วย เห็นว่าสอดคล้องกับสถานะภาพของตน

          ก็ที่จริงแล้ว การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นนั้น พื้นฐานในเบื้องต้นก็คือ ไม่ปล่อยให้กิเลสครอบงำจิต กล่าวคือ ก็ควรทนทานต่อกิเลส ฝืนกิเลส ไม่เป็นไปตามกิเลส ก่อน นั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างฝืนความเคยชินของปุถุชนทั่วไป ก็ยาก ก็ลำบาก แก่คนส่วนใหญ่ เป็นธรรมดา อีกประการหนึ่ง ผู้อบรมจิตมาดีแล้ว ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ย่อมมีผลเช่นว่า เมื่อจิตมีโทสะ ก็กำหนดได้ ว่า จิต มีโทสะอยู่ และเมื่อกำหนดสติปัฏฐานได้ดีพอ ได้บริบูรณ์พอ ก็จะกำหนดจิตได้ ว่า จักดับโทสะ ว่า จะระงับโทสะ แล้วก็จะดับโทสะได้ ระงับโทสะได้ ด้วยอำนาจอานิสงค์ของสติปัฏฐาน เพียงเท่านั้น ไม่ใช่ว่า ต้องบรรลุเป็นพระอริยะขั้นนั้น ขั้นนี้ก่อน แล้วถึงจะระงับโทสะได้ ผู้ที่ระงับโทสะมิได้ ไม่ใช่เพราะยังไม่บรรลุเป็นพระอริยะ แต่เพราะยังเจริญสติปัฏฐานไม่บริบูรณ์นั่นเอง ไม่ใช่อย่างที่บางสำนักอธิบายกันว่า เมื่อโกรธ แล้วรู้ตัวว่าโกรธ ความโกรธนั้นก็ไม่หายไปนั้น ถูกต้องแล้ว เป็นสติปัฏฐานแล้ว แล้วอธิบายต่อว่า ที่รู้ตัวว่าโกรธ แล้วความโกรธไม่หายไปนั้น นั่นคือ จิต เอง แสดงไตรลักษณ์ให้เราเห็น หรือความสงสัยก็เช่นกัน หรือความฟุ้งซ่านก็เช่นกัน ฯลฯ ความเห็นเหล่านี้ ไม่แยบคาย เพราะ สติปัฏฐาน เป็นธรรมที่ตั้งของสติ เพื่อละกิเลสนิวรณ์ ไม่ใช่ธรรมเพื่อแสดงว่า กิเลส นิวรณ์ เป็นไตรลักษณ์ กำหนดบังคับไม่ได้  เพราะหากบังคับไม่ได้ ธรรมที่ได้ชื่อว่า มหาสติปัฏฐาน ก็ไม่พึงมี อย่าว่าแต่ โทสะ อันเป็นหนึ่งในอกุศลมูล อันเป็นธรรมในส่วนกิเลส ที่หยาบยิ่งกว่านิวรณ์เสียอีก ถ้าจิตละจากส่วนที่เป็นอกุศลมิได้ จะไปคาดหวังอะไรกับการระงับนิวรณ์ และเมื่อกิเลสนิวรณ์ยังครอบงำจิตได้อยู่ จะกล่าวไปใยกันเล่า ถึงความรู้แจ้งในปัญญาอันเป็นเครื่องหลุดพันไปจากวัฏฏะสังสารนี้


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 30, 2008, 12:22:25 AM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #18 เมื่อ: ตุลาคม 10, 2008, 03:05:41 PM »


          ธรรมอันเป็นเครื่องหมองแห่งจิต หรือเป็นเครื่องบดบังจิตจากความผ่องแผ้ว ทั้งหลายนี้ ได้ชื่อว่า ธรรมไปสู่ความเสื่อม หรือ อกุศลธรรม อันได้แก่ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ รัก โลภ โกรธ หลง นั่นเอง

          ส่วนธรรมอันเป็นเครื่องกั้น เครื่องละเว้น เครื่องอยู่ห่าง เครื่องลดทอน เครื่องกำจัดอกุศลธรรมทั้งหลายนั้น ได้ชื่อว่า กุศลธรรม เช่น พรหมวิหาร ๔  พละ ๕ อินทรีย์ ๕ สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ ฯลฯ เป็นต้น

          ในที่นี้ จะกล่าวถึง อกุศลธรรม ๑ คือ โทสะ และ กุศลธรรม ๑ คือ ศรัทธาพละ (อันเป็นหนึ่งในพละ ๕) เพื่อเป็นอุบายประการหนึ่ง

          บุคคลเมื่อรู้ตัวว่า มีโทสะครอบงำอยู่ พึงระลึกสิ่งศรัทธา อันโทสะไม่ครอบงำ พึงกระทำจิตน้อมไปในศรัทธา อันโทสะไม่ครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุก็ดี นิมิตก็ดี สัญลักษณ์ก็ดี หรือบุคคลก็ดี อันโทสะไม่ครอบงำ เช่น การระลึกถึงพระพุทธรูป การระลึกถึงคุณพระศรีรัตนะตรัย อันเป็นอนุสติ หรือแม้แต่กสิณต่างๆ เช่น กสิณสีขาว กสิณแสงสว่าง ฯลฯ เป็นต้น หรือการระลึกถึงครูบาอาจารย์ หรือผู้ที่ตนศรัทธาอยู่ ว่า เป็นผู้โทสะไม่ครอบงำ หรือครอบงำได้ยาก ก็ดี หรือเป็นผู้ครอบงำโทสะไว้ ก็ดี เป็นต้น แล้วตั้งจิตระลึกพิจารณาขึ้นมาว่า ธรรม อันได้ชื่อว่า โทสะ นี้ จะปรากฏแก่ท่านอย่างไร ท่านจักกระทำจิตอย่างไรต่อโทสะอันกำเริบ ท่านจะกระทำจิตให้ทนทานต่อโทสะหรือไม่ โทสะจักครอบงำย่ำยีจิตของท่านได้หรือไม่ หรือท่านจะกระทำจิตให้ครอบงำโทสะได้อย่างไร เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ย่อมน้อมไป เลื่อมใสไป เป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย เป็นกำลังอันต้านทานโทสะอันเป็นข้าศึก ประกอบด้วยความเพียร ไม่ย่อท้อ ไม่เกียจคร้าน ไม่หวาดกลัว ไม่เพ่งโทษ เป็นกุศล มีปีติ มีสุขอยู่ ประกอบด้วยธรรมอันเย็นอยู่ภายใน ด้วยเหตุทั้งหลายประมาณนี้ จักพึงละโทสะได้ในที่สุด นี้เป็นฐานะที่จะพึงมีได้แก่ผู้มีศรัทธา

ฯลฯ


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #19 เมื่อ: ตุลาคม 14, 2008, 12:13:58 AM »


          บุคคลบางพวก สำคัญว่า เรายินดีในกายานุปัสสนาบ้าง  เรายินดีในเวทนานุปัสสนาบ้าง เรายินดีในจิตตานุปัสสนาบ้าง หรือ เรายินดีในธรรมานุปัสสนาบ้าง ไม่ยินดีธรรมอื่น เช่น ผู้ยินดีในกายานุปัสสนา จึงรังเกียจ หรือไม่ยินดีใน เวทนานุปัสสนาบ้าง จิตตานุปัสสนาบ้าง ธรรมานุปัสสนาบ้าง หรือ ผู้ยินดีในจิตตานุปัสสนา จึงรังเกียจ หรือไม่ยินดีในกายานุปัสสนาบ้าง เวทนานุปัสสนาบ้าง ธรรมานุปัสสนาบ้าง ... ฯลฯ

          แท้จริงแล้ว บุคคลจะพึงเจริญ พึงเข้าถึงสติปัฏฐานในข้อใดได้จริงนั้น ย่อมเป็นไปตามภูมิ ตามทัศนะ ตามวาสนา ไม่ใช่เพียงด้วยทิฏฐิ หรือความพอใจ หรือเพราะอาจารย์กล่าว ผู้ตั้งอยู่ในธรรมนุปัสสนาภูมิ แม้เมื่อพิจารณากายนี้อยู่ ก็ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม อันปรากฏอยู่ในกายนี้ เป็นธรรมดา ฯลฯ

          บุคคลควรเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ มิควรตั้งทิฏฐิว่า จะเจริญเพื่อความบริบูรณ์เพียงส่วนเดียว เพราะนั่นมิใช่สติปัฏฐานที่บริบูรณ์ เช่นเดียวกับการละกิเลส หากเลือกละเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น จิตย่อมไม่เข้าถึงความบริสุทธิ์ได้จริง

          เรื่องการทำสมถะ และวิปัสสนา ก็เช่นกัน โดยทั่วไป ผู้ใฝ่ธรรมแต่ละบุคคล ย่อมประกอบด้วยทั้งสองส่วนนี้ไม่เท่ากัน เป็นธรรมดา แต่ธรรมทั้งสองส่วนนี้ คือ สมถะ และ วิปัสสนา ย่อมเป็นธรรมอันควรเจริญให้บริบูรณ์ทั้งสองส่วน ไม่ใช่เลือกเอาตามความยินดีว่าจะเจริญเพียงส่วนเดียว หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลใดพึงสำคัญว่า สมถะ และ วิปัสสนา เป็นธรรมต่างหากกัน ไม่เจริญด้วยกัน แยกกันเจริญ หรือเจริญได้ทีละอย่างเท่านั้น บุคคลผู้นั้น ย่อมไม่พบสัจจะในธรรมทั้งสองนี้เลย ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เปรียบดังเช่น บุคคลผู้ปรารถนาจะตัดฟืน หากไม่กำหนดรู้ว่า จะตัดอย่างไร ไม้ที่จะตัดทำฟืนอยู่ในที่ใด ก็จะไม่สำเร็จ ถึงแม้เหวี่ยงขวานไปมา จนสิ้นแรง ก็มิได้ท่อนฟืนตามประสงค์ หรือในทางกลับกัน หากกำหนดรู้ได้แล้วว่า จะตัดฟืนได้ในที่ไหน จะตัดได้ด้วยอาการอย่างไร แต่มิได้เดินทางไป มิได้ออกแรง มิได้ลงมือเหวี่ยงขวานตัดฟืนแล้ว ย่อมไม่บรรลุดังประสงค์ เช่นกัน ฯลฯ

          ทำ โดยไม่ คิด ก็อาจสุ่มเสี่ยง  คิด โดยไม่ ทำ ก็ย่อมไม่เจริญ


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #20 เมื่อ: ตุลาคม 17, 2008, 10:04:35 PM »


          นิมิต หมายถึง เครื่องหมายมั่นในใจ หรือก็คือ สิ่งที่จิตเข้าไปหมายมั่นนั่นเอง เช่นว่า ผู้มีสติรู้กายอยู่ ก็มีลักษณะของกายนี้ เป็นนิมิต ผู้มีสติกำหนดรู้เวทนาอยู่ ก็มีลักษณะอาการของเวทนานี้ เป็นนิมิต ผู้กำหนดสติระลึกรู้จิตของตนอยู่ ก็ย่อมมีลักษณะอาการของจิตนี้ เป็นนิมิตอยู่ หรือ ผู้กำหนดพิจารณาธรรมอยู่ ก็ย่อมมีธรรมอันกำหนดหมายอยู่นั้น เป็นนิมิต แต่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า นิมิต หมายถึงการเห็นภาพสัตว์ วัตถุ บุคคล หรือสถานที่ ในเวลาที่หลับ หรือในเวลาที่กำลังเคลิ้มอยู่ คล้ายๆความฝันนั่นเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็นับเป็นนิมิตชนิดหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ความหมายของคำว่า นิมิต

          โลกนี้ โลกทั้งหลาย รวมทั้งภพภูมิต่างๆ เป็นมายา บาปบุญทั้งหลายในโลก เป็นมายา นิมิต ก็เช่นกัน เป็นเพียงมายา แต่ผู้รู้ธรรมไม่ควรกล่าวแก่ชนทั้งหลายเช่นนี้ ว่า ควรละเสียซึ่งธรรมทั้งหมด หรือควรปฏิเสธซึ่งนิมิตทั้งปวง ฯลฯ เป็นต้น เพราะเหตุใด? ก็เพราะเหตุว่า ธรรมะอันบริสุทธิ์ ย่อมพึงมีสัจจะ และเหมาะแก่กาล ดังนี้แล้ว โดยปกติ ธรรมะอันบริสุทธิ์ จึงเป็นสิ่งมีหลักการ คือ อธิบายได้ และเป็นไปโดยลำดับ คือ มีอุบายเป็นขั้น เป็นตอน ไม่ตีบตัน ไม่กระโดด ไม่เป็นยอดด้วน ลำดับได้ เพื่อความเข้าถึงได้ เพื่อความเป็นฐานะได้(แต่ไม่จำเป็นต้องง่ายเสมอไป) แก่บุคคล ก็คนโดยมากในโลกนี้ ยังไม่เข้าถึงความมีธรรมอันพ้นไปจากโลก(โลกุตตระธรรม)เป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย เป็นที่น้อมไป ดังนั้น หากคนเหล่านี้ พึงไม่อาศัยธรรมใดๆ หรือนิมิตใดๆในโลกนี้ ทั้งหมด เป็นที่ตั้งแล้ว เขาย่อมเป็นเช่นผู้ที่ยังอ่อนแออยู่โดยไม่มีสิ่งใดพึงเป็นที่ยึดอาศัยอยู่เลย เช่นนี้ พวกเขาจะพึงตั้งตนอยู่ได้อย่างไร จะรักษาอัตภาพของตนอย่างไร จะพึงเจริญอัตภาพของตนให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปสู่อัตภาพที่ประเสริฐกว่า จนกระทั่งบรรลุธรรมอันสูงสุดในโลกนี้ได้อย่างไร ก็เปรียบเสมือนทารกผู้ยังไม่รู้ความ หากพึงไม่อาศัยพ่อแม่ หรือบุพการีเลี้ยงดูรักษาป้องกันภัย และให้ความรู้ใดๆแล้ว ก็คงอยู่รอดได้ยาก แต่เมื่อเติบโตแล้ว มีกำลังแล้ว รู้ความแล้ว ป้องกันรักษาตนได้เองแล้ว ก็ย่อมไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้อื่นปกป้องรักษาอีก ฯลฯ เป็นต้น

          ดังนั้น ถึงแม้ว่าบุญ และบาป หรือกุศล และอกุศล ทั้งหลาย ในโลกนี้ จะเป็นเพียงมายาเท่านั้น แต่ก็ไม่ควรกล่าวแก่บุคคลทั่วไปว่า ไม่พึงควรใส่ใจ เพราะบุคคลโดยทั่วไป ยังคงเป็นผู้อาศัยกุศลธรรม และอกุศลธรรม เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แก่ความเจริญ และความเสื่อมของตนอยู่ จึงควรละเว้นอกุศลธรรม อันเป็นเครื่องเสื่อม และควรเจริญให้มากซึ่งกุศลธรรม อันเป็นเครื่องเจริญ แก่ตน

          นิมิต ก็เช่นกัน พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสสอนไว้ ให้เฟ้น หรือเลือก นิมิต เช่นว่า หากเป็นนิมิตที่วิตกขึ้นแล้ว น้อมไปแล้ว เจริญให้มากแล้ว ศรัทธาเลื่อมใสไปแล้ว มีความแล่นไปแล้วในนิมิตนั้น แล้วเป็นเหตุให้เสื่อม หรือเป็นเหตุแห่งบาป เป็นเหตุแห่งอกุศล เป็นเหตุแห่งความหลงเพลิดเพลินไปในกาม ในอกุศล ก็ให้ระงับ ละเว้น หรือสลัดคืน แต่หากว่า เป็นนิมิตที่วิตกขึ้นแล้ว น้อมไปแล้ว เจริญให้มากแล้ว ศรัทธาเลื่อมใสไปแล้ว มีความแล่นไปแล้วในนิมิตนั้น แล้วเป็นเหตุให้เจริญขึ้น เป็นเหตุแห่งบุญกุศล เป็นเหตุให้ระงับซึ่งความหลง หรือ เป็นเหตุแห่งปัญญา ก็ควรระลึกให้มาก เจริญให้มาก น้อมไป แล่นไป ศรัทธาไป ให้มาก ฯลฯ เช่นว่า สมาธินิมิต ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า เป็นปัจจัยเพื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นสิ่งควรเจริญให้มาก ไม่ใช่ว่า นิมิตอะไรก็ไม่เอาหมด (สมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นหนึ่งในสัมโพชฌงค์ ๗ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในการตรัสรู้หลุดพ้น)

          อย่างไรก็ดี เมื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุดแล้ว ก็ย่อมละ วาง ดับ สลัดคืน ซึ่งธรรมทั้งหลายทั้งปวงในโลก ไม่ว่าจะเป็นบาป หรือบุญก็ดี นิมิตทั้งปวงก็ดี ข้อธรรมทั้งปลายก็ดี ความยินดียินร้ายต่างๆในโลกก็ดี หรือแม้กระทั่งปัญญาทั้งหลายในโลกก็ดี ฯลฯ ก็ล้วนเป็นสิ่งมิได้ต้องอาศัยเพื่อตนอีกต่อไป ก็มิได้ยึดมั่นถือมั่นเพื่อตนอีก เป็นธรรมดา ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะทิฏฐิว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดเลยเท่านั้น   


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 17, 2008, 10:10:05 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #21 เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2008, 02:41:38 PM »


          สมถะ คือ เงียบ

          วิปัสสนา คือ วินิจฉัย

          พระนิพพาน เป็นธรรมสงัด วิเวก สันโดษ สงบ เงียบ กอรปด้วย วิชชา และความผุดผ่อง รวมความแล้ว คือ ธรรมอันพ้นความปิดบัง และเบียดเบียน




บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #22 เมื่อ: ธันวาคม 23, 2008, 03:32:26 PM »


          พระนิพพาน เป็นธรรมสะอาด ใส กระจ่าง เยือกเย็น ว่างจากสรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นปัจจัย แปดเปื้อนมิได้ เพราะมิได้ปะปนกับสิ่งใดอยู่เลย แต่ก็มิได้ปฏิเสธิสิ่งใดอยู่


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #23 เมื่อ: ธันวาคม 25, 2008, 05:23:16 PM »


          สังโยชน์ เป็นเหตุ หรือเป็นเครื่อง ที่ผูกมัดสัตว์ให้วนเวียนอยู่ คล้ายเชือก คล้ายโซ่ ที่ล่ามโคอยู่ ให้เฝ้าแต่วนเวียนอยู่รอบๆหลัก ไม่สามารถเป็นอิสระหลุดพ้นไปได้

          คนจำนวนมาก ก็กล่าว หรือรู้มาว่า คนเราติดอยู่กับสังโยชน์ เพราะไม่รู้ความเป็นจริง ก็ถูกอยู่ แต่ความเป็นจริงที่กล่าวถึงนี้ คือความจริงอย่างไรกันแน่ คนส่วนใหญ่ก็ยังเดากันอยู่ดี บ้างก็อธิบายได้ใกล้เคียง คือ อธิบายว่า เพราะขาดสัมมาทิฏฐิ อันเป็นอริยะมรรคข้อที่ ๑ ซึ่งที่จริงแล้ว ส่วนใหญ่ก็ขาดกันทั้ง ๘ ข้อนั่นแหละ อย่างไรก็ดี ในที่นี้ จะกล่าวในแง่ว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ประกอบให้มรรคบริบูรณ์ได้ และในทางกลับกัน ความบริบูรณ์ของมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ ก็เป็นปัจจัยให้ สัมมาทิฏฐิ บริบูรณ์ได้ ดังนั้น มรรคทั้ง ๘ จะบริบูรณ์ โดยที่สัมมาทิฏฐิไม่บริบูรณ์ไม่ได้ และหากมรรคยังไม่บริบูรณ์ครบทั้ง ๘ สัมมาทิฏฐิก็จะถึงซึ่งความบริบูรณ์ไม่ได้เลย เช่นกัน

          ดังนั้น เรื่องทิฏฐินี้ สำคัญมาก เป็นคุณได้มาก และเป็นโทษได้มาก อีกทั้ง ความยึดมั่นถือมั่นอย่างสุดโต่งในทิฏฐิใดๆก็ตาม ก็เป็นอุปสรรคทั้งสิ้น เพราะเป็นเครื่องผูกมัดเจ้าของทิฏฐินั้น ให้มัวแต่วนเวียนคอยเฝ้าอยู่รอบๆหลักอยู่นั่นเอง ก็ไม่ได้เป็นอิสระหลุดพ้นไปได้ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าบุคคลใดไม่ตั้งทิฏฐิไว้เลย บุคคลนั้นก็จะไม่สามารถระลึกการใดๆ สิ่งใดๆ ได้เลยเช่นกัน

          สัมมาทิฏฐิ จะตั้งขึ้นได้ ก็อาศัยว่า รู้เห็นในความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแค่ได้ฟังจากผู้อื่น จากอาจารย์ มาว่าทิฏฐินี้เป็นจริง เป็นสัมมา แล้วก็สักแต่ว่าเชื่อถือตาม ความเห็นอย่างนี้ ยังไม่พ้นความสุดโต่ง แต่ถ้าเชื่อถือโดยประกอบด้วยการพิจารณาอย่างแยบคายแล้ว ก็อาจเป็นแนวทางประโยชน์ได้ แต่อย่างนี้ยังไม่เรียกว่าเป็นอริยะมรรค ยังเป็นการคาดเดามรรคอยู่ ผู้ใฝ่ศึกษาธรรมควรเข้าใจว่า แม้แต่คำตรัสสอนของพระพุทธองค์นั้น ก็เป็นเพียงอุบาย เพื่อโน้มน้าวจิตใจให้หยั่งลงสู่อรรถะ ดังนั้น คำตรัสสอนจึงมีมาก เพราะบุคคลประกอบเหตุมาต่างกัน อุบายจึงต่างกัน แต่มุ่งอรรถะเดียวกัน

          โดยหลักการทั่วไปแล้ว คนเราอาศัยการพิจารณาไปตามหลักเหตุผล เพื่อจะรู้ หรือเข้าใจความเป็นไป หรือความเป็นจริงต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนโดยมาก มักมีปัญหาจากการที่ยึดมั่นสุดโต่งไปในเหตุผลที่ตนรู้มานั้นแหละ เป็นเครื่องบดบังตนเองจากความเป็นจริง ทำให้ไม่รู้ หรือทำให้รู้ไปแบบผิดๆ หรือแม้แต่การมีโทสะเพราะเห็นว่าขัดกับเหตุผลที่ตนรู้มา แทนที่การรู้เหตุผลจะเป็นปัญญาในการแก้ปัญหา ก็กลายเป็นสร้างปัญหา สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับตัวเจ้าของไปเสียเอง

          ก็จริงอยู่ว่า ความเป็นไปทั้งหลายในโลก ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงมีผลตามมา แต่ ไ่ม่ใช่ฐานะทั่วไป ที่บุคคลจะกำหนดเหตุปัจจัยของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกได้อย่างครบถ้วนครอบคลุมทั้งหมด คนที่เข้าใจเหตุผลความเป็นจริงข้อนี้ มีน้อย ก็เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนบางพวกในโลก ฟุ้งซ่าน เพราะพยายามที่จะพิจารณารู้ในสิ่งที่เกินฐานะ ในสิ่งที่ยังไม่ปรากฏเจตนาชัดเจนแก่ตน ความลังเล ความสงสัย ก็ไม่มีจบสิ้น และไม่ถูกแก้ไข

          สัมมาทิฏฐิในธรรมใด จะตั้งขี้นได้ ต้องอาศัยการพิจารณาเห็นสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้น การพิจารณาเห็นได้ถึงสภาพความเป็นจริงของธรรมใด ต้องอาศัยจักษุที่เห็นแท้ในธรรมนั้นได้ ทัศนะในธรรมนั้นจึงมีได้ การที่บุคคลจะมีญาณทัศนะเห็นความเป็นจริงของจิตได้ บุคคลนั้น จำต้องกำจัดกิเลส ตัณหา และนิวรณ์ ออกจากจิตให้ได้เสียก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องครอบงำ ห่อหุ้ม บดบังจิตอยู่ เปรียบเสมือนว่า จะเห็นเนื้อส้มได้ ก็ต้องลอกเปลือกออกเสียก่อน จะเห็นแก่นไม้ได้ ก็ต้องลอกกระพี้ ลอกเปลือกออกก่อน

          อย่างไรก็ดี บุคคลบางพวก แม้ละกิเลสนิวรณ์ออกจากจิตได้แล้ว แม้เพียงชั่วคราว แต่ไม่ได้ละสังโยชน์ในข้อใดเลย เพราะแม้เกิดจักษุในเวลานั้นแล้ว แต่มิได้พิจารณาไปโดยแยบคาย บางทีก็เพราะหลงไปในวิปัสสนูกิเลสเสียก่อน ไปสำคัญว่า ความดับไปของกิเลสตัณหาโดยชั่วคราวนั้น เป็นความดับไป ละไป ขาดไป ของสังโยชน์ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ทิฏฐิที่ตนตั้งไว้เป็นหลักในการนี้ ก็มีอันผิดเพี้ยนไป สัมมาทิฏฐิ อันเป็นองค์แรกในอริยะมรรคก็ผิด ก็เป็นเหตุให้อีก ๗ องค์ที่เหลือ ผิดตามกันไปทั้งหมด ผลก็คือ ยังสุดโต่งอยู่กับประสพการณ์ ความรู้ ความเชื่อ และหลักการเหตุผลของตนอยู่ ก็กลายเป็นเครื่องมัดตน ไม่พ้นไป บางรายก็ออกประกาศตนเผยแพร่ พอมีชื่อเสียงมากขึ้น ก็ยิ่งพากันสุดโต่งไปกว่าเดิม ก็มีปรากฏอยู่

          ดังนั้น บุคคลที่เจริญเข้าถึงสติปัฏฐานแล้ว ย่อมระงับกิเลสนิวรณ์ แต่จะละสังโยชน์นั้น ยังต้องอาศัยธรรมประกอบอื่นอีก คือ สัมโพชชงค์ ๗ อันเป็นสภาพธรรมที่นำออก กล่าวคือ ออกจากสังโยชน์นั่นเอง และเมื่อรู้เห็นชัด ถึงสภาพอันนำออก ถอนออก สลัดออก แล้ว นั่นแหละ จึงรู้อริยะสัจจ์ได้ จึงกำหนดมรรคอันเป็นเครื่องเจริญไปได้ จนกระทั่งถึงซึ่งความบริบูรณ์

          จริงอยู่ว่า สังโยชน์นั้น เป็นลักษณะของทิฏฐิอย่างหนึ่ง แต่การที่บุคคลคิดว่า จะรู้สังโยชน์ จะละสังโยชน์ได้ ด้วยความรู้สึกนึดคิดหรือความใคร่ครวญในเหตุผลอย่างทั่วไปนั้น ย่อมไม่สามารถรู้ หรือละ สังโยชน์ได้เลย เพราะไม่รู้สภาพการนำออก เมื่อไม่รู้สภาพการนำออกแล้ว ก็จะไม่สามารถจำแนกได้อย่างแท้จริงว่า "สิ่งใดบ้าง ที่ไม่ใช่จิต" ไม่เพียงสักแต่ตั้งทิฏฐิไว้ว่า กายนี้ไม่ใช่จิต และ/หรือ ใจนี้ไ่ม่ใช่จิต เมื่อกล่าวออกมาแล้ว ก็จะนับว่าถูกได้แต่พยัญชนะ แต่ไม่ถูกอรรถะ บางพวกก็ว่า เมื่อรู้ว่า "กาย" นี้ไม่ใช่จิตแล้ว ก็จะละสักกายะทิฏฐิ บรรลุเป็นโสดาบันได้ ขั้นต่อไป ก็พยายามรู้ต่อไปว่า "ใจ" นี้ ก็ไม่ใช่จิต ก็จะบรรลุขั้นต่อๆไปจนถึงพระอรหันต์ได้ แท้ที่จริงแล้ว หากบุคคลใดจะตั้งทิฏฐิไว้ได้ดังนี้อย่างมั่นคงจริงแล้ว และไม่มีอกุศลวิบากอื่นประกอบเลย ที่เขาจะบรรลุประโยชน์ได้สูงสุดก็คือ ความเป็นพรหม แต่อาจารย์ผู้สอนเชื่อว่า คือ พระนิพพาน ทั้งๆที่ตั้งตนว่า เป็นนักวิปัสสนา

         เหล่านี้ ก็เป็นตัวอย่างโทษ ภัย อันตราย ของความสุดโต่งไปในทิฏฐิ เป็นเหตุให้ไม่พ้นไป สัมมาทิฏฐิก็ไม่เกิด อริยะสัจจ์ก็ไม่รู้ มรรคก็ไม่เกิด ไม่เป็นฐานะ ความรู้ของตนกลับกลายเป็นพิษแก่ตนไปในที่สุด เพราะไม่มุ่งรู้ความเป็นอิสระยิ่ง



บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #24 เมื่อ: ธันวาคม 26, 2008, 05:52:33 PM »


          ที่จะกล่าวในบทนี้ อาจเข้าใจยากสักหน่อยสำหรับผู้ไม่ได้มีพื้นฐานทางปริยัติมามากนัก แต่เพ่งเล็งว่าอาจมีประโยชน์ได้พอสมควรจึงแสดง สำหรับผู้ที่เห็นว่ายากเกินไป ก็อ่านกันเพลินๆ พอให้สำรวมจิตในระดับหนึ่งก็แล้วกัน ไม่ต้องเข้าใจทั้งหมด แต่ไม่ควรผ่านเลยไปโดยไม่ใส่ใจ และบทนี้ไม่ใช่การคัดลอกตำรามาให้อ่านเฉยๆ



          สัตว์ทั้งหลายที่วนเวียนอยู่ มีชีวิตอยู่ ย่อมต้องประกอบด้วยขันธ์ทั้ง ๕ ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์  ส่วนอุปาทานในขันธ์ ๕ นี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕

          ขันธ์ หมายถึง กอง หรือที่ตั้งรวมกัน ฯลฯ

          พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงเหตุ และปัจจัย แห่งการบัญญัติรูปขันธ์ ว่า มีมหาภูตรูป เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติ ส่วนเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ นั้น ทรงตรัสแสดงว่า มีผัสสะ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติ

          รูปขันธ์ คืออะไร?
          สิ่งมีสภาพ อันปรากฏเป็นลักษณะจำเพาะ เรียกว่า รูป เช่น วัตถุธาตุทั้งหลาย เป็นรูป อายตนะทั้งหลาย เป็นรูป ฯลฯ เป็นต้น รูปทั้งหลายไม่เที่ยง มีความปรวนแปร หรือเปลี่ยนสภาพไปตามเหตุ ตามปัจจัย ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นรูปนั้นๆ วัตถุธาตุก็เช่นนั้น อายาตนะก็เช่นนั้น  รูปขันธ์ คือ การรวมกันขององค์ประกอบ หรือปัจจัย ที่ทำให้เกิดมีรูปนั้นๆปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นภายในกาย คือ รูปในภายใน หรือภายนอกกาย คือ รูปในภายนอก ก็ดี ควรเห็นด้วยปัญญาอ้ันยิ่ง ว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน(อัตตา)ของเรา ไม่ได้หมายความว่าให้ปฏิเสธ หรือทำลาย แต่ไม่ควรกำหนัด

          เวทนาขันธ์ คืออะไร?
          โดยทั่วไป เวทนา หมายถึง ความยินดี ความยินร้าย ในสิ่งต่างๆ แต่ในที่นี้ จะขอแสดงว่า เวทนา คือ เจตนา หรือความกำหนดได้ ว่า สิ่งต่างๆ หรือสภาพต่างๆ มีผลต่างกัน และเกิด หรือมี ซ้ำได้ (หากบุคคลรู้ชัดว่า สิ่งทั้งปวง เกิดเพียงครั้งเดียว มีซ้ำไม่ได้ เวทนาจะไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบต่อไปในตัณหา และอุปาทาน ฯลฯ เช่นนี้แล้ว เมื่อสิ่งนั้น สภาพนั้น รูปนั้น ดับไป เสื่อมไป หรือแปรสภาพไป เวทนาในสิ่งนั้น ก็จะดับตาม สืบต่อไม่ได้ เมื่อสืบต่อไม่ได้ เจริญไม่ได้ ก็ไม่เป็นองค์ประกอบแห่งชีวิต) ดังนี้ เวทนา จึงเป็นสิ่งอาศัยผัสสะในรูป ปรุงแต่งให้เกิด เพราะรู้ว่า รูป ต่างๆ มีที่ให้ผลคล้ายกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง ส่วนเวทนาขันธ์ หมายเอาในแง่ว่า ปัจจัยอะไรก็ตาม ที่ประกอบเข้าด้วยกันแล้ว เป็นเหตุให้เกิดความยินดียินร้ายจำเพาะในที่นั้น เรียกว่า เวทนาข้ันธ์ เมื่อบุคคลถือเอาสิ่งใดเป็นอารมณ์แล้ว จะกล่าวว่าไม่มีเจตนาในสิ่งนั้น ย่อมไม่ควร

          สัญญาขันธ์ คืออะไร?
          สัญญาในสิ่งใด คือ ความหมายจำได้ หมายระลึกได้ ในสิ่งนั้น เช่นจำได้ว่า  สิ่งนั้น คืออะไร มีความหมายอย่างไร ให้ผลอย่างไร มีผลคล้ายกัน หรือ แตกต่างจากสิ่งอื่นอย่างไร ฯลฯ เป็นต้น แม้สิ่งนั้นไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าในขณะที่ระลึกอยู่ก็ตาม ซึ่งบางอย่างก็เป็นความหมายน่ายินดี บางอย่างเป็นความหมายไม่น่ายินดี บางอย่างเป็นความหมายที่ไม่ปรากฏชัดไปทางใดทางหนึ่งว่าน่ายินดี หรือไม่น่ายินดี อย่างไรก็ดี ความน่ายินดี หรือไม่น่ายินดี นั้น ไม่ใช่ความหมายของ สัญญา แต่ความระลึกได้ หมายจำได้ ว่าสิ่งใดน่ายินดี สิ่งใดไม่น่ายินดี เป็น สัญญา ความระลึกได้ในเรื่องราวต่างๆ เป็นสัญญา ส่วนสัญญาขันธ์ นั้น หมายเอาในแง่ว่า สิ่งอันใดก็ตาม เมื่อมาประกอบ มากองเข้าด้วยกันแล้ว เป็นเหตุให้เกิด สัญญา คือความหมายระลึกได้ ขึ้นในที่นั้น เรียกว่า สัญญาขันธ์ ความขบคิดใคร่ครวญ หรือไตร่ตรองไปในเรื่องต่างๆ ไม่ใช่สัญญา แต่เป็นการประมวลสัญญาที่มีอยู่เดิม ตำหลักปริยัติ ท่านว่า ความคิด คือ วิตก และวิจารณ์ เป็น สังขาร สังเกตว่า บุคคลจะมีเจตนากำหนดหมายจำ หรือหมายระลึกได้ ในสิ่งใด ย่อมเพราะเห็นว่า สิ่งนั้น มีผล หากว่าทุกสิ่งในโลก มีผลเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด บุคคลจะไม่พึงหมายจำมากกว่า ๑ สิ่ง

          สังขารขันธ์ คืออะไร?
          โดยทั่วไป ตามตำรา บางทีท่านว่า สังขาร คือ ความปรุงแต่ง บ้างก็ว่า สังขาร คือ เจตนา ฯลฯ ในที่นี้ จะขอกล่าวความเป็นสังขาร โดยสภาพว่า ความมุ่งหมาย หรือความกำหนดหมาย เมื่อบุคคลใด มุ่งหมาย หรือกำหนดหมายในสิ่งใด สังขาร ย่อมเกิดในสิ่งนั้น ไม่ว่าสิ่งที่หมายอยู่นั้น จะเป็นฐานะแก่ตนอยู่หรือไม่ก็ตาม พึงสังเกตว่า รูป ไม่ใช่สังขาร แต่ สังขาร อาศัยรูปเกิด ดังนั้น สังขาร จึงไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับรูป และ รูป ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับสังขาร เช่นเดียวกันกับ เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี วิญญาณก็ดี ถึงแม้อาศัยรูปเกิด คือ อาศัยผัสสะในรูปเกิด แต่ เวทนา สัญญา และวิญญาณ ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับรูป ส่วนสังขารขันธ์ หมายถึง สิ่งใดก็ตาม ที่กองรวมกัน ประกอบเข้าด้วยกัน แล้วเป็นเหตุจำเพาะให้เกิด สังขาร คือ ความมุ่งหมาย หรือความกำหนดหมายในสิ่งใด ขึ้นในที่นั้น เรียกว่า สังขารขันธ์ บุคคล จะพึงกำหนดหมายในสิ่งใดได้ ย่อมมีเจตนาตรึกในสิ่งนั้น ดังนั้น บางทีก็กล่าวว่า ความคิด เป็น สังขาร หรือ บางทีก็กล่าวว่า วิตก และวิจารณ์(ในรูป) คือ วจีสังขาร หรือ บางทีก็กล่าวว่า เจตนา เป็น สังขาร แต่ เจตนาบางอย่าง ไม่นับเป็นสังขารขันธ์ ก็มี เพราะไม่อาศัยที่ตั้ง หรือที่กองรวมกัน สังเกตว่า บุคคลจะพึงกำหนดหมายในสิ่งใดได้ก็ตาม ย่อมต้องมีความระลึกได้ในสิ่งนั้นก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่า บุคคลจะต้องมีเจตนากำหนดหมายในทุกสิ่งที่ตนระลึกได้เสมอไป (ด้วยเหตุนี้ สังขาร จึงไม่ใช่สัญญา แต่อาศัยกันเกิดได้) เพราะยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นประกอบ หรือกระตุ้น ให้เกิดเจตนาความมุ่งหมายในสิ่งที่ระลึกได้อยู่นั้น เช่น เวทนา(ความยินดียินร้ายในสิ่งนั้น) ดังนี้ บางคราว ท่านก็กล่าวแสดงว่า ส้ัญญา และเวทนา คือ จิตตสังขาร(หมายถึง สัญญา และเวทนา เป็นปัจจัยปรุงแต่งจิต)

          วิญญาณขันธ์ คืออะไร?
          ความหมายโดยทั่วไปของคำว่า วิญญาณ (ตามหลักพระธรรม) ก็คือ ความรู้กระทบ หรือความรู้ในสิ่งที่เข้ามากระทบ เช่น เมื่อเสียงกระทบหู(โสตะ) ความรู้ได้ถึงเสียงนั้น(การได้ยิน) ก็คือ วิญญาณ(โสตะวิญญาณ) นั่นเอง หรือเมื่อรูปกระทบตา(จักษุ) ก็เกิดจักษุวิญญาณ นั่นเอง ฯลฯ เป็นต้น แต่ในที่นี้ จะกล่าวลักษณะอาการของวิญญาณ ว่าืคือ สภาพที่แล่นไป ทะยานไป หรือสภาพการหยั่งลง สู่สิ่งใดอันเป็นสภาพ เพื่อความรับรู้ในสภาพนั้น เรียกว่า เกิดวิญญาณในสิ่งนั้น เช่น เมื่อจิตที่จุติ(จุติ คือ การเคลื่อนจากภพหนึ่ง ไปอีกภพหนึ่ง)ได้หยั่งลงสู่ครรภ์มารดา ที่เรียกว่า ปฏิสนธิ(คือ การเกิด หรือการเกิดใหม่) เมื่อนั้น วิญญาณ ย่อมได้เกิดขึ้นแล้ว ในครรภ์มารดานั้น หรือความแล่นไปสู่ ความหยั่งลงสู่ ผัสสะทั้งหลายอันกระทบ ก็เช่นกัน วิญญาณ ย่อมเกิดในผัสสะนั้น(อาศัยการประจวบกันระหว่างอายตนะภายนอก และอายตนะภายในที่มีวิญญาณอาศัยเกิดอยู่ หรือครองอยู่) พึงสังเกตว่า วิญญาณ ไม่ใช่จิต แต่เป็นสภาพที่จิตหยั่งลงเพื่อความรู้ในสังขาร หรืออายตนะอันจิตอาศัยอยู่ รวมทั้งผัสสะอันเนื่องแต่สังขาร หรืออายตนะนั้น วิญญาณขันธ์ ก็คือ สภาพที่ประกอบกัน รวมกัน เพื่อความปรากฏจำเพาะแห่งวิญญาณในที่นั้น นั่นเอง กล่าวอีกอย่างว่า วิญญาณ คือ ความแล่นไป ความหยั่งลง สู่สภาพ หรือรูป อันเป็นสิ่งที่หมายมั่น ก็ืคือ สังขาร นั่นเอง

          รวมความแล้ว ขันธ์ แห่งสิ่งใด ก็คือ การปรุงแต่ง การประกอบ หรือการรวมเข้า เพื่อความเกิดจำเพาะของสิ่งนั้น

          นอกจากนี้ ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นสิ่งปรุงแต่งร่วมกัน เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งรวมกัน ประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อความเกิดจำเพาะของ ชีวิต หรือความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ไม่ใช่ของเกิดทีละสิ่ง และไม่ใช่สิ่งแยกต่างหากจากกัน หรือเกิดคนละเวลากัน และบุคคลทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย จะนับว่ามีอยู่ ก็เพราะประกอบด้วยขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่บางเวลา และไม่ใช่ว่าบางเวลาเกิดครบทั้ง ๕ ขันธ์ บางเวลาเกิดไม่ครบทั้ง ๕ ขันธ์ แม้แต่อรูปพรหม หรือบุคคลที่ทรงอยู่ในอรูปฌาน ก็ไม่เว้น เป็นเพียงว่า ไม่กำหนัดในรูป หรือละรูปสัญญาได้อยู่ แต่ไม่ใช่ไม่มีรูป หรือรูปข้ันธ์

          อีกประการหนึ่ง ขันธ์ทุกประการในขันธ์ ๕ ประกอบอยู่ด้วยเจตนาทั้งสิ้น ไม่ว่าบุคคลนั้น หรือสัตว์นั้น จะจำแนกได้อยู่หรือไม่ก็ตาม

          ขันธ์ ๕ นี้ มีทั้งส่วนที่เป็นประโยชน์ และส่วนที่เป็นโทษ ส่วนที่เป็นประโยชน์ ก็คือ ส่วนที่ทำให้เกิดความยินดี ส่่วนที่เป็นโทษ ก็คือ เป็นสิ่งปรวนแปร เป็นทุกข์ พระพุทธองค์ ไม่ได้สอนให้ละขันธ์ ๕ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ท่านสอนให้พิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง เช่นว่า มีความปรวนแปร เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน(อัตตา)ของเรา เพื่อความคลาย เพื่อความละ เพื่อความไม่กำหนัด หรือเพื่อความดับไปของอุปาทานขันธ์(ความยีึดติดในขันธ์)

          ข้อสุดท้าย เมื่อประมวลรวมความแล้ว ความมีอยู่ของสัตว์ หรือบุคคลทั้งหลาย ก็ประกอบด้วย รูป และนาม ส่วน จิต ก็เป็นสิ่งที่เข้าไปอาศัยปรุงแต่งในรูป(ที่เกิดจากการปรุงแต่งของมหาภูติรูป) เป็นเหตุให้เกิดนามอันปรุงแต่ง และนามอันปรุงแต่งนี้ ก็เป็นสิ่งปรุงแต่งจิตอีกทีหนึ่ง และนามรูปอันปรุงแต่งเหล่านี้ จำแนกตามลักษณะออกได้เป็นขันธ์ทั้ง ๕ ดังนั้น ทั้งรูป และนาม ก็ดี ขันธ์ ๕ ก็ดี ไม่ใช่จิต แต่เป็นปัจจัยที่จิตอาศัยปรุงแต่งเป็นอารมณ์นั่นเอง ผู้พิจารณาขันธ์ ๕ อยู่ เมื่อกำหนดจำแนกลักษณะอาการต่างๆของขันธ์ทั้ง ๕ ได้แล้ว ก็ควรพิจารณาให้เห็นได้ว่า อาการทั้งหลายตามที่จำแนกเป็นขันธ์ ๕ นี้ ไม่ใช่จิต สิ่งที่เข้าไปรับรู้ลักษณะอาการต่างๆของขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ต่างหาก ก็คือ จิต แต่จะเห็นชัดเช่นนี้ได้ ต้องละความกำหนัดในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ได้ก่อน นี่คือเจตนารมณ์หลักของบทความนี้
         



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 29, 2008, 03:17:13 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #25 เมื่อ: มกราคม 13, 2009, 02:43:13 AM »


          ทั้งหลายในโลก ล้วนเป็นมายา ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่ปรากฏก็ดี ไม่ว่าจะเป็นความคิดคำนึงก็ดี ไม่ว่าจะเป็นโวหารที่กล่าวก็ดี ล้วนเป็นมายาทั้งสิ้น แต่การจะแสดงให้บุคคลผู้ยังหลงอยู่ในมายาเหล่านี้ ให้ได้เห็นความเป็นจริง ให้ได้บรรลุธรรมอันบริสุทธิ์ เราย่อมพิจารณาเฟ้นมายาบางประการ เพื่อแสดงเป็นอุบาย

          หากเรารู้ชัดว่า บุคคลใด ที่จะพึงบรรลุธรรมอันบริสุทธิ์ได้ เพราะรู้ว่า พระนิพพาน เป็นทุกข์ เราจักกล่าวแก่ผู้นั้นว่า พระนิพพาน เป็นทุกข์ หรือหากเรารู้ชัดว่า บุคคลใด ที่จะพึงบรรลุธรรมอันบริสุทธิ์ได้ เพราะรู้ว่า พระนิพพาน เป็นสุข เราจักกล่าวแก่ผู้นั้นว่า พระนิพพาน เป็นสุข หรือหากเรารู้ชัดว่า บุคคลใด ที่จะพึงบรรลุธรรมอันบริสุทธิ์ได้ เพราะรู้ว่า พระนิพพาน ไม่เป็นสุข และไม่เป็นทุกข์ เราจักกล่าวแก่ผู้นั้นว่า พระนิพพาน ไม่เป็นสุข และไม่เป็นทุกข์ ฯลฯ หรือมิเช่นนั้น เราก็จักไม่กล่าวพระนิพพานแก่บุคคลนั้นเลย



บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #26 เมื่อ: มกราคม 18, 2009, 09:53:23 PM »


          ประการแรก บุคคลใด มิได้น้อมจิตไปในสิ่งชั่ว เพียงเพราะยังมิได้ระลึก ตรึก หรือคิด ในสิ่งชั่ว เราไม่กล่าวเพียงเพราะเหตุเท่านี้ว่า บุคคลนี้ เป็นผู้มีปัญญา

          ประการที่สอง บุคคลใด ระลึกอยู่ ตรึกอยู่ หรือคิดอยู่ ในสิ่งชั่ว แล้วกำหนดรู้ได้ว่า สิ่งนี้ชั่ว และมีความตั้งมั่น ทนทานได้ ไม่น้อมจิตตามไปในสิ่งชั่วนั้น ด้วยเหตุประมาณนี้ เราย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้ เป็นผู้มีสติปัญญา

          ประการที่สาม บุคคลใดที่รักษาตนตั้งอยู่ในประการที่สองได้แล้ว ระลึกไป ตรึกไป หรือคิดไป ในสิ่งประเสริฐกว่า แล้วกำหนดรู้ได้ว่า สิ่งนี้ประเสริฐกว่า แล้วพึงน้อมจิตไปในสิ่งอันระลึก ตรึก หรือคิดไปเหล่านั้นได้ เราย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้ เป็นผู้มีสติปัญญาอันประเสริฐยิ่งกว่าบุคคลดังประการที่สอง

          เพราะเหตุว่า สิ่งใดก็ตาม จะนับเป็นปัญญาได้ ก็เพราะมีสภาพว่า ตัด ละ หรือลด โมหะ




บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #27 เมื่อ: มกราคม 21, 2009, 12:40:04 PM »


          อกุศลมูล ๓ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ

          โลภะ คือ ความใคร่ได้ในสิ่งที่ตนเห็นว่าน่ายินดีพอใจ
          โทสะ คือ ความประทุษร้าย ใคร่กำจัดสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ
          โมหะ คือ ความไม่รู้ชัดในสภาพแห่งโลภะ และโทสะ ความหลงไปในโลภะ และโทสะ

          บุคคลเมื่อตรึกคาดหวังในสิ่งใดแล้ว เกิดตัณหา มุ่งทะยานไปด้วยเหตุแห่งโลภะ โทสะ และโมหะ อันครอบงำจิตตนอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อความวิปลาส ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม ย่อมเป็นไปเพื่อทุึกข์คติ เพราะสุดโต่งไปในสิ่งที่คาดหวัง เพราะสุดโต่งไปในตัณหา




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 21, 2009, 12:42:43 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #28 เมื่อ: มกราคม 24, 2009, 01:10:04 AM »


          ในการงานที่สำเร็จลุล่วงได้ยาก นิสัย และ วาสนา มักเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง เพราะวาสนาเป็นปัจจัยให้ประจวบเหมาะ ส่วนนิสัยเป็นปัจจัยให้น้อมไป เป็นปัจจัยให้ใส่ใจ เป็นปัจจัยให้ประคอง หากปัญหาเกิดจากนิสัย และวาสนา บุคคลควรแก้นิสัยก่อน จึงเพียรพอกพูนวาสนา



บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #29 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 10, 2009, 05:10:41 PM »


          บนโลกอันมีความปรวนแปร เปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ บางเรื่องก็พอคาดประมาณการณ์ล่วงหน้าได้ บางเรื่องก็เกิดขึ้นโดยไม่มีวี่แววมาก่อน ฯลฯ คนส่วนใหญ่ในโลก มักดำรงตนอยู่ด้วยความหวาดกลัว หรือหวาดระแวง ด้วยเกรงว่า สิ่งต่างๆ จะไม่เป็นไปอย่างที่ตนยินดี ก็จึงพยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านั้น เช่นว่า บางคนกลัวจน กลัวความไม่สะดวกสบาย ก็พยายามขวนขวายหาทรัพย์สมบัติเงินทองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บางที ก็ถึงกับต้องเบียดเบียน แก่งแย่ง คดโกง หรือประทุษร้ายผู้อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์เงินทอง แต่ถึงแม้ได้มา จิตใจก็ยังไม่เป็นสุข ถึงแม้บางคราว เมื่อได้มาก็ยินดี แต่ภายในจิตใจลึกๆ ก็กระวนกระวายเร่าร้อนอยู่ ไม่เยือกเ็ย็นสงบสุข ถึงจะรู้ตัวบ้าง หรือไม่รู้ตัวบ้าง ก็ตาม หรือบ้างก็เป็นห่วง กลัวบุคคลที่เรารัก จะพลัดพราก จะลำบาก จะถูกเบียดเบียน จะตกทุกข์ได้ยาก ฯลฯ เป็นต้น เมื่อบุคคลทั้งหลายเป็นไปอย่างนี้แล้ว ก็ดูเหมือนว่า โลกนี้ เป็นที่ไม่มั่นคง ไม่น่าไว้วางใจ มีความบีบคั้น มีอันตรายได้อยู่ตลอดเวลา ไม่ทางกาย ก็ทางใจ ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ชีวิต ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งด้อยคุณค่า มีลมหายใจอยู่ ก็เพื่อต่อสู้ ดิ้นรน หรือวิ่งหนีจากความทุกข์ ความผิดหวังเท่านั้น มีแต่ความไม่มั่นคง มีแต่ความหวาดกลัว เพราะความไม่รู้ เหมือนกับว่า โลก จะถล่มทลายลงต่อหน้าเราเมื่อใดก็ได้

          แท้ที่จริงแล้ว โลกนี้ก็เต็มไปด้วยความปรวนแปรจริงอย่างนั้นแหละ แต่ไม่ใช่ทุกคนในโลกที่หวาดกลัว หากเราหวาดกลัวความไม่แน่นอนของโลก โลกนี้ ก็จะเป็นไปด้วยภัยอันตราย ที่คอยไล่ตะครุบ คอยจะไล่ต้อน คอยจะทับถมผู้คนให้ย่อยยับเศร้าโศกลงไปได้ แต่หากเราไม่เกรงกลัวใดๆในโลก โดยสำคัญว่าโลกนี้เที่ยง หรือโลกนี้ต้องเป็นไปอย่างที่เราต้องการ อย่างเช่น ความคิดที่สุดโต่งไปว่า เดี๋ยวก็ดีเอง แล้วก็ประมาท ไม่เร่งขวนขวายในสิ่งที่ควรขวนขวาย ด้วยกายก็ดี ด้วยจิตใจก็ดี อย่างนี้แล้ว ก็เป็นการมองโลกในแง่ดีจนเกินไป ขัดต่อความเป็นจริง ประมาท ก็จะนำภัยมาสู่ตนได้เช่นกัน ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราควรจะวางใจอยู่ในโลกนี้ด้วยดีได้อย่างไร?  บุคคลผู้รู้ชัดว่า ความเป็นไปต่างๆทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมมีความแปรปรวนอยู่เป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดจะมั่่นคงยั่งยืนไปได้ตลอดกาล สิ่งไม่น่าปรารถนาจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใด เมื่อไหร่ก็ได้ในโลกนี้ คล้ายกับว่า โลกนี้ จะถล่มทลายลงต่อหน้าตนเมื่อใดก็ได้เสมอ เมื่อรู้ชัดอย่างนี้แล้ว แต่ไม่หวาด ไม่ขาดเขลา ไม่กลัวเกรง ยอมรับไว้ เพราะเห็นว่า เป็นธรรมดาของโลก และรู้ชัดว่า สิ่งที่เป็นไปในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดเลย ที่เป็นของๆตนอย่างแท้จริงตลอดไป มีแต่เจตนา คือความตั้งจิตตั้งใจของตนเท่านั้น ที่เป็นที่อาศัย เป็นที่พึ่ง เป็นของๆตนเองอย่างแท้จริง ที่จะพึงกำหนดได้ อย่างนี้แล้ว แม้เมื่อโลกถล่มทลายลงต่อหน้าของตน ก็จะไม่สามารถทับถมทำลายเราให้จมลงไปในซากปรักหักพังของโลกนี้ได้เลย ดังนั้น เมื่อบุคคลตั้งจิตตั้งใจ กำหนดรักษาเจตนาของตน ให้แน่วแน่มั่นคงอยู่ในคุณธรรมความดีได้อย่างแท้จริง โดยไม่กลัวความยากลำบากแล้ว โลกอันเป็นสภาพง่อนแง่นแปรปรวนอยู่ทุกเมื่อนี้ ก็จะกลายเป็นที่มั่นคงปลอดภัยมากพอ สำหรับบุคคลนั้นได้ ความปกติสุข ย่อมเป็นสิ่งอันบุคคลพึงหวังได้ แก่ตน ด้วยปัญญาอันแยบคาย




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 10, 2009, 05:42:38 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
หน้า: 1 [2] 3 4 ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง