|
|
|
|
|
|
zen
Administrator
Sr. Member
ออฟไลน์
กระทู้: 351
|
|
« ตอบ #6 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2008, 03:52:56 PM » |
|
พระนิพพาน คือ ความสงบยิ่ง พระนิพพาน เป็นธรรมสงัด สันโดษ พระนิพพาน เป็นบรมสุข เป็นแดนอันเกษม พระนิพพาน เป็นความอิสระยิ่ง พระนิพพาน เป็นอมตะธรรม เป็นไปทางเดียว หนเดียว ไม่มีซ้ำ
พระนิพพาน เป็นธรรมสว่าง เป็นความรู้ยิ่ง ความรู้แจ้ง แทงตลอด พ้นไปจากความปิดบังซ่อนเร้น พระนิพพาน เป็นธรรมอันบริสุทธิ์ พ้นไปจากบาป บุญ คุณ โทษ ทั้งหลายในโลก พระนิพพาน เป็นธรรมเย็น พ้นไปจากความเร่าร้อนกระวนกระวายทั้งหลายในโลก
พระนิพพาน เป็นความพ้นไปจากทุกข์ และสุข ทั้งหลายในโลก พระนิพพาน เป็นธรรมอันพ้นไปจากความทะยาน พ้นไปจากความหมิ่น พระนิพพาน เป็นธรรมพ้นไปจากความสุดโต่งทั้งสองฝ่าย พระนิพพาน เป็นธรรมอันพ้นไปจากอายตนะทั้งหลาย ไม่อาศัยอายาตนะใดๆเป็นที่ตั้ง ไม่อาศัยปัจจัยใดปรุงแต่ง พ้นแดนเกิด ไม่มีจุติ ไม่มีปฏิสนธิ ดังนั้น จึงเป็นธรรมอันไม่ปรากฏในตา หู จมูก ลิ้น ประสาทกาย และใจ ไม่ปรากฏในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส(การเสวย) ในกระทบสัมผัส และในธรรมมารมณ์(อารมณ์ที่กระทบใจ) แต่เป็นธรรมพิสูจน์ได้ บรรลุได้ ภายในตน
พระนิพพาน เป็นประโยชน์สูงสุด ที่บุคคลจักพึงบรรลุได้ในโลก
ผู้สำคัญตนว่า เป็นผู้แสวงหานิพพาน มีมาก แต่ ผู้แสวงจริงมีน้อย ผู้กล่าวว่า พระนิพพานควร พระนิพพานประเสริฐ มีมาก แต่ ผู้รู้แท้ว่าควรอย่างไร ประเสริฐอย่างไร มีน้อย พระนิพพานธรรม เป็นธรรมอยู่เหนือกระแส นอกกระแส อาศัยความหยุด ความย้อนทวน และความถอดถอนออกจากกระแสโลก ดังนี้ พระนิพพานธรรม จึงเป็นธรรมสงบจากโลก วิเวกสันโดษจากโลก ไม่เป็นไปตามกระแสโลก ดังนั้น เมื่อผู้คนมากมายพยายามมุ่งแสวงพระนิพพาน แต่กลับขวนขวายไปตามกระแสโลก แม้แต่ทิฏฐิว่า พระนิพพาน ผู้คนเหล่านั้น ก็ยังเข้าใจ ตีความกัน ไปตามกระแสโลก อันเชื่อต่อๆกันมา เป็นเหตุให้ธรรมอันควรสันโดษ ก็ไม่สันโดษ ธรรมอันควรสงบ ก็กลับวุ่นวาย สับสน ฟุ้งซ่าน ธรรมอันควรทวนกระแส ก็กลับเป็นไปตามกระแส ธรรมอันควรละออกจากอุปธิ ก็กลับพอกพูนอุปธิ ฯลฯ เช่นนี้แล้ว เราย่อมกล่าวตำหนิว่า พระนิพพานอย่างนี้ ไม่ดีเลย ตรงกันข้าม ธรรมอันไม่กล่าวอ้างคำว่า พระนิพพาน แต่เมื่อเจริญน้อมตามไปแล้ว กลับเป็นเหตุให้ย้อนทวนกระแส หรือแม้แต่เพียงแค่ทนทานต่อกระแสได้มากขึ้น ย่อมเป็นเหตุให้เจริญขึ้น เข้มแข็งขึ้น อ่อนแอน้อยลง หรือลดทอนความเสื่อมลงได้ เราย่อมกล่าวสรรเสริฐธรรมนั้นว่า ดียิ่ง บุคคลที่หลงยึดมั่นถือมั่นอยู่ในกระแสโลกอยู่ ย่อมเป็นไปโดยทุกข์ แม้กระนั้น เมื่อพวกเขาประสบกับโลกธรรมฝ่ายที่น่ายินดี เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ถึงแม้ทุกข์อยู่ พวกเขาก็สำคัญว่า สุข สำคัญว่า น่ายินดี สำคัญว่า ไม่มีทุกข์ เพราะไปสำคัญสุขในสิ่งอันเป็นมายา มิได้สำคัญสภาพทุกข์อันเป็นจริง อันเป็นสัจจะ อันปรากฏเป็นไปอยู่แม้แต่ในขณะที่สำคัญตนว่า สุขอยู่ หากไม่หมั่นอบรมจิตใจตนให้เข้มแข็ง ให้ทนทานได้ ไม่น้อมใจไปตามกระแสโลกธรรมทั้งหลายแล้ว ย่อมไม่เห็นทางออกจากวังวนอันดึงดูดใจสรรพสัตว์ทั้งหลายให้จมลงได้ คนบางพวก สำคัญตนว่า ทำดีมามากแล้ว ทำบุญมาก สละทานมาก บริจาควัตถุปัจจัยมาก ถวายเครื่องบริขารเป็นอันมากแก่นักบวชที่ตนศรัทธา หรือแม้แต่ภาวนามามาก แต่จิตใจยังไม่พ้นบาปอกุศล มีธรรมดาอุปธิครอบงำ ไม่ทนทานต่อโลกธรรม มีปกติเพ่งเล็งผู้อื่น แท้จริงแล้วพวกเขาทำดีมาน้อยไป คนบางพวก ขาดแคลนทรัพย์สินเงินทอง บริจาคทรัพย์น้อย ช่วยเหลือผู้อื่นได้น้อย แต่มีใจสันโดษ ทนทานต่อโลกธรรมได้มาก มีความเพียร มีปีติ เราย่อมกล่าวว่า คนพวกนี้ ทำดีมาก คนบางพวก ไม่บริจาคทรัพย์ ไม่ให้สิ่งของผู้อื่น แต่แสดง สอน แก่ผู้อื่นให้สงบ ให้สันโดษ ให้อดทน ให้แยบคาย ให้งดโทษแก่ผู้อื่น ให้ขวนขวาย ให้พากเพียร เป็นไปสู่ปีติที่ไม่อาศัยโลกธรรมเป็นเครื่องล่อ แท้จริงแล้ว บุคคลจำพวกนี้ ให้ทรัพย์อันประมาณค่ามิได้ หาทรัพย์ใดในโลกมาเปรียบมิได้ เราย่อมกล่าวว่า บุคคลพวกนี้ ดียิ่ง บุคคลจำพวกนี้ ที่จริงแล้ว มิควรให้โภคทรัพย์แก่คนทั่วไป เพราะผู้รับจะต้องขวนขวายเป็นอย่างยิ่ง จึงจะรักษาไว้ได้ หากรับไว้ด้วยอกุศล เช่นความโลภ ครอบงำแล้ว จักเป็นเครื่องลำบาก
บุคคล เมื่อหมั่นเจริญขวนขวายไปในบารมี ๑๐ คือ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา แล้ว ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้หมั่นทวนกระแสโลก ย่อมเป็นไปสู่ความเข้มแข็ง ย่อมมีธรรมดาไม่ตกต่ำในการวนเวียน และจักเป็นอุปการธรรมต่อการเจริญสู่ความพ้นไป คือ พระนิพพาน ในเบื้องปลาย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|