ข่าว: SMF - Just Installed!
 
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
+  กระดานธรรมะ
|-+  กระดานสนทนาธรรม
| |-+  สมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน
| | |-+  การภาวนาจิตสำหรับผู้เริ่มต้น
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: การภาวนาจิตสำหรับผู้เริ่มต้น  (อ่าน 28389 ครั้ง)
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2009, 04:13:19 PM »


          เนื่องด้วยมีผู้เสนอว่า ควรมีหัวข้อสำหรับผู้ที่ไม่เคยฝึกฝนมาก่อน หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษาการภาวนาจิต แยกไว้ต่างหาก ดังนั้นจึงได้ตั้งหัวข้อนี้ขึ้นสำหรับผู้เริ่มต้น ผู้มีข้อปัญหาในการเริ่มต้นปฏิบัติก็สามารถสอบถามในหัวข้อนี้ได้


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 05, 2009, 04:21:17 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2009, 09:01:30 PM »


          บุคคลทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมวนเวียนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นไปต่างๆนานา แปรผันไปตามแต่เหตุปัจจัยอันปรวนแปรอยู่ มากบ้าง น้อยบ้าง เร็วบ้าง ช้าบ้าง ประณีตบ้าง หยาบบ้าง ฯลฯ ตามธรรมดาของโลก ไม่ใช่เพราะเจตนาของบุคคลใด และไม่อาจกำหนดให้เป็นอย่างอื่นได้ด้วยเพียงเจตนาของบุคคลใด จะประสบสิ่งหวังในโลกได้ ก็เพราะเหตุปัจจัย จะพลัดพราก สูญเสีย หรือผิดหวัง ก็เพราะเหตุปัจจัย

           ก็จริงอยู่ว่า ในบางเวลา บางสิ่งบางอย่างในโลก บุคคลอาจสามารถขวนขวายประกอบเหตุจนกระทั่งได้มาซึ่งสิ่งที่คาดหวังได้ แต่ก็ไม่เสมอไป และเมื่อได้มาแล้ว ก็มิใช่ว่าสิ่งที่ขวนขวายได้มาแล้วนั้น จะต้องเป็นของตน ต้องอยู่กับตนได้อย่างมั่นคงตลอดไป หรือแม้กระทั่งว่า บางสิ่งเมื่อขวนขวายมาได้แล้ว บุคคลนั้นก็เกิดความสุข เกิดความพึงพอใจ หรือหมดทุกข์ใจในสิ่งนั้นไป เพราะได้มา แต่เมื่อนานไป ความพึงใจในสิ่งนั้นก็หมดไป ความสุขที่ได้ครอบครองสิ่งนั้นก็หมดไป ทุกข์อื่นก็ปรากฏแก่ตนอีก ทั้งๆที่สิ่งที่ได้มาแล้วนั้น ก็ยังอยู่กับตน ยังเป็นของตนอยู่ เหมือนอย่างเดิม แต่บุคคลนั้นก็ยังเป็นทุกข์ ทั้งที่ยังมิได้สูญเสียสิ่งใดไปเลย นี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นความเป็นจริงสองประการว่า ประการแรก ความเป็นไปต่างๆในโลกล้วนเป็นสิ่งปรวนแปรอยู่ อีกประการหนึ่งก็คือ ความคิดคาดหวัง หรือจิตใจของบุคคล ก็เป็นสิ่งปรวนแปร พิสดาร ดังนั้น ทั้งความเป็นไปในโลกก็ดี ทั้งความคิดคาดหวังของบุคคลก็ดี ล้วนแล้วแต่หาความมั่นคงอย่างแท้จริงมิได้ เช่นนี้แล้ว บุคคลผู้สุดโต่งไปในความเป็นไปในโลกก็ดี (เช่น ลาภ ยศ ชื่อเสียง ความสมหวัง) หรือบุคคลผู้สุดโต่งไปในความคิดคาดหวังของตนเองก็ดี ย่อมไม่อาจนำพาตนไปสู่ความมั่นคงปราศจากทุกข์ภัยอันตรายอย่างแท้จริงได้เลย เหตุเพราะยังเป็นผู้ตั้งตน ดำรงตน หรือรักษาตนอยู่ด้วยสิ่งที่ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน มีความปรวนแปรอยู่เป็นธรรมดา

          แม้ถึงอย่างนี้แล้ว บุคคลส่วนมาก ก็ไม่ตระหนัก หรือถึงจะตระหนักได้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่หนักแน่น ไม่มั่นคง นานไปก็เฉไฉ ไถลเถลือกไปสู่สิ่งอื่น ไปสู่ความคิด ความคาดหวัง หรือความเพ่งเล็ง ในสิ่งอื่น ในเรื่องอื่น ทั้งนี้ก็ด้วยอำนาจแห่งโมหะ อวิชชา อันปิดบังสภาพความเป็นจริง และด้วยอำนาจกิเลสตัณหาทั้งหลาย อันครอบงำ ยั่วยุ ชักจูงจิตใจ ให้ทะยาน ให้ฟุ้งซ่าน ให้สุดโต่งเสาะแสวงหาไปในโลกธรรมทั้งหลาย อันตนเห็นว่าเป็นสิ่งอันน่าพึงพอใจ หรือเห็นว่า เป็นสิ่งอันสามารถระงับทุกข์ของตนได้ และ่เมื่อสำเร็จได้มาแล้ว ก็หลงเพลิดเพลินยินดีไปในสิ่งที่ได้มานั้น เป็นเหตุให้ต้องคอยขวนขวายให้ได้มาอีก หรือเมื่อไม่สำเร็จได้มา ก็ทุกข์ร้อนจิตใจตน จนเป็นเหตุให้ขาดเขลา หวาดกลัว เพ่งเล็ง แก่งแย่ง กระทบกระทั่ง เบียดเบียน หรือประทุษร้ายกันไป ก็วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จบ ไม่มีประมาณ ไม่มีที่สิ้นสุด มองย้อนหลังก็เป็นอย่างนี้ มองสิ่งที่เป็นอยู่ต่อหน้าก็เป็นอย่างนี้ มองไปในอนาคตก็ยังคงเป็นอยู่อย่างนี้อีก

          ด้วยเหตุประมาณนี้ พระพุทธองค์จึงทรงมุ่งมั่นขวนขวาย สละราชสมบัติอันน่ายินดีทั้งหลายในโลก ปลีกวิเวกเข้าป่า เพื่อค้นหาหนทางอันเป็นสัจจะเพื่อความสิ้นทุกข์โดยเด็ดขาด โดยมั่นคง โดยบริบูรณ์ และโดยบริสุทธิ์ และเมื่อตรัสรู้แจ้งดังพระประสงค์แล้ว ก็ได้ทรงเผยแพร่แก่สัตว์ผู้ยังอ่อนแอ ยังเขลา ยังตกทุกข์ได้ยากอยู่ ด้วยพระมหาเมตตาของพระพุทธองค์ สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนก็คือ การศึกษาภาวนาอบรมจิตใจตนเอง เป็นลำดับ จนกระทั่งพ้นจากกิเลสตัณหา พ้นจากความหลงผิด พ้นจากมายาทั้งหลายอันผูกมัดสัตว์ให้วนเวียนอยู่ เป็นอิสระ ฯลฯ

          คนบางพวก อาจเข้าใจว่า การภาวนาอบรมจิตที่พระพุทธองค์ทรงสอน เป็นสิ่งยาก ลึกซึ้ง สูงส่ง เกินที่ตนจะเข้าถึงได้ แต่ที่จริงแล้ว ทรงแสดงธรรมอย่างมีลำดับ ลาด ลุ่ม ลึก ไม่โกรกชัน และประโยชน์ที่บุคคลจะพึงบรรลุได้แก่ตน ด้วยการเจริญสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน ที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้น แบ่งตามกาล(เวลา)ได้เป็น ๓ ลำดับ หรือ ๓ กาล นั่นเอง คือ หนึ่ง เพื่อประโยชน์ในเบื้องต้น คือ ความสุขอยู่ในปัจจุบัน สอง เพื่อประโยชน์ในเบื้องกลาง คือ ความจุติในสุขคติภูมิเมื่อสิ้นภพชาตินี้ไปแล้ว สาม เพื่อประโยชน์ในเบื้องปลาย คือ ความพ้นจากทุกข์ทั้งหลายในโลกไปโดยสิ้นเชิง และมั่นคง กล่าวคือ พระนิพพาน นั่นเอง ดังนั้น ในเบื้องต้น ถึงแม้เราอาจยังไม่กล้าคาดหวังไกลไปถึงพระนิพพาน แต่กระนั้น ก็ยังมีประโยชน์ในเบื้องกลาง และในเบื้องต้น ลดหลั่นกันลงมา ที่ตนพึงคาดหวังได้มาก ตามกำลังฐานะแห่งตน และไม่ว่าเราจะคาดหวังประโยชน์ในขั้นใดๆก็ตาม ใน ๓ ประการที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ หนทาง หรือวิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อให้ได้มา ก็ล้วนเป็นหนทางเดียวกัน กล่าวก็คือ การศึกษาปฏิบัติอบรมภาวนาจิตใจของเรานี่เอง ซึ่งก็คือการฝึกสมาธิอันเป็นไปตามหลักการสมถะ และวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง เมื่อบุคคลปฏิบัติอบรมให้มากแล้ว ก็จะพึงหวังประโยชน์ได้ทั้ง ๓ ประการ เป็นลำดับไป

          สรุปแล้ว แม้แต่ผู้ที่คาดหวังผลเพียงเพื่อความสงบสุขร่มเย็นจิตใจอยู่ในปัจจุบัน ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาอบรมภาวนาจิตใจของตนให้ดี ให้ถูกต้อง ด้วยการปฏิบัติสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะเป็นคนฉลาด และผู้ฉลาดก็ย่อมเป็นผู้รู้จักรักษาตนได้ดี รู้จักบริหารตนเพื่ออยู่ห่างไกลจากทุกข์มากขึ้น ให้อยู่ใกล้สุขได้ยิ่งๆขึ้น เป็นลำดับ ย่อมเป็นผู้ห่างไกลความเสื่อม ย่อมเป็นผู้เจริญอัตภาพแห่งตน ย่อมเป็นผู้พอกพูนบุญกุศล ยิ่งๆขึ้นไป เป็นลำดับ ฯลฯ

          ดังนั้น ท่านทั้งหลายที่ยังมิได้ปฏิบัติภาวนาจิตอย่างจริงจัง พึงควรพิจารณาใคร่ครวญให้ดี ให้แยบคาย เพื่อความน้อมใจไปสู่การตั้งเจตจำนงค์อันแน่วแน่ ว่าจะเริ่มต้นศึกษาปฏิบัติธรรม ๒ ประการ คือ สมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยความพากเพียร เพื่อความสำเร็จประโยชน์ที่พึงสำเร็จได้แก่ตนต่อๆไป เพื่อความสุข ความเจริญแก่ตน โดยลำดับ


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 06, 2009, 01:15:13 AM »


          พื้นฐานเบื้องต้นในการฝึกสมาธิภาวนานั้น ต้องระงับความฟุ้งซ่านออกจากจิตไปเสียก่อน เพื่อให้จิตรวมตัว เพื่อให้สติรวมตัวเป็นหนึ่ง ก็จะเกิดเป็นสติที่มีกำลัง มีความชัดเจน มีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่ตนจะพึงมีได้ เพื่อที่จะสอดส่องธรรมอันพิจารณาอยู่นั้นได้อย่างชัดเจน ละเอียด ลออ และทั่วถึง จนกระทั่งถึงซึ่งความถ่องแท้แทงตลอดในธรรมนั้น เปรียบเสมือนว่า แสงจากพระจันทร์ ที่ส่องสว่างไปทั่ว ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างไพศาล แต่หากเราจะอ่านหนังสือในเวลากลางคืนที่ไร้แสงพระอาทิตย์สาดส่องแล้ว แสงจากเทียนเพียงเล่มเดียว ซึ่งส่องสว่างได้เพียงเป็นบริเวณแคบๆ เล็กๆนิดเดียวเท่านั้น ก็ยังเป็นประโยชน์ใช้การได้มากกว่าแสงของพระจันทร์ที่สาดส่องไปทั่วเสียอีก ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า โดยปกติทั่วไปแล้ว ตัวอักษรที่พิมพ์ลงในหนังสือทั่วไปนั้น มักมีขนาดเล็ก ยากที่จะจำแนกแยกแยะได้อย่างถูกต้องโดยอาศัยเพียงแสงจันทร์อันสลัวๆเท่านั้น จิตใจเรานี้ก็คล้ายๆกันในบางแง่ กล่าวคือ เป็นสิ่งที่มีองค์ประกอบซับซ้อนละเอียดลออ(คนโดยมากสะกดคำนี้ผิด เป็น “ละเอียดละออ” ซึ่งผิด)อย่างยิ่ง จำนวนมาก ประกอบเข้าด้วยกัน หากจำแนกแบบไม่ละเอียดชัดเจนพอแล้ว ก็จะเห็นเป็นสภาพคล้ายเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นของหยาบ ของใหญ่ แต่หากจำแนกแบบละเอียดชัดเจนมากพอแล้ว ก็จะเห็นว่าที่เห็นเป็นกลุ่ม เป็นก้อน นั้น แท้จริงแล้วเป็นการประกอบขึ้นมาของอณูละเอียดประณีตยิบย่อย จำนวนมากมายมหาศาล เมื่อไม่แยบคายพอก็จึงเห็นเป็นของหยาบ ของใหญ่ ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้น การจะเห็นแจ้ง รู้แจ้ง สภาพความเป็นจริงของจิตใจเรานี้อย่างถูกต้อง ถี่ถ้วน และครอบคลุม จึงเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก พิจารณาได้ยาก และ การที่จะเห็นแจ้ง รู้แจ้งในสิ่งใดๆได้ เราก็ต้องอาศัยสตินี่แหละ เป็นเครื่องมือในการสอดส่อง ดังนั้น สติที่เราควรจะใช้เป็นเครื่องมือในการสอดส่องจิตใจตนเอง ให้รู้แจ้ง ให้รู้จริง ให้เท่าทันอย่างที่เป็นจริง จึงควรต้องเป็นสติที่มีกำลังมาก มีประสิทธิภาพมาก มีความแหลมคม และปราดเปรียวมาก อีกทั้งยังต้องมีความมั่งคงอย่างยิ่งอีกด้วย มิฉะนั้นแล้ว หากไฟฉายส่องสว่างมาก แต่กลับส่องฉายไปทางอื่น ไม่ส่องฉายอยู่แต่กับเฉพาะสิ่งที่เราต้องการเห็นแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ในกิจนั้นๆ ด้วยเหตุประมาณนี้นี่แหละ ผู้ภาวนาจึงควรเพียรชำระความฟุ้งซ่านไปในสิ่งทั้งหลาย ให้หมดไปจากใจ สติก็จะรวม ตั้งมั่น แน่วแน่ มีกำลังในการจำแนกแยกแยะ ส่องสว่างอยู่ในใจ ก็จะเป็นเหตุให้สิ่งทั้งหลายที่เป็นไปอยู่ภายในจิตใจเรานี้ ปรากฏเด่นชัดเจนอยู่เฉพาะหน้าตนอยู่ ไม่คลุมเครือ และไม่หนีหายไปไหน อย่างนี้แล้ว ก็จะอยู่ในฐานะที่จะเพ่งพิจารณาความเป็นจริงในจิตใจของตนได้อย่างถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน ไม่สุดโต่งไปในความตรึกคาดเดา หรือจินตนาการ อย่างนี้เรียกได้ว่า เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นของจริง ไม่ใช่อาศัยจากว่าไปอ่าน หรือไปฟัง หรือไปจำตามผู้อื่นมา อย่างนี้เรียกว่า เป็นมรรค เป็นการเจริญมรรคอยู่ เมื่อใส่ใจพากเพียรเจริญให้มากพอแล้ว ก็ย่อมเป็นผล ย่อมบรรลุผล และเมื่อบรรลุได้อย่างนี้แล้ว ก็จะรู้ตนอยู่เป็นอย่างดี ว่าอะไรที่รู้แล้ว อะไรที่ยังไม่รู้ ไม่ต้องไปคอยแต่จะอาศัยผู้อื่นมารับรอง และไม่ต้องคอยอาศัยแต่จะไปนั่งเดาด้วยการระลึกเทียบเคียงจากตำรา หรือคำสอนของผู้อื่น เพื่อจะตอบตนเองว่า ตนเองบรรลุอะไร หรือไม่บรรลุอะไร เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่า ประโยชน์ใดเป็นไปแก่ตนเองแล้ว ตนก็รู้ดี รู้ชัด ประโยชน์ใดยังไม่เป็นไปแก่ตนแล้ว ตนก็รู้ดี รู้่ชัด นี่เรียกว่า ปัญญา แม้แต่ความรู้ชัดว่าประโยชน์อะไรที่ยังไม่เกิดขึ้นแล้วกับเรา นี่ก็เป็นปัญญาอย่างหนึ่ง ส่วนที่ไปรู้มาเพียงเพราะระลึกได้ในสิ่งที่ผู้อื่นกล่าวไว้ ยังไม่เรียกว่าปัญญาของจริง แต่เรียกว่า ปัญญาเทียม เพราะเราเองยังไม่ได้พิสูจน์เห็นจริงแก่ตน คนบางพวกไปทึกทักเอาสิ่งที่เป็นศรัทธาว่า เป็นปัญญา อย่างเช่น อาจารย์บอกว่า จิตเป็นไตรลักษณ์ ศิษย์ก็เชื่อไปตามนั้น คิดว่าจริงไปตามนั้น รู้ไปตามนั้น ก็คิดว่าตนมีปัญญาอย่างนั้น แท้จริงแล้ว ความรู้ตามกันมาเหล่านี้ เป็นศรัทธาเท่านั้น ยังไม่ใช่ปัญญา สรุปก็คือ ต้องรู้เห็นจริงให้ได้แก่ตนเอง นั่นแหละ จึงจะเรียกได้ว่า เกิดปัญญา และการที่จะเกิดปัญญาในสิ่งที่ประณีต ลึกซึ้ง แทงตลอดได้ยาก นั้น เราก็ต้องทำจิตเรา ตั้งสติเรา ให้มั่นคง ให้ส่องสว่าง ให้หมดฟุ้งซ่านไปเสียก่อน แม้เพียงชั่วแล่น ชั่วครู่ ชั่วคราว หรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็ยังดี

          ทีนี้ จะทำอย่างไร เพื่อให้กำจัดความฟุ้งซ่านออกจากจิต(แม้เพียงชั่วคราว) เพื่อให้มีสติที่มั่นคง และปราดเปรียว ก็การที่สติจะตั้งมั่นอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยเครื่องระลึกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นฐานที่ตั้ง เป็นที่รวมแห่งสติ ส่วนการที่สติจะมีความปราดเปรียวว่องไวได้นั้น ก็ต้องอาศัยความปล่อยวางในธรรมที่เป็นที่ตั้งของสติอยู่ในขณะนั้น แต่ในที่นี้ จะเน้นการมีสติที่ตั้งมั่นก่อน ส่วนการที่จะมีสติที่ปราดเปรียวว่องไวนั้น ก็จะแสดงประกอบไปในบางจุด สาเหตุที่เน้นความตั้งมั่นแห่งสติก่อน ก็เพราะเหตุว่า ผู้ที่จะคิดเป็น ควรหัดที่จะหยุดคิดให้เป็นเสียก่อน ไม่อย่างนั้น ส่วนใหญ่แล้ว ยิ่งคิดไปก็รังแต่จะยิ่งฟุ้งซ่านไปเสียเปล่า บุคคลจะฉลาด ต้องหัดโง่ให้เป็นเสียก่อน จึงจะฉลาดขึ้นได้ หากยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดอย่างแท้จริงแล้ว แต่ไปหลงคิดว่าตนฉลาดแล้ว ก็รังแต่จะเจอทางตันเท่านั้น ไม่เห็นทางไปต่อ ดังนั้น ควรทำสติให้ตั้งมั่นอยู่กับที่ อยู่กับฐานก่อน และก็พากเพียรขัดเกลา เหลา หรือลับสติให้คมกริบ ให้ปราดเปรียว ให้ว่องไว ให้เท่าทันกิเลส ตัณหา นิวรณ์ บาปอกุศล ความปรุงแต่งทั้งหลายในจิตใจของเราให้ได้ในที่สุด เมื่อนั้นแล้ว เราย่อมพบเห็นความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วอันเป็นคุณสมบัติเดิม ที่มีอยู่ในจิตของเราทุกคนอยู่แล้วแต่เดิมมา เมื่อพบเห็นได้อย่างนี้แล้ว ความเบิกบานจิตใจของเราก็จะมีได้ โดยไม่แปรปรวน ไม่ต้องไปง้อ ไม่ต้องไปอาศัย ไม่ต้องไปรอ ไม่ต้องไปเสาะแสวงหาทรัพย์สมบัติใดๆในโลกนี้เพื่อสร้างความเบิกบานให้แก่ตนเลย อย่างนี้แล้ว ก็ไม่ต้องไปรบกวน ไม่ต้องไปเบียดเบียน หรือแก่งแย่งชิงดีกับใคร เพื่อให้ได้มาในสิ่งใดๆเลย จะมีก็แต่ให้ จะมีก็แต่เผื่อแผ่ จะมีก็แต่สละ แก่ผู้ควรให้ แก่ผู้ควรเผื่อแผ่ แก่ผู้ควรสละ ฯลฯ

          อุบาย เพื่อจะเจริญไปให้เกิดสติที่ตั้งมั่นนั้น ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ต้องอาศัยฐาน อันเป็นเครื่องระลึกแห่งสติ เพื่อให้เกิดความตั้งมั่นแห่งสติ นี้ก็ได้แก่ กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง และมหาสติปัฏฐาน ๔ ประการ (กรรมฐาน ๔๐ กอง เป็นอุบายเพื่อตั้งสติให้มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน ส่วนมหาสติปัฏฐาน ๔ ประการ เป็นอุบายเพื่อตั้งสติให้มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน และเพื่อให้เกิดความปราดเปรียวว่องไวของสติ ควบคู่กันไป ดังนั้น ท่านจึงตรัสว่า มหาสติปัฏฐาน ๔ ประการ นี้ เป็นหนทางอันเอก) ในที่นี้ จะกล่าวถึง อานาปานสติ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า การดูลมหายใจ หรือการเพ่งลมหายใจ หรือการกำหนดรู้ลมหายใจ ฯลฯ เหล่านี้ ก็เป็นความหมายเดียวกัน ซึ่งอานาปานสตินี้ ปรากฏอยู่ทั้งในส่วนของกรรมฐาน ๔๐ กอง และมีปรากฏอยู่ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ประการ ในกายานุปัสสนาด้วย ที่เน้นอย่างนี้ในเบื้องต้น ก็เพราะเหตุว่า เป็นฐานที่ค่อนข้างเป็นกลางๆแก่บุคคลจริตทั่วๆไป จะมียกเว้นก็แต่กับบุคคลบางจริตเท่านั้น แต่จะยกเว้นบุคคลจริตใด ไม่ควรตัดสินตามตำรา และไม่ควรตัดสินด้วยข้อสังเกตหรือวินิจฉัยของคนทั่วไป อย่างเช่นว่า เราสังเกตว่าดูลมไปแล้ว มักตึง อึดอัด หรือฟุ้งซ่าน หรือมักเคลิ้มหลับไป ฯลฯ ก็เลยสรุปว่า ไม่ตรงกับจริตของเรา วินิจฉัยอย่างนี้ไม่ควร เพราะเป็นฐานะของครูอาจารย์ที่รู้จริง รู้ชัด ในสัจจะ ในธรรม และในสภาวะจิตของผู้มาขอศึกษา ได้เป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น จึงจะควรวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง กล่าวคือ ไม่คลาดเคลื่อนด้วยเห็นผิด

          การเจริญอานาปานสตินี้ ในเบื้องต้น ก็ควรหาสถานที่เหมาะสม นั่งบนที่เหมาะสม ด้วยท่านั่งที่เหมาะสม ตั้งจิตให้เหมาะสม

          ที่ว่าสถานที่เหมาะสม คือ ไม่มีสิ่งรบกวน หรือมีสิ่งรบกวนน้อย ไม่อันตรายแก่การภาวนา ที่ว่านั่งบนที่เหมาะสม คือ ไม่นั่้งในที่หมิ่น ไม่นั่งในที่รบกวน เช่น นั่งบนพื้นที่มีมดมาก ฯลฯ เป็นต้น ที่ว่านั่้งด้วยท่าที่เหมาะสม คือ ไม่นั่งในท่าที่ยากแก่การประคองตั้งกายได้ยากจนเกินไป และไม่นั่งในท่าที่สบายเกินไปจนชวนให้เคลิ้มได้ง่าย เช่น นั่งบนโซฟาที่เอนหลังยืดขาได้อย่างสบายจนเกินไป ส่วนมากแล้ว ท่าที่เหมาะก็คือ มีที่รองนั่งไม่แข็งจนเกินไป(จะปวด) ไม่นิ่มยวบจนเกินไป(จะประคองกายให้นิ่งได้ยาก) และนั่งขัดสมาธิ คือ ยกขาขวาทับลงบนขาซ้าย ตั้งกายตรง แต่หากผู้ใดมีปัญหาสุขภาพ เช่น ข้อเข่าเสื่อม เมื่อนั่งขัดสมาธิแล้ว หรือเมื่องอเข่านานๆแล้ว จะเจ็บปวดมาก ก็อาจนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ แต่อย่านั่งเอนหลัง เพราะจะเผลอเคลิ้มไปได้ ส่วนที่ว่าตั้งจิตให้เหมาะสม ก็ได้แก่ การตั้งเจตนาแน่วแน่ว่า ต่อไปนี้ เราจะทำกรรมฐานภาวนาจิต เพื่อกำจัดความฟุ้งซ่านในจิตใจออกไปเท่านั้น ไม่มีการงานอื่น สิ่งอื่น ที่อื่นอีกแล้วในโลก จะมีอยู่ก็แต่เฉพาะหน้าที่ในการทำกรรมฐานนี้เท่านั้น ที่เราจะพึงใส่ใจ พึงระลึกถึงในกาลนี้ ฯลฯ เป็นต้น

          ลำดับถัดไป ก็เริ่มกำหนดลมหายใจตนเอง เข้า ออก ให้พอดี ไม่แผ่ว ไม่สั้นจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้สติจับได้ยาก และไม่ควรยาวเกินไปจนถึงกับอึดอัด เมื่อกำหนดได้พอดีตามสมควรแล้ว ก็ประคองลมหายใจไปอย่างนั้น ประคองสติให้รู้ชัดถึงอาการของลมหายใจไปอย่างนั้น ประคองไปเรื่อยๆ ให้รู้ชัดถึงลมหายใจอยู่เสมอ รู้ชัดอยู่ตลอด จะเกิดอารมณ์ ความคิด ความฟุ้งซ่าน อะไรๆ ก็ไม่ต้องไปใส่ใจ ก็สักแต่รู้ว่า ความคิดกำเริบอยู่ ความฟุ้งซ่านยังมีอยู่ อารมณ์ยังมีอยู่ ก็พอ ไม่ต้องไปเจียระไน ไม่ต้องไปตามดูว่า คิดอะไร ฟุ้งซ่านอะไร อารมณ์อะไร ใส่ใจรู้แต่เฉพาะลมหายใจเท่านั้น แต่ควรระวังว่า อย่าไปพยายามทำให้สงบด้วยการพยายามตั้งเจตนาว่าจะหยุดคิดในเรื่องนั้น ในเรื่องนี้ อย่างพยายามตั้งเจตนาว่า จะไม่ฟุ้งซ่านไปในสิ่งนั้น ในสิ่งนี้ เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เราละความใส่ใจรู้อยู่กับลมหายใจ เปลี่ยนไปเพ่งเล็งอยู่กับสิ่งที่คิด หรือกับสิ่งที่ฟุ้งซ่านอยู่ไปเสียเปล่า ขอเพียงให้เรารู้ชัดอยู่กับลมหายใจนี้ก็พอ อย่างอื่นจะกำเริบก็ไม่เป็นอะไร ให้ปล่อยไป ปล่อยๆไป สิ่งเหล่านั้น ก็จะกำเริบขึ้น แล้วก็ดับไป ดับไปแล้วก็กำเริบอีก ผุดขึ้นมาอีก แล้วก็ดับไป ผ่านไป เรื่อยๆ เรื่อยๆ เป็นภาพความทรงจำบ้าง เป็นความรู้สึกบ้าง เป็นความคิดต่างๆบ้าง บางทีก็ดูเหมือนกับจะมีขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น ก็ไม่ต้องไปวิตก ไม่ต้องคอยไปบังคับในสิ่งที่กำเริบขึ้นมาเหล่านั้นเลย หน้าที่เราก็คือ บังคับจิตเรา บังคับสติเรา ให้รู้ชัดอยู่กับลมหายใจเท่านั้น อย่าไปมัวใส่ใจกำหนดบังคับสิ่งอื่น

          เท่าที่เคยเห็น เคยสอนมา มีหลายคน เมื่อดูลมไปเรื่อยๆ ก็เห็นว่าตนเองยังไม่สงบ ก็พยายามทำให้สงบ ด้วยการพยายามหายใจให้เบา ให้แผ่ว แล้วก็ได้ผลคือ เคลิ้มไป หรือบางคน พยายามบังคับความคิดของตน ให้หยุด ให้หายไป ให้ตกไป และก็ได้ผลคือ ความคิดยิ่งปั่นป่วนวุ่นวายไปหมด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เราควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า เราทำสมาธิให้เกิด เพื่อกำจัดความฟุ้งซ่านไปในความคิดทั้งหลาย ไม่ใช่ว่า เราพยายามกำจัดความคิดฟุ้งซ่านให้หยุดไป เพื่อให้เกิดสมาธิ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่กลับหัวกลับหางกันไป นี่ก็เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ภาวนาจำนวนมาก เกิดความเคร่งเครียด หรือท้อถอย ว่านั่งแล้วตึง นั่งแล้วเมื่อย นั่งแล้วเคลิ้ม นั่งแล้วหลับ นั่งแล้วฟุ้งซ่านมาก ฯลฯ แล้วก็เลยหาทางเปลี่ยนแนว เปลี่ยนกรรมฐาน เสาะแสวงหาอาจารย์อื่นๆที่สอนว่า จะบรรลุธรรมได้โดยไม่ต้องมีสมาธิมาก หรือแม้กระทั่งว่า เลิกปฏิบัติกันไปเลย ก็มี ควรระวังไว้ให้ดี อย่าให้หลงทาง อาจเสียดายโอกาสในภายหลัง

          หากเมื่อผู้ใดกระทำตามได้อย่างนี้แล้ว ก็ให้เฝ้าประคองรักษาจิตตน สติตน ไปอย่างนี้เรื่อยๆ ให้ต่อเนื่อง ให้สม่ำเสมอ ให้คล่องแคล่ว ให้ชำนาญ แล้วก็จะค่อยๆเห็นความเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆเข้าใจความสุข ความผ่องใส ที่เกิดจากความวิเวก ที่เกิดจากสมาธิ ที่เกิดจากความไม่ฟุ้งซ่านภายในจิต ยิ่งๆขึ้นไปเป็นลำดับ ก็จะค่อยๆสังเกตเห็นวิตกทั้งหลาย ความปรุงแต่งฟุ้งซ่านทั้งหลาย ความกระวนกระวาย ความทะยานไปของจิต ฯลฯ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ ซึ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็คือ กริยาของจิตนั่นเอง อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้ว ต้องใช้เวลา และความเพียรพยายามมาก ก็ขอให้พิจารณาว่า นิสัยปรุงแต่งฟุ้งซ่านนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่บุคคลกระทำสั่งสมซ้ำซากมานาน ไม่รู้กี่ปี กี่ชาติ มาแล้ว ย่อมไม่ใช่วิสัยทั่วไป ที่จะกำจัด หรือดัดนิสัย ให้เป็นไปในทางตรงกันข้ามได้ ภายในเวลาไม่กี่วัน หรือไม่กี่เดือน แต่ก็อย่างที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า ถึงแม้ยังไม่กำจัดได้ทั้งหมด แต่ยิ่งกำจัดได้มากเท่าไร ประโยชน์ก็จะเกิดได้มากเท่านั้น ไม่ใช่ว่า ตราบใดที่ยังกำจัดได้ไม่สิ้นซากทั้งหมดแล้ว ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะแท้ที่จริงแล้ว จะได้ประโยชน์ไปเป็นลำดับ

          คราวนี้ ก็ขอจบเพียงเท่านี้ พอเป็นพื้นฐานเริ่มต้นไปก่อน หากผู้ใดปฏิบัติตามนี้แล้วมีปัญหาติดขัดอะไร ก็สอบถามมาได้ตามสมควร



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 19, 2009, 12:50:24 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #3 เมื่อ: มีนาคม 02, 2009, 01:14:18 AM »


          ผู้ที่ได้เริ่มฝึกกรรมฐานมาแล้วช่วงหนึ่ง อาจมีความสงสัยว่า ตนเองได้รู้เห็นธรรมอะไรบ้าง ได้พิจารณาธรรมอะไรอยู่บ้างหรือไม่?

          ก็ที่จริงแล้ว ผู้ที่ภาวนาจนกระทั่งตั้งจิต หรือตั้งสติให้มั่นได้แล้วในระดับหนึ่ง เมื่อตั้งสติได้แล้วก็ประคองจิตได้ในระดับหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีความรู้ชัดว่า เมื่อใดที่จิตตั้งมั่นอยู่ เมื่อใดที่จิตมิได้ตั้งมั่นอยู่ มีความรู้ชัดว่า เมื่อใดที่ประคองจิตที่ตั้งมั่นแล้วได้อยู่ เมื่อใดที่มิได้ประคองจิตที่ตั้งมั่นแล้วได้อยู่ มีความรู้ชัดว่า เมื่อใดที่จิตสัดส่ายไปในอารมณ์อันปรากฏหรือกำเริบอยู่ เมื่อใดที่จิตมิได้สัดส่ายไปในอารมณ์อันปรากฏหรือกำเริบอยู่ มีความรู้ชัดว่า เมื่อใดที่จิตรู้ชัดอยู่กับฐานที่อาศัยเป็นเครื่องพิจารณาอยู่ เมื่อใดที่จิตไม่รู้ชัดอยู่กับฐานที่อาศัยเป็นเครื่องพิจารณาอยู่ ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น ก็แสดงว่า สติมีอยู่ เพราะระลึกสภาพได้ ก็แสดงว่า สัมปะชัญญะมีอยู่ เพราะจำแนกสภาพ หรือลักษณะของสภาพที่ปรากฏได้ และเมื่อตั้งอยู่พร้อมด้วยปัจจัยเหล่านี้แล้ว ผู้ภาวนาจิตอยู่นี้ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้พิจารณาอยู่ในธรรม ในฐาน อันเป็นที่ตั้ง อันเป็นเครื่องระลึกแห่งสติ ย่อมพิจารณาได้ในธรรมภายนอก อันเป็นเครื่องกระทบ ย่อมพิจารณาได้ในธรรมภายใน อันเป็นเครื่องทะยานออก ดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายใน และธรรมในธรรมภายนอกบ้าง ด้วยความสงบภายใน ด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ด้วยความปล่อยวางสภาพธรรมทั้งหลาย ด้วยความน้อมไปในธรรมอันบริสุทธิ์ และด้วยสภาพทั้งหลาย อันอธิบายมานี้ ผู้ภาวนาย่อมเพียรอยู่ เจริญอยู่ ตั้งอยู่ ประคองอยู่ ในธรรมอันได้ชื่อว่า สติปัฏฐาน อันเป็นหนทางไปสู่ความรู้แจ้งในสัจจะอันบริสุทธิ์ สภาพทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพของสิ่งที่ตนรู้เห็นอยู่ ความรู้สึกนึกคิด ความสงบ ความตั้งมั่น ความฟุ้งซ่าน ความสัดส่าย ความกระวนกระวาย ความสุข ความทุกข์ ความปลอดโปร่ง ความขุ่นมัว ฯลฯ ทั้งหลายที่รับรู้ได้อยู่นั้น ได้ชื่อว่า เป็นธรรม หรือเป็นสภาพธรรม ทั้งสิ้น อย่าสำคัญผิดว่า ไม่ได้รู้เห็นธรรมอะไร อย่าสำคัญผิดว่า ต้องรู้เห็นอย่างที่ผู้อื่นรู้เห็น หรือต้องรู้เห็นอย่างที่ผู้อื่นบอกว่าต้องรู้เห็นอย่างนั้น อย่างนี้ เสมอไป เพราะสภาพธรรมของแต่ละบุคคล ย่อมแตกต่างกันไปตามอำนาจแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมสั่งสมมาต่างกัน เป็นธรรมดา ผู้อื่นรู้อย่างที่ผู้อื่นรู้ ก็เป็นจริงแก่ผู้อื่น ตนรู้อย่างที่ตนรู้ ก็เป็นจริงแก่ตน ที่เป็นผู้รับรู้สภาพแห่งตนอยู่นั้น แท้จริงแล้ว ด้วยความรู้เห็นในสภาพธรรมที่แตกต่างกัน บุคคลสามารถที่จะบรรลุสัจจะในธรรมอย่างเดียวกันได้ เปรียบเสมือนว่า คนไทย รับประทานข้าวสวย ก็อิ่มได้ คนอินเดีย รับประทานโรตี ก็อิ่มได้ ฯลฯ เช่นกัน อย่างไรก็ดี ถึงแม้ต่างกัน แต่ก็มีหลักการบางประการซึ่งเป็นไปร่วมกัน หรือเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกบุคคลจะเข้าใจ หรือจำแนกหลักการได้เท่าเทียมกัน

          ดังนั้น ไม่ควรกังวลใจไปว่า เมื่อภาวนาแล้ว ไม่เห็นสภาพธรรมบางประการที่ผู้อื่นเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตั้งจิตภาวนากรรมฐานอยู่ ไม่ควรฟุ้งซ่านไป ควรเพียรใส่ใจประคองจิต หรือสติของตน ให้แนบแน่น ให้รู้ชัด อยู่กับฐานที่ตนกำหนดเป็นที่ตั้ง เป็นเครื่องพิจารณา เป็นฐานแห่งสติ ให้ดี เมื่อรักษาไว้อย่างนี้ให้มากแล้ว นานไป ถึงแม้ไม่รู้ครอบคลุมทั้งหมด แต่ก็จะค่อยๆรู้ได้มากพอ ที่จะนำตนให้พ้นไปจากเครื่องทุกข์ เครื่องกิเลส เครื่องเศร้าหมองทั้งหลายได้ จนถึงที่สุด




บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #4 เมื่อ: มีนาคม 27, 2009, 02:27:45 PM »


          สำหรับผู้ที่เริ่มภาวนาใหม่ หรือแม้แต่ผู้เคยภาวนามาก่อน แต่ยังไม่เชี่ยวชาญ บางครั้ง การนั่งหลับตาภาวนาจะมีความกระวนกระวาย หรืออึดอัด หรือกระสับกระส่าย ต้องอาศัยความอดทน หรือความข่มใจ เพื่อที่จะรักษากัมมัฏฐานไว้ไม่ให้เคลื่อนไปที่อื่น หากในกรณีที่เกิดเพราะปัญหาทางกายภาพ หรือทางสุขภาพ เช่น เป็นโรคไขข้อ ฯลฯ ก็อาจจะเปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ หรือในท่าอื่นที่ไม่ลำบากนัก แต่ หากเป็นปัญหาทางจิตใจ ความคิด หรือความรู้สึก อันเป็นความอึดอัดทางใจทั้งหลาย ก็ควรข่มลงชั่วคราวก่อน ด้วยการตั้งจิตให้มั่น แล้วน้อมไปเพื่อความรู้จำเพาะ รู้ชัด ในสิ่งที่ตนอาศัยเป็นฐานแห่งการระลึก หรือฐานแห่งสติ เช่นว่า กายก็ดี ลมหายใจก็ดี ฯลฯ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้น ความอึดอัดกระสับกระส่าย หรือความรู้สึกไม่สบาย อาจจะยังไม่หายไปในอึดใจ ผู้ภาวนาควรมีความเพียรในความอดทน และความตั้งจิต หรือตั้งสติ ให้มั่น ให้หยุดอยู่กับที่ ให้ตั้งเฉพาะอยู่กับฐานนี้ จะเป็นอุบายให้รักษาความอดทนได้ง่ายขึ้น และสิ่งที่เป็นปัจจัยเกื้อกูลอย่างยิ่งในการตั้งขันติ หรือความอดทนนี้ คือ ความยินดีในความอดทน สำหรับบางคน ประโยคนี้อาจจะฟังดูแปลกอยู่บ้าง แต่เป็นสัจจะ เป็นสิ่งที่บุคคลจะมีได้จริง ผู้มีความยินดีในการอดทนในสิ่งที่ควรอดทนนี้ จะเป็นผู้อดทนได้ง่าย เพราะความยินดีในการอดทนนี้ จะเป็นปัจจัยให้บุคคลมีความแน่วแน่ในการที่จะอดทน เมื่อมีความแน่วแน่ในการที่จะอดทนได้ถึงระดับหนึ่ง ความรู้สึกว่าตนเองกำลังอดทนอยู่นั้น ก็จะหายไป ถึงแม้จะทนอยู่ ก็เหมือนมิได้ทนต่อสิ่งใดอยู่เลย ความอึดอัดที่ยังเหลืออยู่ก็จะเหมือนว่าไม่มีอยู่ต่อไป อย่างนี้เรียกว่า ขันติบริบูรณ์พอ ก็จะเป็นฐาน เป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อๆไป ให้รักษาศีลได้ง่ายขึ้น ให้จิตเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น ยังจิตให้เข้าถึงปัญญาอันยิ่งๆขึ้นไปได้ง่ายขึ้น ธรรมที่ยังไม่เคยเห็น ก็จะเห็นได้ ดังนั้น ขันตินี้ จึงเป็นหนึ่งในทศบารมีที่สำคัญ เพราะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่เกื้อให้บุคคลเจริญในบารมีอื่นๆได้ยิ่งๆขึ้นไป ดังนั้น ในการทำกัมมัฏฐานนี้ ถึงแม้ยังไม่ถึงขั้นเป็นฌาน หรือถึงขั้นบรรลุโลกุตตระปัญญา แต่เพียงความตั้งมั่นในความอดทนได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งมีความยินดีในการอดทนนี้ ก็เป็นการสั่งสมขันติบารมีได้อย่างหนึ่งแล้ว ก็ย่อมมีอานิสงส์

          หากผู้กระทำความเพียรในขันติอยู่ แต่เฝ้าคิดคำนึงถึงว่า เมื่อไหร่จะเสร็จสิ้น เมื่อไหร่จะไม่ต้องทน เมื่อไหร่จะหายอึดอัด เมื่อไหร่จะึครบเวลาที่จะออกจากกัมมัฏฐานเสียที อดทนไปก็พร่ำบ่นคร่ำครวญในใจไป อย่างนี้แล้ว ก็จะยิ่งต้องอดทนมาก หรืออาจจะต้องทนไปจนตลอดการทำกัมมัฏฐานนั่นเชียว ส่วนผู้ที่กระทำความเพียรในขันติอยู่ โดยพิจารณาว่า ตนจักเพียรอดทนอยู่อย่างนี้ไปอย่างยาวนานเท่าใดก็ได้ ความอึดอัดจะหายไปก็ดี หรือจะคงอยู่ไปตลอดก็ดี ก็ดีทั้งสองทาง บุคคลอย่างนี้ โดยมากแล้ว มักไม่ต้องอดทนนาน หรือไม่ต้องอดทนมาก หรือแทบจะไม่ต้องอดทนเลย

          อาจจะกล่าวได้ว่า ยิ่งกลัวจะต้องทน ก็ยิ่งต้องทน ยิ่งพอใจในความอดทน ก็ยิ่งไม่ต้องทน นั่นเอง

          บุคคลผู้อดกลั้นต่อเวทนาทั้งหลายในโลกได้ ย่อมเป็นผู้อิสระอยู่เหนือโลก เพราะปัจจัยใดๆในโลกนี้บีบบังคับเขาให้คับแค้น ให้หวาดเขลา มิได้



บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #5 เมื่อ: มิถุนายน 16, 2009, 03:57:16 PM »


          การศึกษาปฏิบัติธรรม ตามหลักการสติปัฏฐาน ๔ อันประกอบด้วยสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน เหล่านี้ มุมมองความเข้าใจอย่างหนึ่งที่ควรใส่ใจไว้ก็คือ จุดมุ่งหมายของการศึกษาปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระพุทธเจ้านี้ ก็คือ การรู้ การเห็น การเข้าใจหลักการในความเป็นจริงของชีวิต หรือของความมีชีวิต ไม่ว่าจะกล่าวในแง่ของความเป็นขันธ์ ๕ ก็ดี ในแง่ของความเป็นอายตนะ ๑๒ (อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖)ก็ดี หรือในแง่ของความเป็นธาตุ ก็ดี ก็ล้วนแล้วแต่เป็นความหมาย เป็นลักษณะ หรือเป็นองค์ประกอบ ของความมีชีวิต นั่นเอง และเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนานี้ ก็คือ การบรรลุผล ด้วยปัญญา บางทีท่านก็ว่า เป็นการบรรลุปัญญาอันสูงสุดในโลก นั่นเอง ทีนี้ ปัญญาอันสูงสุดที่ว่านี้คือปัญญาอะไร? เป็นปัญญาในสิ่งใด? ก็สามารถกล่าวโดยนัยยะอย่างหนึ่งได้ว่า แท้จริงแล้วก็คือ ปัญญา อันรู้แจ้ง อันรู้รอบ อันแทงตลอดในธรรม แล้ว"ธรรม"ที่ว่านี้ คือ ธรรมอะไร? "ธรรม"ที่ว่านี้ก็คือ ชีวิต หรือความมีชีวิต นั่นเอง ดังนั้น สติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้ ก็คือ หนทาง หรือวิธีการที่บุคคลจะพิจารณารู้ พิจารณาเห็นลักษณะ และองค์ประกอบต่างๆของชีวิต เป็นลำดับไป นับตั้งแต่ที่หยาบ ไปจนถึงที่ประณีต โดยที่สติปัฏฐานแต่ละฐาน ก็มีหน้าที่เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในแต่ละส่วน ในแต่ละองค์ประกอบของความเป็นชีวิต จนกระทั่งครบถ้วน หรือทั่วถึงพอที่บุคคลจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นชีวิตไปได้เป็นลำดับๆ จนกระทั่งว่าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นอย่างสุดโต่งในส่วนที่ละเอียดประณีตที่สุดแห่งชีวิตไปได้โดยบริบูรณ์ ด้วยความรู้ชัด เห็นชัด มีความถ่องแท้ในสภาพ และหลักการของความมีชีวิต

          ดังนั้น ก็รวมความว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้ มุ่งกำจัดกิเลส นิวรณ์ ตัณหา และทิฐิทั้งหลาย ด้วยความรู้ชัดทั่วถึงความเป็นจริงในชีวิต อันประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ ก็คือ ร่างกาย และจิตใจของตนนั่นเอง เป็นที่สุด และสรุปความได้ว่า สติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนั้น เป็นธรรมที่ควรเจริญทั้งหมด คือ ทั้ง ๔ ประการนั่นเอง ไม่ใช่เพียงประการใดประการหนึ่ง หรือเพียงบางประการ แต่ต้องแทงตลอดทั้งหมด ทั้ง ๔ ฐาน จึงจะประสบผลสำเร็จได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่อย่างที่คนบางพวก(ที่ปัจจุบันก็เห็นมีอยู่เป็นจำนวนมาก)เข้าใจ หรือประกาศสั่งสอนแก่ผู้อื่น ว่า มุ่งเอา หรือเลือกเอา แต่เฉพาะฐานใดฐานหนึ่ง ประการใดประการหนึ่ง เพียงอย่างเดียว ก็เพียงพอแล้วแก่การสำเร็จบรรลุธรรม เมื่อเป็นดังนี้แล้ว สติปัฏฐานก็ไม่ได้ชื่อว่า บริบูรณ์ ความบรรลุผลอย่างถูกต้องก็ย่อมไม่เป็นไปแก่ชนพวกนี้ เป็นธรรมดา เพราะรู้ไม่ทั่วถึงในตน



บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #6 เมื่อ: ตุลาคม 06, 2009, 03:31:35 PM »


          สำหรับผู้ที่เริ่มภาวนามาแล้ว จนเริ่มเกิดความเข้าใจในหลักการ หรือวิธีการที่ถูกต้องในการตั้งจิตของตนให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องเป็นลำดับแล้ว แต่อาจมักมีปัญหาว่า เมื่อเสร็จงานประจำวันแล้ว ก็เริ่มเจริญจิตภาวนา ทำกรรมฐานที่ตนได้ศึกษามา อาจต้องใช้เวลามากในช่วงต้น ในอันที่จะประคับประคองจิตของตน ให้ตั้งมั่น ให้ละ หรือกำจัดความฟุ้งซ่าน หรืออาการอันวิตก ให้ระงับไปเป็นลำดับ หรือกล่าวง่ายๆก็คือ ต้องใช้เวลานาน กว่าที่จิตจะสงบ และตั้งมั่น หรือที่ท่านเรียกว่า จิตรวม (สภาพจิตที่มีสติรู้ชัด โดยไม่มีความฟุ้งซ่าน เรียกว่า จิตรวม ในการบำเพ็ญเพียรภาวนาที่ถูกต้อง จิตจะดำเนินไปอย่างที่เรียกว่า จิตรวมลงเป็นลำดับ ฯลฯ) วิธีการที่มีประโยชน์มากอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ ก็คือ การอาศัยน้อมใจไปให้เกิดปีติ หรือสุข ในเบื้องต้น ก็จะเป็นปัจจัยช่วยให้จิตละออกจากความหมอง ความฟุ้งซ่าน ความวิตก หรือนิวรณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น ได้รวดเร็วขึ้น จิตก็จะรวมลงได้ง่ายขึ้น

          ส่วนอุบาย หรือวิธีการที่จะน้อมไปเพื่อให้เกิดปีติ หรือสุข นั้น ก็แล้วแต่จริต หรือประสพการณ์ของแต่ละบุคคล เช่น คนบางพวก เมื่อน้อมไปรู้ชัดกับลมหายใจ หรือความรู้สึกทางกายให้มาก ให้ชัดเข้า ก็จะเกิดปีิติ หรือสุข ขึ้นได้เอง หรือ สำหรับบุคคลผู้มีศรัทธา การน้อมไปในสัญลักษณ์ หรือ บุคคล ที่ตนศรัทธาอยู่ ก็อาจทำให้เกิดปีติ หรือสุข ได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น การระลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือการระลึกถึงภาพพระพุทธรูป หรือครูบาอาจารย์ที่ตนนับถือศรัทธาอยู่ ส่วนบุคคลผู้ฝึกฝนมาดีแล้ว ชำนาญแล้ว ก็อาจน้อมจิตเข้าไประลึกถึงอารมณ์อันเป็นปีติ หรือสุข ได้โดยตรง โดยมิต้องอาศัยการระลึกถึง วัตถุ สัญลักษณ์ หรือบุคคลใดๆ เพื่อเป็นอุบายเลย ก็ได้ แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ให้ควรระวังการทำปีติ หรือสุข ให้เกิดด้วยการอาศัยระลึกน้อมไปในสิ่งอันเป็นอกุศล อย่างเช่น การจินตนาการ หรือระลึกถึงเวลาที่ได้ทรัพย์สมบัติมาโดยไม่คาดหมาย เช่น ถูกรางวัลสลากกินแบ่ง หรือการที่บุรุษหนุ่ม จะนึกถึงภาพสตรีอันตนพอใจอยู่ด้วยกิเลสตัณหาราคะ ฯลฯ เป็นต้น ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ถึงแม้ระลึกแล้วจะรู้สึกเป็นสุข แต่เป็นสุขอย่างทราม เป็นสุขอย่างลามก เป็นสุขอันเป็นไปเพื่อความทะยานฟุ้งซ่านไป ทั้งสิ้น ไม่เป็นไปเพื่อความสำรวมแห่งจิต ไม่เหมาะเป็นบาทฐานในการเจริญภาวนาจิตไปเพื่อความบริสุทธิ์

          และเมื่อจิตให้สำรวม สงบ ตั้งมั่นดีแล้ว จิตย่อมเข้าถึงความบริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้นไปเป็นลำดับ เมื่อจิตเข้าถึงความบริสุทธิ์อันยิ่งๆขึ้นไปได้แล้ว เมื่อน้อมจิตไปเพื่อความรู้เห็นในสิ่งใด ก็จะรู้เห็นสิ่งนั้นได้อย่างบริสุทธิ์ ก็ย่อมเข้าใจความเป็นจริงอันบริสุทธิ์ของสิ่งๆนั้นได้ ปัญญาอันบริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้นไปในสิ่งๆนั้นก็ย่อมเกิด เช่น เมื่อน้อมไปรู้เห็นความเป็นจริงแห่งความมีชีวิต ก็ย่อมเข้าใจความเป็นจริงของขันธ์ทั้ง ๕ ประการ และอุปทานในขันธ์ทั้ง ๕ ได้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง โดยมิต้องระลึกถึงประโยค หรือถ้อยคำใดๆ ว่า ขันธ์ ๕ หรืออุปทานขันธ์ ๕ เลย เพราะบุคคลใดที่รู้เห็นสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิตได้อย่างบริสุทธิ์ถูกต้อง บุคคลนั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้ขันธ์ ๕ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้อริยะสัจจ์ ๔ โดยมิต้องระลึก หรือเคยได้ยินคำว่า ขันธ์ ๕ หรืออริยะสัจจ์ ๔ มาก่อนเลยก็ได้ เพราะบรรลุรู้ได้โดยสภาพ(ความเป็นจริง) ถึงแม้ไม่รู้นิรุติบัญญัติ(ชื่อ หรือคำศัพท์ที่มีผู้บัญญัติสมมุติขึ้นมาก่อน)ของธรรมนั้นมาก่อน ก็ได้ชื่อว่า บรรลุธรรมนั้นแล้วจริง

บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #7 เมื่อ: มีนาคม 26, 2010, 01:34:14 PM »


          เหตุประการหนึ่ง ที่ทำให้บุคคลมากมายขาดความเพียร ขาดความอดทนต่อความยากลำบากในการภาวนา เช่นว่า ความเบื่อ ความเมื่อย ความฟุ้งซ่าน ความอึดอัด ความกระวนกระวาย ฯลฯ ก็คือ ความที่มีใจอันยังประกอบตัณหา คือ ความทะยานไปในกามคุณ ๕ ประการ มีจิตอันเคลือบย้อมกำเริบอยู่ด้วย นิวรณ์ อันยังไม่ระงับ สติ จึงตั้งไม่ได้ เมื่อสติยังตั้งไม่ได้ สมาธิ ย่อมไม่เกิด เมื่อสมาธิไม่เกิด ปีติ และสุข อันเป็นเครื่องประทังหล่อเลี้ยงจิตให้ตั้งมั่นอยู่ใน กุศลธรรม ได้ในเบื้องต้น จึงไม่เกิด ไม่มีแก่ตน ความอึดอัด ขัดข้อง ในการภาวนาจิตก็ย่อมไม่ระงับไป เป็นธรรมดา

          ผู้มุ่งอบรมภาวนาจิตตนด้วยสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน จึงควรเพียรพิจารณาจำแนกว่า สภาพ หรือ อาการอย่างใด คือ ความทะยานไปในกาม หรือ กามคุณ ๕ ประการ

          บุคคลผู้ยังมิได้อบรมจิตตนมาดีแล้ว เมื่อประสบอยู่กับรูปที่น่ามอง เสียงที่น่าฟัง กลิ่นที่หอมน่าดม รสชาดที่น่าอร่อยลิ้น หรือ เครื่องสัมผัสกายที่น่าสบายแล้ว ย่อมมีจิตที่หลง เคล้าคลอ หวงแหน ยินดี ติดใจไปกับสัมผัสเหล่านั้น เืมื่อกลายเป็นอื่นไป ก็ย่อมไม่ยินดี ย่อมแสวงหาไป เมื่อไม่สมแก่ความยินดีของตน โทสะ ก็เกิด ฯลฯ ย่อมไม่สำรวมจิตตนได้ เป็นธรรมดา


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #8 เมื่อ: กันยายน 06, 2010, 04:01:46 PM »


          สำหรับผู้ที่เริ่มภาวนาในเบื้องต้นนั้น อาจมีบางครั้งที่เมื่อหลับตาลงทำกรรมฐานแล้ว (เช่น อาณาปานสติ ฯลฯ เป็นต้น) มีปัญหาว่าอึดอัดขัดข้อง กระวนกระวายมาก รุ่มร้อนปั่นป่วนมาก หรือรู้สึกฟุ้งซ่านมาก เกินกว่าปกติ ทำให้นั่งต่อไปไม่ได้ หรือได้ยากเต็มกลืน เทคนิคอย่างหนึ่งที่อาจเป็นประโยชน์ หรือบรรเทาอาการเหล่านั้นไม่ให้รุนแรงจนเกินกำลังตนไป ก็คือ ให้ลืมตากำหนดสติไปในฐานที่ตนกำหนดสักพักหนึ่งเสียก่อน เช่นว่าผู้ที่ปกติจะนั่งหลับตาทำสมาธิด้วยการกำหนดสติรู้ลมหายใจ ก็ให้นั่งลืมตาแล้วกำหนดสติรู้ลมหายใจไปเรื่อยๆก่อนสักพักหนึ่ง เช่นว่า สัก ๕ นาที เมื่อเริ่มรู้สึกว่าจิตใจมีความสงบ มีความเบา ลงในระดับหนึ่งแล้ว จึงค่อยเริ่มหลับตาแล้วกำหนดสติเพ่งรู้ในอาการแห่งลมหายใจ หรืออาการแห่งการหายใจนั้น ไปตามปกติื (ที่จริง สำหรับผู้ที่ฝึกมานานแล้ว บางครั้งก็อาจมีปัญหานี้ได้เช่นกัน)


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง