ข่าว: SMF - Just Installed!
 
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
+  กระดานธรรมะ
|-+  ข้อมูลสาระธรรม และคำสอน
| |-+  ข้อความพระธรรมเทศนา และคำสอนครูบาอาจารย์
| | |-+  คำสอนครูบาอาจารย์
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: คำสอนครูบาอาจารย์  (อ่าน 14025 ครั้ง)
admin
Administrator
Newbie
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8


« เมื่อ: กรกฎาคม 11, 2008, 03:45:53 PM »

หลักสมถวิปัสสนาของพระอาจารย์เสาร์
 
พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ


     หลักการสอนท่านก็สอนในหลักของสมถวิปัสสนา ดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วนั้น แต่ท่านจะเน้นหนักในการสอนให้เจริญพุทธคุณเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเจริญพุทธคุณจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ เมื่อสอนให้พิจารณากายคตาสติ พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน ให้พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้นหาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ในเมื่อฝึกฝนอบรมให้พิจารณาจนคล่องตัว จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือเห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ ด้วยเป็นอนัตตาทั้งนั้น จะม่ตัวมีตนในเมื่อแยกออกไปแล้ว มันก็มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี แต่อาศัยความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองอยู่ ๆ ในร่างอันนี้ เราจึงสมมติบัญญัติว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

     อันนี้เป็นแนวการสอนของพระอาจารย์เสาร์พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์ การพิจารณาเพียงแค่ว่าพิจารณากายคตาสติก็ดี พิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี ตามหลักวิชาการท่านว่าเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน แต่ท่านก็ย้ำให้พิจารณาอยู่ในกายคตาสติกรรมฐานกับธาตุกรรมฐานนี้เป็นส่วนใหญ่ ที่ท่านย้ำ ๆ ให้พิจารณาอย่างนี้ ก็เพราะว่าทำให้ภูมิจิตภูมิใจของนักปฏิบัติก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้เร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากายคตาสติ แยก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น




(ปฏิปทาของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล คัดลอกจากหนังสือ "ฐานิยตเถรวตถุ" หนังสือประวัติพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย))
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 11, 2008, 08:51:28 PM โดย admin » บันทึกการเข้า
admin
Administrator
Newbie
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8


« ตอบ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 11, 2008, 03:48:29 PM »

เล่าเรื่องภาวนาให้พระอาจารย์เสาร์ฟัง

ท่านบอกว่า เร่งเข้า ๆ ๆ


     เมื่อหลวงพ่อไปเล่าเรื่องภาวนาให้ท่านฟัง ถ้าสิ่งใดที่มันถูกต้อง ท่านบอกว่าเร่งเข้า ๆ ๆ แล้วจะไม่อธิบาย แต่ถ้าหากว่ามันไม่ถูกต้อง เช่น อย่างใครทำสมาธิภาวนามาแล้ว มันคล้าย ๆ กับว่า พอจิตสว่างรู้เห็นนิมิตขึ้นมาแล้วก็น้อมเอานิมิตเข้ามา พอนิมิตเข้ามาถึงตัวถึงใจแล้ว มันรู้สึกว่าอึดอัดใจเหมือนหัวใจถูกบีบแล้ว สมาธิที่สว่างก็มืดไปเลย อันนี้ท่านบอกว่าอย่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา ถ้าหากว่าไปเล่าให้อาจารย์องค์ใดฟัง ถ้าท่านแนะนำว่าให้น้อมให้เอานิมิตนั้นเข้ามาหาตัวอันนี้เป็นการสอนผิด แต่ถ้าว่าท่านผู้ใดพอไปบอกว่าภาวนาเห็นนิมิตท่านแนะนำให้กำหนดรู้จิตเฉยอยู่คล้าย ๆ กับว่าไม่สนใจกับนิมิตนั้น แล้วนิมิตนั้นจะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปในแง่ต่าง ๆ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดี มีสมาธิมั่นคง เราจะอาศัยความเปลี่ยนแปลงของมโนภาพอันเป็นของนิมิตนั้น เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิมิตที่เปลี่ยนแปลงเป็นปฏิภาคนิมิต ถ้าหากว่านิมิตที่ปรากฏแล้วมันหยุดนิ่ง ไม่ไหวติงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ บางทีสมาธิของเรามันแน่วแน่ ความทรงจำมันฝังลึกลงไปใน ส่วนลึกของจิตไปถึงจิตใต้สำนึก เมื่อออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว เราไม่ได้นึกถึงเหมือนกับคล้าย ๆ มองเห็นนิมิตนั้นอยู่ นึกถึงมันก็เห็น ไม่นึกถึงมันก็เห็น มันติดตาติดใจอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่า  อุคคหนิมิต

     ว่ากันง่าย ๆ ถ้าจิตของเรามองเพ่งอยู่ที่ภาพนิ่ง เป็นอุคคหนิมิต ถ้าจิตเพ่งรู้ความเปลี่ยนแปลงของนิมิตนั้นเป็นปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตเป็นสมาธิขั้นสมถกรรมฐาน แต่ปฏิภาคนิมิตนั้น เป็นสมาธิขั้นวิปัสสนา เพราะจิตกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลง อันนี้ถ้าหากว่าใครภาวนาได้นิมิตอย่างนี้ ไปเล่าให้ท่านอาจารย์เสาร์ฟัง ท่านจะบอกว่า "เอ้อ ดีแล้ว เร่งเข้า ๆ ๆ" แต่ถ้าใครไปบอกว่า ในเมื่อเห็นนิมิตแล้ว ผมหรือดิฉันน้อมเข้ามาในจิตในใจ แต่ทำไมเมื่อนิมิตเข้ามาถึงจิตถึงใจแล้ว จิตที่สว่างไสวปลอดโปร่งรู้ตื่น เบิกบาน มันมืดมิดลงไปแล้ว เหมือนกับหัวใจถูกบีบ หลังจากนั้น จิตของเราไม่เป็นตัวของตัว คล้าย ๆ กับว่า อำนาจสิ่งที่เข้ามานั้นมันครอบไปหมด ถ้าไปเล่าให้ฟังอย่างนี้ ท่านจะบอกว่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เมื่อเห็นนิมิตแล้วให้กำหนดรู้เฉย ๆ อย่าน้อมเข้ามา ถ้าน้อมเข้ามาแล้ว นิมิตเข้ามาในตัว มันจะกลายเป็นการทรงวิญญาณ อ้นนี้ เป็นเคล็ดลับในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดมาแนะนำเราว่า ทำสมาธิแล้ว แล้วให้น้อมจิตไปรับเอาอำนาจเบื้องบน หรือเห็นนิมิต แล้วให้น้อมเข้ามาในตัว อันนี้อย่าไปเอา มันไม่ถูกต้อง ในสายพระอาจารย์เสาร์นี่ ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ



(ปฏิปทาของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล คัดลอกจากหนังสือ "ฐานิยตเถรวตถุ" หนังสือประวัติพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย))

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 11, 2008, 08:55:56 PM โดย admin » บันทึกการเข้า
admin
Administrator
Newbie
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8


« ตอบ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 11, 2008, 05:58:04 PM »

ทำไมพระอาจารย์เสาร์สอนภาวนาพุทโธ

เพราะพุทโธเป็นกริยาของใจ


     หลวงพ่อก็เลยเคยแอบถามท่านว่าทำไมจึงต้องภาวนา พุทโธ ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า ที่ให้ภาวนาพุทโธนั้น เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ ถ้าเราเขียนเป็นตัวหนังสือ เราจะเขียน พ-พาน-สระอุ-ท-ทหาร สะกด สระโอ ตัว ธ-ธง อ่านว่า พุทโธ อันนี้เป็นเพียงแค่คำพูด เป็นชื่อของคุณธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธแล้วมันสงบวูบลงไปนิ่งสว่างรู้ตื่นเบิกบาน พอหลังจากนั้นคำว่า พุทโธ มันก็หายไปแล้ว ทำไมมันจึงหายไป เพราะจิตมันถึงพุทโธแล้ว จิตกลายเป็นจิตพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ เกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา พอหลังจากนั้นจิตของเราจะหยุดนึกคำว่าพุทโธ แล้วก็ไปนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ ยัง แถมมีปิติ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก อันนี้มันเป็นพุทธะ พุทโธ โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้ว พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกริยาของจิตมันใกล้กับความจริงแล้ว ทำไมเราจึงมาพร่ำบ่นว่าพุทโธ นั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะพบพุทโธ ในขณะที่พุทโธยังไม่เกิดขึ้นกับจุดนี้ เราก็ต้องท่อง พุทโธ ๆ ๆ ๆ เหมือนกับว่าเราต้องการจะพบเพื่อนคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามองไม่เห็นเขา หรือเขายังไม่มาหาเรา เราก็เรียกชื่อเขา ทีนี้ในเมื่อเขามาพบเราแล้ว เราได้พูดจาสนทนากันแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียกชื่อเขาอีก ถ้าขืนเรียกซ้ำ ๆ เขาจะหาว่าเราร่ำไร ประเดี๋ยวเขาด่าเอา

     ทีนี้ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อเรียก พุทโธ ๆ ๆ เข้ามาในจิตของเรา เมื่อจิตของเราได้เกิดเป็นพุทโธเอง คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราก็หยุดเรียกเอง ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เอ้าควรจะนึกถึงพุทโธอีก พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้สมาธิของเราจะถอนทันที แล้วกิริยาที่จิตมันรู้ ตื่น เบิกบาน จะหายไป เพราะสมาธิถอน

     ทีนี้ตามแนวทางของครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ท่านจึงให้คำแนะนำว่า เมื่อเราภาวนาพุทโธไป จิตสงบวูบลงนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านก็ให้ประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติอย่างนั้น ถ้าเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ตลอดไป จิตของเราจะค่อยสงบ ละเอียด ๆ ๆ ลงไป ในช่วงเหตุการณ์ต่าง ๆ มันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตส่งกระแสออกนอกเกิดมโนภาพ ถ้าวิ่งเข้ามาข้างในจะเห็นอวัยวะภายในร่างกายทั่วไมด ตับไต ไส้ พุง เห็นหมด แล้วเราจะรู้สึกว่ากายของเรานี่เหมือนกับแก้วโหร่ง ดวงจิตที่สงบ สว่างเหมือนกับดวงไฟที่เราจุดไว้ในพลบครอบแล้ว สามารถเปล่งรัศมีสว่างออกมารอบ ๆ จนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป จนกระทั่งว่ากายหายไปแล้ว จึงจะเหลือแต่จิตสว่างไสวอยู่ดวงเดียว ร่างกายตัวตนหายหมด ถ้าหากจิตดวงนี้มีสมรรถภาพพอที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรได้ จิตจะย้อนกายลงมาเบื้องล่าง เห็นร่างกายตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป



(ปฏิปทาของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล คัดลอกจากหนังสือ "ฐานิยตเถรวตถุ" หนังสือประวัติพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย))
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 11, 2008, 08:56:55 PM โดย admin » บันทึกการเข้า
admin
Administrator
Newbie
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8


« ตอบ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 11, 2008, 08:35:16 PM »

สมาธิในอริยมรรคอริยผล

สงบละเอียดเรียวไปเหมือนปลายเข็ม


     ทีนี้ถ้าหากว่า จิตย้อนมามองรู้เห็นอย่างนี้ จิตของผู้นั้นเดินทางถูกต้องตามแนวทางอริยมรรคอริยผล ถ้าหากว่า สงบ สว่าง นิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน ร่างกายตัวตนหาย แล้วก็สงบละเอียดเรียวไปเหมือนปลายเข็ม อันนี้เรียกว่า สมาธิขั้นฌานสมาบัติ ทีนี้ฌานสมาบัตินี้มันเจริญง่าย แล้วก็เสื่อมง่าย ในเมื่อมันเสื่อมไปแล้ว มันก็ไม่มีอะไรเหลือ แต่ถ้าหากสมาธิแบบอริยมรรค อริยผลนี้ ในเมื่อเราได้สมาธิซึ่งเกิดภูมิความรู้ความเห็น เช่น เห็นร่างกายเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไปแล้ว ภายหลัง จิตของเราก็จะบอกว่าร่างกายเน่าเปื่อยเป็นของปฏิกูล ก็ได้อสุภกรรมฐาน เนื้อหนังพังลงไปแล้วยังเหลือแต่โครงกระดูก ก็ได้อัฐิกรรมฐาน ทีนี้ เมื่อโครงกระดูกสลายตัวแหลกไปในผืนแผ่นดิน จิตก็สามารถกำหนดรู้ ได้ธาตุกรรมฐาน แต่เมื่อในช่วงที่จิตเป็นไปนี่ จิตจะไม่มีความคิด ต่อเมื่อถอนจากสมาธิมาแล้ว สิ่งรู้หายไปหมด พอรู้ว่ามันมาสัมพันธ์กับกายเท่านั้นเอง จิตตรงนี้จะอธิบายให้ตัวเองฟังว่า นี่คือการตาย ตายแล้วมันก็ขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล เนื้อหนังพังไปเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครก ในเมื่อเนื้อหนังพังไปหมดแล้ว ก็ยังเหลือแต่โครงกระดูก ทีนี้โครงกระดูกมันก็แหลกละเอียดหายจมลงไปในผืนแผ่นดิน ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่าร่างกายของคนเรานี้ มันมีแต่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไหนเล่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา มีที่ไหน ถ้าจิตมันเกิดภูมิความรู้ขึ้นมาอย่างนี้ ภาวนาในขณะเดียวความเป็นไปของจิตที่รู้เห็นไปอย่างนี้ ได้ทั้งอสุภกรรมฐาน อัฐิกรรมฐาน ธาตุกรรมฐาน ประโยคสุดท้าย ไหนเล่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีที่ไหน จิตรู้อนัตตา เรียกว่า อนัตตานุปัสสนาญาณ ภาวนาทีเดียวได้ทั้งสมถะ ได้ทั้งวิปัสสนา



(ปฏิปทาของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล คัดลอกจากหนังสือ "ฐานิยตเถรวตถุ" หนังสือประวัติพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย))

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 11, 2008, 08:57:32 PM โดย admin » บันทึกการเข้า
admin
Administrator
Newbie
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8


« ตอบ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 11, 2008, 10:09:23 PM »

ความเกี่ยวเนื่องแห่งมรรคและผล

เมื่อไม่มีสมาธิ ไม่มีฌาน ไม่มีญาณ ไม่มีวิปัสสนา


          การกำหนดหมายสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด หรือกำหนดหมายรู้โครงกระดูก แล้วก็กำหนดหมายรู้ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสมถกรรมฐาน ส่วนความรู้ที่ว่าสัตว์ บุคคลตัวตนเราเขามีที่ไหน เป็นวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นคุณธรรมอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อไม่มีสมาธิ ไม่มีฌาน ไม่มีญาณ ไม่มีวิปัสสนา เมื่อไม่มีวิปัสสนา ก็ไม่มีวิชชาความรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อไม่รู้แจ้งเห็นจริงไม่ปล่อยวาง ก็ไม่เกิดวิมุตติความหลุดพ้น สายสัมพันธ์มันก็ไปกันอย่างนี้ อันนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานในสายของ หลวงปู่เสาร์

          เพราะฉะนั้น เราอาจจะเคยได้ฟังว่า ภาวนาพุทโธ แล้วจิตได้แต่สมถกรรมฐาน ไม่ถึงวิปัสสนา อนุสติ ๑๐ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ อุปสมานุสติ ภาวนาแล้วจิตสงบ หรือบริกรรมภาวนา เมื่อจิตสงบแล้ว ถึงแค่สมถะกรรมฐาน เพราะว่าภาวนาไปแล้วมันทิ้งคำภาวนา เพราะฉะนั้น คำว่า พุทโธ ๆ ๆ นี้มันไม่ได้ติดตามไปกับสมาธิ พอจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว มันทิ้งทันที ทิ้งแล้วมันก็ได้แค่สงบนิ่ง แต่อนุสติ ๒ คือ กายคตานุสติ อานาปานสติ ถ้าตามหลักวิชาการท่านว่า ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา ทีนี้ถ้าเราภาวนาพุทโธ เมื่อจิตสงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ถ้ามันเพ่งออกไปข้างนอก ไปเห็นภาพนิมิต ถ้าหากว่านิมิตนิ่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นสมถกรรมฐาน ถ้าหากนิมิตเปลี่ยนแปลงก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ทีนี้ถ้าหากจิตทิ้งพุทโธ แล้วจิตอยู่นิ่งสว่าง จิตวิ่งเข้ามาข้างใน มารู้เห็นภายในกาย รู้อาการ๓๒ รู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งร่างกายปกติแล้ว มันตายเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป มันเข้าไปกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะ คือ กาย กับ จิต มันก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันก็คลุกเคล้าอยู่ในอันเดียวกันนั้นแหละ

     แล้วอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะเคยได้ยินได้ฟังว่า สมาธิขั้นสมถะ มันไม่เกิดภูมิความรู้ อันนี้ก็เข้าใจผิด ความรู้แจ้งเห็นจริง เราจะรู้ชัดเจนในสมาธิขั้นสมถะ เพราะสมาธิขั้นสมถะนี่มันเป็นสมาธิที่อยู่ในฌาน มันเกิดอภิญญา ความรู้ยิ่งเห็นจริง แต่ความรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะ มันจะรู้เห็นแบบชนิดไม่มีภาษาที่จะพูดว่าอะไรเป็นอะไร สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เช่น มองเห็นการตาย ตายแล้วมันก็ไม่ว่า เน่าแล้วมันก็ไม่ว่า ผุพังสลายตัวไปแล้วมันก็ไม่ว่า ในขณะที่มันรู้อยู่นั่น แต่เมื่อมันถอนออกมาแล้วยังเหลือแต่ความทรงจำ จึตจึงจะมาอธิบายให้ตัวเองฟังเพื่อความเข้าใจทีหลัง เรียกว่า เจริญวิปัสสนา



(ปฏิปทาของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล คัดลอกจากหนังสือ "ฐานิยตเถรวตถุ" หนังสือประวัติพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย))


หมายเหตุ จากบางพระสูตรในพระไตรปิฏก เช่น พระสุตตันตปิฏก เล่ม ๑ ทีฆนิกายสีลขันธวรรค พระพุทธเจ้าทรงกล่าวเทศนาถึงหลักการทำ ฌาน ให้เกิด ผลคือ สมาธิอันบริสุทธิ์จากกิเลส และอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน(หมายถึง แยบคาย ไม่หยาบกระด้าง) แล้วจึงน้อมใจไปสู่ญาณทัศนะ(เช่น อาสวักขยญาณ) ก็จะเกิดปัญญา กระทั่งถึงที่ประเสริฐสุด คือ วิมุตติ (ความบริสุทธิ์ หลุดพ้น) ฯลฯ เป็นต้น
บันทึกการเข้า
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #5 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2008, 06:58:23 PM »

         เดิมที ตั้งใจว่าจะคัดลอกคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ที่มีชื่อหัวข้อในเว็บบางแห่งว่า "วิธีเจริญจิตภาวนา" โดยมีบางสำนัก หรือคนบางกลุ่มเรียกว่า "วิธีดูจิต" แต่ เมื่อค้นหาข้อมูลที่มาของบันทึกคำสอนนี้ ก็พบว่า ที่มาของบันทึกคำสอนนี้ มาจาก "หนังสือ ประวัติ ปฏิปทา และคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม นิคมานนท์ ได้เรียบเรียงขึ้นจากบันทึกและความทรงจำของพระโพธินันทมุนี (สมศักดิ์ ปญฺฑิโต)" ซึ่งตามหลักฐานข้อมูลจากหนังสือของ ธรรมะสภา มีชื่อในหัวข้อนี้ว่า "วิธีเจริญสมาธิภาวนา" ซึ่งเป็นชื่อที่แตกต่างไปจากที่แสดงไว้ในบางเว็บดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น(ที่แน่นอนคือมีการเปลี่ยนชื่อไปจากเดิม แต่ไม่ทราบว่า ชื่อใดกันแน่ที่ถูกต้องตามหลักฐานเดิม และบุคคลใดเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงชื่อในหัวข้อนี้ ด้วยเหตุผลอย่างไร?) อย่างไรก็ดี ในที่นี้ ก็จะขอแสดงตามชื่อที่ตั้งไว้ตามหนังสือของธรรมะสภา เนื่องด้วยเป็นหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังเป็นฉบับที่เก่าที่สุด เท่าที่ผู้คัดลอกหาได้ในขณะนี้ เพราะในเว็บต่างๆที่ใช้ชื่อหัวข้อนี้ว่า "วิธีการเจริญจิตภาวนา" นั้น ยังไม่สามารถค้นเจอฉบับที่ยืนยันย้อนหลังไปได้เกินกว่าปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้เลย(ทราบว่ามีฉบับที่พิมพ์ใหม่ในประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๔ แต่ไม่ทราบว่าใช้ชื่อหัวข้อนี้ว่าอย่างไร) ในขณะที่ฉบับของ ธรรมะสภา นี้ มีการอ้างอิงย้อนหลังไปได้ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นอย่างน้อย



คำสอนหลวงปู่ดูลย์
เรื่อง
วิธีเจริญสมาธิภาวนา


วิธีเจริญสมาธิภาวนาตามแนวการสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีดังต่อไปนี้

๑. เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก

ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว หรือรู้ “ตัว” อย่างเดียว

รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ “รู้อยู่เฉยๆ” ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม

เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน เป็นธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่ และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ

จากนั้นค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีกจนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป

ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้และบรรลุสมาธิในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน “พฤติแห่งจิต” โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการ เจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

ในกรณีที่ไม่สามารทำเช่นนี้ได้ ให้ลองนึกคำว่า “พุทโธ” หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต

พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง

ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว

เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้

ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู่อารมณ์ทันที

เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ

เจตจำนงนี้ คือ ตัว “ศีล”

การบริกรรม “พุทโธ” เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป

แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้ง ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดเจนและความไม่ขาดสายของพุทโธจะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ

เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่ามีลักษณาการประหนึ่งบุรุษผู้หนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขน พร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่าถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย

เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธาของตนเองเลย

เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อยๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบและคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึก และ “พฤติแห่งจิต” ที่ฐานนั้นๆ

บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต)

ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสามคือ ราคะ โทสะ โมหะ

๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไป ก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิต ให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลายอย่าได้ใส่ใจกับมัน)

ระวังจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องภายนอก สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖

๔. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อยๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อยๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด

๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (จิต) อีกหรือไม่ พยายามใช้สติ สังเกตดูที่จิต ทำความสงบอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจ พฤติแห่งจิต ได้อย่างละเอียดละออตามขั้นตอน เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่าเกิดจากความคิดนั่นเอง และความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่งหาก่อหาเกิดไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้

คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง

๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ ทั้งสิ้น จิตก็จะอยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น

เรียกว่า “สมุจเฉทธรรมทั้งปวง”

๗. ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด เมื่อเพิกรูปปรมาณูที่เล็กที่สุดเสียได้ กรรมชั่วที่ประทับ บรรจุ บันทึกถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณูนั้นก็หมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไปในเบื้องหน้า การเพิ่มหนี้ก็เป็นอันสะดุดหยุดลง เหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ ก็เป็นสักแต่ว่ามากระทบ ไม่มีผลสืบเนื่องต่อไป หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ชาติแรก ก็เป็นอันได้รับการชดใช้หมดสิ้น หมดเรื่องหมดราวหมดพันธะผูกพันที่จะต้องเกิดมาใช้หนี้กรรมกันอีก เพราะ กรรมชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องเกิดอีกไม่อาจให้ผลต่อไปได้ เรียกว่า “พ้นเหตุเกิด”

๘. ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดหรอกว่า เขารู้อะไร

เมื่อธรรมทั้งหลายได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าธรรม จะเป็นธรรมไปได้อย่างไร สิ่งที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละ มันเป็นธรรมของมันในตัว (ผู้รู้น่ะจริง แต่สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายนั้นไม่จริง)

เมื่อจิตว่างจาก “พฤติ” ต่างๆ แล้ว จิตก็จะถึง ความว่างที่แท้จริง ไม่มีอะไรให้สังเกตได้อีกต่อไป จึงทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตนั้นไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้น ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซึมซาบอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง และจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน

เมื่อจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งสิ่งเดียวกัน และเป็นความว่าง ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไรหรือให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไรจะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร

เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง” จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูด และพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า “นิพพาน”

โดยปกติ คำสอนธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้นเป็นแบบ “ปริศนาธรรม” มิใช่เป็นการบรรยายธรรม ฉะนั้นคำสอนของท่านจึงสั้น จำกัดในความหมายของธรรม เพื่อไม่ให้เฝือหรือฟุ่มเฟือยมากนัก เพราะจะทำให้สับสน เมื่อผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขาย่อมเข้าใจได้เองว่า กิริยาอาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น มีมากมายหลายอย่าง ยากที่จะอธิบายให้ได้หมด ด้วยเหตุนั้น หลวงปู่ท่านจึงใช้คำว่า “พฤติของจิต” แทนกิริยาทั้งหลายเหล่านั้น

คำว่า “ดูจิต อย่าส่งจิตออกนอก ทำญาณให้เห็นจิต” เหล่านี้ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปทั้งหมดตลอดองค์ภาวนา แต่เพื่ออธิบายให้เป็นขั้นตอน จึงจัดเรียงให้ดูง่าย เข้าใจง่ายเท่านั้น หาได้จัดเรียงไปตามลำดับกระแสการเจริญจิตแต่อย่างใดไม่

ท่านผู้มีจิตศรัทธาในทางปฏิบัติ เมื่อเจริญจิตภาวนาตามคำสอนแล้ว ตามธรรมดาการปฏิบัติในแนวนี้ ผู้ปฏิบัติจะค่อยๆ มีความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป เพราะมีการใส่ใจสังเกตและกำหนดรู้ “พฤติแห่งจิต” อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากเกิดปัญหาในระหว่างการ ปฏิบัติ ควรรีบเข้าหาครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระโดยเร็ว หากประมาทแล้วอาจผิดพลาดเป็นปัญหาตามมาภายหลังเพราะคำว่า “มรรคปฏิปทา” นั้น จะต้องอยู่ใน “มรรคจิต” เท่านั้น มิใช่มรรคภายนอกต่างๆ นานาเลย

การเจริญจิตเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยวิสุทธิศีล วิสุทธิมรรค พร้อมทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ จึงจะยังกิจให้ลุล่วงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้



อเหตุกจิต ๓ ประการ

๑. ปัญจทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะหรือ ทวารทั้ง ๕ มีดังนี้

ตา ไปกระทบกับรูป เกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็น จะห้าม ไม่ให้ตาเห็นรูปไม่ได้

หู ไปกระทบกับเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือ การได้ยิน จะห้าม ไม่ให้หูได้ยินเสียงไม่ได้

จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ คือ การได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่นไม่ได้

ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือ การได้รส จะห้าม ไม่ให้ลิ้นรับรู้รสไม่ได้

กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือ กายสัมผัส จะห้ามไม่ให้กายรับสัมผัสไม่ได้

วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาแฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบ เป็นสภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น

ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิด มี เป็น เช่นนั้น ย่อมกระทำไม่ได้

การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่นเมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุง ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง ดังนี้เป็นต้น

(ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว)

๒. มโนทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้

ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่ สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือวิจารณ์ความคิดเหล่านั้น

ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์

๓. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะ เหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี

สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) มีเท่ากันในพระอริยเจ้าและในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ ควรพิจารณา อเหตุกจิตนี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการ บำเพ็ญปฏิบัติธรรม

อเหตุกจิตนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจในอเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) นี้เอง

อเหตุกจิต ข้อ (๓) เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้ เป็นผลของการเจริญจิตจนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้อง ในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง



อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=225
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 28, 2008, 11:40:02 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #6 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2009, 04:06:07 PM »


มุตโตทัย ๑

พระธรรมเทศนาของ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ

ส่วนที่ ๑
บันทึกโดย พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร
ณ วัดป่าบ้านนามน กิ่ง อ. โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๘๖


๑. การปฏิบัติ เป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าธรรมของพระตถาคต เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอม (สัทธรรมปฏิรูป) แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตสันดานของพระอริยเจ้าแล้วไซร้ ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง และเป็นของไม่ลบเลือนด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อยังเพียรแต่เรียนพระปริยัติถ่ายเดียว จึงยังใช้การไม่ได้ดี ต่อเมื่อมาฝึกหัดปฏิบัติจิตใจกำจัดเหล่า กะปอมก่า คือ อุปกิเลส แล้วนั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมบริสุทธิ์ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมด้วย

๒. การฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า

ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา

สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทรมานฝึกหัดพระองค์จนได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็น พุทฺโธ ผู้รู้ก่อนแล้วจึงเป็น ภควา ผู้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ สตฺถา จึงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้มีอุปนิสัยบารมีควรแก่การทรมานในภายหลัง จึงทรงพระคุณปรากฏว่า กลฺยาโณ กิตฺติสทฺโท อพฺภุคฺคโต ชื่อเสียงเกียรติศัพท์อันดีงามของพระองค์ย่อมฟุ้งเฟื่องไปในจตุรทิศจนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าท่านฝึกฝนทรมานตนได้ดีแล้ว จึงช่วยพระบรมศาสดาจำแนกแจกธรรม สั่งสอนประชุมชนในภายหลัง ท่านจึงมีเกียรติคุณปรากฏเช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าบุคคลใดไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้ว และทำการจำแนกแจกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษ ปรากฏว่า ปาปโกสทฺโท คือเป็นผู้มีชื่อเสียงชั่วฟุ้งไปในจตุรทิศ เพราะโทษที่ไม่ทำตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าในก่อนทั้งหลาย

๓. มูลมรดกอันเป็นต้นทุนทำการฝึกฝนตน

เหตุใดหนอ ปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดี จึงต้องตั้ง นโม ก่อน จะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญ จึงยกขึ้นพิจารณา ได้ความว่า น คือธาตุน้ำ โม คือ ธาตุดิน พร้อมกับบาทพระคาถา ปรากฏขึ้นมาว่า มาตาเปติกสมุภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกัน จึงเป็นตัวตนขึ้นมาได้ น เป็นธาตุของ มารดา โม เป็นธาตุของ บิดา ฉะนั้นเมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า กลละ คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ถือปฏิสนธิในธาตุ นโม นั้น เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละ ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น อัมพุชะ คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น ฆนะ คือเป็นแท่ง และ เปสี คือชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจสาขา คือ แขน ๒ ขา ๒ หัว ๑ ส่วนธาตุ พ คือลม ธ คือไฟ นั้นเป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาปสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นโม เป็นเดิม

ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย น มารดา โม บิดา เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมาด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาส เป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า บุพพาจารย์ เป็นผู้สอนก่อนใครๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ทำให้กล่าวคือรูปกายนี้แล เป็นมรดกดั้งเดิมทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลยเพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น “มูลมรดก” ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่ เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อนแล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ลงภายหลัง นโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่ มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุน ทำการฝึกหัดปฏิบัติตนไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ

๔. มูลฐานสำหรับทำการปฏิบัติ

นโม นี้ เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระอะจากตัว น มาใส่ตัว ม เอาสระ โอ จากตัว ม มาใส่ตัว น แล้วกลับตัว มะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ทั้งกายทั้งใจเต็มตามส่วน สมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้ มโน คือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมด ได้ในพระพุทธพจน์ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติออกไปจาก ใจ คือมหาฐาน นี้ทั้งสิ้น เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้จัก มโน แจ่มแจ้งแล้ว มโน ก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น สมมติทั้งหลายในโลกนี้ต้องออกไปจากมโนทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมมติบัญญัติตามกระแสแห่งน้ำโอฆะจนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลง หลงถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราไปหมด

๕. มูลเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุ

พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เว้นมหาปัฏฐาน มีนัยประมาณเท่านั้นเท่านี้ ส่วนคัมภีร์มหาปัฏฐาน มีนัยหาประมาณมิได้เป็น “อนันตนัย” เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรอบรู้ได้ เมื่อพิจารณาพระบาลีที่ว่า เหตุปจฺจโย นั้นได้ความว่า เหตุซึ่งเป็นปัจจัยดั้งเดิมของสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุนั้นได้แก่ มโน นั่นเอง มโน เป็นตัวมหาเหตุเป็นตัวเดิม เป็นสิ่งสำคัญ นอกนั้นเป็นแต่อาการเท่านั้น อารมฺมณ จนถึงอวิคฺคต จะเป็นปัจจัยได้ก็เพราะมหาเหตุคือใจเป็นเดิมโดยแท้ ฉะนั้น มโนซึ่งกล่าวไว้ในข้อ ๔ ก็ดี ฐีติ ภูตํ ซึ่งจะกล่าวในข้อ ๖ ก็ดี และมหาธาตุซึ่งกล่าวในข้อนี้ก็ดี ย่อมมีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ดี รู้อะไรๆ ได้ด้วย ทศพลญาณ ก็ดี รอบรู้ สรรพเญยฺยธรรม ทั้งปวงก็ดี ก็เพราะมีมหาเหตุนั้นเป็นดั้งเดิมทีเดียว จึงทรงรอบรู้ได้เป็นอนันตนัย แม้สาวทั้งหลายก็มีมหาเหตุนี้แลเป็นเดิม จึงสามารถรู้ตามคำสอนของพระองค์ได้ด้วยเหตุนี้แลพระอัสสชิเถระผู้เป็นที่ ๕ ของพระปัญจวัคคีย์จึงแสดงธรรมแก่ อุปติสฺส (พระสารีบุตร) ว่า เย ธมฺมา เหตุปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ...เพราะว่ามหาเหตุนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวเดิม เมื่อท่านพระอัสสชิเถระกล่าวถึงที่นี้ (คือมหาเหตุ) ท่านพระสารีบุตรจะไม่หยั่งจิตลงถึงกระแสธรรมอย่างไรเล่า? เพราะอะไร ทุกสิ่งในโลกก็ต้องเป็นไปแต่มหาเหตุถึงโลกุตตรธรรม ก็คือมหาเหตุ ฉะนั้น มหาปัฏฐาน ท่านจึงว่าเป็น อนันตนัย ผู้มาปฏิบัติใจคือตัวมหาเหตุจนแจ่มกระจ่างสว่างโร่แล้วย่อมสามารถรู้อะไรๆ ทั้งภายในและภายนอกทุกสิ่งทุกประการ สุดจะนับจะประมาณได้ด้วยประการฉะนี้

๖. มูลการของสังสารวัฏฏ์

ฐีติภูตํ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา อุปาทานํ ภโว ชาติ

คนเราทุกรูปนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีที่เกิดทั้งสิ้น กล่าวคือมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญัติปัจจยาการแต่เพียงว่า อวิชฺชา ปจฺจยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชชา เกิดมาจากอะไรฯ ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่ พวกเราก็ยังมีบิดามารดาอวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเองเป็นพ่อแม่ของอวิชชา ฐีติภูตํ ได้แก่ จิตดั้งเดิม เมื่อฐีติภูตํ ประกอบไปด้วยความหลง จึงมีเครื่องต่อ กล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้วจึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึดถือ จึงเป็นภพชาติคือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียก ปัจจยาการ เพราะเป็นอาการสืบต่อกัน วิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจากฐีติภูตํเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อฐีติภูตํกอปรด้วยวิชชาจึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง นี่พิจารณาด้วยวุฏฐานคามินี วิปัสสนา รวมใจความว่า ฐีติภูตํ เป็นตัวการดั้งเดิมของสังสารวัฏฏ์ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่า “มูลตันไตร” (หมายถึงไตรลักษณ์) เพราะฉะนั้นเมื่อจะตัดสังสารวัฏฏ์ให้ขาดสูญ จึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชารู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็จะหายหลงแล้วไม่ก่ออาการทั้งหลายใดๆ อีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ด้วยประการฉะนี้

๗. อรรคฐาน เป็นที่ตั้งแห่งมรรคนิพพาน

อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ มคฺคํ สตฺตวิสุทธิยา ฐานะอันเลิศมีอยู่ในมนุษย์ ฐานะอันดีเลิศนั้นเป็นทางดำเนินไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ โดยอธิบายว่าเราได้รับมรดกมาแล้วจาก นโม คือ บิดามารดา กล่าวคือตัวของเรานี้แล อันได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นชาติสูงสุด เป็นผู้เลิศตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีคือมีกายสมบัติ วจีสมบัติ แลมโนสมบัติบริบูรณ์ จะสร้างสมเอาสมบัติภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองอย่างไรก็ได้ จะสร้างสมเอาสมบัติภายในคือมรรคผลนิพพานธรรมวิเศษก็ได้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติแก่มนุษย์เรานี้เอง มิได้ทรงบัญญัติแก่ ช้าง มา โค กระบือ ฯลฯ ที่ไหนเลย มนุษย์นี้เองจะเป็นผู้ปฏิบัติถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนมีบุญวาสนาน้อย เพราะมนุษย์ทำได้ เมื่อไม่มี ทำให้มีได้ เมื่อมีแล้วทำให้ยิ่งได้สมด้วยเทศนานัยอันมาในเวสสันดรชาดาว่า ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ เมื่อได้ทำกองการกุศล คือ ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาตามคำสอนของพระบรมศาสดาจารย์เจ้าแล้ว บางพวกทำน้อยก็ต้องไปสู่สวรรค์ บางพวกทำมากและขยันจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมีแต่หนหลังประกอบกัน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่ต้องสงสัยเลย พวกสัตว์ดิรัจฉานท่านมิได้กล่าวว่าเลิศ เพราะจะมาทำเหมือนพวกมนุษย์ไม่ได้ จึงสมกับคำว่ามนุษย์นี้ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีสามารถนำตนเข้าสู่มรรคผล เข้าสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ได้แล

๘. สติปัฏฐาน เป็น ชัยภูมิ คือสนามฝึกฝนตน

พระบรมศาสดาจารย์เจ้า ทรงตั้งชัยภูมิไว้ในธรรมข้อไหน? เมื่อพิจารณาปัญหานี้ได้ความขึ้นว่า พระองค์ทรงตั้งมหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ

อุปมาในทางโลก การรบทัพชิงชัย มุ่งหมายชัยชนะจำต้องหา ชัยภูมิ ถ้าได้ชัยภูมิที่ดีแล้วย่อมสามารถป้องกันอาวุธของข้าศึกได้ดี ณ ที่นั้นสามารถรวบรวมกำลังใหญ่เข้าฆ่าฟันข้าศึกให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปได้ ที่เช่นนั้นท่านจึงเรียกว่า ชัยภูมิ คือที่ที่ประกอบไปด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคงฉันใด

อุปไมยในทางธรรมก็ฉันนั้น ที่เอามหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิก็โดยผู้ที่จะเข้าสู่สงครามรบข้าศึก คือ กิเลส ต้องพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้นก่อน เพราะคนเราที่จะเกิด กามราคะ เป็นต้น ขึ้น ก็เกิดที่กายและใจ เพราะตาแลไปเห็นกายทำให้ใจกำเริบ เหตุนั้นจึงได้ความว่า กายเป็นเครื่องก่อเหตุ จึงต้องพิจารณากายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ทำให้ใจสงบได้ ณ ที่นี้พึง ทำให้มาก เจริญให้มาก คือพิจารณาไม่ต้องถอยเลยทีเดียว ในเมื่ออุคคหนิมิตปรากฏ จะปรากฏกายส่วนไหนก็ตาม ให้พึงถือเอากายส่วนที่ได้เห็นนั้นพิจารณาให้เป็นหลักไว้ไม่ต้องย้ายไปพิจารณาที่อื่น จะคิดว่าที่นี่เราเห็นแล้ว ที่อื่นยังไม่เห็น ก็ต้องไปพิจารณาที่อื่นซิ เช่นนี้หาควรไม่ ถึงแม้จะพิจารณาจนแยกกายออกมาเป็นส่วนๆ ทุกๆอาการอันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้อย่างละเอียด ที่เรียกว่าปฏิภาคก็ตาม ก็ให้พิจารณากายที่เราเห็นทีแรกด้วยอุคคหนิมิตนั้นจนชำนาญ ที่จะชำนาญได้ก็ต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ณ ที่เดียวนั้นเอง เหมือนสวดมนต์ฉะนั้น อันการสวดมนต์ เมื่อเราท่องสูตรนี้ได้แล้ว ทิ้งเสียไม่เล่าไม่สวดไว้อีก ก็จะลืมเสียไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่ทำให้ชำนาญด้วยความประมาทฉันใด การพิจารณากายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้อุคคหนิมิตในที่ใดแล้ว ไม่พิจารณาในที่นั้นให้มากปล่อยทิ้งเสียด้วยความประมาทก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรอย่างเดียวกัน

การพิจารณากายนี้มีที่อ้างมาก ดั่งในการบวชทุกวันนี้ เบื้องต้นต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก็คือ กายนี้เอง ก่อนอื่นหมดเพราะเป็นของสำคัญ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมบทขุทฺทกนิกายว่า อาจารย์ผู้ไม่ฉลาด ไม่บอกซึ่งการพิจารณากาย อาจทำลายอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ของกุลบุตรได้ เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้จึงต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก่อน

อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าจะไม่กำหนดกาย ในส่วนแห่ง โกฏฐาส (คือการพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ) ใดโกฏฐาสหนึ่งมิได้มีเลย จึงตรัสแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้กล่าวถึงแผ่นดินว่า บ้านโน้นมีดินดำดินแดงเป็นต้นนั้นว่า นั่นชื่อว่า พหิทฺธา แผ่นดินภายนอกให้พวกท่านทั้งหลายมาพิจารณา อัชฌัตติกา แผ่นดินภายในกล่าวคืออัตตภาพร่างกายนี้ จงพิจารณาไตร่ตรองให้แยบคาย กระทำให้แจ้งแทงให้ตลอด เมื่อจบการวิสัชชนาปัญหานี้ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปก็บรรลุพระอรหันตผล

เหตุนั้นการพิจารณากายจึงเป็นของสำคัญ ผู้ที่จะพ้นทุกทั้งหมดล้วนแต่ต้องพิจารณากายนี้ทั้งสิ้น จะรวบรวมกำลังใหญ่ได้ต้องรวบรวมด้วยการพิจารณากาย แม้พระพุทธองค์เจ้าจะได้ตรัสรู้ทีแรกก็ทรงพิจารณาลม ลมจะไม่ใช่กายอย่างไร? เพราะฉะนั้นมหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาเป็นต้น จึงชื่อว่า “ชัยภูมิ” เมื่อเราได้ชัยภูมิดีแล้ว กล่าวคือปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานจนชำนาญแล้ว ก็จงพิจารณาความเป็นจริงตามสภาพแห่งธาตุทั้งหลายด้วยอุบายแห่งวิปัสสนา ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า

๙. อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส

ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี อุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยๆ งามๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก ปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้น เมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งที่สะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นอีกเลย ข้อนี้เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า ผู้ประพฤติพากเพียรประโยคพยายาม ย่อมพิจารณาซึ่ง สิ่งสกปรกน่าเกลียดนั้นก็คือตัวเรานี้เอง ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสโครกคือ อุจจาระ ปัสสาวะ (มูตรคูถ) ทั้งปวง สิ่งที่ออกจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เรียกว่า ขี้ ทั้งหมด เช่น ขี้หัว ขี้เล็บ ขี้ฟัน ขี้ไคล เป็นต้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ร่วงหล่นลงสู่อาหาร มีแกงกับ เป็นต้น ก็รังเกียจ ต้องเททิ้ง กินไม่ได้ และร่างกายนี้ต้องชำระอยู่เสมอจึงพอเป็นของดูได้ ถ้าหาไม่ก็จะมีกลิ่นเหม็นสาป เข้าใกล้ใครก็ไม่ได้ ของทั้งปวงมีผ้าแพรเครื่องใช้ต่างๆ เมื่ออยู่นอกกายของเราก็เป็นของสะอาดน่าดู แต่เมื่อมาถึงกายนี้แล้วก็กลายเป็นของสกปรกไป เมื่อปล่อยไว้นานๆ เข้าไม่ซักฟอกก็จะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลย เพราะเหม็นสาบ ดั่งนี้จึงได้ความว่าร่างกายของเรานี้เป็นเรือนมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ ของไม่งาม ปฏิกูลน่าเกลียด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นถึงปานนี้ เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรกหาอะไรเปรียบเทียบมิได้เลย เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายจึงพิจารณาร่างกายอันนี้ให้ชำนิชำนาญด้วย โยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว คือขณะเมื่อยังเห็นไม่ทันชัดเจนก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งกายอันเป็นที่สบายแก่จริตจนกระทั่งปรากฏเป็นอุคคหนิมิต คือ ปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วก็กำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก การเจริญทำให้มากนั้นพึงทราบอย่างนี้ อันชาวนาเขาทำนาเขาก็ทำที่แผ่นดิน ไถที่แผ่นดินดำลงไปในดิน ปีต่อไปเขาก็ทำที่ดินอีกเช่นเคย เข้าไม่ได้ทำในอากาศกลางหาว คงทำแต่ที่ดินอย่างเดียว ข้าวเขาก็ได้เต็มยุ้งเต็มฉางเอง เมื่อทำให้มากในที่ดินนั้นแล้ว ไม่ต้องร้องเรียกว่า ข้าวเอ๋ยข้าว จงมาเต็มยุ้งเน้อ ข้าวก็จะหลั่งไหลมาเอง และจะห้ามว่า เข้าเอ๋ยข้าว จงอย่ามาเต็มยุ้งเต็มฉางเราเน้อ ถ้าทำนาในที่ดินนั้นเองจนสำเร็จแล้ว ข้าวก็มาเต็มยุ้งเต็มฉางเอง ฉันใดก็ดีพระโยคาวจรเจ้าก็ฉันนั้น จงพิจารณากายในที่เคยพิจารณาอันถูกนิสัยหรือที่ปรากฏมาให้เห็นครั้งแรก อย่าละทิ้งเลยเป็นอันขาด การทำให้มากนั้นมิใช่หมายแต่การเดินจงกรมเท่านั้น ให้มีสติหรือพิจารณาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอจึงจะชื่อว่า ทำให้มาก เมื่อพิจารณาในร่างกายนั้นจนชัดเจนแล้ว ให้พิจารณาแบ่งส่วนแยกส่วนออกเป็นส่วนๆ ตามโยนิโสมนสิการตลอดจนกระจายออกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และพิจารณาให้เห็นไปตามนั้นจริงๆ อุบายตอนนี้ตามแต่ตนจะใคร่ครวญออกอุบายตามที่ถูกจริตนิสัยของตน แต่อย่าละทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรกนั่นเทียว

พระโยคาวจรเจ้าเมื่อพิจารณาในที่นี้ พึงเจริญให้มาก ทำให้มาก อย่าพิจารณาครั้งเดียวแล้วปล่อยทิ้งตั้งครึ่งเดือน ตั้งเดือน ให้พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็น อนุโลม ปฏิโลม คือเข้าไปสงบในจิต แล้วถอยออกมาพิจารณากาย อย่าพิจารณากายอย่างเดียว หรือสงบที่จิตแต่อย่างเดียว พระโยคาวจรเจ้าพิจารณาอย่างนี้ชำนาญแล้ว หรือชำนาญอย่างยิ่งแล้ว คราวนี้แลเป็นส่วนที่จะเป็นเอง คือ จิต ย่อมจะรวมใหญ่ เมื่อรวมพึ่บลง ย่อมปรากฏว่าทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียวกันคือหมดทั้งโลกย่อมเป็นธาตุทั้งสิ้น นิมิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่าโลกนี้ราบเหมือนหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียวกัน ไม่ว่า ป่าไม้ ภูเขา มนุษย์ สัตว์ แม้ที่สุดตัวของเราก็ต้องลบราบเป็นที่สุดอย่างเดียวกันพร้อมกับ ญาณสัมปยุตต์ คือรู้ขึ้นมาพร้อมกัน ในที่นี้ตัดความสนเท่ห์ในใจได้เลย จึงชื่อว่า ยถาภูตญาณทัสสนวิปัสสนา คือทั้งเห็นทั้งรู้ตามความเป็นจริง

ขั้นนี้เป็นเบื้องต้นในอันที่จะดำเนินต่อไป ไม่ใช่ที่สุดอันพระโยคาวจรเจ้าจะพึงเจริญให้มาก ทำให้มาก จึงจะเป็นเพื่อความรู้ยิ่งอีกจนรอบ จนชำนาญเห็นแจ้งชัดว่า สังขารความปรุงแต่งอันเป็นความสมมติว่าโน่นเป็นของของเรา โน่นเป็นเรา เป็นความไม่เที่ยงอาศัยอุปาทานความยึดถือจึงเป็นทุกข์ ก็แลธาตุทั้งหลาย เขาหากมีหากเป็นอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้นเสื่อมไปอยู่อย่างนี้มาก่อน เราเกิดตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก็เป็นอยู่อย่างนี้ อาศัยอาการของจิต ของขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปปรุงแต่งสำคัญมั่นหมายทุกภพทุกชาติ นับเป็นอเนกชาติเหลือประมาณมาจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงอยู่ตามสมมติ ไม่ใช่สมมติมาติดเอาเรา เพราะธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมดในโลกนี้ จะเป็นของมีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม เมื่อว่าตามความจริงแล้ว เขาหากมีหากเป็น เกิดขึ้นเสื่อมไป มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว โดยไม่ต้องสงสัยเลยจึงรู้ขึ้นว่า ปุพฺเพสุ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ ธรรมดาเหล่านี้ หากมีมาแต่ก่อน ถึงว่าจะไม่ได้ยินได้ฟังมาจากใครก็มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว ฉะนั้นในความข้อนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่า เราไม่ได้ฟังมาแต่ใคร มิได้เรียนมาแต่ใครเพราะของเหล่านี้มีอยู่ มีมาแต่ก่อนพระองค์ดังนี้ ได้ความว่าธรรมดาธาตุทั้งหลายย่อมเป็นย่อมมีอยู่อย่างนั้น อาศัยอาการของจิตเข้าไปยึดถือเอาสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นมาหลายภพหลายชาติ จึงเป็นเหตุให้อนุสัยครอบงำจิตจนหลงเชื่อไปตาม จึงเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติด้วยอาการของจิตเข้าไปยึด ฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้ามาพิจารณา โดยแยบคายลงไปตามสภาพว่า สพฺเพ สฺงขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารความเข้าไปปรุงแต่ง คือ อาการของจิตนั่นแลไม่เที่ยง สัตว์โลกเขาเที่ยง คือมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณาโดย อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ เป็นเครื่องแก้อาการของจิตให้เห็นแน่แท้โดย ปัจจักขสิทธิ ว่า ตัวอาการของจิตนี้เองมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงหลงตามสังขาร เมื่อเห็นจริงลงไปแล้วก็เป็นเครื่องแก้อาการของจิต จึงปรากฏขึ้นว่า สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ สังขารทั้งหลายที่เที่ยงแท้ไม่มี สังขารเป็นอาการของจิตต่างหาก เปรียบเหมือนพยับแดด ส่วนสัตว์เขาก็อยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา เมื่อรู้โดยเงื่อน ๒ ประการ คือรู้ว่า สัตว์ก็มีอยู่อย่างนั้น สังขารก็เป็นอาการของจิต เข้าไปสมมติเขาเท่านั้น ฐีติภูตํ จิตตั้งอยู่เดิมไม่มีอาการเป็นผู้หลุดพ้น ได้ความว่า ธรรมดาหรือธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน จะใช่ตนอย่างไร ของเขาหากเกิดมีอย่างนั้น ท่านจึงว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน ให้พระโยคาวจรเจ้าพึงพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์ตามนี้จนทำให้จิตรวมพึ่บลงไป ให้เห็นจริงแจ้งชัดตามนั้น โดย ปัจจักขสิทธิ พร้อมกับ ญาณสัมปยุตต์ รวมทวนกระแสแก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุตติ หรือรวมลงฐีติจิต อันเป็นอยู่มีอยู่อย่างนั้นจนแจ้งประจักษ์ในที่นั้นด้วยญาณสัมปยุตต์ว่า ขีณา ชาติ ญาณํ โหติ ดังนี้ ในที่นี้ไม่ใช่สมมติไม่ใช่ของแต่งเอาเดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาได้ เป็นของที่เกิดเอง เป็นเอง รู้เอง โดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะด้วยการปฏิบัติอันเข้มแข็งไม่ท้อถอย พิจารณาโดยแยบคายด้วยตนเอง จึงจะเป็นขึ้นมาเอง ท่านเปรียบเหมือนต้นไม้ต่างๆ มีต้นข้าวเป็นต้น เมื่อบำรุงรักษาต้นมันให้ดีแล้ว ผลคือรวงข้าวไม่ใช่สิ่งอันบุคคลพึงปรารถนาเอาเลย เป็นขึ้นมาเอง ถ้าแลบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว แต่หาได้รักษาต้นข้าวไม่ เป็นผู้เกียจคร้าน จะปรารถนาจนวันตาย รวงข้าวก็จะไม่มีขึ้นมาให้ฉันใด วิมฺตติธรรม ก็ฉันนั้นนั่นแล มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้ คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรมแต่ปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติมัวเกียจคร้านจนวันตายจะประสบวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

๑๐. จิตเดิมเป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส

ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ

ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เสื่อมปภัสสรแจ้งสว่างมาเดิม แต่อาศัยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองเป็นอาคันตุกะสัญจรมาปกคลุมหุ้มห่อ จึงทำให้จิตมิส่องแสงสว่างได้ ท่านเปรียบไว้ในบทกลอนหนึ่งว่า “ไม้ชะงกหกพันง่า(กิ่ง) กะปอมก่ากิ้งก่าฮ้อย กะปอมน้อยขึ้นมื้อพัน ครั้นตัวมาบ่ทัน ขึ้นนำคู่มื้อๆ” โดยอธิบายว่า คำว่าไม่ชะงก ๖,๐๐๐ ง่านั้นเมื่อตัดศูนย์ ๓ ศูนย์ออกเสียเหลือแค่ ๖ คงได้ความว่า ทวารทั้ง ๖ เป็นที่มาแห่งกะปอมก่า คือของปลอมไม่ใช่ของจริง กิเลสทั้งหลายไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งสัญจรเข้ามาในทวารทั้ง ๖ นับร้อยนับพัน มิใช่แต่เท่านั้น กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะทวียิ่งๆ ขึ้นทุกๆ วัน ในเมื่อไม่แสวงหาทางแก้ ธรรมชาติของจิตเป็นของผ่องใสยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคืออุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุมจึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบังฉะนั้น อย่าพึงเข้าใจว่าพระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายเมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอมด้วยการพิจารณาโดยแยบคายตามที่อธิบายแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาข้อ ๙ นั้นเถิด เมื่อทำให้ถึงขั้นฐีติจิตแล้ว ชื่อว่าย่อมทำลายของปลอมได้หมดสิ้นหรือว่าของปลอมย่อมเข้าไปถึงฐีติจิต เพราะสะพานเชื่อมต่อถูกทำลายขาดสะบั้นลงแล้ว แม้ยังต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของโลกอยู่ก็ย่อมเป็นดุจน้ำกลิ้งบนใบบัวฉะนั้น

๑๑. การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสัย

นายสารถีผู้ฝึกม้ามีชื่อเสียงคนหนึ่ง มาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามถึงวิธีทรมานเวไนย พระองค์ทรงย้อนถามนายสารถีก่อนถึงการทรมาณม้า เขาทูลว่าม้ามี ๔ ชนิด คือ ๑. ทรมานง่าย ๒. ทรมานอย่างกลาง ๓. ทรมานยากแท้ ๔. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย พระองค์จึงตรัสว่าเราก็เหมือนกัน ๑. ผู้ทรมาณง่าย คือผู้ปฏิบัติทำจิตรวมง่ายให้กินอาหารเพียงพอ เพื่อบำรุงร่างกาย ๒. ผู้ทรมานอย่างกลาง คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ค่อยจะลง ก็ให้กินอาหารแต่น้อยอย่าให้มาก ๓. ทรมานยากแท้ คือผู้ปฏิบัติทำจิตลงยากแท้ ไม่ต้องให้กินอาหารเลย แต่ต้องเป็น อตฺตญฺญู รู้กำลังของตนว่าจะทนทานได้สักเพียงไร แค่ไหน ๔. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ได้ เป็น ปทปรมะ พระองค์ทรงชักสะพานเสีย กล่าวคือไม่ทรงรับสั่งสอน อุปมาเหมือนฆ่าทิ้งเสียฉะนั้น

๑๒. มูลติกสูตร

ติกแปลว่า ๓ มูลแปลว่าเค้ามูลรากเหง้า รวมความว่าสิ่งซึ่งเป็นรากเหง้าเค้ามูลอย่างละ ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็เรียก ๓ อกุศลมูล ตัณหา ก็มี ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา โอฆะและอาสวะก็มีอย่างละ ๓ คือ กามะ ภาวะ อวิชชา ถ้าบุคคลมาเป็นไปกับด้วย ๓ เช่นนี้ ติปริวตฺตํ ก็ต้องเวียนไปเป็น๓ ๓ ก็ต้องเป็นโลก ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก อยู่อย่างนั้นแล เพราะ ๓ นั้นเป็นเค้ามูลโลก ๓

เครื่องแก้ก็มี ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อบุคคลดำเนินตนตามศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นเครื่องแก้ น ติปริวตฺตํ ก็ไม่ต้องเวียนไปเป็น๓ ๓ ก็ไม่เป็นโลก ๓ ชื่อว่าพ้นจากโลก ๓ แล

๑๓. วิสุทธิเทวาเท่านั้นเป็นสันตบุคคลแท้

อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต

บุคคลผู้มีจิตไม่กำเริบในกิเลสทั้งปวง รู้ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นพหิทธาธรรม ทั้งที่เป็น อัชฌัตติกาธรรม สนฺโต จึงเป็นผู้สงบระงับ สันตบุคคลเช่นนี้แลที่จะบริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ มีธรรมบริสุทธิ์สะอาด มีใจมั่นคงเป็นสัตบุรุษผู้ทรงเทวธรรมตามความในพระคาถาว่า หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร อุปัตติเทวา ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ วุ่นวายอยู่ด้วยกิเลส เหตุไฉนจึงจะเป็นสันตบุคคลได้ ความในพระคาถานี้ย่อมต้องหมายถึงวิสุทธิเทวา คือพระอรหันต์แน่นอน ท่านผู้เช่นนั้นเป็นสันตบุคคลแท้ สมควรจะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ และ สุกฺกธรรม คือ ความบริสุทธิ์แท้

๑๔. อกิริยาเป็นที่สุดในโลก - สุดสมมติบัญญัติ

สจฺจานํ จตุโร ปทา ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา

สัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็นกิริยา เพราะแต่ละสัจจะๆ ย่อมมีอาการต้องทำคือ ทุกข์-ต้องกำหนดรู้ สมุทัย-ต้องละ นิโรธ-ต้องทำให้แจ้ง มรรค-ต้องเจริญให้มาก ดังนี้ล้วนเป็นอาการที่จะต้องทำทั้งหมด ถ้าเป็นอาการที่จะต้องทำ ก็ต้องเป็นกิริยาเพราะเหตุนั้นจึงรวมความได้ว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นกิริยา จึงสมกับบาทคาถาข้างต้นนั้น ความว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นเท้าหรือเป็นเครื่องเหยียบก้าวขึ้นไป หรือก้าวขึ้นไป ๔ พักจึงจะเสร็จกิจ ต่อจากนั้นไปจึงเรียกว่า อกิริยา

อุปมา ดังเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ แล้วลบ ๑ ถึง ๙ ทิ้งเสีย เหลือแต่ ๐ (ศูนย์) ไม่เขียนอีกต่อไป คงอ่านว่า ศูนย์ แต่ไม่มีค่าอะไรเลย จะนำไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้นแต่จะปฏิเสธว่าไม่มีหาได้ไม่ เพราะปรากฏอยู่ว่า ๐ (ศูนย์) นี่แหละ คือปัญญารอบรู้ เพราะลายกิริยา คือ ความสมมติ หรือว่าลบสมมติลงเสียจนหมดสิ้น ไม่เข้าไปยึดถือสมมติทั้งหลาย คำว่าลบ คือทำลายกิริยา กล่าวคือ ความสมมติ มีปัญหาสอดขึ้นมาว่า เมื่อทำลายสมมติหมดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน? แก้ว่า ไปอยู่ในที่ไม่สมมติ คือ อกิริยา นั่นเอง เนื้อความตอนนี้เป็นการอธิบายตามอาการของความจริง ซึ่งประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ อันผู้ไม่ปฏิบัติหาอาจรู้ได้ไม่ ต่อเมื่อไรฟังแล้วทำตามจนรู้เองเห็นเองนั่นแลจึงจะเข้าใจได้

ความแห่ง ๒ บาทคาถาต่อไปว่า พระขีณาสวเจ้าทั้งหลายดับโลกสามรุ่งโรจน์อยู่ คือทำการพิจารณาบำเพ็ยเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก จนจิตมีกำลังสามารถพิจารณาสมมติทั้งหลายทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้จนเป็นอกิริยาก็ย่อมดับโลกสามได้ การดับโลกสามนั้น ท่านขีณาสวเจ้าทั้งหลายมิได้เหาะขึ้นไปนกามโลก รูปโลก อรูปโลกเลยทีเดียว คงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียวกัน เมื่อจะ
บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #7 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2009, 05:07:25 PM »


มุตโตทัย ๒

ส่วนที่ ๒
บันทึกโดย พระอาจารย์วัน อุตฺตโม และ พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส
ณ วัดป่าบ้านหนองผือ อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๒


๑. เรื่อง มูลกรรมฐาน

กุลบุตรผู้บรรพชาอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้แล้ว ใครเล่าไม่เคยเรียนกรรมฐานมา บอกได้ทีเดียวว่าไม่เคยมี พระอุปัชฌาย์ทุกองค์เมื่อบวชกุลบุตรจะไม่สอนกรรมฐานก่อนแล้วจึงให้ผ้าภายหลังไม่มี ถ้าอุปัชฌาย์องค์ใดไม่สอนกรรมฐานก่อน อุปัชฌาย์องค์นั้นดำรงความเป็นอุปัชฌายะต่อไปไม่ได้ ฉะนั้นกุลบุตรผู้บวชมาแล้วจึงได้ชื่อว่าเรียนกรรมฐานมาแล้ว ไม่ต้องสงสัยว่าไม่ได้เรียน

พระอุปัชฌายะสอนกรรมฐาน ๕ คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง ในกรรมฐานทั้ง ๕ นี้ มีหนังเป็นที่สุด ทำไมจึงสอนถึงหนังเท่านั้น? เพราะเหตุว่า หนัง มันเป็นอาการใหญ่ คนเราทุกคนต้องมีหนังหุ้มห่อ ถ้าไม่มีหนัง ผม ขน เล็บ ฟัน ก็อยู่ไม่ได้ ต้องหลุดหล่นทำลายไป เนื้อ กระดูก เอ็น และอาการทั้งหมดในร่างกายนี้ ก็จะอยู่ไม่ได้ ต้องแตกต้องทำลายไป คนเราจะหลงรูปก็มาหลง หนัง หมายความสวยๆ งามๆ เกิดความรักใคร่แล้วก็ปรารถนาเพราะมาหมายอยู่ที่หนัง เมื่อเห็นแล้วก็สำคัญเอาผิวพรรณของมัน คือผิว ดำ-ขาว-แดง-ดำแดง-ขาวแดง ผิวอะไรต่ออะไร ก็เพราะหมายสีหนัง ถ้าไม่มีหนังแล้ว ใครเล่าจะหมายว่าสวยงาม? ใครเล่าจะรักจะชอบจะปรารถนา? มีแต่จะเกลียดหน่ายไม่ปรารถนา ถ้าหนังไม่หุ้มห่ออยู่แล้ว เนื้อเอ็นและอาการอื่นๆ ก็จะอยู่ไม่ได้ ทั้งจะประกอบกิจการอะไรก็ไม่ได้ จึงว่าหนังเป็นของสำคัญนัก จะเป็นอยู่ได้กินก็เพราะหนัง จะเกิดความหลงสวยหลงงามก็เพราะมีหนัง ฉะนั้นพระอุปัชฌายะท่านจึงสอนถึงแต่หนังเป็นที่สุด ถ้าเรามาตั้งใจพิจารณาจนให้เห็นความเปื่อยเน่าเกิดอสุภนิมิต ปรากฏแน่แก่ใจแล้ว ย่อมจะเห็นอนิจจสัจจธรรม ทุกขสัจจธรรม อนัตตาสัจจธรรม จึงจะแก้ความหลงสวยหลงงามอันมั่นหมายอยู่ที่หนังย่อมไม่สำคัญหมาย และไม่ชอบใจ ไม่ปรารถนาเอาเพราะเห็นตามความเป็นจริง เมื่อใดเชื่อคำสอนของพระอุปัชฌายะไม่ประมาทแล้ว จึงจะได้เห็นสัจจธรรม ถ้าไม่เชื่อคำสอนพระอุปัชฌายะ ย่อมแก้ความหลงของตนไม่ได้ ย่อมตกอยู่ในบ่วงแห่งรัชชนิอารมณ์ ตกอยู่ในวัฏจักร เพราะฉะนั้น คำสอนที่พระอุปัชฌายะได้สอนแล้วแต่ก่อนบวชนั้น เป็นคำสอนที่จริงที่ดีแล้วเราไม่ต้องไปหาทางอื่นอีก ถ้ายังสงสัย ยังหาไปทางอื่นอีกชื่อว่ายังหลงงมงาย ถ้าไม่หลงจะไปหาทำไม คนไม่หลงก็ไม่มีการหา คนที่หลงจึงมีการหา หาเท่าไรยิ่งหลงไปไกลเท่านั้น ใครเป็นผู้ไม่หา มาพิจารณาอยู่ในของที่มีอยู่นี้ ก็จะเห็นแจ้งซึ่งภูตธรรม ฐีติธรรม อันเกษมจากโยคาสวะทั้งหลาย

ความในเรื่องนี้ ไม่ใช่มติของพระอุปัชฌายะทั้งหลายคิดได้แล้วสอนกุลบุตรตามมติของใครของมัน เนื่องด้วยพุทธพจน์แห่งพระพุทธองค์เจ้า ได้ทรงบัญญัติไว้ให้อุปัชฌายะเป็นผู้สอนกุลบุตรผู้บวชใหม่ ให้กรรมฐานประจำตน ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่สมกับการออกบวชที่ได้สละบ้านเรือนครอบครัวออกมาบำเพ็ญเนกขัมมธรรม หวังโมกขธรรม การบวชก็จะเท่ากับการทำเล่น พระองค์ได้ทรงบัญญัติมาแล้ว พระอุปัชฌายะทั้งหลายจึงดำรงประเพณีนี้สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้ พระอุปัชฌายะสอนไม่ผิด สอนจริงแท้ๆ เป็นแต่กุลบุตรผู้รับเอาคำสอนไม่ตั้งใจ มัวประมาทลุ่มหลงเอง ฉะนั้นความในเรื่องนี้ วิญญูชนจึงได้รับรองทีเดียวว่า เป็นวิสุทธิมรรคเที่ยงแท้

๒. เรื่อง ศีล

สีลํ สีลา วิย ศีล คือความปกติ อุปมาได้เท่ากับหินซึ่งเป็นของหนักและเป็นแก่นของดิน แม้จะมีวาตธาตุมาเป่าสักเท่าใด ก็ไม่มีการสะเทือนหวั่นไหวเลย แต่ว่าเราจะสำคัญถือแต่เพียงคำว่า ศีล เท่านั้น ก็จะทำให้เรางมงายอีก ต้องให้รู้จักเสียว่าศีลนั้นอยู่ที่ไหน? มีตัวตนเป็นอย่างไร? อะไรเล่าเป็นตัวศีล? ใครเป็นผู้รักษา? ถ้ารู้จักว่าใครเป็นผู้รักษาแล้ว ก็จะรู้จักว่าผู้นั้นเป็นตัวศีล ถ้าไม่เข้าใจเรื่องศีล ก็จะงมงายไม่ถือศีลเพียงนอกๆ เดี๋ยวก็ไปหาเอาที่นั้นทีนี้จึงจะมีศีล ไปขอเอาที่นั่นที่นี่จึงมี เมื่อยังเที่ยวหาเที่ยวขออยู่ไม่ใช่หลงศีลดอกหรือ? ไม่ใช่สีลพัตตปรามาสถือนอกๆ ลูบๆ คลำๆ อยู่หรือ?

อิทํ สจฺจาภินิเวสทิฏฐิ จะเห็นความงมงายของตนว่าเป็นของจริงเที่ยงแท้ ผู้ไม่หลงย่อมไม่ไปเที่ยวขอเที่ยวหา เพราะเข้าใจแล้วว่า ศีลก็อยู่ที่ตนนี้ จะรักษาโทษทั้งหลายก็ตนเป็นผู้รักษา ดังที่ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว สีลํ วทามิ” เจตนา เป็นตัวศีล เจตนา คืออะไร? เจตนานี้ต้องแปลงอีกจึงจะได้ความ ต้องเอาสระ เอ มาเป็น อิ เอา ต สะกดเข้าไป เรียกว่า จิตฺต คือจิตใจ คนเราถ้าจิตใจไม่มี ก็ไม่เรียกว่าคน มีแต่กายจะสำเร็จการทำอะไรได้? ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจิตใจไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่างๆ จึงกล่าวได้ว่าศีลมีตัวเดียว นอกนั้นเป็นแต่เรื่องโทษที่ควรละเว้น โทษ ๕ โทษ ๘ โทษ ๑๐ โทษ ๒๒๗ รักษาไม่ให้มีโทษต่างๆ ก็สำเร็จเป็นศีลตัวเดียว รักษาผู้เดียวนั้นได้แล้วมันก็ไม่มีโทษเท่านั้นเอง ก็จะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหว ไม่มีเรื่องหลงมาหาหลงขอ คนที่หาขอต้องเป็นคนทุกข์ ไม่มีอะไรจึงเที่ยวหาขอ เดี๋ยวก็กล่าวยาจามิๆ ขอแล้วขอเล่าขอเท่าไรยิ่งไม่มียิ่งอดอยากยากเข็ญ เราได้มาแล้วมีอยู่แล้วซึ่งกายกับจิต รูปกายก็เอามาแล้วจากบิดามารดาของเรา จิตก็มีอยู่แล้ว ชื่อว่าของเรามีพร้อมบริบูรณ์แล้ว จะทำให้เป็นศีลก็ทำเสียไม่ต้องกล่าวว่าศีลมีอยู่ที่โน้นที่นี้ กาลนั้นจึงจะมีกาลนี้จึงจะมี ศีลมีอยู่ที่เรานี้แล้ว อกาลิโก รักษาได้ไม่มีกาล ได้ผลก็ไม่มีกาล

เรื่องนี้ต้องมีหลักฐานพร้อมอีก เมื่อครั้งพุทธกาลนั้น พวกปัญจวัคคีย์ก็ดี พระยสและบิดามารดาภรรยาเก่าของท่านก็ดี ภัททวัคคีย์ชฏิลทั้งบริวารก็ดี พระเจ้าพิมพิสาร และราชบริพาร ๑๒ นหุตก็ดี ฯลฯ ก่อนจะฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ปรากฏว่าได้สมาทานศีลเสียก่อนจึงฟังเทศนา พระองค์เทศนาไปทีเดียว ทำไมท่านเหล่านั้นจึงได้สำเร็จมรรคผล ศีล สมาธิ ปัญญา ของท่านเหล่านั้นมาแต่ไหน ไม่เห็นพระองค์ตรัสบอกให้ท่านเหล่านั้นของเอาศีล สมาธิ ปัญญา จากพระองค์ เมื่อได้ลิ้มรสธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมมีขึ้นในท่านเหล่านั้นเอง โดยไม่มีการขอและไม่มีการเอาให้ มัคคสามัคคี ไม่มีใครหยิบยกให้เข้ากัน จิตดวงเดียวเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ฉะนั้นเราไม่หลงศีล จึงจะเป็นวิญญูชนอันแท้จริง

๓. เรื่อง ปาฏิโมกขสังวรศีล

พระวินัย ๕ คัมภีร์ สงเคราะห์ลงมาในปาฏิโมกขุทเทส เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระวินัยย่อมเข้าไม่ได้ ผู้ปฏิบัติถูกตามพระวินัยแล้ว โมกฺขํ ชื่อว่าเป็นทางข้ามพ้นวัฏฏะได้ ปาฏิโมกข์นี้ยังสงเคราะห์เข้าไปหาวิสุทธิมรรคอีก เรียกว่า ปาฏิโมกขสังวรศีล ในสีลนิเทศ

สีลนิเทศนั้น กล่าวถึงเรื่องศีลทั้งหลาย คือปาฏิโมกขสังวรศีล ๑ อินทรียสังวรศีล ๑ ปัจจยสันนิสสิตศีล ๑ อาชีวปาริสุทธิศีล ๑ ส่วนอีก ๒ คัมภีร์นั้นคือ สมาธินิเทศ และปัญญานิเทศ วิสุทธิมรรคทั้ง ๓ พระคัมภีร์นี้สงเคราะห์เข้าในมรรคทั้ง ๘ มรรค ๘ สงเคราะห์ลงมาในสิกขาทั้ง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อจะกล่าวถึงเรื่องมรรคแล้ว ความประโยคพยายามปฏิบัติดัดตนอยู่ ชื่อว่าเดินมรรค สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็เรียกว่ามรรค อริยสัจจ์ ๔ ก็ชื่อว่ามรรค เพราะเป็นกิริยาที่ยังทำอยู่ ยังมีการดำเนินอยู่ ดังภาษิตว่า “สจฺจานํ จตุโรปทา ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา” สำหรับเท้าต้องมีการเดิน คนเราต้องไปด้วยเท้าทั้งนั้น ฉะนั้นสัจจะทั้ง ๔ ก็ยังเป็นกิริยาอยู่ เป็นจรณะเครื่องพาไปถึงวิสุทธิธรรม วิสุทธิธรรมนั้นจะอยู่ที่ไหน? มรรคสัจจะอยู่ที่ไหน? วิสุทธิธรรมก็ต้องอยู่ที่นั่น! มรรคสัจจะไม่มีอยู่ที่อื่น มโนเป็นมหาฐาน มหาเหตุ วิสุทธิธรรมจึงต้องอยู่ที่ใจของเรานี่เอง ผู้เจริญมรรคต้องทำอยู่ที่นี้ ไม่ต้องไปหาที่อื่น การหาที่อื่นอยู่ชื่อว่ายังหลง ทำไมจึงหลงไปหาที่อื่นเล่า? ผู้ไม่หลงก็ไม่ต้องหาทางอื่น ไม่ต้องหากับบุคคลอื่น ศีลก็มีในตน สมาธิก็มีในตน ปัญญาก็มีอยู่กับตน ดังบาลีว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว สีลํ วทามิ เป็นต้น กายกับจิตเท่านี้ประพฤติปฏิบัติศีลได้ ถ้าไม่มีกายกับจิต จะเอาอะไรมาพูดออกว่าศีลได้ คำที่ว่าเจตนานั้นเราต้องเปลี่ยนเอาสระเอขึ้นบนสระอิ เอาตัว ต สะกดเข้าไป ก็พูดได้ว่า จิตฺตํ เป็นจิต จิตเป็นผู้คิดงดเว้นเป็นผู้ระวังรักษา เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ ซึ่งมรรคและผลให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกขีณาสวเจ้าก็ดี จะชำระตนให้หมดจดจากสังกิเลสทั้งหลายได้ ท่านก็มีกายกับจิตทั้งนั้น เมื่อท่านจะทำมรรคและผลให้เกิดมีได้ก็ทำอยู่ที่นี่ คือที่กายกับจิต ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่ามรรคมีอยู่ที่ตนของตนนี้เอง เมื่อเราจะเจริญซึ่งสมถหรือวิปัสสนา ก็ไม่ต้องหนีจากกายกับจิต ไม่ต้องส่งนอก ให้พิจารณาอยู่ในตนของตน เป็นโอปนยิโก แม้จะเป็นของมีอยู่ภายนอก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ก็ไม่ต้องส่งออกเป็นนอกไป ต้องกำหนดเข้ามาเทียบเคียงตนของตน พิจารณาอยู่ที่นี้ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ เมื่อรู้ก็ต้องรู้เฉพาะตน รู้อยู่ในตน ไม่ได้รู้มาแต่นอก เกิดขึ้นกับตนมีขึ้นกับตน ไม่ได้หามาจากที่อื่นไม่มีใครเอาให้ ไม่ได้ขอมาจากผู้อื่น จึงได้ชื่อว่า ญาณ ทสฺสนํ สุวิสุทธํ อโหสิ ฯลฯ เป็นความรู้เห็นที่บริสุทธิ์แท้ ฯลฯ

๔. เรื่อง ธรรมคติวิมุตติ

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมิใช่ว่าพระองค์จะมีปัญญาพิจารณาเอาวิมุตติ ธรรมให้ได้วันหนึ่งวันเดียว พระองค์ทรงพิจารณามาแต่ยังเป็นฆราวาสอยู่หลายปี นับแต่ครั้งที่พระองค์ได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ พวกพระญาติพระวงศ์ได้แต่งตั้งพระองค์ได้เป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่นอนใจ จำเป็นที่พระองค์จะต้องคิดใช้ปัญญาพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างในการปกครอง ป้องกันราษฎรทั้งของเขต และการรักษาครอบครัวตลอดถึงพระองค์ ก็จะต้องทรงคิดรอบคอบเสมอถ้าไม่ทรงคิดไม่มีพระปัญญา ไฉนจะปกครองบ้านเมืองไพร่ฟ้าให้ผาสุกสบายได้ แม้พระองค์ทรงคิดในเรื่องของผู้อื่นและเรื่องของพระองค์เองเสมอแล้ว ปัญญาวิวัฎฏ์ของพระองค์จึงเกิดขึ้นว่า เราปกครองบังคับบัญชาได้ก็แต่การบ้านเมืองเท่านี้ ส่วนการ เกิด แก่ เจ็บ ตายเล่า เราบังคับบัญชาไม่ได้เสียแล้ว จะบังคับบัญชาไม่ให้สัตว์ทั้งหลายเกิดก็ไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วจะบังคับไม่ให้แก่ชราก็ไม่ได้ จะบังคับไม่ให้ตายก็ไม่ได้ เราจะบังคับ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ของผู้อื่นก็ไม่ได้ แม้แต่ตัวของเราเองเล่าก็บังคับไม่ได้ ทรงพิจารณาเป็นอนุโลมและปฏิโลม กลับไปกลับมา พิจารณาเท่าไรก็ยิ่งเกิดความสลดสังเวช และท้อพระทัยในการจะอยู่เป็นผู้ปกครองราชสมบัติต่อไป การที่อยู่ในฆราวาสรักษาสมบัติเช่นนี้เพื่อต้องการอะไร? เป็นผู้มีอำนาจเท่านี้ มีสมบัติข้าวของเช่นนี้ จะบังคับหรือจะซื้อ หรือประกันซึ่งความเกิด แก่ เจ็บ ตายก็ไม่ได้ จึงทรงใคร่ครวญไปอีกว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะหาทางพ้นจากความ เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ได้ จึงได้ความอุปมาขึ้นว่า ถ้ามีร้อนแล้วก็ยังมีเย็นเป็นเครื่องแก้กันได้ มีมืดแล้วยังมีสว่างแก้กัน ถ้ามีเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว อย่างไรก็คงมีทางไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแน่ จึงได้ทรงพยายามใคร่ครวญหาทางจะแก้เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้จนได้ แต่ว่าการจะแก้เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ เราอยู่ในฆราวาสเช่นนี้ คงจะทำไม่ได้ เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบในยิ่งนัก มีแต่การที่ออกหนีเสียจากการครองราชสมบัตินี้ออกไปผนวชจึงจะสามารถทำได้

ครั้นทรงคิดเช่นนี้แล้ว ต่อมาวันหนึ่ง พอถึงเวลากลางคืน พวกนางสนมทั้งหลายได้พากันมาบำรุงบำเรอพระองค์อยู่ด้วยการบำเรอทั้งหลาย ในเวลาที่นางสนมทั้งหลายยังบำเรออยู่นั้นพระองค์ทรงบรรทมหลับไปก่อน ครั้นใกล้เวลาพระองค์จะทรงตื่นจากบรรทมนั้น พวกนางสนมทั้งหลายก็พากันหลับเสียหมด แต่ไฟยังสว่างอยู่ เมื่อนางสนมที่บำเรอหลับหมดแล้วเผอิญพระองค์ทรงตื่นขึ้นมา ด้วยอำนาจแห่งการพิจารณาที่พระองค์ทรงคิดไม่เลิกไม่แล้วนั้น ทำให้พระทัยของพระองค์พลิกขณะ เลยเกิดอุคคหนิมิตขึ้น ลืมพระเนตรแล้วทอดพระเนตรแลดูพวกนางสนมทั้งหลายที่นอนหลับอยู่นั้นเป็นซากอสุภะไปหมด เหมือนกับเป็นซากศพในป่าช้า ผีดิบ จึงให้เกิดความสลดสังเวชเหลือที่จะทนอยู่ได้ จึงตรัสกับพระองค์เองว่า เราอยู่ที่นี้จะว่าเป็นที่สนุกสนานอย่างไรได้ คนทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นซากศพในป่าช้าทั้งหมด เราจะอยู่ทำไม จำเราจะต้องออกผนวชในเดี๋ยวนี้ จึงทรงเครื่องฉลองพระองค์ถือพระขรรค์แล้วออกไปเรียกนายฉันนะอำมาตย์นำทางเสด็จหนีออกจากเมืองไปโดยไม่ต้องให้ใครรู้จัก ครั้นรุ่งแจ้งก็บรรลุถึงอโนมานที ทรงข้ามฝั่งแม่นทีแล้วก็ถ่ายเครื่องประดับและเครื่องทรงที่ฉลองพระองค์ออกเสีย จึงส่งเครื่องประดับให้นายฉันนะ ตรัสสั่งให้กลับไปเมืองพร้อมด้วยอัศวราชของพระองค์ ส่วนพระองค์ได้เอาพระขรรค์ตัดพระเมาฬีและพระมัสสุเสีย ทรงผนวชแต่พระองค์เดียว

เมื่อผนวชแล้วจึงเสาะแสวงหาศึกษาไปก่อนคือ ไปศึกษาอยู่ในสำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบส ครั้นไม่สมประสงค์จึงทรงหลีกไปแต่พระองค์เดียวไปอาศัยอยู่ราวป่าใกล้แม่น้ำ เนรัญชรา แขวงอุรุเวลาเสนานิคมได้มีปัญจวัคคีย์ไปอาศัยด้วย พระองค์ได้ทรงทำประโยคพยายามทำทุกกรกิริยาอย่างเข้มแข็ง จนถึงสลบตายก็ไม่สำเร็จ เมื่อพระองค์ได้สติแล้วจึงพิจารณาอีกว่า การที่เรากระทำความเพียรนี้จะมาทรมานแต่กายอย่างเดียวเท่านี้ไม่ควร เพราะจิตกับกายเป็นของอาศัยกัน ถ้ากายไม่มีจะเอาอะไรทำประโยคพยายาม และถ้าจิตไม่มี กายนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ ต่อนั้นพระองค์จึงไปพยุงพเยาร่างกายพอให้มีกำลังแข็งแรงขึ้นพอควร จึงเผอิญปัญจวัคคีย์พร้อมกันหนีไป ครั้นปัญจวัคคีย์หนีแล้ว พระองค์ก็ได้ความวิเวกโดดเดี่ยวแต่ผู้เดียว ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใคร จึงได้เร่งพิจารณาอย่างเต็มที่

เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ในตอนเช้ารับมธุปายาสของนางสุชาดาเสวยเสร็จแล้ว ก็พักผ่อนอยู่ตามราวป่านั้น ใกล้จะพลบค่ำแล้ว จึงเสด็จดำเนินมาพบโสตถิยพราหมณ์ๆ ได้ถวายหญ้าคา ๘ กำแก่พระองค์ พระองค์รับแล้วก็มาทำเป็นที่นั่ง ณ ภายใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ผินพระพักตร์ไปทางบูรพาทิศ ผินพระปฤษฎางค์เข้าหาต้นไม้นั้น เมื่อพระองค์ประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงได้พยุงพระหฤทัยให้เข้มแข็ง ได้ทรงตั้งสัจจาธิษฐานมั่นในพระหฤทัยว่า ถ้าเราไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามความต้องการแล้ว เราจะไม่ลุกจากบัลลังก์นี้ แม้เลือดและเนื้อจะแตกทำลายไป ยังเหลืออยู่แต่พระตจะและพระอัฏฐิก็ตามที ต่อนั้นไปจึงเจริญสมถและวิปัสสนาปัญญา ทรงกำหนดพระอานาปานสติเป็นขั้นต้น ในตอนต้นนี้แหละพระองค์ได้ทรงชำระนิวรณธรรมเต็มที่ เจ้าเวทนาพร้อมทั้งความฟุ้งซ่านได้มาประสพแก่พระองค์อย่างสาหัส ถ้าจะพูดว่ามาร ก็ได้แก่พวกขันธมาร มัจจุมาร กิเลสมาร เข้ารังควาญพระองค์ แต่ว่าสัจจาธิษฐานของพระองค์ยังเที่ยงตรงมั่นคงอยู่ สติและปัญญายังพร้อมอยู่ จึงทำให้จำพวกนิวรณ์เหล่านั้นระงับไป ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ ได้เกิดแล้วแก่พระองค์จึงได้กล่าวว่า พระองค์ทรงชนะพระยามาราธิราช ในตอนนี้เป็นปฐมยาม เมื่อออกสมาธิตอนนี้ได้เกิดบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เมื่อพิจารณาไปก็ไม่เห็นที่สิ้นสุด จึงกลับจิตทวนกระแสเข้ามาพิจารณาผู้มันไปเกิดใคร่ครวญไปๆ มาๆ จิตก็เข้าภวังค์อีก เมื่อออกจากภวังค์แล้วจึงเกิดจุตูปปาตญาณขึ้นมาในยามที่ ๒ คือ มัชฌิมยาม ทรงพิจารณาไปตามความรู้ชนิดนี้ ก็ยังไม่มีความสิ้นสุด จึงทรงทวนกระแสจิตเข้ามาใคร่ครวญอยู่ในเรื่องของผู้พาเป็นไป พิจารณากลับไปกลับมาในปฏิจจสมุปบาทปัจจยาการ จนจิตของพระองค์เกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวชเต็มที่แล้ว ก็ลงสู่ภวังค์ถึงฐีติธรรมภูตธรรม จิตตอนนี้ถอยออกมาแล้ว จึงตัดสินขาดทีเดียว จึงบัญญัติว่า อาสวักขยญาณ ทรงทราบว่าจิตของพระองค์สิ้นแล้วจากอาสวะ พ้นแล้วจากบ่วงแห่งมาร ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย พ้นแล้วจากทุกข์ ถึงเอกันตบรมสุข สันติวิหารธรรม วิเวกธรรม นิโรธธรรม วิมุตติธรรม นิพพานธรรม แล ฯ

๕. เรื่อง อัจฉริยะ - อัพภูตธรรม

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระบรมศาสดาของพวกเรา เมื่อพระองค์ยังเป็นท้าวศรีธารถ (สิทธัตถราชกุมาร) เสวยราชสมบัติอยู่ ทรงพิจารณา จตุนิมิต ๔ ประการ จึงบันดาลให้พระองค์เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ทรงบรรพชา ทรงอธิษฐานบรรพชา ที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที เครื่องสมถบริขารมีมาเอง เลื่อนลอยมาสวมพระกายเอง ทรงเพศเป็นบรรพชิตสมณสารูป สำเร็จด้วยบุญญาภินิหารของพระองค์เอง จึงเป็นการอัศจรรย์ไม่เคยมีไม่เคยเห็นมาในปางก่อน จึงเป็นเหตุให้พระองค์อัศจรรย์ใจ ไม่ถอยหลังในการประกอบความเพียร เพื่อตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ครั้นทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตตภาวนา ไม่ท้อถอยตลอดเวลา ๖ ปี ได้ตรัสรู้สัจจธรรม ของจริงโดยถูกต้องแล้ว ก็ยิ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงอัศจรรย์ในธรรมที่ได้ตรัสรู้แล้วนั้นอีกเป็นอันมาก

ในหมู่ปฐมสาวกนั่นเล่า ก็ปรากฏเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์เหมือนกัน เช่น ปัญจวัคคีย์ก็ดี พระยสและสหายของท่านก็ดี พระสาวกอื่นๆ ที่เป็นเอหิภิกฺขุก็ดี เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้วได้สำเร็จมรรคผล และทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระองค์ พระองค์ทรงเหยียดพระหัตต์ออกเปล่งพระวาจาว่า เอหิภิกฺขุ ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวดีแล้ว เพียงเท่านี้ก็สำเร็จเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา อัฏฐบริขารเลื่อนลอยมาสวมสอดกาย ทรงเพศเป็นบรรพชิตสมณสารูป มีรูปอันน่าอัศจรรย์น่าเลื่อมในจริง สาวกเหล่านั้นก็อัศจรรย์ตนเองในธรรมอันไม่เคยรู้เคยเห็น อันสำเร็จแล้วด้วยบุญฤทธิ์และอำนาจพระวาจาอิทธิปาฏิหาริย์ของพระบรมศาสดาจารย์ ท่านเหล่านั้นจะกลับคืนไปบ้านเก่าได้อย่างไร เพราะจิตของท่านเหล่านั้นพ้นแล้วจากบ้านเก่า และอัศจรรย์ในธรรมอันตนรู้ตนเห็นแล้ว ทั้งบริขารที่สวมสอดกายอยู่ก็เป็นผ้าบังสุกุลอย่างอุกฤษฎ์

ครั้นต่อมาท่านเหล่านั้นไปประกาศพระพุทธศาสนา มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชด้วยติสรณคมนูปสัมปทาสำเร็จด้วยการเข้าถึงสรณะทั้ง ๓ คืออุทิศเฉพาะพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นภิกษุเต็มที่

ครั้นต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมีพระญาณเล็งเห็นการณ์ไกล จึงทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่สงฆ์ ทรงประทานญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทาไว้เป็นแบบฉบับอันหมู่เราผู้ปฏิบัติได้ ดำเนินตามอยู่ทุกวันนี้ได้พากันมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา อุทิศเฉพาะพระบรมศาสดาพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์แล้ว ทำความพากเพียรประโยคพยายามไปโดยไม่ต้องถอยแล้วก็คงจะได้รับความอัศจรรย์ใจ ในพระธรรมวินัยบ้างเป็นแน่ ไม่น้อยก็มาก ตามวาสนาบารมี ของตนโดยไม่สงสัยเลย ฯ

๖. เรื่อง วาสนา

กุศลวาสนา อกุศลวาสนา อัพยากตวาสนา

อัธยาศัยของสัตว์ เป็นมาแล้วต่างๆ คือ ดี เลว และกลางๆ วาสนาก็เป็นไปตามอัธยาศัย คือวาสนาที่ยิ่งกว่าตัว วาสนาเสมอตัว วาสนาที่เลวทราม บางคนเป็นผู้มีวาสนายิ่งในทางดีมาแล้ว แต่คบกับพาลวาสนาก็อาจเป็นเหมือนคนพาลได้ บางคนวาสนายังอ่อนแต่คบกับบัณฑิตวาสนาก็เลื่อนขึ้นไปเป็นบัณฑิต บางคนคบมิตรเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ร้าย ไม่หายนะ ไม่เสื่อมทราม วาสนาก็พอประมาณสถานกลาง ฉะนั้นบุคคลพึงพยายามคบบัณฑิต เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้นไปโดยลำดับ

๗. เรื่อง สนทนาธรรมตามกาลเป็นมงคลอุดม

กาเลน ธมฺมสฺสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

การปรึกษาไต่ถาม หรือการสดับธรรมตามกาล ตามสมัย พระบรมศาสดาตรัสว่าเป็นมงคลความเจริญอันอุดมเลิศ

หมู่เราต่างคนก็มุ่งหน้าเพื่อศึกษามาเองทั้งนั้นไม่ได้ไปเชื้อเชิญนิมนต์มา ครั้นมาศึกษามาปฏิบัติก็ต้องทำจริงปฏิบัติจริง ตามเยี่ยงอย่างพระบรมศาสดาจารย์เจ้าและสาวกขีณาสวะเจ้าผู้ปฏิบัติมาก่อน

เบื้องต้นพึงพิจารณา สัจจธรรมคือของจริงทั้ง ๔ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อันท่านผู้เป็นอริยบุคคลได้ปฏิบัติกำหนดพิจารณามาแล้ว เกิด เราก็เกิดมาแล้ว คือร่างกายอันเป็นอยู่นี้มิใช่ก้อนเกิดหรือ? แก่ เจ็บ ตาย ก็ก้อนอันนี้แล เมื่อเราพิจารณาอยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔ เดินจงกรมบ้าง ยืนกำหนดพิจารณาบ้าง นอนกำหนดพิจารณาบ้าง จิตจะรวมเป็นสมาธิ รวมน้อยก็เป็นขณิกสมาธิ คือจิตรวมลงภวังค์หน่อยหนึ่งแล้วก็ถอนออกมา ครั้นพิจารณาอยู่ไม่ถอยจนปรากฏเป็นอุคคหนิมิต จะเป็นนอกก็ตาม ในก็ตาม ให้พิจารณานิมิตนั้นจนจิตวางนิมิตรวมลงสู่ภวังค์ ดำรงอยู่นานพอประมาณแล้วถอยออกมา สมาธิในชั้นนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ พึงพิจารณานิมิตนั้นเรื่อยไปจนจิตรวมลงสู่ภวังค์เข้าถึงฐีติจิต เป็น อัปปนาสมาธิปฐมฌาน ถึงซึ่งเอกัคคตา ความมีอารมณ์เดียว ครั้นจิตถอยออกมา ก็พึงพิจารณาอีกแล้วๆ เล่าๆ จนขยายแยกส่วนเป็นปฏิภาคนิมิตได้ต่อไป คือพิจารณาว่าตายแล้วมันจะเป็นอะไรไปอีก มันจะต้องเปื่อยเน่า ผุพังยังเหลือแต่ร่างกระดูก กำหนดทั้งภายในคือกายของตนทั้งภายนอกคือกายของผู้อื่น โดยให้เห็นส่วนต่างๆ ของร่างกายว่าส่วนนี้เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ เส้นเอ็นน้อยใหญ่มีเท่าไร กระดูกท่อนน้อยท่อนใหญ่มีเท่าไร โดยชัดเจนแจ่มแจ้ง กำหนดให้มันเกิดขึ้นมาอีกแล้วกำหนดให้มัน ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วตายสลายไปสู่สภาพเดิมของมัน คือไปเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม ถึงฐานะเดิมของมันนั้นแล

เมื่อกำหนดจิตพิจารณาอยู่อย่างนี้ ทั้งภายนอกทั้งภายใน ทำให้มากให้หลาย ให้มีทั้งตายเก่าตายใหม่ มีแร้งกาสุนัขยื้อแย่งกัดกินอยู่ ก็จะเกิดปรีชาญาณขึ้น ตามแต่วาสนาอุปนิสัยของตน ดังนี้แล ฯ

๘. เรื่อง การทำจิตให้ผ่องใส

สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

การทำจิตของตนให้ผ่องใส เป็นการทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ได้ตรัสสอนกาย วาจา จิต มิได้สอนอย่างอื่น สอนให้ปฏิบัติ ฝึกหัดจิตใจ ให้เอาจิตพิจารณากายเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หัดสติให้มากในการค้นคว้าที่เรียกว่าธัมมวิจยะ พิจารณาให้พอทีเดียว เมื่อพิจารณาพอจนเป็นสติสัมโพชฌงค์ จิตจึงจะเป็นสมาธิรวมลงเอง

สมาธิมี ๓ ขั้น คือ ขณิกสมาธิ จิตรวมลงไปสู่ฐีติขณะแล้วพักอยู่หน่อยหนึ่ง ถอยออกมาเสีย อุปจารสมาธิ จิตรวมลงสู่ภวังค์แล้วพักอยู่นานหน่อยจึงถอยออกมารู้นิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง และอัปปนาสมาธิ สมาธิอันแน่วแน่ ได้แก่จิตรวมลงสู่ภวังค์ถึงฐีติธรรมถึงเอกัคคตา ความมีอารมณ์เดียว หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีความรู้ตัวอยู่ว่า จิตดำรงอยู่ และประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ ประการ ค่อยสงบประณีตเข้าไปโดยลำดับ

เมื่อหัดจิตอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าทำจิตให้ยิ่ง ได้ในพระบาลีว่า อธิจิตฺ เต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ การประกอบความพากเพียรทำจิตให้ยิ่ง เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

การพิจารณากายนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติ อันนักปราชญ์ทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นแสดงไว้ มีหลายนัยหลายประการ ท่านกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมูลกรรมฐานเรียกว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ที่พระอุปัชฌายะสอนเบื้องต้นแห่งการบรรพชาเป็นสามเณร และในธรรมจักกัปปวัตนสูตรว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ดังนี้ บัดนี้เราก็เกิดมาแล้วมิใช่หรือ? ครั้นเมื่อบุคคลมาปฏิบัติให้เป็น โอปนยิโก น้อมเข้ามาพิจารณาในตนนี้แล้วเป็นไม่ผิด เพราะพระธรรมเป็น อกาลิโก มีอยู่ทุกเมื่อ อาโลโก สว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีอะไรปิดบังเลย ฯ

๙. เรื่อง วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก

ผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์วินัยมาก มีอุบายมากเป็นปริยายกว้างขวาง ครั้นมาปฏิบัติทางจิต จิตไม่ค่อยจะรวมง่าย ฉะนั้นต้องให้เข้าใจว่าความรู้ที่ได้ศึกษามาแล้วต้องเก็บใส่ตู้ใส่หีบไว้เสียก่อน ต้องมาหัดผู้รู้คือจิตนี้ หัดสติให้เป็นมหาสติ หัดปัญญาให้เป็นมหาปัญญา กำหนดรู้เท่ามหาสมมติ-มหานิยม อันเอาออกไปตั้งไว้ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น เป็นวันคืนเดือนปี เป็นดินฟ้าอากาศ กลางหาวดาวนักขัตตฤกษ์สารพัดสิ่งทั้งปวง อันเจ้าสังขารคือการจิตหาออกไปตั้งไว้บัญญัติไว้ว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้ จนรู้เท่าแล้ว เรียกว่ากำหนดรู้ทุกข์ สมุทัย เมื่อทำให้มาก-เจริญให้มาก รู้เท่าเอาทันแล้ว จิตก็จะรวมลงได้ เมื่อกำหนดอยู่ก็ชื่อว่าเจริญมรรค หากมรรคพอแล้ว นิโรธก็ไม่ต้องกล่าวถึง หากจะปรากฏชัดแก่ผู้ปฏิบัติเอง เพราะศีลก็มีอยู่ สมาธิก็มีอยู่ ปัญญาก็มีอยู่ในกาย วาจา จิตนี้ ที่เรียกว่า อกาลิโก ของมีอยู่ทุกเมื่อ โอปนยิโก เมื่อผู้ปฏิบัติมาพิจารณาของที่มีอยู่ ปจฺจตฺตํ จึงจะรู้เฉพาะตัว คือมาพิจารณากายอันนี้ให้เป็นของอสุภะ เปื่อยเน่า แตกพังลงไป ตามสภาพความจริงของภูตธาตุ ปุพฺเพสุ ภูเตสุ ธมฺเมสุ ในธรรมอันมีมาแต่เก่าก่อน สวางโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้มาปฏิบัติพิจารณาพึงรู้อุปมารูปเปรียบดังนี้ อันบุคคลผู้ทำนาก็ต้องทำลงไปในแผ่นดิน ลุยตมลุยโคลนตากแดดกรำฝน จึงจะเห็นข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสุกมาได้ และได้บริโภคอิ่มสบาย ก็ล้วนทำมาจากของมีอยู่ทั้งสิ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีอยู่ใน กาย วาจา จิต ของทุกคน ฯ

๑๐. เรื่อง ข้อปฏิบัติเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ไม่มีปัญหาโอปนยิโก น้อมจิตเข้ามาพิจารณา กาย วาจา จิตอกาลิโกอันเป็นของมีอยู่ อาโลโกสว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ อันนักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกเจ้าทั้งหลายผู้น้อมเข้ามาพิจารณาของมีอยู่นี้ ได้รู้แจ้งจำเพาะตัวมาแล้ว เป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ว่ากาลนั้นจึงจะมี กาลนี้จึงจะมี ย่อมมีอยู่ทุกกาล ทุกสมัย ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้เฉพาะตัว คือผิดก็รู้จัก ถูกก็รู้จักในตนของตนเอง ดีชั่วอย่างไรตัวของตัวย่อมรู้จักดีกว่าผู้อื่น ถ้าเป็นผู้หมั่นพินิจพิจารณาไม่มัวประมาทเพลิดเพลินเสีย

ตัวอย่างที่มีมาแล้วคือ มาณพ ๑๖ คน ซึ่งเป็นศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ ท่านเหล่านั้นเจริญญานกสิณติดอยู่ในรูปฌานและอรูปฌาน พระบรมศาสดาจารย์จึงตรัสสอนให้พิจารณาของมีอยู่ในตน ให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาให้รู้ว่า กามภพเป็นเบื้องต่ำ รูปภพเป็นเบื้องกลาง อรูปภพเป็นเบื้องบน แล้วถอยลงมาให้รู้ว่า อดีตเป็นเบื้องต่ำ อนาคตเป็นเบื้องบน ปัจจุบันเป็นท่ามกลาง แล้วชักเข้ามาหาตัวอีกให้รู้ว่า อุทฺธํ อโธ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องขวางฐานกลาง เมื่อท่านเหล่านั้นมาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ปจฺจตฺตํ จึงรู้เฉพาะขึ้นที่ตัวของตัวโดยแจ่มแจ้ง สิ้นความสงสัยข้อปฏิบัติ ไม่ต้องไปเที่ยวแสวงหาที่อื่นให้ลำบาก ฯ

๑๑. เรื่อง ได้ฟังธรรมทุกเมื่อ

ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม คืออาศัยการสำเหนียก กำหนดพิจารณาธรรมอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรมที่มีอยู่ปรากฏอยู่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอยู่ปรากฏอยู่ ได้เห็นอยู่ ได้ยินอยู่ ได้สูด ดม ลิ้ม เลีย และสัมผัสอยู่ จิตใจเล่า? ก็มีอยู่ ความคิดนึกรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้ายก็มีอยู่ ความเสื่อม ความเจริญ ทั้งภายนอกภายใน ก็มีอยู่ ธรรมชาติอันมีอยู่โดยธรรมดา เขาแสดงความจริงคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้ปรากฏอยู่ ทุกเมื่อ เช่นใบไม้มันเหลืองหล่นร่วงลงจากต้น ก็แสดงความไม่เที่ยงให้เห็น ดังนี้เป็นต้น เมื่อผู้ปฏิบัติมาพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา โดยอุบายนี้อยู่เสมอแล้ว ชื่อว่าได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืนแล ฯ

๑๒. เรื่อง ปริญเญยฺยธรรม

การกำหนดพิจารณาธรรมเรียกบริกรรมจิตที่กำลังทำการกำหนดพิจารณาธรรมอย่างเอาใจใส่ เมื่อได้ความแน่ใจในเหตุผลของธรรมที่พิจารณานั้นแล้ว จิตจะสงบรวมลงสู่ภวังค์ ดำรงอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็ถอยออก ความสงบในขั้นนี้เรียก บริกรรมสมาธิ หรือ ขณิกสมาธิ

การกำหนดพิจารณาธรรมแล้วจิตสงบรวมลงสู่ภวังค์เข้าถึงฐีติธรรมดำรงอยู่นานหน่อยแล้วถอยออกมารู้เห็นอสุภะปรากฏขึ้น ความสงบในขั้นนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ

การกำหนดพิจารณาธรรมคืออสุภนิมิต ที่ปรากฏแก่จิตที่เรียกว่าอุคคหนิมิตนั้นจนเพียงพอแ
บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #8 เมื่อ: มกราคม 25, 2010, 04:59:42 PM »


สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ



บัด นี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

การปฏิบัติธรรมะ บุคคลทุกคนย่อมปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นสตรีบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์บรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ และในการปฏิบัติธรรมะนั้นก็ปฏิบัติให้รู้จักศีล ให้รู้จักสมาธิ ให้รู้จักปัญญา ก็ให้รู้จักที่จิตนี้เอง เมื่อจิตเป็นศีลก็จะรู้จักศีลที่จิต เมื่อจิตเป็นสมาธิก็รู้จักสมาธิที่จิต เมื่อจิตเป็นปัญญาก็รู้จักปัญญาที่จิต และก็จะรู้จักผลของการปฏิบัติ อันเป็นความว่าง อันเป็นความสงบ หรือเรียกชื่ออย่างอื่นว่าเป็นความหลุดพ้นเป็นต้น

ซึ่งล้วนมีศัพท์แสง และเมื่อใช้ศัพท์แสงหากไม่เข้าใจก็จะทำให้ฝั้นเฝือ แต่ถ้าเข้าใจก็จะทำให้เข้าถึงความหมายด้วยศัพท์แสงที่เป็นคำสั้นๆ

อันความหลุดพ้นเมื่อใช้ศัพท์แสงก็เรียกว่า วิมุติ หรือเรียกว่า นิพพาน อันความสงบก็เรียกว่า สันติ หรือ สมถะ อันความว่างก็เรียกว่า สุญญตา เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมะในพุทธศาสนา เมื่อรู้จักผลเหล่านี้แม้เพียงเล็กน้อย คือรู้จักความว่าง รู้จักความสงบ รู้จักความหลุดพ้น แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้เข้าใจพุทธศาสนาได้ดีขึ้น ได้รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นพระรัตนตรัยนี้ ได้ดีขึ้น ได้ถูกต้องขึ้น

สุญญตา

ดังจะยกขึ้นมากล่าวสักคำหนึ่ง คือคำว่าความว่าง หรือเรียกตามศัพท์ว่า สุญญตา ที่แปลว่าความว่าง อันความว่างนั้นก็เป็นคำที่พูดกันอยู่ และก็พูดกันทั้งในด้านที่ดี และทั้งในด้านที่ไม่ดี ว่าถึงในด้านที่ไม่ดีก็ดังคำว่า ว่างการว่างงาน ไม่มีอะไรทำ อยู่ว่างๆ ก็ทำให้ขาดประโยชน์ที่จะพึงได้ และทำให้จิตใจกลัดกลุ้ม ดังเช่นเมื่อเคยทำการทำงานต่างๆ อยู่เป็นประจำ เมื่อมาว่างงาน ไม่ทำอะไร เป็นเหมือนอยู่เฉยๆ ก็ทำให้กลัดกลุ้ม และสำหรับผู้ที่ต้องการประโยชน์จากการงาน เมื่อว่างงานก็แปลว่าขาดประโยชน์ ก็ทำให้เกิดความขัดข้องต่างๆ ในการดำรงชีวิต เหล่านี้เป็นความว่างที่ใช้ในทางที่ว่าไม่ดี แต่อีกอย่างหนึ่งความว่างที่ใช้ในทางดี ก็คือความที่ว่างโดยที่ได้พักผ่อน เมื่อต้องการความพักผ่อน และเมื่อได้โอกาสซึ่งเป็นความว่าง ได้พักผ่อน ก็ทำให้บังเกิดความผาสุข

ในทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้จัก สุญญตา คือความว่าง มุ่งถึงความว่างกิเลส และว่างทุกข์ซึ่งเกิดจากกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริต ก็เป็นการว่างจากความทุกข์เพราะเกิดจากบาปอกุศลทุจริต

ในการปฏิบัติธรรมะนั้นต้องการผลคือความว่างกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริต และว่างความทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลส และบาปอกุศลทุจริตต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจความว่าง ดังที่กล่าวมานี้


การปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมะนั้น การเข้ามาบวชก็เป็นการเข้ามาปฏิบัติธรรมะ หรือแม้การไม่เข้ามาบวช แต่ว่าการที่มาสมาทานศีลฟังธรรม ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะ หรือแม้การที่ตั้งใจปฏิบัติด้วยตัวเองในศีลในสมาธิในปัญญาก็เป็นการปฏิบัติ ธรรมะ ก็มุ่งผลให้จิตนี้ว่างกิเลสและความทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย และว่างความทุกข์ อันเป็นผลของบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย ให้จิตนี้มีความว่างดังกล่าวนี้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็ให้กายวาจาใจนี้เองว่างจากบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย

ความว่างดังกล่าวนี้แหละ ก็เป็นความสงบ และก็เป็นความพ้น สงบก็คือสงบกิเลส โลภ โกรธ หลง สงบบาปอกุศลทุจริตต่างๆ ทางกายทางวาจาทางใจ และก็เป็นความหลุดพ้น คือว่าหลุดพ้นจากบาปอกุศลทุจริตต่างๆ ตลอดจนถึงหลุดพ้นจากกิเลสต่างๆ กองโลภ กองโกรธ กองหลง จะเป็นความพ้นได้ชั่วคราว หรือว่าความพ้นได้นานๆ หรือตลอดไปก็ตาม ก็เป็นความหลุดพ้นทั้งนั้น แล้วก็เป็นความสงบทั้งนั้น และอันนี้เองก็เป็นความว่าง


อาลัยของจิต
แต่ จิตใจของบุคคลทั่วไปนั้นมีความไม่ว่างประจำอยู่ ก็คือมีนันทิคือความเพลิน มีราคะคือความติดใจยินดี มีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากของใจอยู่เป็นประจำ ซึ่งเรียกว่าอาลัย หรือเรียกว่ากังวลบ้าง เรียกว่ากามฉันท์ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

หรือ เรียกอำนาจกิเลสกาม มีอยู่เป็นประจำ จิตย่อมอยู่ในอาลัย หรืออาศัยอยู่กับอาลัยดังกล่าวนี้ อาลัยดังกล่าวนี้จึงเหมือนอย่างเป็นบ้านของจิต ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่าอาลัย คือน้ำเป็นที่อาศัยอยู่ของปลา ฉะนั้น

เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงไม่ว่างอยู่โดยปรกติ และเมื่อปล่อยให้จิตนี้ท่องเที่ยวไปในอาลัยอันเป็นที่อยู่ อันเรียกว่ากามคุณ หรือเรียกว่ากามฉันท์ก็จะไม่รู้สึกเดือดร้อน แม้ว่าจะต้องมีความทุกข์มาสลับกับความสุขเป็นครั้งเป็นคราว ก็อยู่ได้ เพราะอำนาจของความเพลิดเพลิน และความติดอยู่ ลักษณะของจิตสามัญทั่วไปย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้ และการที่ได้ปฏิบัติจัดทำต่างๆ ไปตามวิสัยของกิเลสดังกล่าว หรือของอาลัยดังกล่าว จึงทำให้รู้สึกเพลิดเพลินไป ไม่รู้สึกเดือดร้อน

แต่เมื่อต้องมาอยู่กับความว่าง แม้ในบางครั้งบางคราว อันหมายความว่าไม่ขวนขวายจัดทำทางกายทางวาจาทางใจ ไปตามอำนาจของกิเลสหรืออาลัยดังกล่าวนั้น ก็จะรู้สึกเหมือนอย่างว่า เหมือนอย่างการที่มานั่งทำความสงบก็ดี นั่งฟังอบรมหรือฟังเทศน์ก็ดี หรือการเข้ามาบวชก็ดี ซึ่งเป็นการหยุดพักจากการวิ่งเต้นขวนขวายไปต่างๆ ตามอำนาจของอาลัย หรืออำนาจของกิเลส ก็ทำให้รู้สึกเหมือนอย่างว่าว่าง และทำให้เกิดความรำคาญ หรือความดิ้นรนไปเพื่อที่จะได้ปฏิบัติจัดทำ เหมือนอย่างที่จะทำตามปรกติ จึงทำให้เข้าใจว่าความว่างทำให้เดือดร้อน

แต่อันที่จริงนั้น เมื่อศึกษาดูให้ดี กำหนดดูให้ดีที่จิตแล้ว จึงจะเข้าใจว่าอันที่จริงไม่ว่าง เพราะจิตนี้ยังมีนันทิความเพลิดเพลิน

ราคะ ความติดใจยินดีไปด้วยกันอยู่กับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายอยู่เป็นประจำ และเมื่อต้องมาหยุด แม้ในขณะที่มานั่งสมาธินี้ก็ต้องมาหยุดจิต ไม่ให้คิดไปในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายตามใคร่ตามปรารถนา ก็ทำให้รู้สึกอึดอัดรำคาญไม่สบาย ก็ทำให้เข้าใจว่าเพราะว่าง

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมะจึงต้องหัดกำหนดจิตให้รู้จักว่า อันที่จริงเป็นความไม่ว่าง จิตยังไม่ว่าง จิตยังมีนันทิความเพลิน ราคะความติดใจยินดี ไปด้วยกันอยู่กับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก จึงทำให้ยินดีเพลิดเพลินยิ่งๆ ขึ้นไปอีกในอารมณ์คือเรื่องนั้นๆ โดยไม่หยุด เพราะฉะนั้นจึงต้องทำความรู้จักว่าอันที่จริงไม่ว่าง ยังไม่เป็นความว่าง


ความว่างในขั้นศีลสมาธิปัญญา
การที่จะเป็นความว่างนั้นต้องหัดกำหนดให้รู้จัก ความสงบกายสงบวาจาสงบใจ ซึ่งเป็นศีล ไม่ดิ้นรนไปเพื่อที่จะประพฤติก่อภัยก่อเวรต่างๆ จิตพร้อมทั้งกายทั้งวาจาสงบเรียบร้อย ดั่งนี้ก็เป็นศีล ตัวศีลนี่แหละเป็นความว่าง ว่างจากภัย ว่างจากเวรทั้งหลาย ไม่ก่อภัยไม่ก่อเวรอะไรๆ ขึ้น ทางกายวาจาพร้อมทั้งทางใจ คือใจก็ไม่คิดที่จะไปก่อภัยก่อเวรแก่ใคร ไปทำร้ายเบียดเบียนใคร กายวาจาก็ไม่ไปประพฤติกระทำร้ายใครเบียดเบียนใคร ก็ว่างจากภัยจากเวรทั้งหลาย ใจที่ว่างดั่งนี้ กายวาจาที่ว่างดั่งนี้เป็นศีล

จิต ก็เหมือนกัน เมื่อจิตสงบได้จากความคิดฟุ้งซ่านไป ในอารมณ์ตามใคร่ตามปรารถนาต่างๆ มาตั้งมั่นอยู่ในกิจที่ควรทำต่างๆ ตลอดจนถึงมีความสงบอยู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านออกไป ความสงบจิตดั่งนี้ก็เป็นสมาธิ และปัญญาคือตัวความรู้ ความรู้ที่รู้จักศีลตามเป็นจริง รู้จักสมาธิตามเป็นจริง

ตลอดจนถึงรู้จักตัวความว่าง ว่าความว่างที่เป็นความว่างจริงนั้น ต้องว่างจากความเพลิดเพลิน ความติดใจยินดีที่ไปกับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ดั่งนี้ก็เป็นปัญญา คือรู้จักสัจจะคือความจริงที่กายวาจาใจของตัวเอง ดั่งนี้ก็เป็นปัญญา จิตที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญานี้เอง ก็เป็นตัวความว่างซึ่งเป็นตัวผล เป็นความสงบที่ยิ่งๆ ขึ้นไป และเป็นความรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงจะรู้จักธรรมะ รู้จักพุทธศาสนา เมื่อรู้จักธรรมะรู้จักพุทธศาสนาดั่งนี้ แม้น้อยหนึ่งก็เป็นประโยชน์มาก เพราะได้รู้จักของจริงของแท้ ว่าพุทธศาสนาที่จริงที่แท้นั้นเป็นอย่างนี้ และจะทำให้รู้จักลู่ทางที่จะปฏิบัติให้พบกับความว่าง ให้พบกับความสงบ ให้พบกับความหลุดพ้นของตนยิ่งๆ ขึ้นไปได้

ความจริงที่ตนเอง
พระบรมศาสดาผู้ทรงรู้ทรงเห็น ได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติทุกคนได้รู้ได้เห็นสัจจะคือความจริงนี้ ที่ตนเองของทุกๆ คน ไม่ใช่ที่อื่น แม้ที่ทรงแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตั้งสติกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม ก็เป็นการดูให้รู้เข้ามาในการที่จะปฏิบัติอาศัยกายเวทนาจิตธรรมนี้เอง ให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมา และให้พบกับความว่าง ให้พบกับความสงบ ให้พบกับความหลุดพ้น ไม่ใช่อย่างอื่น

และก็ทรงจำแนกแจกธรรม ก็คือตรัสสอนให้ผู้ฟัง รู้จักจำแนกทางปฏิบัติออกไปเป็นกาย เป็นเวทนา จิต ธรรม ดูให้รู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักธรรม ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว และโดยเฉพาะในข้อที่เกี่ยวกับธรรมะนั้น ก็ได้ทรงสรุปเข้าในสัจจะคือความจริง


ความทุกข์ ความสุข
( เริ่ม ๓๑/๒ ) อันได้แก่ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็ให้รู้จักตัวทุกข์ที่ กาย เวทนา จิต ธรรม นี้นี่เอง คือให้รู้จักว่าตัวทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องทน โดยสามัญ บุคคลนั้น สิ่งที่ทนยากจึงเรียกกันว่าทุกข์ แต่สิ่งที่ทนง่ายเรียกกันว่าสุข แต่ที่จริงนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องทนทั้งนั้น เป็นทุกข์ทั้งนั้น โลกเรียกว่าสุข เรียกว่าทุกข์ แต่อย่างละเอียดตามคดีธรรมนั้นเป็นทุกข์ทั้งนั้น คือเป็นสิ่งที่ต้องทนทั้งนั้น ทั้งสุขและทั้งทุกข์ที่คนเข้าใจกันอยู่ และเมื่อทนง่ายก็ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์มาก แต่อันที่จริงนั้นเป็นทุกข์คือทุกข์น้อย แต่ว่าเมื่อต้องทนยากจึงเรียกกันว่าเป็นทุกข์

เพราะเหตุว่าทุกๆ สิ่งนั้น ที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด ย่อมเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ต้องเกิดต้องดับ เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ก็เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์คือทนยากทั้งนั้น คือทนอยู่ไม่ได้ ถ้าหากว่าทนอยู่ได้แล้วก็จะไม่ต้องดับ เหมือนอย่างความสุขที่ว่าเป็นความสุขกันทางคดีโลกนั้น แม้ไม่กล่าวว่าทนง่าย คือว่าทุกข์น้อย เรียกกันว่าสุข หรือกล่าวกันว่าสุขนี่แหละ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ตั้งอยู่ตลอดไป อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป เมื่อหายไปอาการที่ต้องทนมาก หรือทนยาก ที่เรียกกันว่าความทุกข์ตามธรรมดานั้น ก็บังเกิดขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เป็นความสุขอะไรที่แท้จริง แต่เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่เพียงชั่วคราว คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

เพราะฉะนั้นจึงต้องหัดดูให้รู้จัก ว่าแม้ความสุขที่เข้าใจกันนี้ก็เป็นตัวทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และแม้สิ่งที่น่าปรารถนาพอใจทั้งหลายอย่างอื่น เช่นลาภยศสรรเสริญต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ไม่ตั้งอยู่คงที่ อาจจะมีอยู่ ตั้งอยู่ นานบ้าง แต่ในที่สุดก็ต้องดับ ต้องหายไป

แม้ว่าจะดำรงอยู่นาน ชีวิตนี้ก็จะต้องดับไปก่อน เพราะชีวิตนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ เมื่อชีวิตนี้ดับไปก่อนก็เป็นอันว่า ก็ต้องละทุกอย่าง ไม่เป็นเจ้าเข้าเจ้าของในสิ่งทั้งปวงอยู่ได้ตลอดไป พิจารณาให้รู้จักดั่งนี้ ว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้นคือเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

พิจารณาให้รู้จักทุกข์ตามเป็นจริง
แต่ว่าบุคคลนั้น เมื่อยังไม่กำหนดให้รู้จักทุกข์อย่างละเอียดลงไปจริงๆ จึงทำให้มีความเพลินอยู่ในทุกข์ มีความติดอยู่ในทุกข์ ยึดเอาทุกข์ไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ปล่อยไม่ได้ พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดให้รู้จักทุกข์ตามความเป็นจริง และก็ตรัสสอนไว้เป็นอันมากในเรื่องนี้ เพื่อให้หมั่นพิจารณาให้รู้จักทุกข์ตามความเป็นจริง และเมื่อมองเห็นทุกข์แล้ว ก็จะทำให้ผ่อนคลายความเพลิดเพลิน ความติดใจยินดี ความดิ้นรนไปในทุกข์ต่างๆ ก็จะทำให้ปล่อยทุกข์ได้

พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้โดยปริยายคือทางเป็นอันมาก และในสติปัฏฐานก็ได้ตรัสสอนให้พิจารณาให้รู้จัก ตลอดจนถึงตัวสมุทัยคือเหตุเกิดทุกข์ คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ว่าก็เกิดขึ้นที่ทุกข์นี่แหละ แล้วก็ดับไปที่ทุกข์นี่แหละ และโดยที่ตรัสขยายทุกข์ออกไปเป็นอายตนะภายใน อายตนะภายนอก เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญเจตนา เป็นตัณหา เป็นวิตก เป็นวิจาร ทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในคำว่าทุกข์ทั้งนั้น คือตัวทุกข์นี้เอง อันสรุปเข้าได้ว่าตัณหาก็บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ตัวทุกข์ ดับไปก็ดับไปที่ตัวทุกข์นี้เอง ไม่ใช่ที่อื่น

เพราะฉะนั้น การที่จะพิจารณาให้เห็นทุกข์นั้น จึงต้องพิจารณาให้ผ่านตัวทุกข์ที่เข้าใจว่าเวทนาต่างๆ ที่ทนง่ายทนยากดังกล่าวนั้น

เข้าไปจนถึงตัวสังขารอันเป็นที่ตั้งของทุกข์ทั้งปวง ที่ตรัสเรียกว่าขันธ์บ้าง อายตนะบ้าง ธาตุบ้าง หรือที่ตรัสจำแนกไว้ในหมวดที่ทรงแสดงถึงสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และความดับทุกข์ดังกล่าวนี้ รวมเข้าในคำว่าทุกข์คำเดียวทุกๆ ข้อ ตัณหาก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ทุกข์ แต่เพราะยังไม่เห็นทุกข์ จึงได้มีความเพลินอยู่ในทุกข์ และมีความติดใจอยู่ในทุกข์ แต่ว่าเมื่อเห็นทุกข์แล้วก็จะทำให้ปล่อยวาง ไม่ต้องการ ก็เป็นความดับทุกข์ ก็ดับที่ทุกข์นั้นเอง เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงสมควรที่จะหมั่นฝึกหัดพิจารณา ให้รู้จักสัจจะคือตัวความจริงนี้ และจะพบกับสุญญตาคือความว่าง พบกับสันติคือความสงบ จะพบกับวิมุติคือความหลุดพ้น ตามสมควรแก่ความปฏิบัติที่ได้ที่ถึง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.353 วินาที กับ 18 คำสั่ง