ข่าว: SMF - Just Installed!
 
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
+  กระดานธรรมะ
|-+  กระดานสนทนาธรรม
| |-+  ชี้แจงข้อธรรม
| | |-+  จิต สังขาร และความปรุงแต่ง
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: จิต สังขาร และความปรุงแต่ง  (อ่าน 3609 ครั้ง)
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 06, 2009, 04:05:02 PM »


          กิเลสทั้งหลาย ล้วนมีขึ้นได้เพราะความปรุงแต่ง

          อย่างนั้นแล้ว อะไร หรือใคร ที่ปรุงแต่ง หรือทำให้เกิดความปรุงแต่ง?

          บางคนก็กล่าวว่า จิตนี้เอง ที่ปรุงแต่ง ก็จริงอยู่ว่า ความปรุงแต่งไปเป็นกิเลส นิวรณ์ วิบาก ทั้งหลายนี้ เป็นสภาพที่เกิดขึ้นภายในจิต แต่แท้จริงแล้ว ความปรุงแต่งเหล่านี้ยังไม่ใช่จิต เพราะจิตโดยแท้แล้ว เป็นสภาพรู้ หรือเป็นผู้รู้ หรือเป็นกริยารู้ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกรู้ ดังนั้น จิตโดยแท้แล้ว เป็นสิ่งที่เข้าไปรู้ความปรุงแต่ง ไม่ใช่ิสิ่งที่เข้าไปปรุงแต่ง ถ้าเช่นนั้น อะไรที่ปรุงแต่งอยู่?

          ที่ปรุงแต่งอยู่ ก็คือ สังขาร ไม่ใช่จิต ก็สังขารเป็นสภาพที่ปรุงแต่ง เกิดจากความปรุงแต่ง ประกอบขึ้นมาด้วยสภาพอันปรุงแต่ง ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป ตามแต่เหตุอันเป็นปัจจัยให้ปรากฏเป็นสภาพจำเพาะแห่งสังขารนั้น ส่วนจิต ก็เป็นสภาพที่เข้ามารู้ เข้ามายึด เข้ามาอาศัยสังขารนั้น ด้วยอำนาจแห่งอวิชชา คือ ความหลง ด้วยความไม่รู้วิชชา คือ ความถอดถอนออกจากความหลง ก็มีความเพลิดเพลิน มีความเห็น มีความสำคัญว่า สังขารที่จิตอาศัยรู้อยู่นี้ ก็คือ ตน เป็นของของตน เป็นที่ตั้งแห่งตน อย่างนี้แล้ว สังขาร ก็เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต ไม่ใช่ว่า จิต ปรุงแต่งสังขาร แต่แท้จริงแล้ว สังขารต่างหาก ที่ปรุงแต่งจิต เพราะหาก จิต เป็นผู้ปรุงแต่งสังขารแล้ว ถ้าอย่างนั้น สังขาร ก็ควรเป็นไปตามที่จิตปรารถนาเสมอไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อใดที่สังขารอันจิตอาศัยอยู่เดิม ไม่เป็นไปตามความยินดี ไม่เป็นไปตามปรารถนา จิตที่ยังติดอยู่ด้วยอำนาจแห่งอวิชชา ก็ย่อมเพ่งเล็ง ย่อมฟุ้งซ่าน ย่อมทะยาน เพื่อแสวงหาสังขารอื่น หรือสภาพอื่น เพื่อเป็นเครื่องอาศัย หรือเพื่อปรุงแต่งสังขารเดิมที่มีอยู่ก่อน เพื่อปรุงแต่สังขารนั้นให้เป็นไปตามความปรารถนาของตน ถึงอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่เรียกว่า จิต ปรุงแต่งสังขาร เพราะเหตุว่า จิต เพียงแต่อาศัยสังขารที่มีอยู่ก่อน มีอยู่แต่เดิม เข้ามาปรุงแต่ง เป็นปัจจัยเกื้อหนุน ให้เกิดมีความสืบต่อของสังขาร ด้วยเจตนาแห่งตน ก็เปรียบเสมือนว่า เดิมที มีแต่ป่า ไม่มีเก้าอี้ไม้ ต่อมา เมื่อบุคคลตัดไม้ในป่า มาประกอบเป็นเ้ก้าอี้ ก็จึงมีสิ่งที่เรียกว่าเก้าอี้เกิดขึ้นมา แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่จริงๆนั้น ก็คือ ชื่อ ที่เรียกว่า เก้าอี้ นั่นเอง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เก้าอี้นั้น ก็มีอยู่แต่เดิมอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่า เก้าอี้ แต่เรียกว่า ป่า

          ที่นี้ เมื่อจิตตกอยู่ภายใต้อำนาจอวิชชาอย่างนี้แล้ว สังขารก็มีความสืบต่อ มีความรักษาไว้ได้ มีความเจริญในตนได้ และมีความจำเพาะตนอยู่ นี่ก็เรียกว่า มีเหตุอันเป็นไปแล้ว มีวิบากอันเป็นไปแล้ว ย่อมเป็นปัจจัย ผลก็ย่อมมีขึ้น เป็นธรรมดา ภพ ชาติ ชรา และมรณะ ก็ย่อมมี สุข ทุกข์ ก็ย่อมมี แม้เมื่อพราก ดับ มรณะ สูญ หรือเคลื่อน จากภพใดภพหนึ่งไปแล้ว ด้วยสภาพความเสื่อม หรือแตกดับไปของสังขารที่จิตอาศัยตั้งอยู่ในภพนั้นๆ ก็หาได้สิ้นสุดความวนเวียนว่ายตายเกิดไม่ เพราะเหตุอะไร? ก็เพราะเหตุว่า ด้วยอำนาจของอวิชชา ก็เป็นเหตุให้เพลิดเพลินพอใจอยู่กับการทะยาน ไปหยั่งลงสู่สังขารอื่น ด้วยอำนาจแห่งตัณหา เพื่อเป็นเครื่องอาศัย อาศัยทำอะไร? ก็อาศัยเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตนั่นเอง เพราะเหตุว่า การปรุงแต่งจิตนั้น ย่อมอาศัยสังขารเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ทีนี้ เมื่อจิตหยั่งอาศัยลงในสังขารใดแล้ว ก็ย่อมมีวิบาก อันสัมปะยุตต์พร้อมกับการปฏิสนธินั้น ภพก็ย่อมมี ชาติย่อมเป็นไป ชรา มรณะ สุข ทุกข์ ก็ย่อมมี ไม่รู้จักจบจักสิ้น ไม่มีประมาณ ฯลฯ

          แม้บุคคลทั่วไปจะตรึก ระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ยังหาได้เป็นอิสระหลุดพ้นไปไม่ เพราะเหตุว่า อวิชชายังไม่ถูกถอดถอนไปจากจิต หรือกล่าวอีกทางหนึ่งก็ได้ว่า เพราะจิตยังไม่ได้รับการอบรมให้เกิดวิชชา ก็เพราะเหตุว่า ยังไม่ได้พิสูจน์เห็นสภาพแห่งความเป็นจริง อันเป็นต้นเหตุแห่งการวนเวียน เป็นต้นเหตุแห่งอวิชชา เมื่อยังไม่ได้พิสูจน์เห็นได้ด้วยตนเอง ก็ไม่อาจรู้ชัดเท่าทันเหตุ คือ อวิชชา ได้อย่างแท้จริง ยังไม่รู้ชัดสภาพที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา จะรู้ก็เพียงผิวเผิน รู้อย่างคาดเดา รู้อย่างโดยประมาณ รู้อย่างคร่าวๆ รู้แบบจำ หรือเชื่อ ตามๆกันมา ก็ไม่อาจเห็นสัจจะอันบริสุทธิ์ ถึงแม้จะรู้ตามๆกันมาว่า จิต เป็นอย่างหนึ่ง สังขาร เป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นคนละสิ่งกัน แต่ก็ยังไม่เห็นจริงแก่ตน ด้วยจักษุแห่งตน ว่า เป็นคนละสิ่งกันอย่างไร อย่างไรเป็นสังขาร อย่างไรไม่เป็นสังขาร ฯลฯ เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมไม่พ้นจากความปรุงแต่งไปได้ ไม่พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารไปได้ ไม่พ้นจากอวิชชาอันครอบงำ หรือปิดบังสภาพความเป็นจริงของธาตุ ขันธ์ วิบาก อายตนะ หรือนามรูป ไปได้ ฯลฯ

          เหล่านี้ ก็เป็นความสัมพันธ์โดยสังเขป ระหว่าง จิต สังขาร และความปรุงแต่ง



บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.935 วินาที กับ 18 คำสั่ง