ข่าว: SMF - Just Installed!
 
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
+  กระดานธรรมะ
|-+  กระดานสนทนาธรรม
| |-+  สมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน
| | |-+  ข้อสังเกตทั่วไปสำหรับผู้ภาวนา
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อสังเกตทั่วไปสำหรับผู้ภาวนา  (อ่าน 9191 ครั้ง)
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« เมื่อ: สิงหาคม 11, 2008, 11:33:42 PM »

คำนำ

          หัวข้อนี้ เป็นการประมวลหลักการ ข้อสังเกต ข้อควรรู้ และประสบการณ์ทั่วไป เกี่ยวกับการทำกรรมฐาน อันประสบแก่ตนเองบ้าง หรือบางส่วน ก็จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้พบเห็นจากการสอนกรรมฐานแก่ผู้อื่นบ้าง ซึ่งก็ได้เริ่มสอนมาตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๔๙ ที่บ้านบ้าง ตามสถานปฏิบัติธรรมบ้าง หรือตามวัดบางแห่งบ้าง ก็จึงได้เห็นลักษณะ หรือข้อติดขัดของบุคคลมากมาย ต่างจริต ต่างวาสนาบารมี ฯลฯ กันไปตามที่ได้ปรุงแต่งสั่งสมกันมาต่างกันเป็นธรรมดา


          อีกประการหนึ่ง คนจำนวนมาก เข้าใจว่า การภาวนา คือการบริกรรมท่องบ่นในใจ เช่น พุทโธบ้าง ยุบหนอ พองหนอบ้าง ฯลฯ ที่จริงแล้ว คำว่า "ภาวนา" หมายความว่า การฝึกอบรม ส่วนคำท่องบ่นในใจนั้น คือ คำบริกรรม เท่านั้น และเมื่ออาศัยคำบริกรรมเพื่อเป็นอุบายในการฝึกฝนอบรมจิต ให้มีสติ เป็นสมาธิ เกิดปัญญา เหล่านี้ จึงรวมเรียกว่า คำบริกรรมภาวนา






« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 10, 2010, 01:26:16 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #1 เมื่อ: สิงหาคม 12, 2008, 01:34:40 AM »

          การกำหนดรู้ลมหายใจ

          เรื่องการกำหนดรู้ลมหายใจ หรือการดูลมหายใจ หรือบางทีก็เรียกว่า การเพ่งลมหายใจนั่นเอง นี้เป็นวิธีที่แพร่หลายอยู่พอสมควร อาจจะเนื่องด้วยเป็นพื้นฐานที่ครูบาอาจารย์องค์สำคัญ ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางที่สุดในหมู่ผู้ใฝ่การภาวนาเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น เช่น หลวงปู่มั่น และพระอาจารย์เสาร์ ได้สอนไว้เป็นแบบอย่าง เป็นพื้นฐานสำคัญ

          ทำไมต้องฝึกดู หรือเพ่งลมหายใจก่อน?

          ทั้งนี้ ก็เนื่องด้วยว่า ท่านเน้นสอนการทำกรรมฐานเพื่อความหลุดพ้น เพื่อพระนิพพาน ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ทำใจให้มีกุศล หรือเว้นอกุศลแบบชาวบ้าน แบบทั่วๆไป แบบเป็นไปตามอัธยาศัย ไม่ใช่เพียงเพื่อให้จิตใจปลอดโปร่งสบายเพียงในระดับหนึ่ง แล้วก็ตัน ไม่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดทั่วไป ไม่สามารถทำให้ถึงที่สุดแห่งธรรมได้ แต่ ท่านเน้นสอนเพื่อให้ก้าวข้ามขีดจำกัดโดยทั่วไป เพื่อบรรลุถึงคุณอันสูงสุดได้ ในที่สุด และเพื่อการนี้ ท่านจึงเน้นการเพ่งลมหายใจ พร้อมด้วยการบริกรรม "พุท-โธ" กำกับ เพื่อเป็นอุบายนำพาผู้ปฏิบัติภาวนาให้ตั้งจิตขึ้นเป็น "ธรรมเอก" ได้ก่อน มิเช่นนั้น ย่อมไม่มีโอกาสบรรลุธรรมอันสูงสุดได้ เป็นธรรมดา

          อย่างไรคือ ธรรมเอก?

          พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ใน "มหาสุญญตสูตร" มีใจความตอนหนึ่ง ดังนี้


          "[๓๔๗] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุจะดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่นได้อย่างไร ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
             (๑) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ฯ
             (๒) เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ฯ
             (๓) เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุข อยู่ ฯ
             (๔) เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯ
             ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่น ฯ ..........
"


          ที่จริงแล้ว การตั้งจิตให้เป็นธรรมเอก อาจอาศัยนิมิตอื่นเป็นเครื่องระลึกสติก็ได้ เช่น กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ที่พระพุทธององค์ได้ทรงบัญญัติไว้แล้ว อันได้แก่ กสิน ๑๐ กอง อนุสติต่างๆ ฯลฯ เป็นต้น เพียงแต่ อานาปาณสตินี้ เป็นกรรมฐานที่ค่อนข้างจะเป็นกลางๆแก่บุคคลทั่วไป จึงเป็นที่นิยม อย่างไรก็ดี พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้โดยนัยยะว่า ธรรมที่เป็นอริกับอานาปาณสติ ก็คือ ความฟุ้งซ่าน นั่นเอง

          ปัญหาบางประการที่อาจเกิดแก่ผู้เพ่งลมหายใจ

          บางคราว เพ่งดูลมเมื่อนานไป รู้สึกเคลิ้ม ตกภวังค์ หรือหลับ ข้อนี้ อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ แต่โดยทั่วไปแล้ว หากรู้สึกเช่นนี้ ให้ทดลองกำหนดลมหายใจให้ยาวขึ้น ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง หากจะให้มั่นคง ก็ต้องอาศัยความเพียร พยายามทำไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆชำนาญ ค่อยๆตั้งมั่นขึ้น ก็จะค่อยทำได้นานขึ้นเป็นลำดับ และเมื่อรักษาได้มั่นคงต่อเนื่องจนถึงระดับหนึ่ง ก็จะเข้าใจได้เอง ว่าที่จริงแล้ว ต้องทำอย่างไร

          บางที เพ่งดูลมแล้วฟุ้งซ่าน หรือเห็นว่ามีความคิดมาก ข้อนี้ จะซับซ้อนหน่อย เพราะ ความคิดมาก กับความฟุ้งซ่าน ยังไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่คนโดยมาก จะจำแนกสองสิ่งนี้ออกจากกันไม่ค่อยได้ ที่จริงแล้ว ความคิด เป็นเจตนา(ถึงบางทีบางคนอาจจะรู้สึกว่า ถึงตั้งใจจะไม่คิด ก็ยังคิดอยู่ ก็ตาม) ส่วนความฟุ้งซ่าน นั้น เป็นอารมณ์(นิวรณ์ชนิดหนึ่ง) แต่คนทั่วไป มักจำแนกไม่ออก เนื่องด้วย เวลาที่จิตฟุ้งซ่านอยู่นั้น มักจะเป็นเหตุให้บุคคลนั้น คิดมากไปในเรื่องต่างๆ ผู้คนทั่วไป ไม่แยบคายพอ ก็เห็นว่า ความคิดมากนี้เอง ก็คือความฟุ้งซ่าน ดังนี้เอง บางกรณี ก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ที่อินทรีย์แก่กล้าพอที่จะกำหนดรู้ และจำแนกอธิบายให้เข้าใจได้ ว่าอย่างไหนคิดแบบไม่ฟุ้งซ่าน อย่างไหนคือคิดไปเพราะความฟุ้งซ่าน แต่หากผู้จำแนกได้ หากรู้ว่าคิดโดยไม่ฟุ้งซ่านอยู่ ก็ให้พิจารณาให้แน่วแน่ ว่า ในขณะนี้ จุดประสงค์ของเรา คือการพิจารณาในสิ่งใดเรื่องใดอยู่ ก็ให้น้อมพิจารณาไปในสิ่งนั้นเรื่องนั้น ไม่วิตกไปในสิ่งอื่น หรือ หากรู้ว่า คิดเพราะความฟุ้งซ่านอยู่ ก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจให้ชัด สลัดความวิตกในเรื่องอื่นๆไป ให้ใส่ใจแน่วแน่อยู่กับลมหายใจนั้น เท่านั้น จนเกิดสติที่แนบแน่นอยู่กับลมหายใจยิ่งๆขึ้นไปเป็นลำดับ

          หรือบางที เพ่งดูลมไป แล้วเกิดความรู้สึกอึดอัด กระวนกระวาย หรือบางทีก็รู้สึกแน่นท้อง ลิ้นปี หรือบริเวณกลางอก คล้ายหายใจได้ยาก คล้ายหายใจไม่ค่อยเข้า ในกรณีนี้ ก็อาจทดลองแก้ไขด้วยการกำหนดลมหายใจออกให้ยาวกว่าปกติสักครู่หนึ่ง แต่ไม่ต้องเร็ว และไม่ต้องแรง แล้วพยายามข่มใจให้สงบลง สำรวมใจให้อยู่กับลมหายใจเท่านั้น ไม่วิตกอาการอื่น หรือหากทำเช่นนี้แล้ว ก็ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจทดลองจินตนาการเหมือนว่า เรากำัลังมองดูร่างกายเราที่กำลังนั่งอยู่นี้ และกำหนดรู้เห็นว่า ร่างกายที่นั่งอยู่นี้ กำลังหายใจอยู่อย่างไร ไปเรื่อยๆ หากยังไม่ได้ผล ก็อาจต้องลองเปลี่ยนอิริยาบทไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ หรือไม่ก็อาจจะต้องอาศัยอาจารย์ที่มีคุณสมบัติพอปรับให้ อย่ารีบด่วนสรุปไปว่า ทำยาก หรือไม่เหมาะกับจริตเรา

          หรือบางที เมื่อเพ่งดูลมไปแล้วรู้สึกตึง เช่น ที่หว่างคิ้วบ้าง ที่ขมับทั้งสองข้างบ้าง ข้อนี้ก็อาจเป็นเพราะเหตุหลายประการได้ เช่นว่า เพ่งใกล้ไป บังคับเกินไป หรือบางทีก็กำหนดถูกต้องแล้ว แต่เป็นเพราะนิวรณ์ที่สั่งสมมาในระหว่างวันมีมาก และกำเริบอยู่ หากเป็นเพราะเพ่งใกล้ไป บังคับเกินไป ก็ควรพยายามกำหนดรู้ให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น ตั้งจิตให้ประณีต อ่อนนุ่ม ปล่อยวาง ให้มากขึ้น ฯลฯ แต่หากเป็นเพราะสาเหตุประการหลัง ให้อุเบกขาต่ออาการทางกายที่ตึงอยู่นั้นไป อย่าวิตก เพราะหากตึงเพราะสาเหตุนี้แล้ว ยิ่งวิตก ก็จะยิ่งแน่น ยิ่งตึง แต่หากไม่วิตกแล้ว โดยมาก อาการจะค่อยๆเบาลงอย่างช้าๆ อย่าไปกังวลกับคำสอนแบบเดาๆว่า ถ้าทำกรรมฐานแล้วตึง ทำกรรมฐานแล้วต้องกดข่ม แสดงว่าผิด แสดงว่าเป็นสมาธิแบบฤๅษี เป็นแค่สมถะ วิปัสสนาไม่ได้ ไม่เกิดปัญญา ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นเพียงความสุดโต่งของบางบุคคลเท่านั้น ซึ่งความเข้าใจผิดๆเรื่องว่า การอดทน การกดข่ม เหล่านี้ เป็นวิธีที่ผิดเสมอไปนั้น ต่อไปจะหยิบยกคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้ขึ้นมาแสดงในภายหลัง ในหมวด "ชี้แจงข้อธรรม" ฯลฯ

          หรือบางที ดูลมไปแล้วระยะหนึ่ง ก็ไม่ปรากฏว่ามีปัญหาสำคัญอะไร เพียงแต่ เมื่อดูไปนานแล้ว ก็ไม่มีข้อสังเกต ไม่มีปัญหา หรืออาการใดเป็นพิเศษ แต่รู้สึกว่า เบื่อ ไม่รู้จะทำต่อไปทำไม ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น ปัญหานี้ ที่พบบ่อยก็เกิดจากความไม่มีฉันทะ เพราะยังเพียรไม่มากพอ จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถบรรลุถึงปีติสุขอันเกิดจากความเพียร ก็อาจจะเบื่อได้เป็นธรรมดา แต่หากเพียรมากพอจนสามารถบรรลุถึงปีติสุข อันเกิดจากความเพียรได้ มุมมองในปัญหานี้ ก็จะเปลี่ยนไป แต่ก็เป็นความจริงว่า ผู้ที่เพียรจนบรรลุฐานะนี้ได้ มีน้อย ไม่ใช่ทุกคน นี่เอง ก็เป็นเหตุสำคัญ ที่ทำให้หลายคนท้อถอย หรือแม้กระทั่งดูหมิ่นการทำกรรมฐานแบบนี้ ว่ามีประโยชน์น้อย หรือไม่มีประโยชน์อันใดเลย เมื่อดำริเช่นนี้ บางพวกก็พยายามเสาะแสวงหาแนวทางอื่น ที่สอดคล้องกับทิฏฐิ สอดคล้องกับความไม่อดทน สอดคล้องกับความเกียจคร้านของตน ได้มากกว่า ฯลฯ

          เพียงเพราะว่า เราได้ลองเจริญในสิ่งใดดูแล้ว ไม่ประสบผล ยังไม่เป็นเหตุควรให้เรากล่าวหมิ่น หรือตำหนิในสิ่งนั้น ว่า เป็นสิ่งไม่ควร หรือเป็นสิ่งไม่มีผลเสมอไป


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #2 เมื่อ: สิงหาคม 18, 2008, 04:00:25 PM »

          ก็จริงอยู่ว่า การภาวนาจิตให้เกิดความตั้งมั่น และปัญญานั้น อาศัยวาสนาบารมีเป็นปัจจัยเกื้อกูล แต่ในทางกลับกัน การเพียรภาวนา หรือแม้แต่การตั้งเจตนาแน่วแน่ในอันที่จะเพียรภาวนา ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดวาสนาบารมีด้วย เช่นกัน

          พระนิพพานนั้น เป็นธรรมที่คาดเดาไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นธรรมที่บุคคลผู้บรรลุจะกำหนดรู้ได้ ผู้ยังไม่บรรลุจะกำหนดรู้ไม่ได้เลยแม้เพียงบางส่วน เช่นเดียวกับอริยะสัจสี่ ที่ผู้มีจักษุอันบริสุทธิ์ปราศจากธุลีแล้วจะพึงกำหนดรู้ได้ทั้งสี่ข้อ ผู้ที่ยังไม่มีจักษุอันบริสุทธิ์แล้วจะไม่พึงกำหนดรู้ได้เลยแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือเพียงบางข้อก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นการยากแก่ผู้ที่ยังไม่บรรลุ ที่จะกำหนดรู้ได้ว่า ทั้งหลายที่ตนได้เพียรพยายามมาแล้วนั้น ได้เป็นปัจจัยให้พร้อม หรือใกล้แก่การบรรลุธรรมถึงเพียงใดแล้ว เปรียบเสมือนผู้แล่นเรือข้ามมหาสมุทรจากแผ่นดินหนึ่ง ไปสู่แผ่นดินอีกฟากหนึ่ง หากแม้นยังมองไม่เห็นฝั่งอันเป็นที่หมายเพียงใด ก็ย่อมไม่อาจรู้ว่า อีกเท่านั้น อีกเท่านี้ จะพึงถึงฝั่งได้เพียงนั้น หรือ หากแม้นเห็นฝั่งแล้ว แต่ยังไม่บรรลุถึงฝั่ง ยังไม่ก้าวขึ้นฝั่ง ยังมิได้อาศัยอยู่บนฝั่งอันเป็นจุดหมายแล้ว เพียงใด ย่อมไม่อาจรู้ชัดว่า บนฝั่งอันเป็นจุดหมายนั้น เป็นอย่างไร มีลักษณะเช่นใด ประเสริฐเพียงใด อุดมสมบูรณ์เท่าใด เพียงนั้น

          ดังนี้แล้ว ผู้ยังไม่มีจักษุอันเห็นฝั่งโน้น(กล่าวคือ อีกฟากฝั่งยังไม่ปรากฏแก่ตน ว่าอยู่ห่างเท่าใด) ย่อมไม่ควรประมาทว่าใกล้ และไม่ควรท้อถอยว่าไกล เพราะจะเป็นการคาดเดาเอาทั้งนั้น แม้หากคลื่นลมสงบ ก็ไม่ควรเดาว่าต้องใกล้แล้ว แม้หากคลื่นลมมีมาก หรือรุนแรง ก็ไม่ควรคาดเดาเอาว่าต้องอีกไกล สิ่งที่พึงกระทำไว้ในใจให้มั่นคง ก็คือ คอยหมั่นรักษาเส้นทางของเราให้มุ่งแน่วแน่ไปตามเข็มทิศให้ดี เท่านั้น หมั่นพิจารณาให้รอบคอบ แต่ไม่ลังเล ถึงแม้บางคราว จะรู้สึกท้อแท้บ้าง แต่อย่าได้ท้อถอย อย่ายอมแพ้ อย่าคิดเดาเอาว่าหมดทาง หรือหมดหวัง แต่ต้องไม่เกียจคร้าน เพราะการงานบางอย่าง ไม่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยเพียงความคิด ถึงแม้จะต้องอาศัยความคิด หรือเจตจำนงด้วยเช่นกัน

          เข็มทิศที่กล่าวถึงนี้ ก็คือ ความดำริออกจากกาม นั่นเอง ต้องตั้งไว้เป็นหลัก เป็นแก่นแห่งใจตนอยู่เสมอ ก็จะเฉไฉออกนอกทางได้ยาก

          เนื่องด้วยบุคคลแต่ละบุคคล ย่อมวนเวียนมาต่างกัน สั่งสมบาป บุญ วาสนา วิบาก จริต ฯลฯ มาต่างกัน ดังนั้น ถึงแม้จะบรรลุได้ในธรรมข้อเดียวกัน แต่ด้วยสถานการณ์ ด้วยสภาวะที่ต่างกัน บางคน ยิ่งภาวนาใกล้จุดหมาย ก็ยิ่งราบลื่น บางคน ยิ่งภาวนาใกล้จุดหมาย ก็ยิ่งยากลำบาก  ยกตัวอย่างเช่นว่า บางคน เมื่อภาวนามาถึงระยะหนึ่ง ต่อมา ด้วยวิบากอันเป็นธรรมดาของการวนเวียน เวลาในการภาวนาจึงถูกเบียดเบียนด้วยหน้าที่การงานในทางโลกมาก แม้เมื่อเวลาภาวนาอยู่ ก็ถูกกิเลส หรือนิวรณ์ เช่นความเบื่อ ความง่วง ความฟุ้งซ่าน ความท้อ ฯลฯ รบกวนเป็นอันมาก ต้องอดทน ต้องกดข่ม ต้องฟันฝ่าเป็นอันมาก จึงจะตั้งจิตมั่นอยู่ได้ เหล่านี้ ก็ยังมิใช่เหตุให้ควรท้อถอย มิใช่เหตุให้ควรคิดว่าก้าวหน้าน้อย หรือไม่ก้าวหน้า หรือถอยหลัง  ยังมิใช่เหตุให้ควรเดาว่า ที่ภาวนาอยู่นี้ ผิด หรือคลาดเคลื่อน หากจะสังเกตว่า ก้าวหน้าหรือไม่ ผิด หรือถูก ก็อาจจะสังเกตได้ตรงที่ว่า ไม่ว่าสิ่งรบกวนจะมาก หรือน้อยก็ตาม ไม่ว่าจะลำบาก หรือง่ายก็ตาม ไม่ว่าจะหนัก หรือเบาก็ตาม เจตนาในการภาวนาเรา ยังตั้งอยู่ ยังแน่วแน่อยู่ ยังกำหนดระลึกได้อยู่เสมอ ใช่ หรือไม่ หากใช่ ก็พึงเชื่อไว้ก่อน ว่าถูกต้องแล้ว ควรเพียรทำไป แต่หากไม่ใช่ ก็ควรกำหนดระลึกขึ้นมาให้ดี แล้วตั้งเจตนาให้มั่น ให้แน่วแน่ แล้วจึงเพียรต่อไป อีกประการหนึ่ง หากผู้ภาวนามีจิตใจแน่วแน่ มีเจตนาแน่วแน่ ในอันที่จะพ้นไปจากกามราคะ(ความติดใจในโลก)อยู่เสมอแล้ว ถึงแม้หน้าที่การงานในทางโลกจะมีมาก เวลาในการภาวนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะมีน้อย หรือถึงมีเวลาบ้าง ก็มักถูกรุมเร้าจากความเหน็ดเหนื่อยจากการงานมาก ฯลฯ ก็ยังมิใช่อุปสรรคสำคัญอะไร หากเรารักษาเจตจำนงของเราได้อยู่เสมอๆ ถึงแม้ในขณะภาวนา จะรู้สึกไม่สบายนัก หรือรู้สึกลำบาก แต่อย่าเข้าใจผิดไปว่า ต้องไม่มีผล หรือต้องมีผลน้อยเสมอไป เพราะแม้แต่เพียงความอดทนได้ต่อกิเลส ตัณหา และนิวรณ์ นี้ ก็คือ ตบะ อันเป็นบันได เป็นประตู ไปสู่จุดหมายสูงสุดของการภาวนา เช่นกัน ดังนั้น อย่าเอาความถูกเบียดเบียนจากความง่วง ความเหนื่อยล้า ฯลฯ อันรบกวนการภาวนาอยู่นี้ เป็นเครื่องวัดผลของการภาวนา เพราะความลำบากเหล่านี้ เป็นวิบาก เกิดแต่สังขาร เกิดแต่ขันธ์ ๕ อันเป็นธรรมดารบกวนให้กระวนกระวายอยู่ แม้แต่กับผู้ที่เห็นธรรมแล้ว ก็ตาม เพียงแต่ ผู้ที่บรรลุธรรม เกิดปัญญาแล้ว ย่อมไม่กังวลไปกับสิ่งอันรุมเร้าอยู่ ไม่ท้อแท้ ไม่หดหู่ ไม่กลัว ไม่เศร้าหมองไปตามเหตุกระวนกระวาย อันเกิดจากวิบาก ธาตุ ขันธ์ เหล่านี้

          อีกประการหนึ่ง ปกติของผลแห่งวิบากนั้น มีลำดับ มีเวลา มีระยะ มีความเปลี่ยนแปลง เป็นไปตามเหตุปัจจัย ดังนั้น ที่ดี ก็มักไม่ดีไปตลอด ที่ร้าย ก็มักไม่ร้ายไปตลอด จะมีก็แต่จะมาก จะน้อย จะสั้น จะยาว ไปตามเหตุแห่งวิบากนั้นๆ  เช่นคำว่า เมื่อฝนซา ฟ้าก็ใส หรือบางทีก็กล่าวว่า คลื่นลมมักสงบเงียบเป็นพิเศษ ก่อนพายุใหญ่จะตามมา ฯลฯ เป็นต้น ผู้ไม่ย่อท้อในความเพียร ย่อมผ่านอุปสรรคไปได้ในที่สุด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่สำคัญ ความไม่ย่อท้อ ความยินดีในความเพียร เป็นบารมีที่มีอุปการะมาก และเมื่อขวนขวายกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นความเคยชิน ย่อมกลายเป็นนิสัย และย่อมเพิ่มพูนวาสนาในการนี้ยิ่งๆขึ้นไป และวาสนานี้เมื่อมีกำลังพอ ย่อมเป็นเหตุให้กระทำความเพียรไปทุกเมื่อ ทุกภพ ทุกชาติ  ย่อมไม่พึงกังวลว่า จะไม่ประสบความบรรลุในจุดมุ่งหมายในที่สุด เพราะเหตุว่า เมื่อสั่งสมปัจจัยสมบูรณ์พอแล้ว เมื่อโอกาสมาถึง ย่อมพลาดโอกาสไปได้ยาก ก็ย่อมสำเร็จกิจได้ในไม่ช้า อย่ามัวท้อแท้จนเป็นเหตุให้พลาดโอกาสสำคัญไปเพราะด้วยความประมาท อุปมาว่า นายพรานหนึ่ง เลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ เมื่อฝนตก ก็ไม่รู้จักลับมีด หอก ดาบ หรือเสี้ยมปลายดอกธนูให้แหลมคม เพราะเห็นว่า ยังมิได้ใช้งาน เมื่อลมแรง ก็ไม่หมั่นซ้อมธนู หรือหน้าไม้ เพราะเห็นว่า ยิงให้แม่นยำได้ยาก ก็เกียจคร้าน ไม่คำนึงว่า เมื่อฝนซาแล้ว สัตว์อาจออกมาหากิน ไม่คำนึงว่า หากพบสัตว์ในขณะที่ลมแรงอยู่ จะยิงธนูให้บรรลุจุดหมายได้อย่างไร เมื่อเช่นนี้แล้ว ก็คาดหวังความลุล่วงได้น้อย ก็คาดหวังความสม่ำเสมอได้น้อยกว่าผู้ที่มีความเพียร ไม่ประมาท ไม่เกียจคร้าน เป็นต้น ผู้บำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อความหลุดพ้นก็เช่นกัน วาสนา เราต้องสร้าง อย่าประมาท เพราะปกติเราไม่รู้ว่า โอกาสสำคัญจะมาถึงเมื่อใด เช่นเดียวกันกับที่ปกติแล้ว นายพราน ย่อมไม่รู้ล่วงหน้าว่า จะประสบกับสัตว์ที่ตนจะต้องล่า เมื่อใด

          บ่อยครั้ง ที่โอกาสในการที่จะบรรลุธรรมอันสำคัญ ธรรมอันเลิศ หรือธรรมอันประเสริฐสุด มักจะปรากฏในขณะ หรือในช่วงเวลา ที่ลำบากที่สุด ทนได้ยากที่สุด ต้องอาศัยความชำนาญ และความเด็ดเดี่ยวถึงที่สุด ความเพียรทั้งหลายที่สั่งสมมา ก็จะสำเร็จ ไม่ล้มเหลวในนาทีสุดท้าย

          ผู้ที่ชำนาญในการไม่น้อมไปในอกุศลกรรมอันบาป หยาบช้า ย่อมเป็นผู้น้อมไปในกุศลกรรมอันประเสริฐกว่า ประณีตกว่า ได้ง่าย

          ผู้ที่เข้มแข็ง ย่อมประคองตน จนข้ามฟากฝั่งไปได้ ส่วนผู้อ่อนแอ ย่อมจมลงไป ก่อนที่จะข้ามฟากฝั่งไปได้ ผู้คาดเดาพระนิพพานอยู่ ย่อมเป็นผู้เลาะริมฝั่ง

          ความเพียรใด เมื่อบุคคลประกอบให้มากแล้ว ขวนขวายให้มากแล้ว เจริญให้มากแล้ว ลดวิตกอันเป็นบาปอกุศล เกิดปีติ หรือลดความกังวลใจ ย่อมดี แต่หากความเพียรใด เมื่อบุคคลประกอบให้มากแล้ว ขวนขวายให้มากแล้ว เจริญให้มากแล้ว เป็นเหตุให้เพิ่มวิตกอันเป็นบาปอกุศล เศร้าหมองหวาดกลัว หรือเพิ่มความกังวลใจ ย่อมไม่ดี

          ผู้เพียรดีแล้ว ย่อมมีวาสนาเป็นไปแล้ว ในบารมีต่างๆ เมื่อมีวาสนาเป็นไปแล้ว ย่อมควรรักษาไว้ให้มั่นคง เมื่อนานไป เมื่อบำเพ็ญจนภูมิครบถ้วนสมบูรณ์ดีแล้ว ชาติสุดท้ายก็จะมี ย่อมพ้นทุกข์โศกทั้งหลายในโลกนี้โดยเด็ดขาด ไม่กำเริบได้อีก




บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #3 เมื่อ: กันยายน 18, 2008, 04:31:57 PM »

          จุดมุ่งหมายในการภาวนาจิตนั้น กล่าวได้ทางหนึ่งว่า เป็นการอบรมจิตใจให้พร้อม ให้เป็นไปเพื่อการหยั่งรู้ถึงธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ด้วยจักษุอันบริสุทธิ์

          แต่คนจำนวนมาก แม้พยายามภาวนาจิตอยู่ กลับละเลยการสังเกตเพื่อความเข้าใจในธรรมชาติ ที่พบเห็นมาโดยมาก มักเกิดจากเหตุว่า คนส่วนใหญ่พูดมากกว่าฟัง เมื่อเจริญภาวนาจนสงบลงในระดับหนึ่ง หรือเกิดสมาธิขึ้นในระดับหนึ่ง แทนที่จะทำจิตตนให้เงียบสงัด เพื่อสดับฟังเสียงธรรมชาติ ภายในกายภายในใจเราก็ดี หรือภายนอกกายเราก็ดี กลับวิตกนั่น วิจารณ์นี่ คิดนั่น คิดนี่ เพลิดเพลินไปกับความคิดของตน เสมือนคนเพ้อเจ้อบ้าง พูดจ้อบ้าง คาดเดาบ้าง คาดหวังบ้าง อยู่ภายในจิตใจ ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักเงียบ ก็เป็นธรรมดาว่าจะไม่รู้ธรรมอันประณีต อันสงบ อันสันโดษ อันนิรทุกข์ หรือปราศจากทุกข์ร้อนหมองใจกระวนกระวาย เมื่อเป็นดังนั้น เมื่อนานไป ก็มักจะท้อ เพราะไม่รู้หลัก เช่นว่า คนบางพวก ภาวนาไปเหมือนกับจะพยายามนึกอะไรบางอย่างให้ออก ทั้งที่จริงแล้ว ควรภาวนาให้เห็นอะไรบางอย่างต่างหาก เมื่อเห็นแล้ว ก็จะนึกออกได้เองนั่นแหละ ถ้ายังไม่เห็นแล้ว ต่อให้นึกออก ก็ผิด ก็เป็นเพียงการรู้แบบคาดเดาเอาเท่านั้น สุดท้าย ปัญหาที่เรานึกว่าแก้ได้แล้ว พ้นไปแล้ว ก็ยังคอยกลับมาวนเวียนเป็นปัญหาให้เราอยู่เรื่อยๆ เป็นระยะ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ที่เรานึกว่าแก้ได้แล้ว รู้แล้ว นั้น ไม่ได้จริง ยังไม่รู้จริง  ยังไม่บรรลุจริง ยังไม่รู้แก่น แต่บางครั้ง คนบางจำพวก เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็นึกไถลไปว่า ที่เป็นอย่างนี้ เพราะจิตแสดงไตรลักษณ์ให้ดู อะไรที่เรานึกว่าพ้นไปแล้ว ก็ยังกลับกำเริบได้อีก โดยมิได้ศึกษาคำพระศาสดาให้ดีว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระศาสนา ก็คือ จิตอันไม่กำเริบ ส่วนคนที่เห็นได้ว่า ยังกำเริบได้อยู่มาก ก็ควรสำเนียกว่า ยังไม่บรรลุธรรม ยังภาวนาไม่ได้ผลที่ดีนั่นเอง ไม่ควรไปตั้งทิฏฐิแปลกๆว่า การเห็นว่าจิตกำเริบได้อยู่บ่อยๆ โดยเราบังคับควบคุมได้น้อย หรือไม่ได้เลย หรือได้บ้างไม่ได้บ้าง เหล่านั้น แสดงว่าเราสามารถเห็นพระไตรลักษณ์ได้แล้ว อันเป็นทิฏฐิแบบกลับหัวกลับหาง ผู้เพียรภาวนาควรรู้ว่า สิ่งใดก็ตาม ที่เรายังไม่สามารถกำหนดรู้เห็นในเหตุของสิ่งนั้นได้อย่างแท้จริง การที่เราจะระงับผลของสิ่งนั้นได้อย่างแท้จริง ย่อมไม่ใช่ฐานะ แต่อย่างไรก็ดี กาลเวลาย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ธรรม ว่าธรรมใดบ้าง เป็นสัจจะ ธรรมใดบ้าง ไม่เป็นสัจจะ

          ดังนั้น ผู้เพียรภาวนาเพื่อความบริสุทธิ์พ้นทุกข์ทั้งหลาย ควรทำจิตใจตนให้อยู่สงัด วิเวกจากกามราคะทั้งหลาย ละเว้นความวิตกกังวลทั้งหลายอันเป็นเครื่องหมอง เครื่องบดบังทัศนะ แล้วน้อมใจไปสดับเสียงแห่งจิต(ไม่ใช่เสียงแห่งความคิด)บ้าง น้อมใจไปสดับเสียงแห่งธรรมชาติภายนอกบ้าง(ไม่ใช่เสียงที่คนอื่นเค้าคุยกัน) ด้วยใจที่เงียบ สงัด ไม่ไปแต่งเติมเสียงแห่งธรรมชาติเหล่านั้น ด้วยเสียงแห่งความคิดที่ยังไม่บริสุทธิ์ของเรา แต่ปล่อยให้สำเนียงแห่งธรรมชาติทั้งหลายนั้น หลั่งไหลเข้ามาชำระล้างความทุจิต ความทุจริต และความทุศีล ทั้งหลาย ให้ลบล้างไปจากจิตเรา จนกระทั่งเป็นสมาธิ ก็จะเป็นสมาธิอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว อันเป็นที่ตั้งแห่งสติอันบริสุทธิ์ และทัศนะอันบริสุทธิ์ อันเป็นแก่นสำคัญของสติปัฏฐานทั้งหลาย

          ผู้ขวนขวายศึกษาอยู่ ควรหมั่นฟังให้มาก สังเกตให้มาก พูดให้น้อย คาดเดาให้น้อย ก็จะพึงคาดหวังปัญญาความรู้ได้มาก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 22, 2008, 01:20:13 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #4 เมื่อ: ตุลาคม 20, 2008, 01:57:01 PM »


          สำหรับผู้ภาวนามาดีพอ เจริญสติปัฏฐานได้พอสมควรแล้ว อุบายหนึ่งในการดูผลจากการภาวนานั้น อาจกระทำได้ดังนี้

          ตั้งสมาธิทำจิตให้หยุดอยู่กับที่ มีสติ และสัมปชัญญะตั้งอยู่เฉพาะหน้า กำหนดสติให้รู้ชัดขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ โดยไม่ต้องกำหนดว่า จะรู้สิ่งใด หรือจะไม่รู้สิ่งใด ให้มีแต่สติ และสัมปชัญญะตั้งอยู่เฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ไม่กำหนดจุดมุ่งหมายใดๆ ปล่อยความคิดให้เป็นอิสระ แต่ไม่ปล่อยสติให้เคลื่อนใหลไปในอารมณ์ใดๆ แล้วค่อยๆสังเกตไปเรื่อยๆ ว่า จิตมีอาการอย่างไร มีสิ่งใดกำเริบชัด แต่เมื่อสังเกตเห็นอาการใดๆ หรือสิ่งกำเริบใดๆก็ตาม ไม่ต้องวิจารณ์ ไม่ต้องกำหนดชื่อ ยังไม่ต้องพยายามจำ หรือทบทวนในสิ่งที่กำเริบ มีสติ และสัมปชัญญะตั้งอยู่เช่นนี้ ไปเรื่อยๆ จนเห็นว่าพอสมควรแล้ว จึงค่อยทบทวนความเป็นไปที่ได้ปรากฏแล้ว เป็นไปแล้วแก่จิตแต่ก่อนๆหน้ามา

          หากทบทวนแล้วเห็นว่า ยิ่งนานไป นานไป จิตก็ยิ่งสงบลง สำรวมลง เป็นลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงความสงบ อันเป็นสุข เป็นความพึงพอใจในความสงบ พร้อมอยู่ด้วยสติ และสัมปชัญญะ โดยมิได้มีเจตนาบังคับ อย่างนี้ ควรเชื่อได้ว่า เจริญสติปัฏฐานมาดีแล้ว แสดงว่า เราอบรมจิตมาดี จนเป็นผู้พอใจในความสงบระงับอันเป็นสุขอยู่ภายใน แต่ก็มิได้เป็นสุขอยู่เพราะมีเจตนาปรารถนาความสุข เป็นความสุขที่เกิดขึ้นเองจากความสงบระงับ และเมื่อจิตตั้งอยู่ในสติปัฏฐานอันเจริญดีแล้วนี้ หากมีอารมณ์ใด หรือความคิดใดกำเริบ แล้วไม่ดับไป ก็อาจพึงพิจารณาเรื่องนั้นๆ หรืออารมณ์นั้นๆ ให้รู้ชัด ให้แทงตลอด ให้พ้นความติดขัด จนกระทั่งวางใจลงได้ กลับสู่ความเงียบสงัด เป็นปกติ เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะบริบูรณ์ยิ่งขึ้นไปในสติปัฏฐาน กระทั่งเข้าสู่กระบวนธรรมที่ประเสริฐยิ่งขึ้นไป เป็นลำดับ ฯลฯ

          หากทบทวนแล้ว ปรากฏว่า เผลอคิดไปในเรื่องต่างๆ สักพักค่อยกลับมารู้ตัว หรือถึงรู้ตัวอยู่ก็มีความคิดออกมาเรื่อยๆ ไม่คลายลดลง หรือเกิดความรู้สึกอึดอัด กระวนกระวายอยู่ภายใน ไม่ระงับไปได้เอง หรือแม้กระทั่งว่า เคลิ้ม หรือซึมลงจมลง เช่นนี้ ก็พึงเชื่อได้ว่า ยังเจริญสติปัฏฐานมายังไม่ดีพอ ยังไม่มั่นคงพอ ยังไม่บริบูรณ์พอ ก็ย่อมยังเ็ป็นผู้พอใจในกระแส ยังเป็นผู้แสวงหาโลกธรรม ยังเป็นผู้พอใจในการแสวงหาปัจจัยในโลกอยู่ ถึงแม้ว่าตนจะคิด หรือเชื่อว่า ตน มิได้เป็นเช่นนั้นอยู่ก็ตาม ในกรณีนี้ ควรเจริญสติปัฏฐานให้ยิ่งๆขึ้น ให้มากขึ้น หรือให้ถูกทางมากยิ่งขึ้น

          อย่างไรก็ดี กุศโลบายที่กล่าวมานี้ เพื่อการตรวจสอบ หรือทบทวนผลของการปฏิบัติภาวนาจิตของตน ว่ามีผลเพียงใด แต่ยังไม่ใช่วิธีเจริญสติปัฏฐานแก่ผู้ยังไม่ชำนาญในสติปัฏฐาน


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 19, 2009, 01:27:06 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #5 เมื่อ: ตุลาคม 29, 2008, 11:03:38 PM »

         
          ผู้ใฝ่ศึกษาเพื่อที่จะรู้ธรรมได้ ด้วยการสดับ ก็ดี ด้วยการใคร่ครวญพิจารณา ก็ดี ด้วยการปฏิบัติภาวนาจิต ก็ดี ควรตั้งจิตกำหนดรู้ให้ดี ดังนี้ ว่า

          ศีล เป็นเครื่องรักษาจิต มิให้แล่นไป ทะยานไป สู่เจตนาอันเป็นความหยาบ ความเสื่อม บาป และอกุศล โทษ ภัย

          สมาธิ เป็นเครื่องตั้งแห่งจิต มิให้สัดส่าย หรือสั่นคลอนไปตามอารมณ์ใดๆ ผัสสะใดๆ หรือความรับรู้ใดๆ อันกระทบ ยั่วยุ หรือบีบคั้น

          ปัญญา เป็นเครื่องสลัดคืนแห่งจิต จากความครอบงำทั้งหลาย อันเป็นอวิชชา หมายความถึง การรู้วิธีที่ทิฏฐิซึ่งยังไม่กำเริบ จะไม่กำเริบ หรือ การรู้วิธีที่ทิฏฐิอันกำเริบแล้ว จะระงับดับไป กล่าวคือ รู้ความและวิธีถอดถอนซึ่งทิฏฐิทั้งหลายในโลก นั่นเอง

          อนึ่ง ความคิด คือการระลึก ประมวล ใคร่ครวญ หรือการคาดหวัง ดังนั้น ความคิด กับ เจตนา ยังมิใช่สิ่งเดียวกัน


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #6 เมื่อ: ตุลาคม 31, 2008, 01:47:15 PM »


          สำหรับผู้บำเพ็ญเพียรภาวนา เจริญสมถะ และวิปัสสนากรรมฐานมาไม่น้อย ประสบสัจจะ สภาพธรรม หรือสภาวะจิต ที่น่าพอใจในระดับหนึ่งได้แล้ว แต่มีปัญหาว่า รักษาไว้ยาก ไม่สามารถเข้าถึงได้สม่ำเสมอหรือสมบูรณ์พอ หรือ อาจเจริญให้ยิ่งๆขึ้นไปได้ยาก หรือช้า หรือลำบาก หลักการสั้นๆ โดยย่อ บางประการ อาจเป็นประโยชน์ได้ตามสมควร ดังนี้


          ความชัดเจน ๑ ความมั่นคงหนักแน่น ๑ ความเป็นหนึ่ง ๑ ความสำรวม ๑ ความดำเนินไปถึงที่สุด ๑ ความสำรวม และ ความดำเนินไปจนถึงที่สุด ๑


          ผู้เข้าใจ ควรระลึกจดจำไว้ให้ดี พิจารณาไปโดยแยบคาย และเพียรกระทำให้บริบูรณ์ เสมือนผู้ใช้น้ำมัน น้ำยาง หรือน้ำยา อุดรอยรั่ว รอยต่อของเรือใหญ่ ที่น้ำรั่วซึมเข้าได้ทั่ว ให้หมั่นเพียรอุดรอยรั่ว รอยต่อทั้งหลาย ไม่เกียจคร้าน ไม่เบื่อ ไม่ท้อแท้ มีความยินดี กระทำไปจนกว่าจะหาที่รั่วซึมมิได้อีกเลย ถึงกระนั้นก็มิได้ประมาท แม้เมื่อนานไป อาจปรากฏว่าเริ่มรั่วซึมได้อีก ก็จะแก้ไขได้ง่าย ไม่เกินแรง ดังนี้แล้ว ก็ควรเชื่อได้ว่า เรือนี้ จะมั่นคงพอ ปลอดภัยพอ ที่เราจะอาศัยข้ามฟากฝั่งไปถึงจุดหมายได้ โดยไม่อับปางไปเสียก่อน

          ส่วนผู้ที่ยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจเพียงบางส่วน ก็พึงระลึกใคร่ครวญพิจารณาหลักการเหล่านี้ไปตามโอกาส และฐานะ จะเห็นประโยชน์ได้ไปตามลำดับ


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #7 เมื่อ: ธันวาคม 14, 2008, 10:52:41 PM »


          ในการเจริญภาวนาจิตตามหลักสติปัฏฐาน หรือการเจริญสมถะ และวิปัสสนากรรมฐานนั้น สำหรับกิเลส และนิวรณ์ในส่วนที่ยังไม่เกิด ผู้ภาวนาควรละ หรือหลีกออก จากเหตุอันประกอบ และปัจจัยอันยั่วยุให้เกิดกิเลส และนิวรณ์นั้น สำหรับกิเลส และนิวรณ์ในส่วนที่เกิดขึ้นแล้ว และกำเริบอยู่ เมื่อกำหนดในความกำเริบของกิเลส หรือนิวรณ์นั้นได้แล้ว ควรกำหนดเจตนาข่มกิเลส และนิวรณ์เหล่านั้นลงให้ราบคาบ จะด้วยสมถะก็ดี เพื่อความข่มตัณหา เช่นความพอใจอยากได้มา หรือความรังเกียจอยากให้พ้นไป จะด้วยวิปัสสนาก็ดี เพื่อความข่มโมหะ คือ ความหลงไปในราคะ และโทสะ จะด้วยสมถะ และวิปัสสนาคู่กันไป ก็ดี เพื่อข่มตัณหา และโมหะ ให้สิ้นไป หรือให้ระงับไป หรือให้ดับไป เช่นนี้ เป็นการข่มที่ควร เป็นความข่มเพื่อปัญญา เพื่อความเจริญ เพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อความรู้แจ้ง เพื่อความหลุดพ้น เพื่อนิโรธ เพื่อพระนิพพาน มิเช่นนั้นแล้ว สติปัฏฐานจะไม่มีทางบริบูรณ์ได้แก่ปุถุชนทั้งหลาย

          บุคคลบางพวก รังเกียจการข่ม เพราะสุดโต่ง หรือรู้ตามกันมาผิดๆ ไม่รู้จักข่มธรรมที่ควรข่ม ในกาลที่ควรข่ม บุคคลนั้น ย่อมมีแต่จะจมลึกลงไปในปลักแห่งวัฏฏะสงสารนี้ อย่างกำหนดที่สิ้นสุดมิได้

          ผู้สำคัญว่า สติปัฏฐาน จะพึงบริบูรณ์ได้ ด้วยปัจจัย คือ สติ เพียงอย่างเดียว ย่อมมิใช่ผู้กำลังเจริญเพื่อความบริบูรณ์ในสติปัฏฐานอยู่จริง เป็นเพียงผู้คาดเดาสติปัฏฐานอยู่ เท่านั้น


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #8 เมื่อ: ธันวาคม 16, 2008, 04:20:00 PM »


          สำหรับผู้เจริญสติปัฏฐานได้มั่นคงพอแล้ว ย่อมรู้เห็นสภาพธรรม เมื่อรู้เห็นชัดในสภาพธรรมอันปรากฏดีแล้ว ควรพิจารณาน้อมไปเพื่อความความรู้ความเห็น เพื่อความปรากฏแห่งธรรม ๓ ประการ คือ ความรู้ชัดถึงความว่างเปล่าในธรรมอันปรากฏมีสภาพอยู่เฉพาะหน้า ๑ ความรู้ชัดถึงความดับไป เสื่อมไป ล่วงไป ของธรรมอันมีสภาพแปรปรวนอยู่ อันปรากฏอยู่ก่อนหน้า ๑ ความรู้ชัดถึงความแปรปรวน ความว่างเปล่า และความดับไป เสื่อมไป ล่วงไป ในธรรมที่ได้ล่วงไปแล้ว และที่ยังเหลืออยู่ ๑

          ธรรมเหล่านี้ มิใช่ธรรมทั่วไป ดังนั้น ผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่สามารถพิจารณาเห็นธรรมดังนี้ได้ ก็ไม่ควรร้อนใจ ควรหมั่นพิจารณาไปตามสภาพ ตามภูมิ ตามพละ ตามฐานะของตนในปัจจุบัน ไม่ควรคาดเดาไปตามทิฏฐิ หรือปัญญา แบบโลกๆ



บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #9 เมื่อ: มกราคม 11, 2009, 02:56:41 AM »


          สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจหลักการทำสมาธิ หรือยังไม่เข้าถึงผลแห่งสมาธิอย่างชัดเจน มักมีปัญหาว่า เมื่อเริ่มต้นทำสมาธิแล้ว เช่นว่า ดูลมหายใจบ้าง ดูกายบ้าง บริกรรมพุทโธบ้าง ฯลฯ ก็มักต้องคอยระวังไม่ให้เผลอบ้าง ไม่ให้คิดบ้าง แต่ภาวนาไปภาวนาไป ก็คอยจะเผลอ คอยจะคิด ต้องประคับประคองอยู่ตลอดเวลา เมื่อนานไป ก็เบื่อบ้าง ฟุ้งบ้าง เผลอคิดไปเรื่องนั่นเรื่องนี้ สักพัก(ครู่เดียวบ้าง พักใหญ่บ้าง)ก็จึงค่อยรู้สึกตัว ก็พยายามไม่คิดอีก หรือบางทีก็เคลิ้มไปไม่รู้ตัว กระทั่งหลับไปก็มี หรือไม่ก็ตึง แน่น อึดอัด ฯลฯ วนๆเวียนๆอยู่อย่างนี้ นานไปก็ท้อบ้าง ถอยบ้าง เลิกไปเลยก็ไม่น้อย ทั้งนี้ สาเหตุประการหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อย ก็คือ เกิดจากความเข้าใจพี้นฐานของการทำสมาธิผิด หรือคลาดเคลื่อน เพราะไปเข้าใจว่า สมาธิ คือ ความสงบ หรือเข้าใจว่า การทำสมาธิ คือ การพยายามสงบ หรือการพยายามไม่คิด เมื่อมีความเข้าใจพื้นฐานคลาดเคลื่อนไปเช่นนี้ ก็อาจนำไปสู่ผลสองทางหลักๆ คือ ประการแรก ตึง เครียด หรืออึดอัด เนื่องเพราะพยายามมากเกินไปที่จะบังคับไม่ให้ตนเองคิด บางทีก็กลายเป็นว่า ยิ่งห้าม ก็เหมือนยิ่งคิด ฯลฯ หรือ ประการที่สอง ฟุ้งซ่าน ซึม เคลิ้ม ง่วง หลับ หรือตกภวังค์ไป ฯลฯ ข้อนี้ บางทีก็เกิดจากการที่พยายามทำความสงบ ด้วยการพยายามที่จะไม่คิด แต่ไม่ใช่พยายามบังคับเอาด้วยเจตนาว่าจะไม่คิด แต่เป็นการพยายามที่จะไม่คิด ด้วยการพยายามไม่รับรู้อะไร ซึ่งที่จริงก็คล้ิายๆกับคนที่พยายามจะหลับนั่นเอง ก็คือ ไม่คิดอะไร ไม่พยายามรับรู้ัอะไรเลย หรือพยายามไม่รับรู้อะไรเลย ก็มักมีผลคล้ายๆกัน ผลที่ได้ก็คือ แทนที่จิตจะค่อยตั้งมั่นขึ้น รู้ชัดขึ้น สว่างขึ้น หรือตื่นขึ้น ก็กลายเป็นตรงกันข้าม เมื่อพยายามฝืนนั่งให้นาน เมื่ือนั่งเสร็จก็มักจะมึนๆ งงๆ (ถ้าไม่หลับไปเสียก่อน)

          ก็ด้วยเหตุประมาณนี้เอง คนจำนวนมากก็เลิกล้มไป หรือทำไปแบบเนือยๆ ทำไปงั้นๆ ไม่กระตือรือล้น หรือไม่ก็หันไปแสวงหาวิธีการอื่น ที่มีผู้อื่นประกาศว่า จะบรรลุธรรมได้ โดยไม่ต้องอาศัยสมาธิ หรืออาศัยเพียงสมาธิเล็กๆน้อยๆ ก็พอเพียงที่จะบรรลุคุณวิเศษอันใหญ่หลวง อันประเสริฐยิ่ง ได้ คำสอนบางส่วนของพระศาสดา หรือของครูบาอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างอันประเสริฐ ก็ถูกละเลยไป เว้นไป ทำให้ตกไป ทำให้สูญไป หรือถูกทำให้กลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจไป เช่น ฌาน สมาธิ สมาบัติ ฯลฯ เป็นต้น ปัญหานี้ ผู้มีวาสนาย่อมควรแก้ไขตน แก้ไขความเข้าใจให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพื่อความบรรลุในประโยชน์แก่ตนเอง หรือบางกรณี ก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย

          ในเบื้องตน ผู้ใฝ่การศึกษาปฏิบัติกรรมฐาน หรือการฝึกอบรมจิตตามแนวทางของพระพุทธองค์ ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ความสงบ เป็นผลจากสมาธิ แต่ความสงบ ไม่ใช่สมาธิ ไ่ม่ใช่ว่าความสงบทุกชนิดเป็นสมาธิ และไม่ใช่ว่าสมาธิทุกชนิดทำให้เกิดความสงบ และควรทำความเข้าใจในหลักการ หรือขั้นตอนว่า ไม่ใช่ว่าเราทำความสงบเพื่อให้เกิดสมาธิ แต่เราทำสมาธิ เพื่อให้เกิดความสงบ และความสงบที่กล่าวถึงนี้ หมายถึงการที่จิตไม่วอกแวก ไม่สัดส่าย ไม่กระวนกระวาย ไม่ทะยานอยาก เป็นสภาพตั้งมั่น ไม่หวั่นไปกับความรับรู้ทั้งหลายที่เข้ามากระทบกายก็ดี ใจก็ดี ไม่เกาะเกี่ยวไปในอารมณ์นั้นที อารมณ์นี้ที เหมือนไม่มีหลักแหล่งที่มั่นคง รวมความว่า คือ ความสงบระงับจากกิเลสนิวรณ์ สงบระงับจากความฟุ้งซ่านทะยานอยาก นั่นเอง ไม่ใช่สงบจากการรับรู้(คือ ไม่รับรู้สิ่งใดเลย หรือบางทีก็รู้แต่สบาย เคลิ้มๆ เพลินๆไปเรื่อยๆ อย่างที่อาจารย์บางท่านเรียกว่า โมหะสมาฺธิ นั่นเอง ซึ่งที่จริงแล้ว สภาพเช่นนี้ ไม่นับเป็นสมาธิด้วยซ้ำไป) ความสงบที่เกิดจากสมาธิตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนนั้น คือ ความสงบที่เกิดจากความรู้ชัดในสิ่งที่เพ่งเล็งพิจารณาอยู่ จนเกิดความตั้งมั่น แน่วแน่ และรู้ชัดอยู่ ในสิ่งนั้น จนเป็นเหตุให้จิตตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านสัดส่ายไปในสิ่งอื่น หรืออารมณ์อื่น ด้วยอำนาจแห่งสติปัญญา คือ ความระลึกรู้ชัด ในสิ่งที่ตนอาศัยเป็นเครื่องพิจารณาอยู่ในขณะนั้นนั่นเอง นี่ก็อาจเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงเคยตรัสสอนไว้ว่า ทั้งสมถะ และวิปัสสนา เป็นธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งบางคนอ่านแล้วอาจสงสัยว่า ทำไม สมถะ จึงเป็นสิ่งที่เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างไร? เพราะเหตุใด? ก็พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้ในบางพระสูตร มีใจความอธิบายลักษณะ หรือสภาพว่า เพราะมีสภาพว่า รู้ จึงเรียกว่า ญาณ เพราะมีสภาพว่า รู้ชัด จึงเรียกว่า ปัญญา ดังนั้น สัมมาสมาธิ จึงเป็นสมาธิที่มีลักษณะของปัญญาประกอบอยู่ เพราะเหตุว่า เป็นสมาธิที่เกิดขึ้น มีขึ้น ด้วยความรู้ชัด อาศัยความรู้ชัดเป็นเหตุ เป็นปัจจัยประกอบ จึงเรียกว่า เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญา มีปัญญาเป็นเหตุ และเมื่อประกอบกับการเพ่งเล็งพิจารณาอย่างแยบคายแล้ว ก็มีผล คือ ปัญญา นั่นเอง ด้วยเหตุอย่างนี้ จึงมีพระพุทธดำรัสบางตอนแสดงความหมายว่า การกระทำตนไม่ให้เป็นผู้ห่างเหินจากฌาน เป็นปัจจัยประการหนึ่ง ของผู้ที่มุ่งหวังว่า จะบรรลุคุณธรรมวิเศษ เช่นว่า บรรลุโสดาบัน บรรลุสกิฏทาคามี บรรลุอนาคามี บรรลุพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นต้น

          เมื่อพอจะเข้าใจหลักการพื้นฐานพอสังเขปดังนี้แล้ว ก็จะกล่าวถึงอุบายขั้นตอนในการปฏิบัติจริงต่อไป กล่าวคือ หลักการทำสมาธิเบื้องต้น ควรตั้งจิตตั้งใจให้แน่วแน่ว่า เราจะกระทำสมาธิให้เกิดก่อน อย่าพึ่งรีบไปวิตกกังวลในเรื่องความสงบ หรือเรื่องความคิด เพราะหากสมาธิเกิดขึ้นอย่างถูกต้องแล้ว ความสงบก็จะเป็นผลตามมา หรือ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว เมื่อน้อมใจไปในความสงบ ความสงบก็ย่อมเกิดขึ้น ความคิดฟุ้งซ่านก็จะตกไปเอง ด้วยอำนาจของสมาธิจิตที่อบรมมาดีแล้ว นั่นเอง แล้วก็ตั้งใจกำหนดสติให้ตั้งอยู่ ให้รู้เฉพาะอยู่กับนิมิต(เครื่องหมายมั่นแห่งจิต)ที่เราเพ่งเล็งพิจารณาอยู่ เช่นว่า ลมหายใจ(อานาปานสติ) คำบริกรรมพุทโธ(เป็นอนุสติ) หรือความรับรู้ในกายนี้(เฉพาะส่วนบ้าง หรือทั่วทั้งกายบ้าง) หรือกสิณต่างๆบ้าง ฯลฯ แล้วแต่อุบายที่แต่ละบุคคลอาศัยเป็นเครื่องระลึกสติของตน ตามจริต วาสนา อัธยาศัย หรือตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์ ฯลฯ ในที่นี้ จะขอกล่าวยกตัวอย่างการฝึกสมาธิด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจ(เพราะเป็นอุบายที่ค่อนข้างเป็นกลางๆแก่บุคคลทั่วไป)

          เมื่อเริ่มต้น ก็สูดลมหายใจเข้าออกให้ช้าๆ ชัดๆ และให้สุด หายใจเข้าออกยาวๆให้สุดประมาณสัก ๓ ถึง ๕ รอบ แล้วเริ่มต้นรับรู้มีสติพิจารณารู้อยู่กับลมหายใจไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปกังวลกับความคิด ความฟุ้งซ่านทั้งหลาย ที่ผุดขึ้นมา หรือยังกำเริบอยู่ ไม่ต้องไปพยายามดับความคิด แต่ให้ละความใส่ใจต่อความคิดด้วยการพยายามประคองจิต หรือประคองสติ ให้ตั้งมั่นรู้ชัดอยู่กับลมหายใจไปเรื่อยๆ อย่าให้หลุด (บางอาจารย์ท่านก็เรียกว่า ตั้งจิตให้แนบไปกับลมหายใจ) แต่ถ้าเผลอหลุดไป เช่นว่า เผลอไปฟุ้งเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือเผลอคิดไปเป็นเรื่องเป็นราวอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมิใช่เจตนา หรือเผลอเคลิ้มๆไป หรือแม้กระทั่งว่าเผลอหลับไป เมื่อมีสติรู้ตัวขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ต้องไปเป็นกังวลกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ให้ตั้งเจตจำนงขึ้นมาใหม่ ให้รับรู้แต่เฉพาะลมหายใจเท่านั้น ถึงแม้มีอย่างอื่นเกิดขึ้น หรือผุดขึ้นมา เราก็ไม่ใส่ใจ จะเกิดก็เกิดไป จะดับก็ดับไป ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แล้วไปแล้วก็แล้วกันไป เอาแต่เฉพาะหน้า เอาแต่เฉพาะปัจจุบัน คือ ลมหายใจที่เข้าออกอยู่ในขณะปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้แต่ลมหายใจที่ล่วงไปแล้ว ผ่านไปแล้ว ก็ไม่ใส่ใจ ใส่ใจแต่เฉพาะลมหายใจที่เป็นไปอยู่ ณ ปัจจุบันเท่านั้น(หากกำหนดประคองได้ยาก ควรสังเกตว่า ลมหายใจแผ่วไป เบาไป หรือสั้นเกินไปหรือไม่ เพราะเคยเห็นหลายคนพยายามทำลมหายใจให้แผ่วเบา ด้วยเชื่อว่า จะช่วยให้เป็นสมาธิง่ายขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องนัก จริงอยู่ว่า เมื่อเข้าสมาธิลึก ลมหายใจอาจจะแผ่วไปเอง จนคล้ายไม่หายใจ แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป อีกทั้ง การปล่อยลมหายใจให้แผ่วไปก่อนที่จิตจะตั้งมั่นเป็นสมาธินั้น มักไม่ค่อยเป็นผลดีกับผู้ฝึกใหม่ทั่วไป ที่ยังไม่ชำนาญพอ) เมื่อประคองรักษาจิตไปแบบนี้เรื่อยๆจนถึงระดับหนึ่ง จิตก็จะเริ่มไม่ใส่ใจกับอารมณ์ภายนอก หรืออารมณ์อันจรไปจรมา รู้ชัดอยู่กับลมหายใจเท่านั้น ไม่ว่าจะรู้สึกว่าสงบนิ่งอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ก็รู้อยู่เฉพาะที่ลมหายใจตลอดเวลา ต่อเนื่อง ไ่ม่ตะกุกตะกัก ไม่ต้องคอยระวังว่าจะเผลอไปคิดเรื่องอื่นนอกเหนือจากลมหายใจอีก จะมีคิดอยู่ก็คิดถึงแต่ลมหายใจที่กำลังเป็นไปอยู่นี้เท่านั้น อย่างนี้ เรียกว่า สมาธิเกิดแล้ว ถึงแม้บางทีเราไม่ได้เห็นว่าสงบอยู่ก็ตาม ยังมีัความคิดได้อยู่ก็ตาม ลำพังอาการเหล่านี้ยังไม่ใช่เครื่องชี้ว่าไม่เป็นสมาธิ แต่โดยมาก ผู้ที่ฝึกใหม่ๆ หรือผู้ที่ฝึกนานแล้วแต่ฝึกไม่ถูกต้อง จะมีโอกาสเผลอ หรือหลุด ได้อยู่บ่อยๆ แต่หากฝึกอย่างถูกต้องตามที่ได้อธิบายมานี้ไปเรื่อยๆบ่อยๆแล้ว ก็จะเป็นน้อยลง รักษาประคองได้มากขึ้น ได้นานขึ้น กระทั่งเมื่อชำนาญแล้ว ยิ่งเจริญให้มาก สติก็ยิ่งชัด ยิ่งตั้งมั่น ยิ่งสม่ำเสมอ จิตก็ยิ่งตื่น ยิ่งรู้ชัด ยิ่งมีสติมาก ยิ่งมั่นคง ยิ่งตื่น ยิ่งปลอดโปร่ง ยิ่งเบา ยิ่งสว่าง ยิ่งเกิดความยินดีในสมาธิ หรือในความสงบ ไม่ใช่ว่า ทำกรรมฐาน ทำสมาธิเสร็จแล้ว ยิ่งงงๆ ยิ่งอึดอัด ยิ่งมืดทึบ ยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งง่วงเคลิ้ม ยิ่งหดหู่ซึมเศร้า หากเป็นอย่างนี้ ก็อาจเป็นได้สองทางคือ ๑ เพราะทำผิด ไม่ตรงตามที่อธิบายมา หรือ ๒ เพราะยังไม่บรรลุผล คือ สมาธิ หรือบางคน เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว เห็นว่ายังขบคิดพิจารณาสิ่งต่างๆได้ ยังจำแนกแยกแยะความเป็นไปต่างๆได้ ก็หลงเข้าใจผิดว่า จิตยังไม่เป็นสมาธิ หรือยังไม่เป็นฌาน เพราะความที่ได้ฟัง ได้อ่าน จากคำสอนบางคำ ที่เชื่อต่อๆกันมา ที่ฟังต่อๆกันมา จนเป็นเหตุให้เข้าใจผิดในสมาธิ ที่จริงแล้ว สมาธิ หรือฌาน เป็นเครื่องกั้น หรือเป็นเครื่องดับระงับกิเลส ตัณหา นิวรณ์ ไม่ใช่เป็นเครื่องกั้นสติ ไม่ใช่เป็นเครื่องกั้นความพิจารณาจำแนกแยกแยะ หรือกล่าวง่ายๆว่า สมาธิ หรือฌาน เป็นเครื่องกั้นความทะยานอยาก ไม่ใช่เครื่องปิดกั้นความคิด นั่นเอง ฯลฯ

          ผู้ไม่เข้าใจสมาธิ ก็เพราะนั่งสมาธิแล้วฟุ้งซ่าน เคลิ้ม ง่วง หรือตึง แล้วก็จึงเข้าใจผิดว่า นี่เป็นลักษณะของสมาธิ ก็คิดว่า สมาธินี่ ยิ่งนั่ง ก็ยิ่งหลับ แต่จริงๆแล้ว เหล่านี้ เป็นลักษณะของกิเลสบ้าง นิวรณ์บ้าง ต่างหาก ไม่ใช่ลักษณะของสมาธิ ผู้ที่เข้าใจสมาธิอย่างถูกต้อง เมื่อพากเพียรไปแล้ว ก็จะยิ่งเห็นว่า ยิ่งนั่ง ก็ยิ่งตื่น ยิ่งหลับตา ก็ยิ่งชัด ยิ่งสว่าง ยิ่งปลอดโปร่ง ยิ่งเป็นสมาธิ ก็ยิ่งมีสติที่ตั้งมั่น และเฉียบคม ละเอียด รวดเร็ว ยิ่งขึ้นไปเป็นลำดับ เสมือนแม่ทัพใหญ่ ที่สังเกต พิจารณา วางแผน สั่งการการรบ อยู่บนยอดเนิน ยอดผา อันสูง อันมั่นคง อันปลอดภัย เห็นสภาพสมรภูมิได้อย่างกว้างขวาง ครอบคลุม ละเอียดละออ ด้วยความหนักแน่น อาจหาญ และสุขุมเยือกเย็น ไม่ใช่วุ่นวาย วอกแวก กระเซอะกระเซิง อย่างเลือดขึ้นหน้า อย่างเลือดเข้าตา เหมือนอย่างอยู่ในสมรภูมิรบด้วยตนเองที่มีแต่ศัตรูล้อมหน้าล้อมหลังเต็มไปหมด ย่อมพิจารณาหาหนทางแก้ไขการณ์ใหญ่ด้วยปัญญาได้ยาก เป็นธรรมดา ฯลฯ นี่ก็คือตัวอย่างความสำคัญของ สมาธิ ที่มีแก่ผู้ปรารถนาแสวงหาปัญญาอันเลิศ อันทั่วถึง อันแทงตลอด ฯลฯ



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 19, 2009, 01:34:57 PM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #10 เมื่อ: พฤษภาคม 19, 2010, 11:18:27 PM »


          ในทางหนึ่ง ผู้มีจิตอันสำคัญ มั่นหมาย หรือน้อมไป ในกาย เวทนาย่อมเกิดในกายนั้น

          ในอีกทางหนึ่ง เวทนา เมื่อเกิดในกายใด จิต ย่อมสำคัญ มั่นหมาย หรือ น้อมไป ในกายนั้น

          ดังนั้น ตัณหา ย่อมมีความเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง หรือเป็นปัจจัยแก่กันได้มาก กับทิฐิ

          เรากล่าวอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ยังไม่รู้ชัดในความดับไปแห่งเวทนาในกายใด ย่อมยังไม่ล่วงพ้นไปจากทิฐิในกายนั้นได้

          ธรรมบางพวก รู้ได้ ด้วยความประมวล หรือ โดยปริยาย แต่ธรรมบางพวก รู้ได้ ด้วยการพิสูจน์แล้วแก่ตน เท่านั้น

          อนึ่ง ความไม่รับรู้ หรือความไม่ระลึกได้ในกาย ยังไม่ใช่ความรู้ชัดถึงความดับไปแห่งเวทนาในกายนั้น


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #11 เมื่อ: มิถุนายน 10, 2010, 01:50:18 PM »


          การทำสมาธิหลังตื่นนอนใหม่ๆนั้น ข้อดีคือ อารมณ์มักเบา ปลอดโปร่งกว่าหลังเลิกงานที่จิตมักสะสมมามากในอารมณ์ และนิวรณ์อยู่ภายในจิต อีกทั้งความตื่นตัวมักมีมากกว่า (สาเหตุหลักๆก็เนื่องมาจากสภาพร่างกายที่ได้พักผ่อนมาแล้ว ประกอบกับธรรมชาติของระบบร่างกายที่มักจะตื่นตัวในตอนกลางวัน ทำให้ระบบประสาท ความคิด ตื่นตัวดี) แต่ก็ด้วยความตื่นตัวที่มีมากนี่เอง จึงเป็นเหตุให้ถึงแม้ว่าอารมณ์จะยังเบาบางอยู่ แต่มักจะมีลักษณะอาการที่ค่อนข้างฟุ้งๆอย่างค่อนข้างรวดเร็ว กำหนดให้ทันได้ยาก คล้ายสติลอย ต้องค่อยๆตั้งสติให้สำรวมดีเสียก่อน จึงจะกำหนดเท่าทันอาการต่างๆเหล่านั้นได้ดี ควรทำความสำรวมจิตเข้าให้มาก

          ส่วนการทำสมาธิก่อนนอน หรือในตอนกลางคืนนั้น ข้อดีคือ ความตื่นตัวมักมีน้อยลง มักเป็นเพราะเหตุจากความเหนื่อย หรือล้า จากกระทำการงานในระหว่างวัน อาจประกอบกับปกติของระบบร่างกายมนุษย์ที่มักมีความตื่นตัวลดลงในเวลากลางคืน จึงเป็นเหตุให้การทำสมาธิในตอนกลางคืนมักรู้สึกสงบได้ง่ายกว่า (ยกเว้นบางกรณี เช่น ในระหว่างวันมีการสั่งสมความวิตกกังวลที่ค่อนข้างมาก หรือมีกำลังแรง ฯลฯ) แต่ในขณะเดียวกัน ความอ่อนเพลียทางร่างกาย และความล้าทางจิตใจที่เกิดจากการทำธุระหน้าที่ในระหว่างวันนั้น ก็อาจเป็นเหตุของนิวรณ์ได้มาก ที่มักเป็นอุปสรรคโดยทั่วไปก็คือ ความง่วง ความเคลิ้ม จนเป็นเหตุให้ สติ เคลื่อนไปจากกรรมฐานที่ตนกำหนดอยู่ได้ ควรทำจิตให้ตั้งมั่น ปล่อยวางอารมณ์ และความวิตกกังวล จนกระทั่งสติค่อยๆกระจ่าง มีกำลังมากขึ้นตามลำดับ จนไม่ไหลตามเวทนา หรือถูกเวทนาครอบงำจิตไว้ได้


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #12 เมื่อ: ตุลาคม 07, 2010, 03:38:43 PM »


          นักภาวนาบางท่าน เมื่อปฏิบัตินานไป ด้วยความเพียร บางครั้งก็อาจเกิดผลให้จิตเข้าสู่สภาวะอารมณ์บางอย่าง ที่ให้ความรู้สึกว่า ว่างเปล่า ไม่มีอะไร ไม่เหลืออะไร ดับสนิท ไม่มีความคิดใดๆ ฯลฯ แต่ไม่ได้หลับ เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดได้ด้วยปัจจัยหลายประการประกอบเข้าด้วยกัน เช่น กำลัง หรือความประณีตว่องไว ของสติ หรือ สมาธิ หรือ นิวรณ์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามพละอินทรีย์ของแต่ละบุคคล และสภาวะธรรมอันตนเข้าถึงอยู่ในเวลานั้น และด้วยประสพการณ์ที่ตนเห็นว่าเป็นความว่างนี้เอง มักเป็นเหตุให้นักภาวนาบางท่านเข้าใจผิดไป ว่าบรรลุความเป็นอริยะบ้าง บรรลุความเป็นอรหันต์บ้าง ฯลฯ ตามทิฐิ ประสบการณ์ และความเข้าใจของแต่ละบุคคล ยิ่งถ้าเป็นผู้ห่างกัลยาณมิตร หรือครูบาอาจารย์ที่บริสุทธิ์ ที่รู้จริง คอยชี้แจงด้วยแล้ว ก็มักจะยากที่เจ้าตัวจะรู้ได้ว่า ที่ตนเข้าใจนั้น แท้จริงแล้วยังไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะประสบสภาวะนั้นจริง ด้วยตนเองจริงๆ ก็ตาม

          ความว่างที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้น เช่นว่า สุญญตาธรรม สุญญตาวิหาร หรือสุญญตาสมาบัติ ทั้งหลายนั้น ท่านตรัสอธิบายว่าเป็นความว่างอันบริสุทธิ์ เป็นความว่างอันไม่คลาดเคลื่อน เป็นความว่างที่รู้ชัด หมายถึงความว่างที่รู้ชัด ไม่คลาดเคลื่อน ว่าว่างจากอะไร อะไรที่ว่างไป พร้องทั้งรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ ที่เป็นอยู่ ่ตามความเป็นจริง ไม่ใช่สักแต่ว่าว่างๆ สักแต่ว่าว่างเปล่า อันเกิดจากเหตุว่าสติของตนกำหนดไม่ได้ หรือไม่ชัดเจน

          ความว่างที่บริสุทธิ์ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น เป็นความรู้ได้ด้วยปัญญา เป็นวิชชา เป็นความรู้แจ้ง รู้แจ้งอะไร? ก็รู้แจ้งในสิ่งที่ดับไป ว่างไป และรู้แจ้งในสิ่งที่เหลืออยู่ หรือยังมีอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความรู้แจ้งด้วยปัญญาว่า สิ่งอันดับไปนั้น ดับไปด้วยเหตุป้ัจจัยอย่างไร และเมื่อจะเกิดขึ้นอีก จะเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยเหตุปัจจัยอย่างไร ฯลฯ เป็นต้น ไม่ใช่พอเห็นว่าว่างเปล่าไปหมด ก็แสดงว่ากิเลส สังโยชน์ และอาสวะ ดับไปแล้วทั้งหมด ที่จริงแล้วความว่างอย่างที่เห็นว่าไม่มีอะไร ไม่รู้สึกอะไร ไม่มีสิ่งใด เบาสบาย มีแต่ว่างๆไปหมดนั้น จะอาศัยอะไรเป็นเครื่องจำแนกได้ว่า เป็นโมหะอยู่หรือไม่ อย่างไร ก็ธรรมที่ได้ชื่อว่าโมหะนั้น เป็นธรรมที่มีสภาพปิดบัง บดบัง บางส่วนบ้าง ทั้งหมดบ้าง ทำให้ไม่เห็นสภาพตามความเป็นจริง สิ่งที่มีอยู่ ก็ไม่รู้ชัดว่ามีอยู่ ปัญหาประเภทนี้ เมื่อเกิดกับผู้ภาวนาที่ปฏิบัติจริงจัง ครูบาอาจารย์บางท่านท่านเรียกว่า โมหะสมาธิ ไม่ได้หมายถึงว่า สมาธิ คือ โมหะ แต่หมายถึงสภาพที่ผู้ปฏิบัติรู้สึกสงบ หรือรู้สึกว่างเปล่า ด้วยอำนาจแห่งโมหะอยู่ต่างหาก หรือแม้แต่ผู้ที่ภาวนาได้ดี จนจิตสงบลง บรรลุฌานสมาบัติขั้นต่างๆไป จนถึงจุดหนึ่ง ก็เข้าถึงสภาพที่ตนจำแนกได้เพียงว่าเป็นความว่างเปล่า เป็นความดับ เป็นสภาพที่ไม่เหลืออะไรอยู่เลย ฯลฯ ก็เข้าใจว่าบรรลุที่สุดแห่งธรรม ทั้งๆที่ในหลายกรณี เป็นเพียงการบรรลุถึงฌานสมาบัติขั้นที่สงบ ละเอียด ลึกซึ้งเกินกว่ากำลังสติของตนจะกำหนดได้เท่านั้นเอง กล่าวคือ เห็นความดับไปขององค์ธรรม หรือสภาวะธรรมที่ปรากฏอยู่ก่อนหน้า นั่นเอง แต่ยังไม่มีกำลังสติมากพอที่จะกำหนดได้ในองค์ธรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ในจิตตนในขณะนั้นได้ จึงสำคัญผิดไป ว่าไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย

          ดังนั้น ผู้ปฏิบัติภาวนาทั้งหลาย จึงควรเป็นผู้รอบคอบ แยบคาย มีความเพียรอันชอบ อย่าหลงประมาทไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยความถือดีในตน หรือแม้แต่ด้วยความปีติในธรรมก็ตาม หมั่นสอบทาน หรือตรวจสอบจิตใจของตนให้ดี อย่าปักใจเชื่อเพียงเพราะประสพการณ์ของตนนั้น ตีเป็นคำพูดแล้วปรากฏว่า ตรงกับคำบางคำในตำรา หรือตรงกับคำบางคำของครูบาอาจารย์ ก็ตาม


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« ตอบ #13 เมื่อ: มกราคม 06, 2011, 05:37:36 PM »


          สำหรับผู้มีความเพียรในการกำหนดภาวนาจิตตนอย่างถูกต้อง มาพอสมควรแล้ว แต่มักปรากฏว่า ในการทำกรรมฐานแต่ละครั้งนั้น มักได้ผล หรือปรากฏเป็นสภาพ เป็นสภาวะ ที่แตกต่างกันออกไป ไม่คงที่เหมือนเดิมทุกครั้ง ทั้งๆที่มีความชำนาญในฐานของตนมาประมาณหนึ่งแล้วก็ตาม อุบายอย่างหนึ่งที่ควรลองพิจารณาดูก็คือ สภาพทั้งหลายที่ปรากฏเป็นผัสสะได้ หรือรับรู้ได้ด้วยผัสสะนั้น เช่นว่า รูปสภาวะที่ปรากฏแก่จักษุก็ตาม ทรรศนะก็ตาม เวทนาก็ตาม หรือธรรมมารมณ์ทั้งหลายอันปรากฏแก่จิตใจก็ตาม ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่มีความเกิดดับ หรือปรวนแปรไปตามเหตุปัจจัยอยู่ เป็นธรรมดา เป็นสามัญลักษณะ ควรพิจารณาจำแนกให้ดีว่า ที่ปรวนแปรไม่เป็นไปตามคาดหมายทั้งหลายนั้น เป็นด้วยเหตุแห่งจิต หรือเจตนาของเราเองในขณะที่กำหนดจิตเจริญกรรมฐานนั้นอยู่หรือไม่ หรือเป็นเพราะเหตุอื่น หรือเป็นเพราะเหตุก่อนหน้า สิ่งที่เราพึงกระทำเมื่อปฏิบัติภาวนาอยู่นั้น คือ การกำหนดเหตุในปัจจุบันให้ถูกต้อง ให้สม่ำเสมอ และเที่ยงตรงต่อเจตนาที่เราต้องการกำหนดอยู่ในกรรมฐานนั้น ส่วนธรรม หรือธรรมมารมณ์ อันไม่พึงประสงค์ อันเป็นอยู่ด้วยเหตุก่อนหน้า(เช่น การเผลอฟุ้งซ่านไปในอกุศลต่างในช่วงระหว่างวัน ก่อนหน้าที่เราจะมากำหนดกรรมฐาน ฯลฯ เป็นต้น) ให้ละไป ให้เว้นไป ส่วนผลสืบต่อมาอ้ันยังไม่ดับไปด้วยว่าเหตุที่ส่งมายังไม่สิ้นกำลังลงนั้น ให้อุเบกขาไป ให้มุ่งเพียรจดจ่ออยู่แต่เฉพาะในเหตุที่เราตั้งใจจะกำหนดอยู่ในกรรมฐาน ในปัจจุบัน

          ในทางหนึ่ง การปฏิบัติอบรมกรรมฐานนั้น เป็นหน้าที่การงานที่เราศึกษาอยู่กับสภาพ สภาวะ หรือกับสิ่ง ที่ไม่เที่ยงอยู่แล้ว เป็นธรรมดา เพราะขันธ์ ๕ หรือองค์ประกอบทั้งหลายของความเป็นชีวิตนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความปรวนแปรไปเป็นปกติอยู่แล้ว และสิ่งที่เรารับรู้อยู่ภายในจิตตนเมื่อตั้งจิตเป็นกรรมฐานอยู่ดีแล้วนั้น ก็ล้วนแล้วแต่ประกอบอยู่ในขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะพิจารณาโดยนัยยะแห่งความเป็นขันธ์ ๕ อยู่หรือไม่ก็ตาม ดังนั้น สภาวะธรรมทั้งหลาย หรือธรรมทั้งหลายอันปรากฏเป็นสภาวะแก่จิตอยู่นั้น จึงมีปกติที่ไม่เที่ยง แล้วแต่ว่า แต่่ละบุคคลจะพิจารณาเห็นให้เพียงใด ตามกำลัง ตามภูมิ ตามอำนาจแห่งทัศนะ หรือตามอินทรีย์แห่งตนในขณะนั้นๆ แต่อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางแห่งความปรวนแปรทั้งหลายทั้งปวงอันปรากฏ พิจารณาเห็นได้อยู่ ในกรรมฐานอันตั้งไว้ดีแล้วนั้น ผู้มีจิตใจอันสงบ ตื่น ตั้งมั่น และแยบคาย ย่อมสามารถพิจารณารู้ได้ถึงธรรมอย่างหนึ่ง ที่ไม่เคยปรากฏว่าปรวนแปรไปตามสภาพอันปรวนแปรทั้งหลายนั้นอยู่เลย มีอย่างนั้นอยู่เสมอ เป็นอย่างนั้นอยู่เสมอ เป็นความจริง เป็นหลักการ เป็นสัจจะธรรม อันรู้ได้ด้วยปัญญา ที่ต้องรู้ด้วยปัญญาก็เพราะเหตุว่า เป็นธรรมอันไม่ปรากฏในผัสสะ เพราะธรรมอันอาศัยผัสสะเกิดนั้น จะหาแม้แต่สิ่งเดียว ที่เที่ยงแท้อยู่เสมอนั้น ไม่มีเลย ส่วนธรรมอันเป็นสัจจะ เป็นหลักการ รู้ได้ด้วยปัญญานี้ ถึงแม้ว่าเป็นธรรมที่ไม่ปรากฏในผัสสะ ไม่เกิดในผัสสะ ไม่รู้ได้ด้วยผัสสะ แต่เป็นธรรมที่มีอยู่จริง เที่ยงแท้แน่นอน มีอยู่เสมอ พิสูจน์ได้จริง ด้วยจิตอันแยบคาย อันอบรมไว้ดีแล้ว เท่านั้น เพียงแต่ รู้เห็นได้ยากแก่บุคคลทั่วไป ดังนั้น คนโดยมาก จึงไม่เห็น


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 10, 2011, 12:51:23 PM โดย Sing » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.289 วินาที กับ 19 คำสั่ง