ข่าว: SMF - Just Installed!
 
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
+  กระดานธรรมะ
|-+  กระดานสนทนาธรรม
| |-+  ชี้แจงข้อธรรม
| | |-+  ในรูปฌาน และอรูปฌาน พิจารณาไม่ได้ ?
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ในรูปฌาน และอรูปฌาน พิจารณาไม่ได้ ?  (อ่าน 5139 ครั้ง)
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2008, 05:31:41 PM »

          ในปัจจุบัน เนื่องด้วยเหตุบางประการ ทำให้เกิดความเชื่อหลากหลายในเรื่องนี้ เช่นว่า ระดับของสมาธิที่สอดคล้องกับสัมมาสติ หรือเหมาะแก่การพิจารณาธรรม ก็คือ ขณิกะสมาธิ (คือสมาธิในขั้นต้น เป็นสมาธิแบบไม่ปะติดปะต่อ หรือสมาธิแบบเป็นขณะๆ) โดยให้เหตุผลว่า จิตเกิดดับเป็นขณะๆ ดังนั้น สติ ที่จะเข้าไปรู้อาการเกิดดับของจิตนั้น ก็ควรเป็นสมาธิแบบเป็นขณะๆ ด้วยเช่นกัน หรือบางกลุ่มก็เชื่อว่า อุปจาระสมาธิ(สมาธิระดับเฉียดฌาน แต่ไม่ถึงฌาน) ดีที่สุด เพราะมีสมาธิมาก แต่ถ้าเป็นฌานแล้ว พิจารณาอะไรไม่ได้เลย ได้แน่นิ่งๆ แข็งๆ คิดไม่ได้ จำแนกอะไรไม่ได้ ฯลฯ หรือบางกรณีก็อ้างว่า เมื่อจิตสงบ เป็นฌาน หรือเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว จะไปเหลืออะไรให้รู้ จะเหลืออะไรให้ดู จะเหลืออะไรให้พิจารณา ฯลฯ เป็นต้น บ้างก็ว่า เป็นฌานได้ แต่ต้องไม่เกินปฐมฌาน โดยอ้างเหตุผลว่า เพราะในปฐมฌาน มีองค์ฌาน คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข และเอกัคคตา และเมื่อมีวิตก และวิจารณ์ อยู่ ก็แสดงว่า ยังคิดพิจารณาธรรมได้อยู่ หรือบางทีก็เชื่อว่า เกินกว่าปฐมฌาน(รูปฌานขั้นที่หนึ่ง)ได้ แต่ต้องไม่เกินจตุถฌาน(รูปฌานขั้นที่สี่) กล่าวคือ ในรูปฌาน ยังพิจารณาธรรมได้ แต่ในอรูปฌาน พิจารณาอะไรไม่ได้ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้บางส่วน ก็ยังขัดแย้งอยู่กับหลักทางพระอภิธรรม อย่างไรก็ดี ลองพิจารณาข้อความบางตอนจากพระไตรปิฏกประกอบดู ดังนี้



พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

๔. มหามาลุงโกฺยวาทสูตร
ทรงโปรดพระมาลุงกยะและพระอานนท์
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕


             [๑๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เราแสดงแล้วได้หรือไม่? เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว.
             ดูกรมาลุงกยบุตร ก็เธอจำโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เราแสดงแล้วว่าอย่างไร?
             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วอย่างนี้.


                                      ..............  ฯลฯ  ............


                                                 รูปฌาน ๔
             [๑๕๗] ดูกรอานนท์ มัคคปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เป็นไฉน? ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมเพราะอุปธิวิเวก เพราะละกุศลธรรมได้ เพราะระงับความคร้านกายได้โดยประการทั้งปวง บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในกาย ในสมาบัตินั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของมิใช่ตัวตน. เธอย่อมเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้น ครั้นเธอเปลื้องจิตจากธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตไปในอมตธาตุว่า ธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท เป็นที่ดับกิเลส และกองทุกข์ดังนี้. เธอตั้งอยู่ในวิปัสสนา อันมีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์นั้น ย่อมบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมเป็นโอปปาติกะ ๑- จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความยินดี ความเพลิดเพลินในธรรมนั้น และเพราะสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง ๕ ดูกรอานนท์ มรรคแม้นี้แล ปฏิปทาแม้นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕.
             ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่.
             ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข.
             ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. เธอพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในภายในสมาบัตินั้น ฯลฯ เพื่อละสังโยชน์

                                                   อรูปฌาน
             [๑๕๘] ดูกรอานนท์ ภิกษุบรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา และเพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในฌานนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของไม่มีตัวตน. เธอให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตเข้าหาธาตุอันเป็นอมตะว่า นั้นมีอยู่ นั่นประณีต คือสงบสังขารทั้งปวง สละคืนอุปธิทั้งปวง สิ้นตัณหา ปราศจากราคะ ดับสนิท นิพพาน เธอตั้งอยู่ในฌานนั้น ย่อมบรรลุการสิ้น ถ้าไม่บรรลุ จะเป็นโอปปาติกะ๑ พระอนาคามี ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ด้วยความเพลิดเพลินในธรรมนั้น ด้วยความยินดีในธรรมนั้นแล ดูกรอานนท์ มรรคแม้นี้ ปฏิปทานี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
            ดูกรอานนท์ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุดอยู่. เธอพิจารณาธรรมเหล่านั้น คือเวทนา ซึ่งมีอยู่ในฌานนั้น ฯลฯ เพื่อละสังโยชน์. อานนท์ ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะ บรรลุอากิญจัญญายตนะด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งย่อมไม่มีอยู่. เธอพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในอรูปฌานนั้น โดยความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นไข้ เป็นอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่มีตัวตน. เธอให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้น เธอรั้นให้จิตดำเนินไปด้วยธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมน้อมจิตเข้าหาธรรมธาตุอันเป็นอมตะว่า นั่นมีอยู่ นั่นประณีต คือการสงบสังขารทั้งปวง การสละคืนอุปธิทั้งปวง ตัณหักขยะ วิราคะ นิโรธ นิพพาน ดังนี้. เธอตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนะนั้น ย่อมถึงการสิ้นอาสวะ ถ้าไม่ถึงการสิ้นอาสวะ จะเป็นโอปปาติกะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เพราะความเพลิดเพลินในธรรม เพราะความยินดีในธรรมนั้นนั่นแล. ดูกรอานนท์
มรรคปฏิปทานี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

                              -------------------------------------------------------



         ดังพระสูตรที่แสดงมานี้ สังเกตว่า ประการแรก พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้วว่า ในรูปฌานทั้งสี่ และอรูปฌานทั้งสี่ บุคคลสามารถ "พิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในกาย ในสมาบัตินั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง" สังเกตว่า ท่านไม่ได้สอนให้ถอยออกมาจากฌานก่อนค่อยพิจารณา
          ประการที่สอง พระองค์ยังทรงแสดงว่า ในฌานทั้งหลายนั้น นอกจากองค์ฌานที่คนทั่วไปรู้กันอยู่แล้ว ยังประกอบอยู่ด้วยสิ่งอื่นด้วย เช่น "รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีอยู่ในกาย ในสมาบัตินั้น" มิใช่ดั่งที่บางคนเข้าใจกันอย่างเช่นว่า ในจตุถฌาน มีแค่ อุเบกขา และ เอกัตคตา เท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นอีก ที่จริง ยังมีพระสูตรอื่นอีก ที่ท่านจำแนกองค์ประกอบของจิตที่อยู่ในฌานว่า มีองค์ประกอบมากกว่าที่จำแนกไว้ในพระสูตรนี้อีก แต่ไม่ได้ยกมา เพราะเกรงว่า หากยกมายาวเกินไป จะไม่ค่อยอยากอ่านกัน
          ประการที่สาม ท่านระบุชัดว่า ผู้ที่พิจารณาเห็นธรรมต่าง ในขณะที่บรรลุฌานต่างๆนั้น สามารถละสังโยชน์ได้ หมายถึง บรรลุเป็นพระอริยะได้ ถ้าบรรลุไม่ถึงพระอรหันต์ ก็สามารถบรรลุถึงพระอนาคามีได้(ละสังโยชน์ ๕ ประการได้)
          ประการที่สี่ ท่านระบุชัดว่า ผู้ที่บรรลุถึงอรูปฌานต่างๆ ก็บรรลุธรรม ละสังโยชน์ได้ โดยหลักการเดียวกัน

          ฯลฯ

          
          ข้อทุกท่านได้พิจารณาธรรม โดยธรรม อย่าพิจารณาด้วยความเชื่อเลื่อนลอย ด้วยอคติ ด้วยได้ยินต่อๆกันมา หรือด้วยความงมงานในบุคคลเลย



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 24, 2010, 01:17:02 AM โดย zen » บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.096 วินาที กับ 19 คำสั่ง