ข่าว: SMF - Just Installed!
 
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
+  กระดานธรรมะ
|-+  กระดานสนทนาธรรม
| |-+  ชี้แจงข้อธรรม
| | |-+  สติ สัมปชัญญะ ไปสู่ศีล สมาธิ และปัญญา
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้ « หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] ลงล่าง พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: สติ สัมปชัญญะ ไปสู่ศีล สมาธิ และปัญญา  (อ่าน 13911 ครั้ง)
zen
Administrator
Sr. Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 351


« เมื่อ: มีนาคม 05, 2010, 01:25:56 AM »


          สติ เฉยๆ คือ ความระลึกรู้ หรือความระลึกได้

          ส่วน สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ อย่างไรคือระลึกชอบ? ความระลึกชอบ ก็คือ สภาพที่ สติตั้งมั่น ส่วนสติปัฏฐาน นั้น เป็นสภาพที่สติมั่นคง

          อย่างไรจึงเป็นสภาพที่สติตั้งมั่น? ก็คือ อาการที่รู้ หรือระลึกได้ โดยที่จิตไม่หลงไปตามสภาพของสิ่งที่รับรู้ หรือระลึกได้อยู่นั้น การที่เมื่อบุคคลเกิดโทสะ แล้วรู้ตัวว่ามีโทสะอยู่ แต่ก็ยังรู้สึกโกรธอยู่ดี การรู้อย่างนี้ไม่เรียกว่า สติตั้งมั่น การรู้อย่างนี้ ยังเรียกว่า จิตยังหลงอยู่ ไม่ได้ชื่อว่าจิตตั้งมั่น ไม่ได้ชื่อว่าสติมั่นคง ไม่ได้ชื่อว่ารู้อย่างเป็นกลาง และเมื่อจิตยังหลงไปตามโทสะนั้นอยู่ เวทนาย่อมยังมีในโทสะนั้นอยู่ ไม่ดับไป ไม่ถอดถอน หรือไม่สลัดคืนไป อย่างนี้ย่อมไม่ได้ชื่อว่า จิตเป็นอุเบกขาต่ออารมณ์นั้น เพราะจิตยังไม่พ้นไปจากอารมณ์นั้น ฯลฯ ธรรมารมณ์อย่างอื่น ก็โดยหลักการเดียวกัน

          เมื่อจิตยังไม่พ้นไปจากเวทนาในธรรมใด ย่อมยังไม่ได้ชื่อว่า อุเบกขา หรือ เป็นกลาง ต่อธรรมนั้น

          อย่างไรก็ดี ก็ไม่ใช่ว่า ทุกบุคคลจะต้องอุเบกขาต่อธรรมทุกอย่าง ทุกเวลาเสมอไป เพราะสำหรับผู้ที่ศึกษาปฏิบัติอยู่นั้น ควรเจริญ ควรน้อมไป ในกุศลธรรมให้มาก ส่วนอกุศลธรรม ควรต้องเพียรป้องกัน หรือกำจัด

          สัมปชัญญะ คือ ความจำแนกได้ในลักษณะที่ตนรู้อยู่ หรือปรากฏอยู่ เช่นว่า ดี หรือร้าย เป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษ เป็นธรรมที่ควรน้อมไป หรือเป็นธรรมที่ควรละเสีย ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้น สัมปชัญญะ เป็นธรรม หรือสภาพ ที่ต้องอาศัยประกอบกับสติ หากสติไม่ตั้งมั่น หรือไม่มั่นคง สัมปชัญญะ ย่อมคลาดเคลื่อน ย่อมไม่ถูกต้อง ดังนั้น หากสัมปชัญญะ จะถูกต้อง ก็ต้องอาศัยประกอบกับสติ ที่ตั้งมั่น หรือมั่นคง นั่นเอง หากยังรู้ไม่ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงของสิ่งใด การจำแนกแยกแยะคุณสมบัติ หรือความเหมาะสมในสิ่งๆนั้น ก็ย่อมคลาดเคลื่อนไปได้เป็นธรรมดา อุปมาเหมือนดั่งว่า การจะสรุปสมมุติฐานความเป็นจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาศัยข้อมูลที่รวบรวมมาผิดๆ ข้อสรุปก็ย่อมคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

          ศีล โดยรวมแล้ว ก็คือ ความไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น ทั้งด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี โดยทั่วไปแล้ว การจำแนกด้วยความประพฤติทางกายนั้น อาจจะยังไม่ยากเกินไปนักสำหรับบุคคลทั่วไปที่พยายามรักษาศีล ส่วนทางวาจานั้น ก็มักจะซับซ้อนขึ้นมาอีก เพราะไม่ได้หมายถึงคำโกหกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง วาจาทุจริต ทุกชนิดด้วย เช่น การนินทาว่าร้าย พูดจาส่อเสียด หรือยุแหย่ ฯลฯ เป็นต้น ก็จะจำแนกได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งถ้ากล่าวถึงการรักษาศีลไว้ ด้วยใจ ก็ยิ่งยากอย่างยิ่งแก่บุคคลทั่วไป เพราะความคิดที่ทุจริตในจิตใจมนุษย์โดยทั่วไปนั้น มักซับซ้อนอย่างยิ่ง รู้อย่างถูกต้อง จำแนกอย่างถูกต้อง ได้ยาก เหตุเพราะจิตที่ยังเจืออยู่ด้วยกิเลส ตัณหา อาสวะ มักไม่ตรง มักเจืออคติ เป็นไปด้วยทิฐิอันคด หรือไม่ก็กระด้าง หรือไม่ก็ทั้งสองประการ เพราะฉะนั้น สติยิ่งดี กล่าวคือ สติยิ่งมั่นคง สัมปชัญญะก็ยิ่งเที่ยงตรง การกำหนดศีล ก็สามารถที่จะถูกต้องได้มาก หากความที่จิตหลงไปตามอารมณ์อันเป็นกิเลสอกุศลยิ่งมีน้อยเท่าไร ความผิดศีล ก็คงจะมีได้น้อยลงเท่านั้น

           สมาธิ คือสภาพที่จิต หรือสติ ไม่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความที่สติ มีความมั่นคงดีแล้ว นั่นเอง ดังนั้น จึงมักกล่าวว่า สมาธิ คือความที่มีจิตตั้งมั่น นั่นเอง ก็เป็นความหมายเดียวกันกับที่ว่า มีสติตั้งมั่น ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น จิตที่เป็นสมาธิ ก็คือ จิต ที่มีสติตั้งมั่นอยู่นั่นเอง ส่วนจะตั้งมั่นอยู่ในสิ่งใด หรือในอารมณ์ใด ก็เรียกว่า เป็นสมาธิในสิ่งนั้น หรือในอารมณ์นั้น นั่นเอง ดังนั้น เมื่อสัมมาสติบริบูรณ์ สัมมาสมาธิ ก็ย่อมเกิด หรือบริบูรณ์ ดังนี้เอง ผู้มีสมาธิบริบูรณ์ แต่มีสติที่ไม่ตั้งมั่น จึงไม่ใช่ฐานะที่มีได้ สัมมาสติ จึงเป็นมรรคข้อที่ ๗ ส่วนสัมมาสมาธิ เป็นมรรคข้อที่ ๘ ส่วนผู้ที่เชี่ยวชาญสมาธิ แต่ไม่เกิดปัญญาในธรรมนั้น ย่อมควรพิจารณาย้อนไปตั้งแต่สัมมาทิฐิ ฯลฯ

          ส่วนปัญหาข้อที่มักเข้าใจกันคลาดเคลื่อน ว่า ผู้ที่บรรลุสมาธิ หรือฌาน ย่อมไม่มีสติ จึงเจริญปัญญามิได้นั้น เป็นความเข้าใจผิดที่อาจเกิดจากสาเหตุสำคัญของบุคคล ๓ จำพวกหลักๆ จำพวกแรกก็คือ ขาดสัมมาทิฐิ หรือสัมมาทิฐิยังไม่ถูกต้องมากพอ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จึงอาจเป็นเหตุทำให้คนบางพวก เมื่อบรรลุสมาธิแล้ว เกิดความสุข หรือความยินดีในสุขที่เกิดจากสมาธินั้น หรือติดใจในอำนาจอันวิเศษที่เกิดจากการบรรลุฌานนั้นๆ แล้วเพลิดเพลินไป เป็นเหตุให้ประมาท ขาดการพิจารณาหาทางออกอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ใช่เพราะไม่มีสติ ไม่ใช่เพราะระลึกจำแนกสิ่งใดไม่ได้เลย ก็หากระลึก หรือจำแนกไม่ได้นั้น จะมีเหตุให้บุคคลนั้นๆ ติดใจในสมาธิ หรือในฌานนั้น ได้อย่างไรกัน ดังนั้น บุคคลใดสำคัญว่า ในฌาน ไม่มีสติ ไม่รับรู้สิ่งใดเลย บุคคลนั้น ยังไม่ได้บรรลุฌานอย่างแท้จริงเลย จำพวกที่ ๒ ก็คือ บุคคลผู้ยังไม่บรรลุฌาน แต่หลงเข้าใจผิดว่าบรรลุฌาน อาจจะต้องทึกทักไปเองบ้าง หรือผู้อื่นรับรองให้ผิดๆว่าบรรลุบ้าง หรือทั้งสองประการบ้าง มีมักพบเห็นบ่อยๆ ก็คือ บางคน ทำสมาธิแล้ว เมื่อจิตใจเริ่มสงบลงถึงจุดหนึ่ง อารมณ์ หรือสภาวะในจิต เริ่มละเอียดประณีตลงถึงจุดหนึ่ง ด้วยความที่สติยังตั้งมั่นไม่มากพอ ก็ทำให้ความรับรู้เริ่มคลุมเคลือคลาดเคลื่อน จำแนกอาการไม่ได้ ประคองสติไว้ไม่อยู่ ก็จะเริ่มเคลิ้ม หรือที่เรียกว่า สติอ่อน หลายๆคนก็หลับไปในที่สุด แต่ไม่รู้ตัวว่าหลับ เมื่อถึงเวลาตื่น หรือรู้สติขึ้นมา ก็เข้าใจผิดว่า ออกจากฌานมา ก็อ้างว่าตนบรรลุฌาน หรือออกมาแล้วถามอาจารย์ อาจารย์ก็รับรองด้วยการเดา หรือด้วยความเข้าใจผิด หรือจะด้วยเอาใจศิษย์ก็ตาม ว่าเข้าฌานมาจริง บรรลุฌานแล้วจริง ผู้ได้รับการรับรองอย่างนั้นแล้ว ก็มักยินดีที่จะเชื่อตามนั้น ว่าจริง ฯลฯ บางพวก ประกาศว่าตนบรรลุสมาบัติทั้ง ๘ คือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ แล้ว ทั้งที่จริง ยังไม่บรรลุแม้แต่ปฐมฌาน ปัจจุบันนี้ ก็ยังเห็นอยู่ ส่วนจำพวกที่ ๓ ก็คือ ผู้ฟัง หรือเชื่อตามเขามา บุคคล ๒ ประเภทหลัง ก็เป็นธรรมดาที่จะจำแนกฌานอย่างผิดๆ เพราะพระพุทธองค์ก็ได้ทรงตรัสไว้แล้วว่า วิสัยของผู้ได้ฌาน นั้น เป็นหนึ่งในอจินไตย ๔ ประการ คือ เป็นสิ่งเหนือวิสัยของผู้ที่ยังไม่บรรลุ ที่จะคาดเดาเอาได้อย่างถูกต้อง ว่าอย่างนี้เป็นฌานจริง หรืออย่างนั้นไม่เป็นฌานจริง ดังนั้น ผู้ได้ฌานแล้วหลงฌาน อาจจะมีมาก แต่ ผู้ยังไม่ได้ฌาน แต่หลงผิดว่าได้ฌานแล้ว ยิ่งมีมากมายยิ่งกว่านัก หลวงปู่มั่นท่านจึงเคยสอนไว้ว่า ถ้าได้ฌานแล้ว อย่ามัวหลงอยู่ในฌาน ให้เจริญวิปัสสนาเพื่อต่อยอดให้บรรลุธรรมที่ประเสริฐยิ่งๆขึ้นไป จนบรรลุปัญญาอันเป็นที่สิ้นสุดแห่งกองทุกข์ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ยังไม่บรรลุ หรือเชี่ยวชาญในสมาธิ ท่านก็ยังเน้นอยู่เสมอ ว่าให้ทำสมถะ เช่นว่า ภาวนา พุท-โธ อย่าให้หย่อนยาน ส่วนหลวงพ่อพุธ ท่านก็ตอบปัญหาเรื่องที่คนมักกล่าวว่า ติดฌาน จนไม่เจริญปัญญา ท่านก็ตอบให้ว่า มีให้มันติดก่อนเถอะ ฯลฯ เป็นต้น

          เมื่อศีลมีพอแล้ว ย่อมละอกุศลธรรม น้อมไปในกุศลธรรม เมื่อจิต หรือสติ ตั้งมั่นในกุศลธรรมนั้นอยู่ สมาธิย่อมเกิด เมื่อสมาธิอันปลอดอกุศลธรรมนั้น มีพอแล้ว จิต หรือสติ ย่อมมั่นคงดีแล้ว ในกุศลธรรมนั้น ไม่มีจิตฟุ้งซ่านไปในอกุศลธรรมใดๆอีก เมื่อนั้น ย่อมได้ชื่อว่า มีสติอันมั่นคงดีแล้ว ย่อมเป็นผู้รู้อยู่อย่างเที่ยงตรง ไม่หลงไปตามอารมณ์กิเลศอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะมีสติรู้ธรรมในจิต อันปรากฏตั้งอยู่เฉพาะหน้า ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน ตามความเป็นจริง จึงได้ชื่อว่าเป็นจิตที่มีธรรมเอกผุดขึ้น เมื่อรู้ชัด และถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ปัญญาก็ย่อมเกิด เมื่อปัญญาเกิดแล้ว การพิจารณาค้นหาทางออกจากกองทุกข์ หรือวัฏฏะสังสารนี้ ก็ย่อมมีเหตุให้เป็นไปได้ บรรลุผลจริงได้ วิธีอื่นไม่มี จึงได้ชื่อว่า เป็นหนทางอันเอก แต่ อุบาย มีได้มาก เพราะสรรพสัตว์สั่งสมวิบากมาแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หากปัจจัยไม่บริบูรณ์พร้อมดังนี้ มรรคผลย่อมไม่มีได้ เป็นธรรมดา

          สรุปรวมความว่า สติ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะ สติเป็นอย่างไร จิตก็เป็นอารมณ์ไปตามอย่างนั้น เมื่อจิตจะเจริญศีล สมาธิ หรือปัญญาก็ดี ย่อมอาศัยสติเป็นธรรมอันประกอบอยู่ทุกกระบวนการ หากสติไม่ดี ศีล สมาธิ และปัญญา ก็ไม่ดี หากสติดี คือ ตั้งมั่น หรือมั่นคงพอ การเจริญศีล สมาธิ และปัญญา ก็จะเป็นไปได้มาก นี่เอง ก็คือ ความสำคัญของสติ และสัมปชัญญะ ดังนั้นแล้ว ผู้เข้าใจว่า สติ สำคัญกว่าศีล สมาธิ ย่อมผิด หรือผู้ใดจะเข้าใจว่า เมื่อมีสติแล้ว ไม่ต้องสำคัญศีล และสมาธิ ก็ผิด หรือผู้ใดจะเข้าใจว่า เมื่อมีสติแล้ว ปัญญาย่อมเกิดได้เอง โดยไม่ต้องบริบูรณ์ในศีล และสมาธิ ก็ย่อมผิด หรือบุคคลใด ที่สำคัญอย่างมุ่งมั่นว่า สติ และสมาธิ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปด้วยกัน หรือเป็นอริแก่กัน คือ เกิดพร้อมกันไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เจริญ คือ อบาย นั่นเอง เพราะที่แท้จริงแล้ว สติ อันถูกต้อง อันเป็นไปเพื่อความเจริญนั้น ก็คือ สติ อันเป็นไปเพื่อศีล คือ เว้นอกุศล และน้อมไปในกุศล และเป็นไปเพื่อสมาธิ คือ ความมั่นคงอยู่ในกุศลธรรมเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ต้องคอยระแวดระวังอกุศลธรรมแล้ว นั่นเอง ดังนั้น สติ อันเป็นอริ หรือห้ามไม่ให้เกิดปัจจัยอันเกื้อกูลให้บริบูรณ์ในศีล และสมาธิแล้ว ย่อมเป็นมิจฉาสติ อย่างแท้จริง ไม่เป็นไปเพื่อปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อวิมุตติ ไม่เป็นไปเพื่อวิชชา

          สติ อันไม่ทนกิเลส ไม่ป้องกันกิเลศ ไม่น้อมไปในกุศลธรรม ย่อมไม่ใช่ สัมมาสติ

          เหล่านี้ ก็คือคำอธิบายถึงคำว่า สติ และสัมปชัญญะ อันเป็นไปเพื่อ ศีล สมาธิ และปัญญาอันเป็นวิมุตติ อันเป็นวิชชา


บันทึกการเข้า

จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุนิพพาน ย่อมรู้ความเป็นไปของโลก ว่า เป็นเช่นนั้นเอง
แต่ พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเอง หรือเกิดขึ้นเอง หรือไม่มีเจตนา
แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้เพราะกำหนด มีได้เพราะเจตนา ในอนัตตา
ดังนี้ ผู้สำคัญว่า นิพพาน จะมีได้เพราะไม่กำหนด หรือเป็นไปเอง จะไม่รู้พระนิพพานธรรมได้เลย
หน้า: [1] ขึ้นบน พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.14 | SMF © 2006-2008, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 20 คำสั่ง