กระดานธรรมะ

กระดานสนทนาธรรม => สาระธรรมทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: zen ที่ กรกฎาคม 13, 2008, 03:00:58 PM



หัวข้อ: สัพเพเหระธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กรกฎาคม 13, 2008, 03:00:58 PM
ศีล  สมาธิ  ปัญญา


ศีล ได้ชื่อว่า เป็นการรักษาไว้
ศีล ตั้งขึ้นได้ ด้วยเจตจำนง
ความไม่หมิ่น ในสิ่งที่ทะยานได้ เรียกว่า ศีล

ผู้ใดรักษาศีล ได้บริสุทธิ์ สมาธิ ย่อมบังเกิดแก่เขาผู้นั้น


สมาธิ ในการใด คือ ความตั้งจิต ตั้งใจมั่น ในการงานนั้น ๆ
สมาธิ อันบุคคลรักษาไว้ดีแล้ว ย่อมเป็นเหตุป้องกันข้าศึก หรือธรรมอันเป็นอริ เช่น ความฟุ้งซ่าน สัดส่าย ฯลฯ เป็นต้น
สมาธิ ที่ตั้งไว้ดีแล้ว มั่นคงแล้ว ไม่ต้องคอยกำหนดเจตนาประคับประคอง ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในกาลนั้น ได้ชื่อว่า ฌาน และสภาวะอันประณีต ที่ผู้ทรงฌานพึงเข้าถึง เรียกว่า สมาบัติ และบุคคลผู้ตั้งอยู่ในสภาวะอันประณีตได้อย่างมั่นคงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อน้อมใจไปเพื่อความรู้เห็นในสิ่งอันประณีต เห็นได้ยาก ญาณ ย่อมปรากฏแก่เขา ในกาลนั้น

ผู้ใดรักษาสมาธิได้บริสุทธิ์มั่นคงแล้ว ปัญญา  ย่อมบังเกิดแก่เขาผู้นั้น


ปัญญา โดยนัยยะหนึ่ง มีลักษณะคือ การตัด การปล่อยวาง หรือการไม่ยึดมั่นถือมั่น
ปัญญา โดยทั่วไป คือความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งต่างๆ หรือในธรรมต่างๆ
ปัญญา มีหลายลักษณะ บางทีก็จำแนกเป็นระดับต่างๆ เช่น ปัญญา ดี  ปัญญา ทราม  หรือไม่มีปัญญา  หรือ เช่น โลกียะปัญญา  โลกุตตระปัญญา  ฯลฯ เป็นต้น
ปัญญา อันเกิดจากการรู้ เห็น เข้าใจ ในสิ่งที่รู้ เห็น เข้าใจได้ยาก กล่าวคือ ความรู้ เห็น เข้าใจ ในสิ่งอันละเอียด สุขุม ประณีต อันเป็นสิ่งยากที่บุคคลทั่วไปจะพึงรู้เห็น หรือเข้าใจได้ นี้ เรียกว่า ปัญญาญาณ
หรือ ปัญญา ในความรู้อันยิ่ง หรือ ปัญญา อันยิ่งใหญ่บางประการ บางทีก็เรียกว่า อภิญาญาณ
หมายถึง อภิ - ปัญญา - ญาณะ

ผู้บรรลุปัญญา อันบริสุทธิ์ ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในศีล และสมาธิ อยู่ เป็นปกติ เป็นธรรมดา


เหล่านี้ เป็นธรรมอันควรกำหนดรู้





หัวข้อ: มายา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 01, 2008, 03:19:22 PM
ไม่ว่าจะเคยเห็นอยู่ ว่าเป็นจริง ชัดเจน แน่นอน สักเพียงใดก็ตาม
ความฝัน ก็คือ ความฝัน เป็นสิ่งปรวนแปร ไม่อาจไขว่คว้า อาศัย ยึดเหนี่ยว หรือครอบครอง ได้มั่นคงอย่างแท้จริงเลย
เมื่อไม่เป็นไปดังคาดหวัง สรรพสัตว์โดยมาก จักทะยาน จักเบียดเบียน จักคร่ำครวญไป ฯลฯ โดยกาลช้านาน

ผู้กำหนดรู้ชัดในความนี้ โดยไม่มีคาดเดา และไม่ทะยาน ย่อมรู้สึกตัว ย่อมได้ชื่อว่า ตื่น จากความฝัน






หัวข้อ: ฌาน ความฟุ้งซ่าน และความคิด
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 01, 2008, 11:41:31 PM
เมื่อฟุ้งซ่านอยู่ ไม่ชื่อว่า เป็นฌาน
ความคิด มีทั้งที่จัดว่าเป็นความฟุ้งซ่าน และที่ไม่จัดว่าเป็นความฟุ้งซ่าน
เพียงแค่มีความคิดมาก ยังไม่เป็นเหตุให้นับว่าฟุ้งซ่านอยู่
บางกรณี มีความคิดมาก แต่ไม่นับว่าฟุ้งซ่าน
บางกรณี มีความคิดน้อย แต่นับว่าฟุ้งซ่าน
ความฟุ้งซ่าน จัดว่า เป็นนิวรณ์
ความคิด กับนิวรณ์ ยังไม่นับเป็นสิ่งเดียวกัน และไม่นับที่จำนวนของความคิด
นิวรณ์ เป็นลักษณะอารมณ์ทางใจบางประการ ส่วนความคิด เป็นลักษณะของสังขารประการหนึ่ง
นิวรณ์ เป็นอารมณ์ทางใจ ที่มีลักษณะปรวนแปร เกิดขึ้นได้ แม้เมื่อพยายามเพ่งเล็งอยู่ในสิ่งที่ไม่ปรากฏลักษณะว่าปรวนแปร
ฌาน เป็นอารมณ์ทางใจ ที่มีลักษณะไม่ปรวนแปร เกิดขึ้นได้ แม้เมื่อเพ่งเล็งอยู่ในสิ่งที่ปรากฏชัดว่ามีลักษณะปรวนแปร เช่น สังขาร ทั้งที่หยาบ หรือประณีต

สีขาว ย่อมขับเน้น ให้เห็นสีดำชัด เพียงไร ฌาน ย่อมขับเน้น ให้เห็นนิวรณ์ชัีด เพียงนั้น





หัวข้อ: ญาณทัศนะ ตรรกะ และตาบอดคลำช้าง
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 02, 2008, 12:33:08 AM
ตรรกะ มีเพื่อประมวลสิ่งที่ยังไม่รู้ โดยอาศัยสิ่งที่รู้แล้ว ปรากฏแล้ว
ตรรกะ มีรากฐานประมวลมาจากประสพการณ์ หรือจากการเรียนรู้
ตรรกะ ในสิ่งที่ปรากฏแก่ตนแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการประมวล เข้าใจ
ตรรกะ ในสิ่งที่ยังไม่ปรากฏชัดแก่ตน ย่อมเป็นไปเพื่อการคาดเดา

ธรรมบางประการ รู้เพียงบางส่วน ก็นับว่า รู้ได้
ธรรมบางประการ รู้่ด้วยการประมวล คาดเดา ก็นับว่า รู้ได้
ธรรมบางประการ ต้องรู้ชัด ไม่มีคาดเดา เพราะปรากฏแก่ตนแล้ว จึงนับว่า รู้ได้
ธรรมประเภทหลังนี้ หากประมวล โดยมิได้ปรากฏแก่ตนแล้วโดยทั่วถึง ย่อมเปรียบเสมือนตาบอดคลำช้าง เฉกเช่นบุคคลที่รู้จักคนเพียงคนเดียว แล้วสรุปว่า เข้าใจคนทั้งโลกโดยครอบคลุม และทั่วถึงแล้ว นั่นเอง

หากธรรมอันเป็นเครื่องบริสุึทธิ์ หลุดพ้นไปจากความเวียนว่าย ตาย เกิด ในโลกทั้งหลายนี้ เป็นสิ่งรู้ได้เองไม่ต้องกำหนด หรือเป็นสิ่งกำหนดรู้ได้โดยง่าย โดยสะดวก โดยรวดเร็ว แก่บุคคลโดยทั่วไป สัตว์ทั้งหลายผู้เดือดร้อนอยู่ในโลกเป็นเวลาช้านาน ย่อมไม่มี แต่ที่จริงแล้ว สัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ ส่วนใหญ่ จักวนเวียนกันอยู่อีกช้านาน เพราะเมื่อมีธุลีในจักษุมาก ญาณทัศนะอันเลิศ ย่อมไม่ปรากฏแก่หมู่สัตว์นั้น ก็บุคคลบางจำพวก โลเล พยายามค้นหาหนทาง อันคาดหวังว่าจะเป็นทางลัด ทางสะดวก เพราะความเกียจคร้าน ไม่อดทน ก็ความเกียจคร้านนี้ เป็นหยากเยื่อแห่งอาสวะ ทิฏฐิ อันเป็นเหตุพอกพูนธุลีในจักษุ ก็เป็นธรรมดาว่า ธรรมอันเลิศ บริสุทธิ์ ย่อมไม่ปรากฏแก่จักษุแห่งชนเหล่านี้ เพราะเหตุว่า ธรรมอันเลิศ ย่อมปรากฏแก่จักษุอันเลิศ ธรรมอันบริสุทธิ์ ย่อมปรากฏแก่จักษุอันบริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากธุลีอันแปดเปื้อน

ดังนี้แล้ว เมื่อปรารถนาจะรู้ธรรมอันเลิศ บริสุทธิ์ ผู้ฉลาดย่อมกำหนด เฟ้น ร้กษา ขวนขวาย ไปในธรรมอันจักเป็นเหตุให้ญาณทัศนะอันเลิศ เป็นไปแก่เขา มิใช่คาดหวังว่า จะมีหนทางเห็นแสงสว่างได้ ด้วยนัยตาอันพร่ามัว ผู้ฉลาด ย่อมกำหนดรู้ว่า สิ่งนี้ มิใช่ฐานะอันพึงมีได้ ด้วยเหตุนี้ สติปัฏฐาน จึงมี





หัวข้อ: ปัญญา ความรู้
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 02, 2008, 01:05:08 AM
ปัญญาในสิ่งใด คือ ความรอบรู้ เข้าใจ ไม่ติดขัด ในสิ่งนั้น
บุคคลบางจำพวก เพราะมีศรัทธา จึงเข้าใจว่าตนรู้ในธรรมบางประการ สำคัญไปว่าธรรมนั้นถือว่าพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น
ก็จริงอยู่ว่า เราอาจกล่าวว่า ศรัทธา อาจเป็นปัจจัยให้บุคคลสามารถรู้ได้ เห็นได้ ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ก็กล่าวอีกว่า ศรัทธาอาจเป็นปัจจัยให้บุคคลรู้ไปผิดๆก็ได้ รู้ไปอย่างถูกต้องก็ได้ หรือรู้ไปอย่างถูกบ้างผิดบ้าง ก็ได้

บางหมู่ชน เห็นว่า ความรู้ คือ ปัญญา
ก็ความรู้ มีที่ผิดได้ มีที่ถูกได้ มีที่ผิดบางส่วน และถูกบางส่วนได้ เช่นกัน
คนบางพวก จำแนกไม่ถูกแม้กระทั่งความแตกต่างระหว่าง ทิฏฐิ และ ปัญญา
ปัญญาอันเป็นไปเพื่อพ้นไปจากปัญหาใด เมื่อบุคคลกำหนดรู้ในปัญญานั้นได้อย่างถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ควรติดขัดในปัญหานั้นซ้ำอีก แต่บุคคลบางพวก แม้มีทิฏฐิว่า เรารู้ในปัญญาข้อนั้นแล้ว แต่ในภายหลัง ก็ยังลังเล ยังติดขัดอยู่ในปัญหาเดิมได้อีก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็พยายามนึกหาเหตุผลไถลไป ไม่หยุด บุคคลเช่นนี้ ย่อมสุดโต่ง ไม่บรรลุแท้ในสิ่งอันเข้าใจว่าบรรลุแล้ว





หัวข้อ: วิชชา แสงสว่าง วิมุตติ
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 05, 2008, 12:35:08 PM
          วิชชา คือความรู้ ย่อมทำลาย อวิชชา คือสภาพปิดบัง ซ่อนเร้น

          วิชชา ในสิ่งใด เมื่อปรากฏแก่บุคคลใด บุคคลนั้นย่อมถึงซึ่ง วิมุตติ ในสิ่งนั้น หรือจากสิ่งนั้น

          วิชชา มิใช่สิ่งเกิดขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่อาศัยการกำหนดพิจารณาโดยแยบคาย เช่นเปรียบเทียบว่า นักวิชาการที่ฉลาด เมื่อได้สังเกตเห็นว่า ผลไม้ เมื่อหลุดจากขั้ว ย่อมตกลงบนพื้นเบื้องต่ำอยู่เสมอ ก็กำหนดพิจารณาโดยแยบคายได้ว่า พึงมีแรงกระทำ ที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก็เกิดปัญญา ความเข้าใจ และบัญญัติชื่อของแรงกระทำนั้นขึ้นมาว่า แรงโน้มถ่วง เมื่อเกิดปัญญา ความเข้าใจสภาพความเป็นจริงของสิ่งใด ย่อมกล่าวว่า เ็ป็นวิชชา ตัดอวิชชา ในสิ่งนั้น ในขณะที่คนทั่วไป ก็เห็นตรงกันอยู่ว่า ผลไม้ เมื่อหลุดจากขั้ว ย่อมตกลงบนพื้นเบื้องต่ำ เป็นธรรมดา แต่ คนส่วนใหญ่มิได้พิจารณาสัจจะอันเป็นเหตุแห่งปรากฏการณ์เหล่านี้ ดังนั้น ผู้รู้เห็นมีมาก แต่ผู้เข้าใจทั่วถึง หรือรู้แจ้งหลักการแห่งสัจจะ มีน้อย ก็เพราะเหตุว่า มิได้กำหนดใคร่ครวญโดยแยบคาย โดยทั่วถึง มากพอ
ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวว่า วิชชา มิใช่สิ่งเกิดขึ้นเอง แต่อาศัยการกำหนดพิจารณา โดยแยบคาย

          วิชชา ย่อมปรากฏเช่นแสงสว่าง ขับไล่ความมืดมิด ความคลุมเครือ หรือเมฆหมอก อันเป็นสภาพปรกคลุมปิดบัง ออกไปจากจิต ดังนี้แล้ว สภาพอันแท้จริงของโลก ของจักรวาล ย่อมปรากฏแก่จิต อวิชชา อันเป็นความหลง ความลืมเลือน ความทะยาน ความไม่เคารพในธรรม ย่อมถูกถอดถอน ด้วยแสงสว่าง วิทยา ความรู้แจ้งแทงตลอด ปราศจากสิ่งซ่อนเร้น ปิดบัง อำพราง เมื่อรู้อยู่ด้วยอาการเช่นนี้แล้ว จิตย่อมตื่นขึ้นจากมายา ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความคาดหวัง และการคาดเดา ความทะยานก็ย่อมดับ ความเคารพในธรรมก็ย่อมเกิด ก็ย่อมพ้นไปจากความหลงลืมอันเป็นเหตุแห่งการทำซ้ำ เมื่อพ้นไปจากการทำซ้ำเพราะหลงลืม เช่นนี้ก็ได้ชื่อว่า พ้นไปจากวิบาก พ้นไปจากความเกิดแก่เจ็บตาย ย่อมกล่าวว่า บรรลุถึงความเป็น อมตะ





หัวข้อ: นิพพานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 14, 2008, 03:52:56 PM
          พระนิพพาน คือ ความสงบยิ่ง
          พระนิพพาน เป็นธรรมสงัด สันโดษ
          พระนิพพาน เป็นบรมสุข เป็นแดนอันเกษม
          พระนิพพาน เป็นความอิสระยิ่ง
          พระนิพพาน เป็นอมตะธรรม เป็นไปทางเดียว หนเดียว ไม่มีซ้ำ

          พระนิพพาน เป็นธรรมสว่าง เป็นความรู้ยิ่ง ความรู้แจ้ง แทงตลอด พ้นไปจากความปิดบังซ่อนเร้น
          พระนิพพาน เป็นธรรมอันบริสุทธิ์ พ้นไปจากบาป บุญ คุณ โทษ ทั้งหลายในโลก
          พระนิพพาน เป็นธรรมเย็น พ้นไปจากความเร่าร้อนกระวนกระวายทั้งหลายในโลก

          พระนิพพาน เป็นความพ้นไปจากทุกข์ และสุข ทั้งหลายในโลก
          พระนิพพาน เป็นธรรมอันพ้นไปจากความทะยาน พ้นไปจากความหมิ่น
          พระนิพพาน เป็นธรรมพ้นไปจากความสุดโต่งทั้งสองฝ่าย
          พระนิพพาน เป็นธรรมอันพ้นไปจากอายตนะทั้งหลาย ไม่อาศัยอายาตนะใดๆเป็นที่ตั้ง ไม่อาศัยปัจจัยใดปรุงแต่ง พ้นแดนเกิด ไม่มีจุติ ไม่มีปฏิสนธิ ดังนั้น จึงเป็นธรรมอันไม่ปรากฏในตา หู จมูก ลิ้น ประสาทกาย และใจ ไม่ปรากฏในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส(การเสวย) ในกระทบสัมผัส และในธรรมมารมณ์(อารมณ์ที่กระทบใจ) แต่เป็นธรรมพิสูจน์ได้ บรรลุได้ ภายในตน

          พระนิพพาน เป็นประโยชน์สูงสุด ที่บุคคลจักพึงบรรลุได้ในโลก


          ผู้สำคัญตนว่า เป็นผู้แสวงหานิพพาน มีมาก แต่ ผู้แสวงจริงมีน้อย
          ผู้กล่าวว่า พระนิพพานควร พระนิพพานประเสริฐ มีมาก แต่ ผู้รู้แท้ว่าควรอย่างไร ประเสริฐอย่างไร มีน้อย
          พระนิพพานธรรม เป็นธรรมอยู่เหนือกระแส นอกกระแส อาศัยความหยุด ความย้อนทวน และความถอดถอนออกจากกระแสโลก ดังนี้ พระนิพพานธรรม จึงเป็นธรรมสงบจากโลก วิเวกสันโดษจากโลก ไม่เป็นไปตามกระแสโลก ดังนั้น เมื่อผู้คนมากมายพยายามมุ่งแสวงพระนิพพาน แต่กลับขวนขวายไปตามกระแสโลก แม้แต่ทิฏฐิว่า พระนิพพาน ผู้คนเหล่านั้น ก็ยังเข้าใจ ตีความกัน ไปตามกระแสโลก อันเชื่อต่อๆกันมา เป็นเหตุให้ธรรมอันควรสันโดษ ก็ไม่สันโดษ ธรรมอันควรสงบ ก็กลับวุ่นวาย สับสน ฟุ้งซ่าน ธรรมอันควรทวนกระแส ก็กลับเป็นไปตามกระแส ธรรมอันควรละออกจากอุปธิ ก็กลับพอกพูนอุปธิ ฯลฯ เช่นนี้แล้ว เราย่อมกล่าวตำหนิว่า พระนิพพานอย่างนี้ ไม่ดีเลย ตรงกันข้าม ธรรมอันไม่กล่าวอ้างคำว่า พระนิพพาน แต่เมื่อเจริญน้อมตามไปแล้ว กลับเป็นเหตุให้ย้อนทวนกระแส หรือแม้แต่เพียงแค่ทนทานต่อกระแสได้มากขึ้น ย่อมเป็นเหตุให้เจริญขึ้น เข้มแข็งขึ้น อ่อนแอน้อยลง หรือลดทอนความเสื่อมลงได้ เราย่อมกล่าวสรรเสริฐธรรมนั้นว่า ดียิ่ง
          บุคคลที่หลงยึดมั่นถือมั่นอยู่ในกระแสโลกอยู่ ย่อมเป็นไปโดยทุกข์ แม้กระนั้น เมื่อพวกเขาประสบกับโลกธรรมฝ่ายที่น่ายินดี เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ถึงแม้ทุกข์อยู่ พวกเขาก็สำคัญว่า สุข สำคัญว่า น่ายินดี สำคัญว่า ไม่มีทุกข์ เพราะไปสำคัญสุขในสิ่งอันเป็นมายา มิได้สำคัญสภาพทุกข์อันเป็นจริง อันเป็นสัจจะ อันปรากฏเป็นไปอยู่แม้แต่ในขณะที่สำคัญตนว่า สุขอยู่ หากไม่หมั่นอบรมจิตใจตนให้เข้มแข็ง ให้ทนทานได้ ไม่น้อมใจไปตามกระแสโลกธรรมทั้งหลายแล้ว ย่อมไม่เห็นทางออกจากวังวนอันดึงดูดใจสรรพสัตว์ทั้งหลายให้จมลงได้
          คนบางพวก สำคัญตนว่า ทำดีมามากแล้ว ทำบุญมาก สละทานมาก บริจาควัตถุปัจจัยมาก ถวายเครื่องบริขารเป็นอันมากแก่นักบวชที่ตนศรัทธา หรือแม้แต่ภาวนามามาก แต่จิตใจยังไม่พ้นบาปอกุศล มีธรรมดาอุปธิครอบงำ ไม่ทนทานต่อโลกธรรม มีปกติเพ่งเล็งผู้อื่น แท้จริงแล้วพวกเขาทำดีมาน้อยไป
          คนบางพวก ขาดแคลนทรัพย์สินเงินทอง บริจาคทรัพย์น้อย ช่วยเหลือผู้อื่นได้น้อย แต่มีใจสันโดษ ทนทานต่อโลกธรรมได้มาก มีความเพียร มีปีติ เราย่อมกล่าวว่า คนพวกนี้ ทำดีมาก
          คนบางพวก ไม่บริจาคทรัพย์ ไม่ให้สิ่งของผู้อื่น แต่แสดง สอน แก่ผู้อื่นให้สงบ ให้สันโดษ ให้อดทน ให้แยบคาย ให้งดโทษแก่ผู้อื่น ให้ขวนขวาย ให้พากเพียร เป็นไปสู่ปีติที่ไม่อาศัยโลกธรรมเป็นเครื่องล่อ แท้จริงแล้ว บุคคลจำพวกนี้ ให้ทรัพย์อันประมาณค่ามิได้ หาทรัพย์ใดในโลกมาเปรียบมิได้ เราย่อมกล่าวว่า บุคคลพวกนี้ ดียิ่ง บุคคลจำพวกนี้ ที่จริงแล้ว มิควรให้โภคทรัพย์แก่คนทั่วไป เพราะผู้รับจะต้องขวนขวายเป็นอย่างยิ่ง จึงจะรักษาไว้ได้ หากรับไว้ด้วยอกุศล เช่นความโลภ ครอบงำแล้ว จักเป็นเครื่องลำบาก

          บุคคล เมื่อหมั่นเจริญขวนขวายไปในบารมี ๑๐ คือ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา แล้ว ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้หมั่นทวนกระแสโลก ย่อมเป็นไปสู่ความเข้มแข็ง ย่อมมีธรรมดาไม่ตกต่ำในการวนเวียน และจักเป็นอุปการธรรมต่อการเจริญสู่ความพ้นไป คือ พระนิพพาน ในเบื้องปลาย






หัวข้อ: นิพพาน, เจตนา, ความเป็นเช่นนั้นเอง
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 15, 2008, 05:32:50 PM
          คนบางพวก เข้าใจว่า พระนิพพาน เป็นสิ่งกำหนดไม่ได้ ต้องเป็นไปเอง ต้องเกิดขึ้นเองเท่านั้น บางพวกก็หลงไปถึงขั้นว่า พระนิพพาน หรืออารมณ์พระนิพพาน นอกจากจะเป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นเองแล้ว ยังเป็นสิ่งที่เมื่อปรากฏขึ้นแล้ว จะต้องดับไปในเวลาอันสั้น รักษาให้อยู่นานไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะขัดกับกฏไตรลักษณ์(โดยนัยว่า สรรพสิ่งในโลก ล้วนเปลี่ยนแปลง เกิด ตั้งอยู่ ดับไป ตลอดเวลา ฯลฯ) แต่มิได้ใคร่ครวญโดยแยบคาย และทั่วถึง ว่า พระนิพพาน เป็นธรรมพ้นไปจากโลก เป็นธรรมอยู่เหนือโลก เป็นอมตะธรรม ไม่อยู่ในวิสัยของโลก ส่วนสัจจะอันกล่าวถึงไตรลักษณ์นั้น เป็นสัจจะที่ครอบคลุมความเป็นไปของโลก(อันหมายรวมถึงจักรวาล หรือภพภูมิทั้งสามที่สัตว์อาศัยวนเวียนอยู่ด้วย) หรือโลกธรรม เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงธรรมอันเป็นโลกุตตระ(ธรรมอันพ้นไปจากโลก จากการวนเวียน) อันหมายถึงพระนิพพานธรรม

          จริงอยู่ว่า ผู้บรรลุพระนิพพาน ย่อมรู้เห็นความเป็นจริงของโลกได้ว่า เป็นเช่นนั้นเอง อันหมายถึง เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามวิบาก ฯลฯ ไม่มีผู้บงการให้เป็นอย่างอื่นได้ แต่ นั่นมิได้แสดงว่า พระนิพพานธรรม เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเอง เป็นไปเอง เจตนาไม่ได้ ไม่เกิดขึ้นด้วยเจตนา และต้องดับไปเอง ตั้งอยู่นานไม่ได้ ก็แท้จริงแล้ว พระนิพพาน มีได้ด้วย กำหนด มีได้ด้วยความน้อมไป มีได้ด้วย เจตนา แต่เป็นเจตนาใน อนัตตา(เจตนาใน อนัตตา เป็นเหตุแห่ง วิมุติ) มิใช่เจตนาใน อัตตา (เจตนาใน อัตตา เป็นเหตุของ อาสวะ) และพระนิพพานธรรม เป็นธรรมไม่มีเกิด ไม่มีดับ ธรรมที่มีเกิด มีดับ นั่นเป็นธรรมอันเกิดจากการปรุงแต่งอยู่ เป็นธรรมฝ่ายที่ยังปรุงแต่ง ส่วนพระนิพพานธรรม เป็นธรรมฝ่ายไม่ปรุงแต่ง พ้นความปรุงแต่ง มิได้มีอยู่เพราะอาศัยการปรุงแต่งเป็นเหตุ

          เช่นนี้แล้ว ผู้ที่สำคัญดังนี้ว่า พระนิพาน เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเอง เป็นไปเอง เจตนาไม่ได้ ไม่เกิดขึ้นด้วยเจตนา และต้องดับไปเองโดยมิเกี่ยวข้องกับเจตนา ฯลฯ ย่อมเป็นผู้ไม่สามารถรู้ พระนิพพานธรรม นั้น ได้เลย






หัวข้อ: ความพลัดพราก
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 16, 2008, 06:59:49 PM
          บุคคลทั้งหลายในโลก เมื่อเกิดมา ก็ย่อมมีแก่ มีเจ็บ มีตาย เป็นธรรมดา เป็นเรื่องที่คนทั้งหลายก็ทราบอยู่ แต่ มีน้อยคนนัก ที่จะทำใจให้พ้นโศกไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้ที่ตนผูกพันจะต้องมีอันพลัดพรากจากไป หรือเสียชีวิตไปก่อน

          คนโดยมาก มักเข้าใจว่า ความเศร้าโศก อันเกิดจากการสูญเสียผู้ที่ผูกพัน หรือรักใคร่ไปนั้น เกิดเพราะความคิดถึงอยู่ในปัจจุบัน เกิดเพราะความไม่พบหน้าอยู่ในปัจจุบัน เกิดเพราะความไม่ได้พูดคุยกันอยู่ในปัจจุบัน เกิดเพราะความห่างจากกันอยู่ในปัจจุบัน ฯลฯ แต่ผู้พิจารณาแยบคาย อาจเห็นลึกซึ้งขึ้นไปอีกว่า ทุกข์โศกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่จริงส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากความพลัดพราก หรือความไม่เจอกันอยู่ในปัจจุบัน แต่เหตุผลหลักมักเป็นเพราะว่า ความกลัว อันวิตกไปในเหตุการณ์อันเป็นอนาคตต่างหาก กล่าวคือ กังวลว่า ต่อไปจากนี้ไป ในภายภาคหน้า จะไม่ได้พบเจอกันอีกแล้ว ไม่ใช่เพราะความไม่ได้พบเจอกันอยู่ในปัจจุบัน(เพราะหากเป็นเพราะเหตุปัจจุบันเท่านั้นจริงๆแล้ว ผู้ที่มีความรู้สึกผูกพันกันทั้งหลาย ย่อมต้องเศร้าโศกทุกข์ใจคร่ำครวญอยู่เสมอทุกเวลา เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เราผูกพันมิได้อยู่ต่อหน้า ทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ และจะนัดพบ หรือไปมาหาสู่กันได้โดยไม่ยากก็ตาม แต่ ปกติ มิได้เป็นเช่นนั้น) เมื่อกำหนดปัญหาอย่างนี้ไม่ถูก ก็จะละความกลัว อันเป็นเหตุของทุกโศกอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ เพราะหลงสำคัญไปในสิ่งอันเป็นอนาคต ว่า เป็นปัจจุบัน ก็เป็นอันว่า ขาดความรู้สึกตัวไป ย่อมกำหนดปัญหา หรือทุกข์ได้ไม่ถูกต้อง เป็นธรรมดา แต่หากกำหนดปัญหาได้ถูกต้องแล้วตามความเป็นจริงดังได้กล่าวไปแล้วนี้ บุคคลย่อมรู้ชัดว่า สิ่งควรละก่อน ก็คือ ความกลัว และความฟุ้งซ่านไปในอนาคต เมื่อละออกจากสิ่งนี้ได้แล้ว ย่อมเกิดความรู้สึกตัว ก็ย่อมกำหนดรู้ได้ว่า เหลือแต่เพียงความทุกข์ใจที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ผู้ฉลาด ผู้อบรมจิตใจตนเองมา ย่อมทราบได้ว่า สิ่งที่ควรกระทำต่อๆไป คือ การกระทำสำรวม โดยสำรวมกายก่อน แล้วจึงสำรวมวาจา แล้วย่อมสำรวมใจ ดังนี้แล้ว เมื่อน้อมไปในความครุ่นคิดพิจารณา ก็ย่อมครุ่นคิดพิจารณาในสิ่งที่เป็นสภาพอยู่ในปัจจุบันภายในใจตน ไม่ใช่ครุ่นคิดไปในวิตกแห่งอดีตอันพ้นไปแล้ว ผ่านไปแล้ว หรือวิตกแห่งอนาคต อันคาดเดา อันไม่เป็นประโยชน์แก่การแก้ไขปัญหานี้ อีกประการหนึ่ง หากเมื่อน้อมใจไปเช่นนี้แล้ว ทุกข์น้อยลง เบาบางลง แต่เมื่อพิจารณาถึงจุดหนึ่ง ก็ยังมีที่ติดขัดอยู่บ้าง ไม่สามารถละไปได้ทั้งหมด ก็ให้ลองพิจารณาความหวงแหน อันเป็นสาเหตุของความกลัวอีกชั้นหนึ่ง ก็อาจจะพิจารณาเห็นได้ว่า ความเพลิดเพลินเป็นเหตุแห่งความยินดี ความยินดีเป็นเหตุแห่งความหวงแหน ความหวงแหนเป็นเหตุแห่งความคาดหวัง ความคาดหวังเป็นเหตุแห่งความกลัว ความกลัวเป็นเหตุแห่งความโศก ความโศกเป็นเหตุแห่งโทสะ ความเศร้า ความหมอง ความกระวนกระวาย ความเร่าร้อน ความทะยาน ความไม่สำรวม ฯลฯ

          ที่จริงแล้ว คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ ล้วนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายตายเกิด มานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว สุข และทุกข์ สมหวัง และผิดหวัง พบพาน และพลัดพราก กันมาไม่รู้กี่ครั้งต่้อกี่ครั้งแล้ว เพียงแต่ ส่วนใหญ่ ระลึกไม่ได้ หรือระลึกได้ก็เพียงส่วนน้อย ที่ผ่านมาไม่นานนัก ส่วนก่อนหน้านั้น มักจำไม่ได้ ก็เนื่องด้วยเป็นเหตุการณ์เหมือนเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา นานนับไม่ถ้วน ก็เป็นธรรมดาที่สัตว์ที่วนเวียนอยู่ส่วนใหญ่ จะไม่จำ เพราะโดยปกติแล้ว สิ่งที่ปรากฏซ้ำไปซ้ำมา บ่อยๆ ถี่ๆ เป็นสภาพเดียวกัน เป็นเช่นนี้อยู่เสมอ  เมื่อเป็นเช่นนี้นานไปถึงระดับหนึ่ง บุคคลทั่วไปจะไม่ปรารถนาจดจำ ก็หลงลืมไป แล้วก็กลับทำซ้ำๆอีก

          บทความนี้ มอบให้สมาชิกท่านหนึ่ง ที่เพิ่งสูญเสียญาติสนิทไปเมื่อเร็วๆนี้


หัวข้อ: กระแสโลก กระแสน้ำ
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 27, 2008, 02:26:03 PM
          โดยบางนัยยะ กระแสโลก ก็เปรียบได้กับ กระแสน้ำ บางครั้งไหลเอื่อย บางครั้งไหลเชี่ยว มีปกติไหลลงสู่ที่ต่ำ
          สัตว์ผู้อยู่เฉย ย่อมไหลไปตามกระแส มักมีปกติจมลึกลงไปเรื่อยๆ
          สัตว์ผู้มีกำลังน้อย มีปกติยินดีว่ายไปตามกระแส ย่อมไหลไปเร็วขึ้น และจมลงในที่สุด
          สัตว์ผู้มีกำลังน้อย มีปกติขวนขวายว่ายทวนกระแส ย่อมไม่ไหลตาม หรือไหลไปช้า จมลงบ้าง ตะเกียกตะกายโผล่ขึ้นมาบ้าง
          สัตว์ผู้มีกำลังมาก แต่มีปกติยินดีว่ายไปตามกระแส หากมิได้สำนึก ย่อมยิ่งหลงไปไกล ย่อมไม่ทวนกระแสมุ่งสู่ฝั่ง
          สัตว์ผู้มีกำลังมาก มีปกติขวนขวายว่ายทวนกระแส ย่อมมุ่งทวนกระแสน้ำ ย่อมจมลงได้ยาก ย่อมมุ่งไปสู่ฝั่ง
          อนึ่ง สัตว์ผู้เดิมมีกำลังน้อย แต่หมั่นขวนขวายว่ายทวนกระแส มีความอดทน ไม่ท้อถอย มีความเพียร ไม่ประมาท เมื่อนานไป ย่อมเป็นผู้มีกำลังมากขึ้น ๆ ได้

          ผู้อดทนต่อความยินดียินร้ายในโลกได้มาก ย่อมไม่เป็นผู้ถูกความเป็นไปของโลกบังคับบีบคั้นได้ง่าย ย่อมเ็ป็นผู้เข้มแข็ง
          ผู้อดทนต่อความยินดียินร้ายในโลกได้น้อย หรือไม่ได้เลย ย่อมเป็นผู้ถูกความเป็นไปของโลกบังคับบีบคั้น ครอบงำ ได้ง่าย ย่อมเป็นผู้ยังอ่อนแออยู่
          อนึ่ง ผู้เข้มแข็ง หายาก มีน้อยในโลก ดังนั้น สัตว์ส่วนใหญ่ในโลก จะไหลลงไปสู่ที่ต่ำ ที่เสื่อม อบายภูมิ





หัวข้อ: อ้างอิงพระสูตรประกอบ
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 27, 2008, 02:50:05 PM
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค


 

อามกธัญญเปยยาล จตุตถวรรคที่ ๑๐
ว่าด้วยสัตว์ผู้มีการทำต่างๆ กัน
             [๑๗๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้งดเว้นจากการรับไร่นาและที่ดิน มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากการรับไร่นาและที่ดิน มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้งดเว้นจากการซื้อและการขาย มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากการซื้อและการขายมีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้งดเว้นจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้งดเว้นจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้งดเว้นจากการรับสินบน การล่อลวง และการทำของปลอม มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากการรับสินบน การล่อลวง และการทำของปลอม มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้งดเว้นจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ผู้ไม่งดเว้นจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๙๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นไว้ในปลายพระนขา แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนไว้ในปลายเล็บกับแผ่นดินใหญ่นี้ ไหนจะมากกว่ากัน? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า ฝุ่นเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคทรงช้อนไว้ที่ปลายพระนขามีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคทรงช้อนไว้ที่ปลายพระนขา ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติในพวกมนุษย์แล้วกลับมาเกิดในพวกมนุษย์ มีน้อย โดยที่แท้สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว จะกลับมาเกิดในพวกมนุษย์ มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว กลับไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน มีมากกว่า ฯลฯ.
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว จะกลับมาเกิดในพวกเทวดามีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในปิตติวิสัย มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากเทวดาแล้ว จะกลับมาเกิดในพวกเทวดา มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากเทวดาไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในปิตติวิสัย มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากเทวดาแล้ว จะกลับไปเกิดในพวกมนุษย์ มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากเทวดาไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในปิตติวิสัย มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากนรกไปแล้ว จะกลับไปเกิดในพวกมนุษย์ มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากนรกไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในปิตติวิสัย มีมากกว่า ฯลฯ
             [๑๗๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากนรกไปแล้ว จะกลับไปเกิดในพวกเทวดา มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากนรกไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในปิตติวิสัย มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานไปแล้ว กลับไปเกิดในพวกมนุษย์ มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในปิตติวิสัย มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๗๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานไปแล้ว จะกลับไปเกิดในพวกเทวดา มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในปิตติวิสัย มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๘๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัยไปแล้ว จะกลับไปเกิดในพวกมนุษย์ มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัยไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในปิตติวิสัย มีมากกว่า ฯลฯ
             [๑๘๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัยไปแล้ว จะกลับไปเกิดในพวกเทวดา มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัยไปแล้ว กลับไปเกิดในนรก มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๘๐๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัย ไปแล้ว จะกลับไปเกิดในพวกเทวดา มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัยไปแล้ว กลับไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน มีมากกว่า ฯลฯ.
             [๑๘๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัยไปแล้ว จะกลับไปเกิดในพวกเทวดา มีน้อย โดยที่แท้ สัตว์ที่จุติจากปิตติวิสัยไปแล้ว กลับไปเกิดในปิตติวิสัย มีมากกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน? คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล.

จบ จักกเปยยาล
จบ สัจจสังยุต
จบ มหาวารวรรคสังยุต

____________________________________________


ปิตติวิสัย ภูมิแห่งเปรต (ข้อ ๓ ในอบาย ๔),
       เปตติวิสัย ก็เรียก

อบาย, อบายภูมิ ภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญ มี ๔ อย่าง คือ
       ๑. นิรยะ นรก
       ๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน
       ๓. ปิตติวิสัย ภูมิแห่งเปรต
       ๔. อสุรกาย พวกอสุรกาย




หัวข้อ: ผู้ไม่เข้าใกล้ความประมาท
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 28, 2008, 10:59:19 PM
          บุคคลผู้มีปกติเล็งเห็นโทษภัย แม้ในสิ่งเล็กน้อย เรากล่าวบุคคลผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่เข้าใกล้ความประมาท






หัวข้อ: รู้สึกตัว
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กันยายน 02, 2008, 12:33:08 PM

ผู้รู้สึกตัวอยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้เริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้ไม่ท้อถอย


หัวข้อ: พรหมวิหารธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กันยายน 16, 2008, 04:08:50 PM

          พรหมวิหาร หมายถึง ธรรมอันเป็นวิหารแห่งพรหม หรือก็คือ คติอันเป็นหนทางไปสู่ความเป็นพรหม อันท่านจำแนกไว้โดยหลักใหญ่ว่า พรหมวิหาร ๔ ประการ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขา

          พรหมวิหาร ๔ ประการนี้ เป็นธรรมที่ควรเจริญ แต่ในที่นี้ ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุว่า จะได้ไปเสวยสุขเป็นพรหม แต่โดยลักษณะอันเป็นอุปการว่า เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนกันด้วยอำนาจแห่งกาม เพราะเมื่อบุคคลไม่พึงเข้าถึงความเบียดเบียนกัน ย่อมสันโดษ คนบางพวก ละเลย หรือหมิ่นธรรมนี้ไป เพราะเหตุว่าสำคัญในธรรมอันตนเห็นว่า ยิ่งกว่า ประเสริฐกว่า เช่น มรรค พระนิพพาน เป็นต้น แต่บุคคลผู้หมิ่นธรรมอันเป็นอุปการเหล่านี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อการบรรลุธรรมอันประเสริฐกว่า เช่น มรรค หรือพระนิพพาน เหล่านั้น เป็นต้น เพราะเหตุว่า ยังประกอบตนด้วยความเบียดเบียนกันอยู่ เป็นธรรมดา

          คนบางคน เมื่อได้ยินได้ฟังว่า เมตตา ๑ กรุณา ๑ มุฑิตา ๑ และอุเบกขา ๑ ก็ตรึกไปว่า เป็นธรรมสี่ประการต่างหากจากกันบ้าง หรือมีความเห็นว่า ควรเลือกใช้ข้อใดข้อหนึ่งตามความเหมาะสมแก่สถานการณ์ต่างๆบ้าง แท้ที่จริงแล้ว ธรรมทั้งสี่นี้ ย่อมเจริญไปด้วยกัน ประกอบซึ่งกันและกัน และธรรม คือ เมตตาก็ดี กรุณาก็ดี มุฑิตาก็ดี ทั้งหลายนี้ ย่อมควรประกอบรวมลงได้ในธรรมธรรมเดียว อันเป็นองค์ประธาน ก็คือ อุเบกขา นั่นเอง เช่นว่า ผู้แยบคายพอ ย่อมกำหนดรู้ได้โดยสภาพก็ดี โดยปริยายก็ดี ว่า  บุคคลจะพึงเข้าถึงเมตตา โดยพร้อมด้วยอุเบกขาอยู่ในเวลาเดียวกัน นี้เป็นฐานะอันพึงมีได้ ส่วนการประพฤติแสดงออกมาด้วยกริยาก็ดี วาจาก็ดี นั้น ย่อมขึ้นอยู่การเฟ้นจำแนกธรรมของแต่ละบุคคล ว่า ในสถานะการณ์ใด จะเลือกแสดงออกมาอย่างไร ผู้เลือกที่จะแสดงกิริยาว่าช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ ก็กระทำไปด้วยจิตที่เป็นอุเบกขาอยู่ ก็ได้ หรือ แม้เมื่อเลือกว่าจะไม่แสดงกิริยาใดๆออกมาเลย ไม่กระทำสิ่งใดด้วยกาย หรือด้วยวาจาเลย แสดงพฤติกรรมว่าอุเบกขาอยู่ ก็เป็นไปด้วยจิตอันเป็นเมตตาอยู่ ก็มีได้ เช่นกัน ฯลฯ

          อนึ่ง บางบุคคลย่อมคิดว่า อุเบกขา และสุข เป็นธรรมที่ไม่ตั้งในที่เดียวกัน ไม่พึงเกิดขึ้นพร้อมกันในบุคคลเดียวกัน แต่แท้จริงแล้ว ผู้ที่เป็นสุขอยู่ด้วยอุเบกขาอันยอดเยี่ยม ย่อมมีอยู่จริง และย่อมเป็นผู้ที่ประกอบอยู่ด้วยสติอันบริสุทธิ์ ฯลฯ





หัวข้อ: สัจจะ และเจตนา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กันยายน 17, 2008, 04:22:22 PM


          บุคคลใด หมั่นรักษาสัจจะของตน เมื่อนานไป ย่อมเป็นผู้มีสัจจะมาก ย่อมเป็นผู้มีวาสนาในสัจจะอันยิ่งยวดขึ้นไป
          ผู้ปรารถนาในสัจจะอันยิ่ง ย่อมขวนขวายประกอบวาสนาในสัจจะ ไม่ท้อถอย ย่อมประสบสัจจะอันยิ่งได้ในที่สุด

          ผู้ไม่รักษาสัจจะของตน ย่อมเป็นผู้หมิ่นธรรมของตนอยู่ ย่อมพาตนให้เจริญขึ้นในสัจจะได้ยาก
          ผู้รักษาเจตนาของตนไว้มิได้ ย่อมเป็นผู้อ่อนแอ ถูกครอบงำโดยง่าย เป็นผู้ตั้งตนมิได้ เป็นผู้กำหนดตนมิได้ ย่อมไม่อาจบรรลุกิจอันยาก อันพึงบรรลุ
          บุคคลใดรักษาสัจจะของตนเอาไว้ได้ เราย่อมกล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นผู้ไม่หมิ่นตน เป็นผู้รักษาเจตนาของตนไว้ได้ เมื่อนานไป เขาจะประสบสัจจะอันรู้ได้ยาก อันเขาปรารถนา

          อนึ่ง การที่บุคคลจักกล่าวไว้อย่างไร แล้วต้องปรากฏเสมอไปว่าเป็นไปตามที่เขาได้กล่าวไว้นั้นจริง เป็นปัญญา ไม่ใช่สัจจะ
          สัจจะ เป็นธรรมอันตั้งอยู่ได้ด้วยการรักษา ด้วยการไม่หมิ่น หรือด้วยความไม่ทะยานในการหมิ่น มิใช่ด้วยการกล่าวแล้วบังคับให้เป็นไปตามนั้น และมิใช่การกล่าวเพราะรู้อยู่ก่อน ว่าจะต้องเป็นไปตามนั้น
          การรักษาสัจจะในธรรมใด คือ การยอมรับว่า ธรรมนั้น มีอยู่ ผู้ไม่ปรารถนาการเบียดเบียน ย่อมไม่ยินดีในการลบล้างธรรมอันผู้อื่นบัญญัติไว้ ไม่ว่าจะเห็นธรรมนั้นว่าควรหรือไม่ ก็ตาม


 


หัวข้อ: ความเบียดเบียน และ เมตตา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กันยายน 26, 2008, 04:09:54 PM

          ดังที่หลายคนได้เคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว ว่าเวทนาย่อมครอบงำผู้ไม่ทนความยั่วยุ จึงเรียกว่า เป็นผู้ยังอ่อนแออยู่ ผู้ยังอ่อนแออยู่ย่อมแสวงหาปัจจัย เพื่อบรรเทาเวทนาบางอย่างบ้าง เพื่อสนอง หรือพอกพูนในเวทนาบางอย่างบ้าง เพื่อให้ความทะยานอยากนั้น ตกไป แล้วก็กลับเป็นเหตุให้ทำอย่างเดิมซ้ำอีก นี่เอง จึงเป็นเหตุให้บุคคลทั้งหลาย ประกอบซึ่งความเบียดเบียนกันอยู่เป็นธรรมดา เพราะแก่งแย่งปัจจัยกัน ทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น วัตถุ บ้าง ฯลฯ ทั้งที่เป็นนามธรรม เช่น ทิฏฐิ ความเชื่อ ศรัทธา บ้าง ฯลฯ

          ผู้นมสิการความอ่อนแอ และความเบียดเบียนกันอยู่ แห่งสัตว์เหล่านั้นได้ ย่อมปรารภความเมตตา

          คนโดยมาก อาจเข้าใจว่า เมตตา คือ เสียสละเพื่อผู้อื่น ที่จริงแล้ว เมตตา คือ ความไม่เบียดเบียน ความไม่ปรารถนาเบียดเบียน หรือ ความปรารถนาความไม่เบียดเบียน ส่วน การสละ นั้น คือ ทาน และ การเสียสละตนเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือ จาคะ

          ทั้งหลาย เหล่านี้ บางท่านอาจทราบอยู่แล้ว แต่ เรากล่าวอีกว่า ผู้รังเกียจความถูกเบียดเบียนจากผู้อื่น ย่อมถูกยั่วยุง่าย ย่อมเป็นผู้ถูกต้องความเบียดเบียนได้มาก เพราะเพ่งเล็งแต่ผล ไม่นมสิการเหตุ แต่ ผู้นมสิการว่า ความเบียดเบียนเป็นธรรมดาของโลก เป็นผลวิบากแห่งความอ่อนแอที่สั่งสมมาช้านาน ด้วยความไม่รู้ เสมือนผู้ถูกไฟสุมตนอยู่ ก็ยังแสวงหาฟืนมาใส่ตนอยู่เนืองๆ ด้วยความไม่รู้ชัด ด้วยความไม่รู้จริง เมื่อนมสิการเช่นนี้ ย่อมพ้นความยั่วยุได้ง่าย ผู้ฉลาด ย่อมพิจารณาธรรมโดยทั่วถึง ย่อมพ้นซึ่งโทสะ และความโศกอันเป็นผลจากความรังเกียจ แต่ก็ไม่ลงความเห็นว่า ความเบียดเบียน เป็นสิ่งควร

          เมื่อเกิดไฟป่า ผู้รู้ ย่อมโค่นต้นไม้ที่อยู่บริเวณรอบๆไฟป่านั้นลงเสีย หลักการนี้ สามารถใช้เป็นหลักในการพิจารณาตน และผู้อื่นได้ เช่นว่า เมื่อเรามีโทสะ เพราะความยั่วยุจากผู้อื่น ให้เว้นการพิจารณา หรือเพ่งเล็งผู้อื่นก่อน หรือเมื่อเห็นว่า ผู้อื่น ถูกโทสะครอบงำอยู่ เราควรเว้นการกระทำตนให้ยั่วยุบุคคลผู้นั้น ถึงแม้ด้วยความปรารถนาดีก็ตาม เว้นเสียแต่มีเหตุอื่นจำเป็นยิ่งกว่า

          เมื่อเกิดความกระทบกระทั่งใจกัน ผู้ฉลาด ย่อมพิจารณาตนก่อน ผู้เขลา ย่อมมัวคอยจดจ้องเพ่งเล็งแต่ผู้อื่น




หัวข้อ: ความตาย และความพ้นทุกข์
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กันยายน 29, 2008, 04:18:41 PM

          บุคคลโดยมาก เห็นความตายเป็นสิ่งใหญ่ และมีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับความตาย บ้างก็รังเกียจเพราะกลัวความพลัดพรากจากสิ่งที่หวงแหน บ้างก็ว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้คิดอะไรมาก บ้างก็ยินดีเพราะจะได้พ้นไปจากชีวิตที่ลำบาก หรือไม่สมหวังของตน หรือมีบ้างบางคน ก็ตั้งตนเป็นผู้ชี้นำผู้อื่น ว่าให้ควรมองความตายอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร เพื่อตายแล้วจะได้ดี หรือจะได้พ้นไปจากทุกข์ บางทีก็โดยนัยว่า จะเป็นทางลัดไปสู่ความพ้นทุกข์ เมื่อตายไปแล้ว

          ผู้ฉลาด ย่อมแสวงหนทางแห่งสุข หรือหนทางแห่งความพ้นทุกข์ ในปัจจุบัน ในชาตินี้ ในอัตภาพนี้ ไม่ใช่คอยหวังภพหน้า ชาติหน้า หรือไปรอเอาเมื่อตาย เพราะที่แท้แล้ว นั่นไม่ใช่ทางลัด ถึงแม้ว่าสภาวะจิตในขณะก่อนตายนั้น จะมีส่วนในการกำหนดภพต่อๆไปก็ตาม ผู้มีปัญญาดี เมื่อเห็นว่า ตายอย่างไร ด้วยสภาวะจิตอย่างไร จึงจะดี ย่อมประกอบจิตตนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ให้เป็นไปอย่างนั้น เช่นว่า อยากตายอย่างสงบ ก็พึงมีชีวิตอย่างสงบ อยากตายอย่างเป็นสุข ก็พึงประกอบชีวิตตนอย่างเป็นสุข อยากตายแล้วไม่ต้องเกิดอีก ก็ต้องเพียรชำระกิเลส นิวรณ์ ความทะยานอยากทั้งหลาย ออกจากจิต จนกระทั่งบรรลุวิชชา พ้นไปจากความสุดโต่งในทิฏฐิทั้งหลายอันข้องอยู่ในโลก ในกาม ทั้งในส่วนที่เห็นว่าน่ายินดี และทั้งในส่วนที่เห็นว่าน่ารังเกียจ เช่น ทิฏฐิว่า เราจะเป็นสุขได้ ก็เพราะประสบสิ่งใดๆในโลก เช่น ทรัพย์สิน ชื่อเสียง อำนาจ และความมีพลานามัยสมบูรณ์ หรือ ทิฏฐิว่า เราจะพึงเป็นสุขได้ เพราะไม่ประสบสิ่งใดในโลก เช่น ความเสื่อมทรัพย์ ความไม่เป็นที่ยอมรับนับถือ ความถูกข่มเหง ความเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ เป็นต้น  หรือแม้แต่ทิฏฐิสุดโต่งในทางกลับกัน ของบุคคลบางพวก ก็ตาม เช่น ทิฏฐิว่า เราจะเป็นสุขได้ ก็ต่อเมื่อปราศจากลาภ ยศ สรรเสริฐ ความได้มาในสิ่งที่ต้องการ ฯลฯ เป็นต้น ก็จริงอยู่ว่า พระศาสดาทรงสอนให้เราละความยินดีในโลกธรรม แต่ก็มิได้สอนให้สุดโต่งไปด้วยความรังเกียจ แต่ทรงสอนให้แทงตลอดทั่วถึงในธรรม ทั้งที่เป็นคุณ และที่เป็นโทษ ก็จะพ้นไปจากความยินดี และความรังเกียจ ได้

          อีกประการหนึ่ง ความตาย ก็เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง กลไกอย่างหนึ่ง ในกระบวนการเวียนว่ายตายเกิดเท่านั้น ไม่ใช่แก่นแท้อะไร ไม่ได้มีความสำคัญมากกว่าการมีชีวิตอยู่ หรือแม้เมื่อหลังจากตายไปแล้ว เพียงแต่ปัจจัย หรือสภาพอาจแปรเปลี่ยนไปตามกรรมอันเป็นปัจจัยเท่านั้น ถ้าจะเปรียบการมีชีวิตคือการรับประทานอาหารแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า คือการเปลี่ยนที่ เปลี่ยนอาหาร ที่รับประทานเท่านั้น เว้นเสียจะเลิกรับประทานอาหารได้ เท่านั้น ดังนั้น  หากปรารถนาความหลุดพ้น ก็ให้ขวนขวายเอาในปัจจุบันเถิด อย่าไปมัวหวังเอาน้ำบ่อหน้า ที่เราเองยังไม่รู้ ยังไม่พิสูจน์ได้ หรือหากรู้ ก็เพียงรู้เพราะคนอื่นเขาบอกต่อๆกันมา ว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนี้ เมื่อหลงเชื่อไป บางทีก็กลายเป็นทำให้ตนพลาดประโยชน์สำคัญไปเสียเปล่า เพราะคนบางคนที่เขาตั้งตนสอนเรา เราก็ไม่รู้แท้ว่าเขารู้อะไร เห็นอะไร บรรลุประโยชน์อะไร อันเป็นภายใน บางทีเราก็ได้แต่ประเมินคาดเดาจากสำนวนโวหารของเขา ว่าคม ว่าลึกซึ้ง ว่าจับใจ ฯลฯ เช่นบางคนก็สอนเปรียบเทียบว่า ศีล เป็นสะเก็ดไม้ สมาธิเป็นเปลือกไม้ ญาณ หรือปัญญาต่างๆ เป็นกระพี้ ส่วนความบรรลุทางใจที่ไม่กำเริบ เป็นแก่น ก็ฟังดูมีเหตุผล และเป็นการตีความคำในพระไตรปิฏกตามความเข้าใจของตน แต่บางทีก็ยังไม่แยบคายพอ เช่นว่า ที่ตีความแบบนี้ เพราะพระพุทธเจ้าทานสอนประมาณว่า ถ้ามีแต่ศีล ก็เสมือนได้แค่สะเก็ดไม้ ถ้ามีศีลแล้วได้สมาธิด้วย ก็เสมือนได้เปลือกไม้ ถ้ามีศีล มีสมาธิ และได้ญาณด้วย ก็เสมือนได้ถึงกระพี้ไม้ ถ้าบรรลุหลุดพ้น ก็เสมือนได้แก่นไม้ เมื่ออ่านแล้ว ก็ตีความไปแบบนั้น ก็สอนคนอื่นไปแบบนั้น แต่กลับละเลยข้อสำคัญว่า  ถ้าไม่มีสะเก็ด ก็ไม่มีเปลือก ถ้าไม่มีเปลือก ก็ไม่มีกระพี้ ถ้าไม่มีกระพี้ ก็ไม่มีสิ่งที่เป็นแก่นอยู่ ก็ความหลุดพ้น อันเป็นแก่นนั้น ย่อมเป็นที่อันศีล สมาธิ และญาณ หรือปัญญา ประกอบรวมลงเข้าด้วยกันโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า หากมีเพียงศีล ไม่มีสมาธิ ก็นับว่าได้เพียงแต่สะเก็ดไม้ นั้น ไม่ได้หมายความว่า ศีล เป็นเพียงแค่สะเก็ดไม้เท่านั้น แต่ท่านสอนว่า ศีล ที่ไม่ประกอบด้วยสมาธิ เปรียบเป็นสะเก็ดไม้ เมื่อศีลประกอบเข้ากับสมาธิ แต่ไม่เข้าถึงญาณ ท่านเปรียบว่า เสมือนเป็นเปลือกไม้ ก็มิได้หมายความว่า สมาธิเป็นเพียงเปลือกไม้ ฯลฯ เป็นต้น สรุปแล้ว ท่านสอนให้เจริญ ศีล สมาธิ และญาณ หรือปัญญา ให้บริบูรณ์ ก็จะหลุดพ้นไปจากทุกข์ได้โดยมั่นคง ไม่ใช่เพื่อให้จำแนกความสูงต่ำของธรรม แต่ที่เปรียบเทียบ ก็เพื่อให้เห็นความสำคัญว่า หากองค์ประกอบไม่ครบถ้วน ก็จะพึงบรรลุคุณประโยชน์ได้น้อยกว่า เท่านั้นเอง ไม่ใช่สอนให้คนหมิ่น ศีล ว่าด้อยกว่าสมาธิ หรือหมิ่นสมาธิ ว่าด้อยกว่า ญาณ หรือปัญญา หรือเพื่อหมิ่นญาณ ว่าด้อยกว่าความหลุดพ้นเลย  เมื่อผู้สอน ไม่รู้แก่น ก็พาคนที่เชื่อถือเข้าใจผิดตามๆกันไป ก็พึงระวัง

          ก็จริงอยู่ว่า ชีวิตนี้ สังขารร่างกายนี้ ประกอบขึ้นมาด้วยอำนาจแห่งวิบาก หรือกรรม ดังนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ยังอาศัยสังขารอัตภาพนี้อยู่ ก็ย่อมพ้นจากวิบากอันเป็นธรรมดาของการมีชีวิตมิได้ แต่ความมีชีวิตอยู่ หรือความตาย ไม่ใช่คำตอบของปัญหาเลย มีแต่เพียงว่า ผู้ยังข้องอยู่ ยังทะยานอยู่ ในกามราคะ เมื่อกายนี้ยังดำรงอยู่ เขาก็ทุกข์ได้ เมื่อกายนี้ดับไป หรือแตกสลายไป เขาก็จะเข้าไปอาศัยในกายอื่น สังขารอื่น วนเวียนต่อๆไป ก็ทุกข์ได้อีก ส่วนผู้ไม่ข้องแล้ว ในกามราคะ เมื่อกายนี้ยังดำรงอยู่ เขาก็ไม่ทุกข์ด้วยจิตตน เมื่อกายนี้ ชีวิตนี้ ดับไป แตกสลายไป เขาก็ไม่มีความทะยานไป เพื่อภพอื่น ชาติอื่น อาหารอื่น สังขารร่างกายอื่น หรืออัตภาพอื่น อีกต่อไป เพราะเห็นว่า ทั้งหลายเหล่านี้ มิใช่มีอยู่เพื่อตน หรือเพื่อความเป็นไปแห่งตน ว่าเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ สัตว์นั้น สัตว์นี้ หรือบุคคลนั้น บุคคลนี้ เลย ความทุกข์ทั้งหลายในโลก ก็ย่อมไม่มีที่กำเริบแก่เขาได้อีก ก็มีเพียงเท่านี้

          สรุปแล้ว ก็ขอให้ผู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน เพียรขวนขวายในธรรมอันเป็นความสงบสุขในปัจจุบันนี้อยู่เถิด อย่าพึงหวังในสิ่งที่อ้างว่า เป็นทางลัดอะไรเหล่านั้นอยู่เลย ก็แม้แต่บางคนที่อ้างอยู่ ว่า ตนเป็นผู้บรรลุประเสริฐ ไม่ข้องติดสมบัติอะไรในโลกแล้ว จึงมาแสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นอยู่ แต่เมื่อเห็นว่า จะมีบุคคลอื่นจะดีกว่าตน หรือจะแบ่งศรัทธาของผู้คนไปจากตน ก็ยังขุ่นเคืองอยู่ หรือแม้กระทั่งคิดร้ายกล่าวร้ายให้แก่ผู้อื่น ก็มี เช่นนี้แล้ว จะพึงหวังประโยชน์อันบริสุทธิ์ อันปราศจากโทษ ไปใยกันเล่า แม้เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว บางคนก็จะมีปัญหาว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าอาจารย์ไหนน่าเชื่อถือได้จริง นี่ก็เป็นปัญหาที่มีปัจจัยซับซ้อน เป็นไปตามฐานะวาสนาของบุคคล แต่สิ่งที่พึงนมัสสิการไว้ในใจให้ดีก็คือ ความไม่สุดโต่ง ความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งต่างๆในโลก จะต้องเป็นไปทางเดียวเสมอไป ก็จะระงับโทษบางประการได้




หัวข้อ: การเห็นกายและใจนี้ ว่าไม่ใช่เรา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กันยายน 29, 2008, 08:40:29 PM

          ปัจจุบันนี้ มีบุคคลบางพวก มีความเห็น และสั่งสอนผู้อื่นไปตามทิฏฐิของตนว่า อวิชชา หรือสังโยชน์ อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้สัตว์วนเวียนเกิดแก่เจ็บตายอยู่ ก็คือ การเห็นผิด หรือหลงไปว่า กายนี้ เป็นเรา ใจนี้ เป็นเรา นั่นเอง โดยนัยว่า การเห็นผิดเหล่านี้ คือ สักกายะทิฏฐิ อันเป็นสังโยชน์เบื้องต่ำข้อหนึ่ง (พระพุทธองค์สอนว่า สังโยชน์ คือเครื่องทำให้สัตว์วนเวียน มีสิบข้อ และสามข้อแรก ที่เรียกว่า สังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นสังโยชน์สามข้อที่บุคคลจะต้องละได้เสียก่อน จึงจะบรรลุพระโสดาบัน และข้อแรกของสังโยชน์เบื้องต่ำ ก็คือ สักกายะทิฏฐิ ที่แปลกันโดยทั่วไปเป็นภาษาไทยว่า การหลงผิดในกาย ว่าเป็นตน ว่าเป็นตัวตน ฯลฯ) ก็เป็นที่มาของแนวความคิดในคนบางกลุ่ม หรือบางอาจารย์ว่า ถ้าเห็นได้ว่า กายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา ก็จะละสักกายะทิฏฐิได้ ก็จะบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ด้วยหลักการง่ายๆเพียงนี้เอง

          โดยมีตรรกะขั้นตอนเรียบง่าย เข้าใจได้ง่าย ปฏิบัติได้ง่าย ประมาณนี้ว่า  ให้มีสติคอยตามรู้กายนี้ ว่าเป็นสิ่งปรวนแปร เช่นว่า กายนี้ เดี๋ยวดี เดี๋ยวเจ็บ หรือป่วย หรือเมื่อเวลาผ่านไป ก็แก่ชราทรุดโทรมลง ไม่เป็นไปอย่างต้องการ บังคับไม่ได้ เป็นความทุกข์ จึงไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา เป็นเพียงก้อนเนื้อ หรือวัตถุธาตุ หรือคล้ายเครื่องจักรชนิดหนึ่ง ที่เราอาศัยอยู่เท่านั้น เป็นต้น และอีกประการหนึ่ง ว่า ให้มีสติคอยตามรู้ใจนี้ ได้แก่ความคิด ความอยาก ความลังเลสงสัยในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นสิ่งปรวนแปรเช่นเดียวกัน เช่นว่า บางทีก็คิดเรื่องนี้ บางทีก็คิดเรื่องนั้น บางทีก็คิด บางทีก็ไม่คิด บางทีก็สงสัย บางทีก็ไม่สงสัย บางทีก็สงสัยมากขึ้น บางทีก็สงสัยน้อยลง หรือความโกรธ เช่นว่า บางทีไม่โกรธ บางทีก็โกรธ บางทีก็โกรธมากขึ้น บางทีก็โกรธน้อยลง ฯลฯ เป็นต้น และเมื่อเห็นลักษณะอาการความปรวนแปร ความเป็นทุกข์ หรือความไม่เป็นไปดั่งต้องการ และความควบคุมบังคับไม่ได้ (เช่นว่า เมื่อโกรธ แล้วรู้ตัวว่าโกรธ แต่จะเจตนาให้ความโกรธนี้หายไป หรือบรรเทาเบาบางลงไปนั้น ไม่ได้) เหล่านี้แล้ว ก็นัยว่า จะเป็นการรู้เห็นพระไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ของกาย และใจ หรือบางทีก็อ้างไปถึงว่า เป็นการเห็นความเป็นจริงของ นาม และ รูป นั่นเอง เมื่อเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกาย และใจนี้ ไปเรื่อยๆ จนสติระลึกขึ้นมาได้เองโดยอัตโนมัติ ว่า กายนี้ ใจนี้ ไม่เที่ยง ไม่ใช่เรา ก็จะเป็นปัญญา ก็จะพ้นจากความหลงผิดในกาย ก็จะพ้นจากสมมุติสัจจะไปได้ ก็จะละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๓ ข้อ ได้เอง ด้วยเหตุผลตรรกะว่า การรู้เห็นกาย และใจนี้ ว่าไม่ใช่เรา ก็คือ การละสักกายะทิฏฐิ หรือ การถือผิดในกายได้ นั่นเอง ก็เป็นอันว่าละสังโยชน์เบื้องต่ำข้อแรกไปได้ และ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเชื่อโดยสนิทใจ ว่า พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มีจริง ฯลฯ ก็จะสิ้นความลังเลสงสัย เมื่อสิ้นความลังเลสงสัย ก็จะละวิจิกิจฉา ซึ่งเป็นสังโยชน์ข้อที่สองได้ (สังโยชน์ข้อนี้ แปลกันโดยทั่วไปเป็นภาษาไทยว่า ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในพระรัตนตรัย)  ส่วนสังโยชน์เบื้องต่ำข้อที่สาม ก็คือ สีลัพพตปรามาส ที่แปลกันทั่วไปว่า ความยึดถือในศีล และข้อวัตรที่ผิดๆ ซึ่งบางสำนักก็แปลกันว่า คือความมีศีลได้เอง โดยไม่ต้องไปกำหนดศีล เมื่อแปลดังนี้แล้ว ก็อธิบายว่า เมื่อมีสติรู้กายได้ตามความเป็นจริง ว่าปรวนแปร ว่าไม่ใช่เราได้แล้ว ก็ถือว่า เป็นการรู้นามรูปตามความเป็นจริงแล้ว และเมื่อมีสติรู้ทันกายใจ หรือนามรูปได้ตามความเป็นจริงแล้ว ใจก็จะเป็นศีลได้เอง เป็นอัตโนมัติ เพราะกิเลสครอบงำจิตมิได้ โดยไม่ต้องคอยกำหนด ไม่ต้องมีใครมาบอกศีล ฯลฯ เพียงเท่านี้ ก็เป็นพระโสดาบันได้ และยังมีการพยายามอธิบายไปถึงสังโยชน์ข้อที่เหลือโดยตรรกะในทำนองเดียวกันนี้ เรียบๆ เข้าใจง่าย จนเข้าสู่ความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

           คนบางพวก เมื่อพบเห็นคำสอนเช่นนี้ ก็ยินดียิ่ง เพราะหากคำสอนเหล่านี้เป็นจริงแล้ว พระนิพพาน ก็น่าจะเป็นของง่าย เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ง่าย บรรลุได้ง่าย ไม่ต้องเพียรขวนขวายอดทนลำบากลำบนมากมายอย่างที่ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระปฏิบัติ หรือพระป่าบางสายสอนกันมา บำเพ็ญเพียรกันมา อย่างเช่น พระอาจารย์เสาร์ หรือหลวงปู่มั่น ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งท่านสอนให้เพียรภาวนา ฝืนกิเลส อดทนต่อกิเลส จนเกิดสมาธิ จนจิตสำรวมเข้า แล้วรวมลงเป็นหนึ่ง ผุดขึ้น ตื่นขึ้น เป็นดวงสว่าง เป็นธรรมเอก แล้วจึงน้อมพิจารณาสัจจะความเป็นจริงจากสภาพอันปรากฏแก่จิตนั้น แล้วเจริญวิปัสสนา จนเกิดปัญญารู้แจ้งในความเป็นจริงของจิต ของการวนเวียน จนกระทั่งบรรลุถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นไปในที่สุด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ต้องใช้เวลา ความอดทน และความเพียรเป็นอันมาก คนทั่วไปก็ไม่ยินดี ถึงจะมีศรัทธา แต่ก็เห็นว่า ลำบากเกินกว่าที่ตนเองจะทำได้ บางคน นั่งสมาธิครู่เดียวก็อึดอัด ครู่เดียวก็เมื่อย ครู่เดียวก็ฟุ้ง ครู่เดียวก็เคลิ้ม หรือหลับไป ลองทำดูสักระยะหนึ่ง ก็ท้อ ก็เบื่อ บางทีก็สรุปไปว่า แนวทางนี้ไม่เหมาะกับจริตของตน เมื่อเจอผู้ที่ประกาศตนว่าเป็นพระป่า หรือเป็นสายพระป่า หรือมีพระป่ารับรอง แล้วมาสอนว่า ธรรมะ เป็นสิ่งเรียบง่าย ปฏิบัติง่าย สะดวก บรรลุได้รวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องมีสมาธิมาก ไม่ต้องเสียเวลาในการทำกรรมฐาน เป็นหนทางง่ายสุด สะดวกสุด เร็วที่สุด เป็นทางตรงสู่ปัญญาความหลุดพ้น ก็เป็นธรรมดาที่บุคคลมากมายจะเห็นดีด้วย เห็นว่าสอดคล้องกับสถานะภาพของตน

          ก็ที่จริงแล้ว การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นนั้น พื้นฐานในเบื้องต้นก็คือ ไม่ปล่อยให้กิเลสครอบงำจิต กล่าวคือ ก็ควรทนทานต่อกิเลส ฝืนกิเลส ไม่เป็นไปตามกิเลส ก่อน นั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างฝืนความเคยชินของปุถุชนทั่วไป ก็ยาก ก็ลำบาก แก่คนส่วนใหญ่ เป็นธรรมดา อีกประการหนึ่ง ผู้อบรมจิตมาดีแล้ว ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ย่อมมีผลเช่นว่า เมื่อจิตมีโทสะ ก็กำหนดได้ ว่า จิต มีโทสะอยู่ และเมื่อกำหนดสติปัฏฐานได้ดีพอ ได้บริบูรณ์พอ ก็จะกำหนดจิตได้ ว่า จักดับโทสะ ว่า จะระงับโทสะ แล้วก็จะดับโทสะได้ ระงับโทสะได้ ด้วยอำนาจอานิสงค์ของสติปัฏฐาน เพียงเท่านั้น ไม่ใช่ว่า ต้องบรรลุเป็นพระอริยะขั้นนั้น ขั้นนี้ก่อน แล้วถึงจะระงับโทสะได้ ผู้ที่ระงับโทสะมิได้ ไม่ใช่เพราะยังไม่บรรลุเป็นพระอริยะ แต่เพราะยังเจริญสติปัฏฐานไม่บริบูรณ์นั่นเอง ไม่ใช่อย่างที่บางสำนักอธิบายกันว่า เมื่อโกรธ แล้วรู้ตัวว่าโกรธ ความโกรธนั้นก็ไม่หายไปนั้น ถูกต้องแล้ว เป็นสติปัฏฐานแล้ว แล้วอธิบายต่อว่า ที่รู้ตัวว่าโกรธ แล้วความโกรธไม่หายไปนั้น นั่นคือ จิต เอง แสดงไตรลักษณ์ให้เราเห็น หรือความสงสัยก็เช่นกัน หรือความฟุ้งซ่านก็เช่นกัน ฯลฯ ความเห็นเหล่านี้ ไม่แยบคาย เพราะ สติปัฏฐาน เป็นธรรมที่ตั้งของสติ เพื่อละกิเลสนิวรณ์ ไม่ใช่ธรรมเพื่อแสดงว่า กิเลส นิวรณ์ เป็นไตรลักษณ์ กำหนดบังคับไม่ได้  เพราะหากบังคับไม่ได้ ธรรมที่ได้ชื่อว่า มหาสติปัฏฐาน ก็ไม่พึงมี อย่าว่าแต่ โทสะ อันเป็นหนึ่งในอกุศลมูล อันเป็นธรรมในส่วนกิเลส ที่หยาบยิ่งกว่านิวรณ์เสียอีก ถ้าจิตละจากส่วนที่เป็นอกุศลมิได้ จะไปคาดหวังอะไรกับการระงับนิวรณ์ และเมื่อกิเลสนิวรณ์ยังครอบงำจิตได้อยู่ จะกล่าวไปใยกันเล่า ถึงความรู้แจ้งในปัญญาอันเป็นเครื่องหลุดพันไปจากวัฏฏะสังสารนี้




หัวข้อ: โทสะ และ ศรัทธาพละ
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ ตุลาคม 10, 2008, 03:05:41 PM

          ธรรมอันเป็นเครื่องหมองแห่งจิต หรือเป็นเครื่องบดบังจิตจากความผ่องแผ้ว ทั้งหลายนี้ ได้ชื่อว่า ธรรมไปสู่ความเสื่อม หรือ อกุศลธรรม อันได้แก่ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ รัก โลภ โกรธ หลง นั่นเอง

          ส่วนธรรมอันเป็นเครื่องกั้น เครื่องละเว้น เครื่องอยู่ห่าง เครื่องลดทอน เครื่องกำจัดอกุศลธรรมทั้งหลายนั้น ได้ชื่อว่า กุศลธรรม เช่น พรหมวิหาร ๔  พละ ๕ อินทรีย์ ๕ สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ ฯลฯ เป็นต้น

          ในที่นี้ จะกล่าวถึง อกุศลธรรม ๑ คือ โทสะ และ กุศลธรรม ๑ คือ ศรัทธาพละ (อันเป็นหนึ่งในพละ ๕) เพื่อเป็นอุบายประการหนึ่ง

          บุคคลเมื่อรู้ตัวว่า มีโทสะครอบงำอยู่ พึงระลึกสิ่งศรัทธา อันโทสะไม่ครอบงำ พึงกระทำจิตน้อมไปในศรัทธา อันโทสะไม่ครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุก็ดี นิมิตก็ดี สัญลักษณ์ก็ดี หรือบุคคลก็ดี อันโทสะไม่ครอบงำ เช่น การระลึกถึงพระพุทธรูป การระลึกถึงคุณพระศรีรัตนะตรัย อันเป็นอนุสติ หรือแม้แต่กสิณต่างๆ เช่น กสิณสีขาว กสิณแสงสว่าง ฯลฯ เป็นต้น หรือการระลึกถึงครูบาอาจารย์ หรือผู้ที่ตนศรัทธาอยู่ ว่า เป็นผู้โทสะไม่ครอบงำ หรือครอบงำได้ยาก ก็ดี หรือเป็นผู้ครอบงำโทสะไว้ ก็ดี เป็นต้น แล้วตั้งจิตระลึกพิจารณาขึ้นมาว่า ธรรม อันได้ชื่อว่า โทสะ นี้ จะปรากฏแก่ท่านอย่างไร ท่านจักกระทำจิตอย่างไรต่อโทสะอันกำเริบ ท่านจะกระทำจิตให้ทนทานต่อโทสะหรือไม่ โทสะจักครอบงำย่ำยีจิตของท่านได้หรือไม่ หรือท่านจะกระทำจิตให้ครอบงำโทสะได้อย่างไร เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ย่อมน้อมไป เลื่อมใสไป เป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย เป็นกำลังอันต้านทานโทสะอันเป็นข้าศึก ประกอบด้วยความเพียร ไม่ย่อท้อ ไม่เกียจคร้าน ไม่หวาดกลัว ไม่เพ่งโทษ เป็นกุศล มีปีติ มีสุขอยู่ ประกอบด้วยธรรมอันเย็นอยู่ภายใน ด้วยเหตุทั้งหลายประมาณนี้ จักพึงละโทสะได้ในที่สุด นี้เป็นฐานะที่จะพึงมีได้แก่ผู้มีศรัทธา

ฯลฯ




หัวข้อ: กาย เวทนา จิต ธรรม สมถะ วิปัสสนา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ ตุลาคม 14, 2008, 12:13:58 AM

          บุคคลบางพวก สำคัญว่า เรายินดีในกายานุปัสสนาบ้าง  เรายินดีในเวทนานุปัสสนาบ้าง เรายินดีในจิตตานุปัสสนาบ้าง หรือ เรายินดีในธรรมานุปัสสนาบ้าง ไม่ยินดีธรรมอื่น เช่น ผู้ยินดีในกายานุปัสสนา จึงรังเกียจ หรือไม่ยินดีใน เวทนานุปัสสนาบ้าง จิตตานุปัสสนาบ้าง ธรรมานุปัสสนาบ้าง หรือ ผู้ยินดีในจิตตานุปัสสนา จึงรังเกียจ หรือไม่ยินดีในกายานุปัสสนาบ้าง เวทนานุปัสสนาบ้าง ธรรมานุปัสสนาบ้าง ... ฯลฯ

          แท้จริงแล้ว บุคคลจะพึงเจริญ พึงเข้าถึงสติปัฏฐานในข้อใดได้จริงนั้น ย่อมเป็นไปตามภูมิ ตามทัศนะ ตามวาสนา ไม่ใช่เพียงด้วยทิฏฐิ หรือความพอใจ หรือเพราะอาจารย์กล่าว ผู้ตั้งอยู่ในธรรมนุปัสสนาภูมิ แม้เมื่อพิจารณากายนี้อยู่ ก็ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม อันปรากฏอยู่ในกายนี้ เป็นธรรมดา ฯลฯ

          บุคคลควรเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ มิควรตั้งทิฏฐิว่า จะเจริญเพื่อความบริบูรณ์เพียงส่วนเดียว เพราะนั่นมิใช่สติปัฏฐานที่บริบูรณ์ เช่นเดียวกับการละกิเลส หากเลือกละเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น จิตย่อมไม่เข้าถึงความบริสุทธิ์ได้จริง

          เรื่องการทำสมถะ และวิปัสสนา ก็เช่นกัน โดยทั่วไป ผู้ใฝ่ธรรมแต่ละบุคคล ย่อมประกอบด้วยทั้งสองส่วนนี้ไม่เท่ากัน เป็นธรรมดา แต่ธรรมทั้งสองส่วนนี้ คือ สมถะ และ วิปัสสนา ย่อมเป็นธรรมอันควรเจริญให้บริบูรณ์ทั้งสองส่วน ไม่ใช่เลือกเอาตามความยินดีว่าจะเจริญเพียงส่วนเดียว หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลใดพึงสำคัญว่า สมถะ และ วิปัสสนา เป็นธรรมต่างหากกัน ไม่เจริญด้วยกัน แยกกันเจริญ หรือเจริญได้ทีละอย่างเท่านั้น บุคคลผู้นั้น ย่อมไม่พบสัจจะในธรรมทั้งสองนี้เลย ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เปรียบดังเช่น บุคคลผู้ปรารถนาจะตัดฟืน หากไม่กำหนดรู้ว่า จะตัดอย่างไร ไม้ที่จะตัดทำฟืนอยู่ในที่ใด ก็จะไม่สำเร็จ ถึงแม้เหวี่ยงขวานไปมา จนสิ้นแรง ก็มิได้ท่อนฟืนตามประสงค์ หรือในทางกลับกัน หากกำหนดรู้ได้แล้วว่า จะตัดฟืนได้ในที่ไหน จะตัดได้ด้วยอาการอย่างไร แต่มิได้เดินทางไป มิได้ออกแรง มิได้ลงมือเหวี่ยงขวานตัดฟืนแล้ว ย่อมไม่บรรลุดังประสงค์ เช่นกัน ฯลฯ

          ทำ โดยไม่ คิด ก็อาจสุ่มเสี่ยง  คิด โดยไม่ ทำ ก็ย่อมไม่เจริญ




หัวข้อ: นิมิต มายา ความหลุดพ้น
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ ตุลาคม 17, 2008, 10:04:35 PM

          นิมิต หมายถึง เครื่องหมายมั่นในใจ หรือก็คือ สิ่งที่จิตเข้าไปหมายมั่นนั่นเอง เช่นว่า ผู้มีสติรู้กายอยู่ ก็มีลักษณะของกายนี้ เป็นนิมิต ผู้มีสติกำหนดรู้เวทนาอยู่ ก็มีลักษณะอาการของเวทนานี้ เป็นนิมิต ผู้กำหนดสติระลึกรู้จิตของตนอยู่ ก็ย่อมมีลักษณะอาการของจิตนี้ เป็นนิมิตอยู่ หรือ ผู้กำหนดพิจารณาธรรมอยู่ ก็ย่อมมีธรรมอันกำหนดหมายอยู่นั้น เป็นนิมิต แต่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า นิมิต หมายถึงการเห็นภาพสัตว์ วัตถุ บุคคล หรือสถานที่ ในเวลาที่หลับ หรือในเวลาที่กำลังเคลิ้มอยู่ คล้ายๆความฝันนั่นเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็นับเป็นนิมิตชนิดหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ความหมายของคำว่า นิมิต

          โลกนี้ โลกทั้งหลาย รวมทั้งภพภูมิต่างๆ เป็นมายา บาปบุญทั้งหลายในโลก เป็นมายา นิมิต ก็เช่นกัน เป็นเพียงมายา แต่ผู้รู้ธรรมไม่ควรกล่าวแก่ชนทั้งหลายเช่นนี้ ว่า ควรละเสียซึ่งธรรมทั้งหมด หรือควรปฏิเสธซึ่งนิมิตทั้งปวง ฯลฯ เป็นต้น เพราะเหตุใด? ก็เพราะเหตุว่า ธรรมะอันบริสุทธิ์ ย่อมพึงมีสัจจะ และเหมาะแก่กาล ดังนี้แล้ว โดยปกติ ธรรมะอันบริสุทธิ์ จึงเป็นสิ่งมีหลักการ คือ อธิบายได้ และเป็นไปโดยลำดับ คือ มีอุบายเป็นขั้น เป็นตอน ไม่ตีบตัน ไม่กระโดด ไม่เป็นยอดด้วน ลำดับได้ เพื่อความเข้าถึงได้ เพื่อความเป็นฐานะได้(แต่ไม่จำเป็นต้องง่ายเสมอไป) แก่บุคคล ก็คนโดยมากในโลกนี้ ยังไม่เข้าถึงความมีธรรมอันพ้นไปจากโลก(โลกุตตระธรรม)เป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย เป็นที่น้อมไป ดังนั้น หากคนเหล่านี้ พึงไม่อาศัยธรรมใดๆ หรือนิมิตใดๆในโลกนี้ ทั้งหมด เป็นที่ตั้งแล้ว เขาย่อมเป็นเช่นผู้ที่ยังอ่อนแออยู่โดยไม่มีสิ่งใดพึงเป็นที่ยึดอาศัยอยู่เลย เช่นนี้ พวกเขาจะพึงตั้งตนอยู่ได้อย่างไร จะรักษาอัตภาพของตนอย่างไร จะพึงเจริญอัตภาพของตนให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปสู่อัตภาพที่ประเสริฐกว่า จนกระทั่งบรรลุธรรมอันสูงสุดในโลกนี้ได้อย่างไร ก็เปรียบเสมือนทารกผู้ยังไม่รู้ความ หากพึงไม่อาศัยพ่อแม่ หรือบุพการีเลี้ยงดูรักษาป้องกันภัย และให้ความรู้ใดๆแล้ว ก็คงอยู่รอดได้ยาก แต่เมื่อเติบโตแล้ว มีกำลังแล้ว รู้ความแล้ว ป้องกันรักษาตนได้เองแล้ว ก็ย่อมไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้อื่นปกป้องรักษาอีก ฯลฯ เป็นต้น

          ดังนั้น ถึงแม้ว่าบุญ และบาป หรือกุศล และอกุศล ทั้งหลาย ในโลกนี้ จะเป็นเพียงมายาเท่านั้น แต่ก็ไม่ควรกล่าวแก่บุคคลทั่วไปว่า ไม่พึงควรใส่ใจ เพราะบุคคลโดยทั่วไป ยังคงเป็นผู้อาศัยกุศลธรรม และอกุศลธรรม เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แก่ความเจริญ และความเสื่อมของตนอยู่ จึงควรละเว้นอกุศลธรรม อันเป็นเครื่องเสื่อม และควรเจริญให้มากซึ่งกุศลธรรม อันเป็นเครื่องเจริญ แก่ตน

          นิมิต ก็เช่นกัน พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสสอนไว้ ให้เฟ้น หรือเลือก นิมิต เช่นว่า หากเป็นนิมิตที่วิตกขึ้นแล้ว น้อมไปแล้ว เจริญให้มากแล้ว ศรัทธาเลื่อมใสไปแล้ว มีความแล่นไปแล้วในนิมิตนั้น แล้วเป็นเหตุให้เสื่อม หรือเป็นเหตุแห่งบาป เป็นเหตุแห่งอกุศล เป็นเหตุแห่งความหลงเพลิดเพลินไปในกาม ในอกุศล ก็ให้ระงับ ละเว้น หรือสลัดคืน แต่หากว่า เป็นนิมิตที่วิตกขึ้นแล้ว น้อมไปแล้ว เจริญให้มากแล้ว ศรัทธาเลื่อมใสไปแล้ว มีความแล่นไปแล้วในนิมิตนั้น แล้วเป็นเหตุให้เจริญขึ้น เป็นเหตุแห่งบุญกุศล เป็นเหตุให้ระงับซึ่งความหลง หรือ เป็นเหตุแห่งปัญญา ก็ควรระลึกให้มาก เจริญให้มาก น้อมไป แล่นไป ศรัทธาไป ให้มาก ฯลฯ เช่นว่า สมาธินิมิต ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า เป็นปัจจัยเพื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นสิ่งควรเจริญให้มาก ไม่ใช่ว่า นิมิตอะไรก็ไม่เอาหมด (สมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นหนึ่งในสัมโพชฌงค์ ๗ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในการตรัสรู้หลุดพ้น)

          อย่างไรก็ดี เมื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุดแล้ว ก็ย่อมละ วาง ดับ สลัดคืน ซึ่งธรรมทั้งหลายทั้งปวงในโลก ไม่ว่าจะเป็นบาป หรือบุญก็ดี นิมิตทั้งปวงก็ดี ข้อธรรมทั้งปลายก็ดี ความยินดียินร้ายต่างๆในโลกก็ดี หรือแม้กระทั่งปัญญาทั้งหลายในโลกก็ดี ฯลฯ ก็ล้วนเป็นสิ่งมิได้ต้องอาศัยเพื่อตนอีกต่อไป ก็มิได้ยึดมั่นถือมั่นเพื่อตนอีก เป็นธรรมดา ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะทิฏฐิว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดเลยเท่านั้น   




หัวข้อ: แก่นสมถะ และวิปัสสนา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ พฤศจิกายน 17, 2008, 02:41:38 PM

          สมถะ คือ เงียบ

          วิปัสสนา คือ วินิจฉัย

          พระนิพพาน เป็นธรรมสงัด วิเวก สันโดษ สงบ เงียบ กอรปด้วย วิชชา และความผุดผ่อง รวมความแล้ว คือ ธรรมอันพ้นความปิดบัง และเบียดเบียน





หัวข้อ: พระนิพพาน
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ ธันวาคม 23, 2008, 03:32:26 PM

          พระนิพพาน เป็นธรรมสะอาด ใส กระจ่าง เยือกเย็น ว่างจากสรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นปัจจัย แปดเปื้อนมิได้ เพราะมิได้ปะปนกับสิ่งใดอยู่เลย แต่ก็มิได้ปฏิเสธิสิ่งใดอยู่




หัวข้อ: สังโยชน์ ความสุดโต่ง
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ ธันวาคม 25, 2008, 05:23:16 PM

          สังโยชน์ เป็นเหตุ หรือเป็นเครื่อง ที่ผูกมัดสัตว์ให้วนเวียนอยู่ คล้ายเชือก คล้ายโซ่ ที่ล่ามโคอยู่ ให้เฝ้าแต่วนเวียนอยู่รอบๆหลัก ไม่สามารถเป็นอิสระหลุดพ้นไปได้

          คนจำนวนมาก ก็กล่าว หรือรู้มาว่า คนเราติดอยู่กับสังโยชน์ เพราะไม่รู้ความเป็นจริง ก็ถูกอยู่ แต่ความเป็นจริงที่กล่าวถึงนี้ คือความจริงอย่างไรกันแน่ คนส่วนใหญ่ก็ยังเดากันอยู่ดี บ้างก็อธิบายได้ใกล้เคียง คือ อธิบายว่า เพราะขาดสัมมาทิฏฐิ อันเป็นอริยะมรรคข้อที่ ๑ ซึ่งที่จริงแล้ว ส่วนใหญ่ก็ขาดกันทั้ง ๘ ข้อนั่นแหละ อย่างไรก็ดี ในที่นี้ จะกล่าวในแง่ว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ประกอบให้มรรคบริบูรณ์ได้ และในทางกลับกัน ความบริบูรณ์ของมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ ก็เป็นปัจจัยให้ สัมมาทิฏฐิ บริบูรณ์ได้ ดังนั้น มรรคทั้ง ๘ จะบริบูรณ์ โดยที่สัมมาทิฏฐิไม่บริบูรณ์ไม่ได้ และหากมรรคยังไม่บริบูรณ์ครบทั้ง ๘ สัมมาทิฏฐิก็จะถึงซึ่งความบริบูรณ์ไม่ได้เลย เช่นกัน

          ดังนั้น เรื่องทิฏฐินี้ สำคัญมาก เป็นคุณได้มาก และเป็นโทษได้มาก อีกทั้ง ความยึดมั่นถือมั่นอย่างสุดโต่งในทิฏฐิใดๆก็ตาม ก็เป็นอุปสรรคทั้งสิ้น เพราะเป็นเครื่องผูกมัดเจ้าของทิฏฐินั้น ให้มัวแต่วนเวียนคอยเฝ้าอยู่รอบๆหลักอยู่นั่นเอง ก็ไม่ได้เป็นอิสระหลุดพ้นไปได้ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าบุคคลใดไม่ตั้งทิฏฐิไว้เลย บุคคลนั้นก็จะไม่สามารถระลึกการใดๆ สิ่งใดๆ ได้เลยเช่นกัน

          สัมมาทิฏฐิ จะตั้งขึ้นได้ ก็อาศัยว่า รู้เห็นในความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแค่ได้ฟังจากผู้อื่น จากอาจารย์ มาว่าทิฏฐินี้เป็นจริง เป็นสัมมา แล้วก็สักแต่ว่าเชื่อถือตาม ความเห็นอย่างนี้ ยังไม่พ้นความสุดโต่ง แต่ถ้าเชื่อถือโดยประกอบด้วยการพิจารณาอย่างแยบคายแล้ว ก็อาจเป็นแนวทางประโยชน์ได้ แต่อย่างนี้ยังไม่เรียกว่าเป็นอริยะมรรค ยังเป็นการคาดเดามรรคอยู่ ผู้ใฝ่ศึกษาธรรมควรเข้าใจว่า แม้แต่คำตรัสสอนของพระพุทธองค์นั้น ก็เป็นเพียงอุบาย เพื่อโน้มน้าวจิตใจให้หยั่งลงสู่อรรถะ ดังนั้น คำตรัสสอนจึงมีมาก เพราะบุคคลประกอบเหตุมาต่างกัน อุบายจึงต่างกัน แต่มุ่งอรรถะเดียวกัน

          โดยหลักการทั่วไปแล้ว คนเราอาศัยการพิจารณาไปตามหลักเหตุผล เพื่อจะรู้ หรือเข้าใจความเป็นไป หรือความเป็นจริงต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนโดยมาก มักมีปัญหาจากการที่ยึดมั่นสุดโต่งไปในเหตุผลที่ตนรู้มานั้นแหละ เป็นเครื่องบดบังตนเองจากความเป็นจริง ทำให้ไม่รู้ หรือทำให้รู้ไปแบบผิดๆ หรือแม้แต่การมีโทสะเพราะเห็นว่าขัดกับเหตุผลที่ตนรู้มา แทนที่การรู้เหตุผลจะเป็นปัญญาในการแก้ปัญหา ก็กลายเป็นสร้างปัญหา สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับตัวเจ้าของไปเสียเอง

          ก็จริงอยู่ว่า ความเป็นไปทั้งหลายในโลก ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงมีผลตามมา แต่ ไ่ม่ใช่ฐานะทั่วไป ที่บุคคลจะกำหนดเหตุปัจจัยของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกได้อย่างครบถ้วนครอบคลุมทั้งหมด คนที่เข้าใจเหตุผลความเป็นจริงข้อนี้ มีน้อย ก็เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนบางพวกในโลก ฟุ้งซ่าน เพราะพยายามที่จะพิจารณารู้ในสิ่งที่เกินฐานะ ในสิ่งที่ยังไม่ปรากฏเจตนาชัดเจนแก่ตน ความลังเล ความสงสัย ก็ไม่มีจบสิ้น และไม่ถูกแก้ไข

          สัมมาทิฏฐิในธรรมใด จะตั้งขี้นได้ ต้องอาศัยการพิจารณาเห็นสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้น การพิจารณาเห็นได้ถึงสภาพความเป็นจริงของธรรมใด ต้องอาศัยจักษุที่เห็นแท้ในธรรมนั้นได้ ทัศนะในธรรมนั้นจึงมีได้ การที่บุคคลจะมีญาณทัศนะเห็นความเป็นจริงของจิตได้ บุคคลนั้น จำต้องกำจัดกิเลส ตัณหา และนิวรณ์ ออกจากจิตให้ได้เสียก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องครอบงำ ห่อหุ้ม บดบังจิตอยู่ เปรียบเสมือนว่า จะเห็นเนื้อส้มได้ ก็ต้องลอกเปลือกออกเสียก่อน จะเห็นแก่นไม้ได้ ก็ต้องลอกกระพี้ ลอกเปลือกออกก่อน

          อย่างไรก็ดี บุคคลบางพวก แม้ละกิเลสนิวรณ์ออกจากจิตได้แล้ว แม้เพียงชั่วคราว แต่ไม่ได้ละสังโยชน์ในข้อใดเลย เพราะแม้เกิดจักษุในเวลานั้นแล้ว แต่มิได้พิจารณาไปโดยแยบคาย บางทีก็เพราะหลงไปในวิปัสสนูกิเลสเสียก่อน ไปสำคัญว่า ความดับไปของกิเลสตัณหาโดยชั่วคราวนั้น เป็นความดับไป ละไป ขาดไป ของสังโยชน์ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ทิฏฐิที่ตนตั้งไว้เป็นหลักในการนี้ ก็มีอันผิดเพี้ยนไป สัมมาทิฏฐิ อันเป็นองค์แรกในอริยะมรรคก็ผิด ก็เป็นเหตุให้อีก ๗ องค์ที่เหลือ ผิดตามกันไปทั้งหมด ผลก็คือ ยังสุดโต่งอยู่กับประสพการณ์ ความรู้ ความเชื่อ และหลักการเหตุผลของตนอยู่ ก็กลายเป็นเครื่องมัดตน ไม่พ้นไป บางรายก็ออกประกาศตนเผยแพร่ พอมีชื่อเสียงมากขึ้น ก็ยิ่งพากันสุดโต่งไปกว่าเดิม ก็มีปรากฏอยู่

          ดังนั้น บุคคลที่เจริญเข้าถึงสติปัฏฐานแล้ว ย่อมระงับกิเลสนิวรณ์ แต่จะละสังโยชน์นั้น ยังต้องอาศัยธรรมประกอบอื่นอีก คือ สัมโพชชงค์ ๗ อันเป็นสภาพธรรมที่นำออก กล่าวคือ ออกจากสังโยชน์นั่นเอง และเมื่อรู้เห็นชัด ถึงสภาพอันนำออก ถอนออก สลัดออก แล้ว นั่นแหละ จึงรู้อริยะสัจจ์ได้ จึงกำหนดมรรคอันเป็นเครื่องเจริญไปได้ จนกระทั่งถึงซึ่งความบริบูรณ์

          จริงอยู่ว่า สังโยชน์นั้น เป็นลักษณะของทิฏฐิอย่างหนึ่ง แต่การที่บุคคลคิดว่า จะรู้สังโยชน์ จะละสังโยชน์ได้ ด้วยความรู้สึกนึดคิดหรือความใคร่ครวญในเหตุผลอย่างทั่วไปนั้น ย่อมไม่สามารถรู้ หรือละ สังโยชน์ได้เลย เพราะไม่รู้สภาพการนำออก เมื่อไม่รู้สภาพการนำออกแล้ว ก็จะไม่สามารถจำแนกได้อย่างแท้จริงว่า "สิ่งใดบ้าง ที่ไม่ใช่จิต" ไม่เพียงสักแต่ตั้งทิฏฐิไว้ว่า กายนี้ไม่ใช่จิต และ/หรือ ใจนี้ไ่ม่ใช่จิต เมื่อกล่าวออกมาแล้ว ก็จะนับว่าถูกได้แต่พยัญชนะ แต่ไม่ถูกอรรถะ บางพวกก็ว่า เมื่อรู้ว่า "กาย" นี้ไม่ใช่จิตแล้ว ก็จะละสักกายะทิฏฐิ บรรลุเป็นโสดาบันได้ ขั้นต่อไป ก็พยายามรู้ต่อไปว่า "ใจ" นี้ ก็ไม่ใช่จิต ก็จะบรรลุขั้นต่อๆไปจนถึงพระอรหันต์ได้ แท้ที่จริงแล้ว หากบุคคลใดจะตั้งทิฏฐิไว้ได้ดังนี้อย่างมั่นคงจริงแล้ว และไม่มีอกุศลวิบากอื่นประกอบเลย ที่เขาจะบรรลุประโยชน์ได้สูงสุดก็คือ ความเป็นพรหม แต่อาจารย์ผู้สอนเชื่อว่า คือ พระนิพพาน ทั้งๆที่ตั้งตนว่า เป็นนักวิปัสสนา

         เหล่านี้ ก็เป็นตัวอย่างโทษ ภัย อันตราย ของความสุดโต่งไปในทิฏฐิ เป็นเหตุให้ไม่พ้นไป สัมมาทิฏฐิก็ไม่เกิด อริยะสัจจ์ก็ไม่รู้ มรรคก็ไม่เกิด ไม่เป็นฐานะ ความรู้ของตนกลับกลายเป็นพิษแก่ตนไปในที่สุด เพราะไม่มุ่งรู้ความเป็นอิสระยิ่ง





หัวข้อ: ขันธ์ ๕
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ ธันวาคม 26, 2008, 05:52:33 PM

          ที่จะกล่าวในบทนี้ อาจเข้าใจยากสักหน่อยสำหรับผู้ไม่ได้มีพื้นฐานทางปริยัติมามากนัก แต่เพ่งเล็งว่าอาจมีประโยชน์ได้พอสมควรจึงแสดง สำหรับผู้ที่เห็นว่ายากเกินไป ก็อ่านกันเพลินๆ พอให้สำรวมจิตในระดับหนึ่งก็แล้วกัน ไม่ต้องเข้าใจทั้งหมด แต่ไม่ควรผ่านเลยไปโดยไม่ใส่ใจ และบทนี้ไม่ใช่การคัดลอกตำรามาให้อ่านเฉยๆ



          สัตว์ทั้งหลายที่วนเวียนอยู่ มีชีวิตอยู่ ย่อมต้องประกอบด้วยขันธ์ทั้ง ๕ ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์  ส่วนอุปาทานในขันธ์ ๕ นี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕

          ขันธ์ หมายถึง กอง หรือที่ตั้งรวมกัน ฯลฯ

          พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงเหตุ และปัจจัย แห่งการบัญญัติรูปขันธ์ ว่า มีมหาภูตรูป เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติ ส่วนเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ นั้น ทรงตรัสแสดงว่า มีผัสสะ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติ

          รูปขันธ์ คืออะไร?
          สิ่งมีสภาพ อันปรากฏเป็นลักษณะจำเพาะ เรียกว่า รูป เช่น วัตถุธาตุทั้งหลาย เป็นรูป อายตนะทั้งหลาย เป็นรูป ฯลฯ เป็นต้น รูปทั้งหลายไม่เที่ยง มีความปรวนแปร หรือเปลี่ยนสภาพไปตามเหตุ ตามปัจจัย ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นรูปนั้นๆ วัตถุธาตุก็เช่นนั้น อายาตนะก็เช่นนั้น  รูปขันธ์ คือ การรวมกันขององค์ประกอบ หรือปัจจัย ที่ทำให้เกิดมีรูปนั้นๆปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นภายในกาย คือ รูปในภายใน หรือภายนอกกาย คือ รูปในภายนอก ก็ดี ควรเห็นด้วยปัญญาอ้ันยิ่ง ว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน(อัตตา)ของเรา ไม่ได้หมายความว่าให้ปฏิเสธ หรือทำลาย แต่ไม่ควรกำหนัด

          เวทนาขันธ์ คืออะไร?
          โดยทั่วไป เวทนา หมายถึง ความยินดี ความยินร้าย ในสิ่งต่างๆ แต่ในที่นี้ จะขอแสดงว่า เวทนา คือ เจตนา หรือความกำหนดได้ ว่า สิ่งต่างๆ หรือสภาพต่างๆ มีผลต่างกัน และเกิด หรือมี ซ้ำได้ (หากบุคคลรู้ชัดว่า สิ่งทั้งปวง เกิดเพียงครั้งเดียว มีซ้ำไม่ได้ เวทนาจะไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบต่อไปในตัณหา และอุปาทาน ฯลฯ เช่นนี้แล้ว เมื่อสิ่งนั้น สภาพนั้น รูปนั้น ดับไป เสื่อมไป หรือแปรสภาพไป เวทนาในสิ่งนั้น ก็จะดับตาม สืบต่อไม่ได้ เมื่อสืบต่อไม่ได้ เจริญไม่ได้ ก็ไม่เป็นองค์ประกอบแห่งชีวิต) ดังนี้ เวทนา จึงเป็นสิ่งอาศัยผัสสะในรูป ปรุงแต่งให้เกิด เพราะรู้ว่า รูป ต่างๆ มีที่ให้ผลคล้ายกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง ส่วนเวทนาขันธ์ หมายเอาในแง่ว่า ปัจจัยอะไรก็ตาม ที่ประกอบเข้าด้วยกันแล้ว เป็นเหตุให้เกิดความยินดียินร้ายจำเพาะในที่นั้น เรียกว่า เวทนาข้ันธ์ เมื่อบุคคลถือเอาสิ่งใดเป็นอารมณ์แล้ว จะกล่าวว่าไม่มีเจตนาในสิ่งนั้น ย่อมไม่ควร

          สัญญาขันธ์ คืออะไร?
          สัญญาในสิ่งใด คือ ความหมายจำได้ หมายระลึกได้ ในสิ่งนั้น เช่นจำได้ว่า  สิ่งนั้น คืออะไร มีความหมายอย่างไร ให้ผลอย่างไร มีผลคล้ายกัน หรือ แตกต่างจากสิ่งอื่นอย่างไร ฯลฯ เป็นต้น แม้สิ่งนั้นไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าในขณะที่ระลึกอยู่ก็ตาม ซึ่งบางอย่างก็เป็นความหมายน่ายินดี บางอย่างเป็นความหมายไม่น่ายินดี บางอย่างเป็นความหมายที่ไม่ปรากฏชัดไปทางใดทางหนึ่งว่าน่ายินดี หรือไม่น่ายินดี อย่างไรก็ดี ความน่ายินดี หรือไม่น่ายินดี นั้น ไม่ใช่ความหมายของ สัญญา แต่ความระลึกได้ หมายจำได้ ว่าสิ่งใดน่ายินดี สิ่งใดไม่น่ายินดี เป็น สัญญา ความระลึกได้ในเรื่องราวต่างๆ เป็นสัญญา ส่วนสัญญาขันธ์ นั้น หมายเอาในแง่ว่า สิ่งอันใดก็ตาม เมื่อมาประกอบ มากองเข้าด้วยกันแล้ว เป็นเหตุให้เกิด สัญญา คือความหมายระลึกได้ ขึ้นในที่นั้น เรียกว่า สัญญาขันธ์ ความขบคิดใคร่ครวญ หรือไตร่ตรองไปในเรื่องต่างๆ ไม่ใช่สัญญา แต่เป็นการประมวลสัญญาที่มีอยู่เดิม ตำหลักปริยัติ ท่านว่า ความคิด คือ วิตก และวิจารณ์ เป็น สังขาร สังเกตว่า บุคคลจะมีเจตนากำหนดหมายจำ หรือหมายระลึกได้ ในสิ่งใด ย่อมเพราะเห็นว่า สิ่งนั้น มีผล หากว่าทุกสิ่งในโลก มีผลเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด บุคคลจะไม่พึงหมายจำมากกว่า ๑ สิ่ง

          สังขารขันธ์ คืออะไร?
          โดยทั่วไป ตามตำรา บางทีท่านว่า สังขาร คือ ความปรุงแต่ง บ้างก็ว่า สังขาร คือ เจตนา ฯลฯ ในที่นี้ จะขอกล่าวความเป็นสังขาร โดยสภาพว่า ความมุ่งหมาย หรือความกำหนดหมาย เมื่อบุคคลใด มุ่งหมาย หรือกำหนดหมายในสิ่งใด สังขาร ย่อมเกิดในสิ่งนั้น ไม่ว่าสิ่งที่หมายอยู่นั้น จะเป็นฐานะแก่ตนอยู่หรือไม่ก็ตาม พึงสังเกตว่า รูป ไม่ใช่สังขาร แต่ สังขาร อาศัยรูปเกิด ดังนั้น สังขาร จึงไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับรูป และ รูป ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับสังขาร เช่นเดียวกันกับ เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี วิญญาณก็ดี ถึงแม้อาศัยรูปเกิด คือ อาศัยผัสสะในรูปเกิด แต่ เวทนา สัญญา และวิญญาณ ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับรูป ส่วนสังขารขันธ์ หมายถึง สิ่งใดก็ตาม ที่กองรวมกัน ประกอบเข้าด้วยกัน แล้วเป็นเหตุจำเพาะให้เกิด สังขาร คือ ความมุ่งหมาย หรือความกำหนดหมายในสิ่งใด ขึ้นในที่นั้น เรียกว่า สังขารขันธ์ บุคคล จะพึงกำหนดหมายในสิ่งใดได้ ย่อมมีเจตนาตรึกในสิ่งนั้น ดังนั้น บางทีก็กล่าวว่า ความคิด เป็น สังขาร หรือ บางทีก็กล่าวว่า วิตก และวิจารณ์(ในรูป) คือ วจีสังขาร หรือ บางทีก็กล่าวว่า เจตนา เป็น สังขาร แต่ เจตนาบางอย่าง ไม่นับเป็นสังขารขันธ์ ก็มี เพราะไม่อาศัยที่ตั้ง หรือที่กองรวมกัน สังเกตว่า บุคคลจะพึงกำหนดหมายในสิ่งใดได้ก็ตาม ย่อมต้องมีความระลึกได้ในสิ่งนั้นก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่า บุคคลจะต้องมีเจตนากำหนดหมายในทุกสิ่งที่ตนระลึกได้เสมอไป (ด้วยเหตุนี้ สังขาร จึงไม่ใช่สัญญา แต่อาศัยกันเกิดได้) เพราะยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นประกอบ หรือกระตุ้น ให้เกิดเจตนาความมุ่งหมายในสิ่งที่ระลึกได้อยู่นั้น เช่น เวทนา(ความยินดียินร้ายในสิ่งนั้น) ดังนี้ บางคราว ท่านก็กล่าวแสดงว่า ส้ัญญา และเวทนา คือ จิตตสังขาร(หมายถึง สัญญา และเวทนา เป็นปัจจัยปรุงแต่งจิต)

          วิญญาณขันธ์ คืออะไร?
          ความหมายโดยทั่วไปของคำว่า วิญญาณ (ตามหลักพระธรรม) ก็คือ ความรู้กระทบ หรือความรู้ในสิ่งที่เข้ามากระทบ เช่น เมื่อเสียงกระทบหู(โสตะ) ความรู้ได้ถึงเสียงนั้น(การได้ยิน) ก็คือ วิญญาณ(โสตะวิญญาณ) นั่นเอง หรือเมื่อรูปกระทบตา(จักษุ) ก็เกิดจักษุวิญญาณ นั่นเอง ฯลฯ เป็นต้น แต่ในที่นี้ จะกล่าวลักษณะอาการของวิญญาณ ว่าืคือ สภาพที่แล่นไป ทะยานไป หรือสภาพการหยั่งลง สู่สิ่งใดอันเป็นสภาพ เพื่อความรับรู้ในสภาพนั้น เรียกว่า เกิดวิญญาณในสิ่งนั้น เช่น เมื่อจิตที่จุติ(จุติ คือ การเคลื่อนจากภพหนึ่ง ไปอีกภพหนึ่ง)ได้หยั่งลงสู่ครรภ์มารดา ที่เรียกว่า ปฏิสนธิ(คือ การเกิด หรือการเกิดใหม่) เมื่อนั้น วิญญาณ ย่อมได้เกิดขึ้นแล้ว ในครรภ์มารดานั้น หรือความแล่นไปสู่ ความหยั่งลงสู่ ผัสสะทั้งหลายอันกระทบ ก็เช่นกัน วิญญาณ ย่อมเกิดในผัสสะนั้น(อาศัยการประจวบกันระหว่างอายตนะภายนอก และอายตนะภายในที่มีวิญญาณอาศัยเกิดอยู่ หรือครองอยู่) พึงสังเกตว่า วิญญาณ ไม่ใช่จิต แต่เป็นสภาพที่จิตหยั่งลงเพื่อความรู้ในสังขาร หรืออายตนะอันจิตอาศัยอยู่ รวมทั้งผัสสะอันเนื่องแต่สังขาร หรืออายตนะนั้น วิญญาณขันธ์ ก็คือ สภาพที่ประกอบกัน รวมกัน เพื่อความปรากฏจำเพาะแห่งวิญญาณในที่นั้น นั่นเอง กล่าวอีกอย่างว่า วิญญาณ คือ ความแล่นไป ความหยั่งลง สู่สภาพ หรือรูป อันเป็นสิ่งที่หมายมั่น ก็ืคือ สังขาร นั่นเอง

          รวมความแล้ว ขันธ์ แห่งสิ่งใด ก็คือ การปรุงแต่ง การประกอบ หรือการรวมเข้า เพื่อความเกิดจำเพาะของสิ่งนั้น

          นอกจากนี้ ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นสิ่งปรุงแต่งร่วมกัน เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งรวมกัน ประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อความเกิดจำเพาะของ ชีวิต หรือความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ไม่ใช่ของเกิดทีละสิ่ง และไม่ใช่สิ่งแยกต่างหากจากกัน หรือเกิดคนละเวลากัน และบุคคลทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย จะนับว่ามีอยู่ ก็เพราะประกอบด้วยขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่บางเวลา และไม่ใช่ว่าบางเวลาเกิดครบทั้ง ๕ ขันธ์ บางเวลาเกิดไม่ครบทั้ง ๕ ขันธ์ แม้แต่อรูปพรหม หรือบุคคลที่ทรงอยู่ในอรูปฌาน ก็ไม่เว้น เป็นเพียงว่า ไม่กำหนัดในรูป หรือละรูปสัญญาได้อยู่ แต่ไม่ใช่ไม่มีรูป หรือรูปข้ันธ์

          อีกประการหนึ่ง ขันธ์ทุกประการในขันธ์ ๕ ประกอบอยู่ด้วยเจตนาทั้งสิ้น ไม่ว่าบุคคลนั้น หรือสัตว์นั้น จะจำแนกได้อยู่หรือไม่ก็ตาม

          ขันธ์ ๕ นี้ มีทั้งส่วนที่เป็นประโยชน์ และส่วนที่เป็นโทษ ส่วนที่เป็นประโยชน์ ก็คือ ส่วนที่ทำให้เกิดความยินดี ส่่วนที่เป็นโทษ ก็คือ เป็นสิ่งปรวนแปร เป็นทุกข์ พระพุทธองค์ ไม่ได้สอนให้ละขันธ์ ๕ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ท่านสอนให้พิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง เช่นว่า มีความปรวนแปร เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน(อัตตา)ของเรา เพื่อความคลาย เพื่อความละ เพื่อความไม่กำหนัด หรือเพื่อความดับไปของอุปาทานขันธ์(ความยีึดติดในขันธ์)

          ข้อสุดท้าย เมื่อประมวลรวมความแล้ว ความมีอยู่ของสัตว์ หรือบุคคลทั้งหลาย ก็ประกอบด้วย รูป และนาม ส่วน จิต ก็เป็นสิ่งที่เข้าไปอาศัยปรุงแต่งในรูป(ที่เกิดจากการปรุงแต่งของมหาภูติรูป) เป็นเหตุให้เกิดนามอันปรุงแต่ง และนามอันปรุงแต่งนี้ ก็เป็นสิ่งปรุงแต่งจิตอีกทีหนึ่ง และนามรูปอันปรุงแต่งเหล่านี้ จำแนกตามลักษณะออกได้เป็นขันธ์ทั้ง ๕ ดังนั้น ทั้งรูป และนาม ก็ดี ขันธ์ ๕ ก็ดี ไม่ใช่จิต แต่เป็นปัจจัยที่จิตอาศัยปรุงแต่งเป็นอารมณ์นั่นเอง ผู้พิจารณาขันธ์ ๕ อยู่ เมื่อกำหนดจำแนกลักษณะอาการต่างๆของขันธ์ทั้ง ๕ ได้แล้ว ก็ควรพิจารณาให้เห็นได้ว่า อาการทั้งหลายตามที่จำแนกเป็นขันธ์ ๕ นี้ ไม่ใช่จิต สิ่งที่เข้าไปรับรู้ลักษณะอาการต่างๆของขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ต่างหาก ก็คือ จิต แต่จะเห็นชัดเช่นนี้ได้ ต้องละความกำหนัดในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ได้ก่อน นี่คือเจตนารมณ์หลักของบทความนี้
         





หัวข้อ: อรรถะแห่งธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 13, 2009, 02:43:13 AM

          ทั้งหลายในโลก ล้วนเป็นมายา ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่ปรากฏก็ดี ไม่ว่าจะเป็นความคิดคำนึงก็ดี ไม่ว่าจะเป็นโวหารที่กล่าวก็ดี ล้วนเป็นมายาทั้งสิ้น แต่การจะแสดงให้บุคคลผู้ยังหลงอยู่ในมายาเหล่านี้ ให้ได้เห็นความเป็นจริง ให้ได้บรรลุธรรมอันบริสุทธิ์ เราย่อมพิจารณาเฟ้นมายาบางประการ เพื่อแสดงเป็นอุบาย

          หากเรารู้ชัดว่า บุคคลใด ที่จะพึงบรรลุธรรมอันบริสุทธิ์ได้ เพราะรู้ว่า พระนิพพาน เป็นทุกข์ เราจักกล่าวแก่ผู้นั้นว่า พระนิพพาน เป็นทุกข์ หรือหากเรารู้ชัดว่า บุคคลใด ที่จะพึงบรรลุธรรมอันบริสุทธิ์ได้ เพราะรู้ว่า พระนิพพาน เป็นสุข เราจักกล่าวแก่ผู้นั้นว่า พระนิพพาน เป็นสุข หรือหากเรารู้ชัดว่า บุคคลใด ที่จะพึงบรรลุธรรมอันบริสุทธิ์ได้ เพราะรู้ว่า พระนิพพาน ไม่เป็นสุข และไม่เป็นทุกข์ เราจักกล่าวแก่ผู้นั้นว่า พระนิพพาน ไม่เป็นสุข และไม่เป็นทุกข์ ฯลฯ หรือมิเช่นนั้น เราก็จักไม่กล่าวพระนิพพานแก่บุคคลนั้นเลย





หัวข้อ: ปัญญา แห่งบุคคล
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 18, 2009, 09:53:23 PM

          ประการแรก บุคคลใด มิได้น้อมจิตไปในสิ่งชั่ว เพียงเพราะยังมิได้ระลึก ตรึก หรือคิด ในสิ่งชั่ว เราไม่กล่าวเพียงเพราะเหตุเท่านี้ว่า บุคคลนี้ เป็นผู้มีปัญญา

          ประการที่สอง บุคคลใด ระลึกอยู่ ตรึกอยู่ หรือคิดอยู่ ในสิ่งชั่ว แล้วกำหนดรู้ได้ว่า สิ่งนี้ชั่ว และมีความตั้งมั่น ทนทานได้ ไม่น้อมจิตตามไปในสิ่งชั่วนั้น ด้วยเหตุประมาณนี้ เราย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้ เป็นผู้มีสติปัญญา

          ประการที่สาม บุคคลใดที่รักษาตนตั้งอยู่ในประการที่สองได้แล้ว ระลึกไป ตรึกไป หรือคิดไป ในสิ่งประเสริฐกว่า แล้วกำหนดรู้ได้ว่า สิ่งนี้ประเสริฐกว่า แล้วพึงน้อมจิตไปในสิ่งอันระลึก ตรึก หรือคิดไปเหล่านั้นได้ เราย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้ เป็นผู้มีสติปัญญาอันประเสริฐยิ่งกว่าบุคคลดังประการที่สอง

          เพราะเหตุว่า สิ่งใดก็ตาม จะนับเป็นปัญญาได้ ก็เพราะมีสภาพว่า ตัด ละ หรือลด โมหะ






หัวข้อ: อกุศลมูล และความวิปลาส
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 21, 2009, 12:40:04 PM

          อกุศลมูล ๓ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ

          โลภะ คือ ความใคร่ได้ในสิ่งที่ตนเห็นว่าน่ายินดีพอใจ
          โทสะ คือ ความประทุษร้าย ใคร่กำจัดสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ
          โมหะ คือ ความไม่รู้ชัดในสภาพแห่งโลภะ และโทสะ ความหลงไปในโลภะ และโทสะ

          บุคคลเมื่อตรึกคาดหวังในสิ่งใดแล้ว เกิดตัณหา มุ่งทะยานไปด้วยเหตุแห่งโลภะ โทสะ และโมหะ อันครอบงำจิตตนอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อความวิปลาส ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม ย่อมเป็นไปเพื่อทุึกข์คติ เพราะสุดโต่งไปในสิ่งที่คาดหวัง เพราะสุดโต่งไปในตัณหา






หัวข้อ: นิสัย และวาสนา อะไรควรแก้ไขก่อน
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 24, 2009, 01:10:04 AM

          ในการงานที่สำเร็จลุล่วงได้ยาก นิสัย และ วาสนา มักเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง เพราะวาสนาเป็นปัจจัยให้ประจวบเหมาะ ส่วนนิสัยเป็นปัจจัยให้น้อมไป เป็นปัจจัยให้ใส่ใจ เป็นปัจจัยให้ประคอง หากปัญหาเกิดจากนิสัย และวาสนา บุคคลควรแก้นิสัยก่อน จึงเพียรพอกพูนวาสนา





หัวข้อ: การอาศัยในโลกอย่างปกติสุข
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2009, 05:10:41 PM

          บนโลกอันมีความปรวนแปร เปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ บางเรื่องก็พอคาดประมาณการณ์ล่วงหน้าได้ บางเรื่องก็เกิดขึ้นโดยไม่มีวี่แววมาก่อน ฯลฯ คนส่วนใหญ่ในโลก มักดำรงตนอยู่ด้วยความหวาดกลัว หรือหวาดระแวง ด้วยเกรงว่า สิ่งต่างๆ จะไม่เป็นไปอย่างที่ตนยินดี ก็จึงพยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านั้น เช่นว่า บางคนกลัวจน กลัวความไม่สะดวกสบาย ก็พยายามขวนขวายหาทรัพย์สมบัติเงินทองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บางที ก็ถึงกับต้องเบียดเบียน แก่งแย่ง คดโกง หรือประทุษร้ายผู้อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์เงินทอง แต่ถึงแม้ได้มา จิตใจก็ยังไม่เป็นสุข ถึงแม้บางคราว เมื่อได้มาก็ยินดี แต่ภายในจิตใจลึกๆ ก็กระวนกระวายเร่าร้อนอยู่ ไม่เยือกเ็ย็นสงบสุข ถึงจะรู้ตัวบ้าง หรือไม่รู้ตัวบ้าง ก็ตาม หรือบ้างก็เป็นห่วง กลัวบุคคลที่เรารัก จะพลัดพราก จะลำบาก จะถูกเบียดเบียน จะตกทุกข์ได้ยาก ฯลฯ เป็นต้น เมื่อบุคคลทั้งหลายเป็นไปอย่างนี้แล้ว ก็ดูเหมือนว่า โลกนี้ เป็นที่ไม่มั่นคง ไม่น่าไว้วางใจ มีความบีบคั้น มีอันตรายได้อยู่ตลอดเวลา ไม่ทางกาย ก็ทางใจ ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ชีวิต ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งด้อยคุณค่า มีลมหายใจอยู่ ก็เพื่อต่อสู้ ดิ้นรน หรือวิ่งหนีจากความทุกข์ ความผิดหวังเท่านั้น มีแต่ความไม่มั่นคง มีแต่ความหวาดกลัว เพราะความไม่รู้ เหมือนกับว่า โลก จะถล่มทลายลงต่อหน้าเราเมื่อใดก็ได้

          แท้ที่จริงแล้ว โลกนี้ก็เต็มไปด้วยความปรวนแปรจริงอย่างนั้นแหละ แต่ไม่ใช่ทุกคนในโลกที่หวาดกลัว หากเราหวาดกลัวความไม่แน่นอนของโลก โลกนี้ ก็จะเป็นไปด้วยภัยอันตราย ที่คอยไล่ตะครุบ คอยจะไล่ต้อน คอยจะทับถมผู้คนให้ย่อยยับเศร้าโศกลงไปได้ แต่หากเราไม่เกรงกลัวใดๆในโลก โดยสำคัญว่าโลกนี้เที่ยง หรือโลกนี้ต้องเป็นไปอย่างที่เราต้องการ อย่างเช่น ความคิดที่สุดโต่งไปว่า เดี๋ยวก็ดีเอง แล้วก็ประมาท ไม่เร่งขวนขวายในสิ่งที่ควรขวนขวาย ด้วยกายก็ดี ด้วยจิตใจก็ดี อย่างนี้แล้ว ก็เป็นการมองโลกในแง่ดีจนเกินไป ขัดต่อความเป็นจริง ประมาท ก็จะนำภัยมาสู่ตนได้เช่นกัน ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราควรจะวางใจอยู่ในโลกนี้ด้วยดีได้อย่างไร?  บุคคลผู้รู้ชัดว่า ความเป็นไปต่างๆทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมมีความแปรปรวนอยู่เป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดจะมั่่นคงยั่งยืนไปได้ตลอดกาล สิ่งไม่น่าปรารถนาจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใด เมื่อไหร่ก็ได้ในโลกนี้ คล้ายกับว่า โลกนี้ จะถล่มทลายลงต่อหน้าตนเมื่อใดก็ได้เสมอ เมื่อรู้ชัดอย่างนี้แล้ว แต่ไม่หวาด ไม่ขาดเขลา ไม่กลัวเกรง ยอมรับไว้ เพราะเห็นว่า เป็นธรรมดาของโลก และรู้ชัดว่า สิ่งที่เป็นไปในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดเลย ที่เป็นของๆตนอย่างแท้จริงตลอดไป มีแต่เจตนา คือความตั้งจิตตั้งใจของตนเท่านั้น ที่เป็นที่อาศัย เป็นที่พึ่ง เป็นของๆตนเองอย่างแท้จริง ที่จะพึงกำหนดได้ อย่างนี้แล้ว แม้เมื่อโลกถล่มทลายลงต่อหน้าของตน ก็จะไม่สามารถทับถมทำลายเราให้จมลงไปในซากปรักหักพังของโลกนี้ได้เลย ดังนั้น เมื่อบุคคลตั้งจิตตั้งใจ กำหนดรักษาเจตนาของตน ให้แน่วแน่มั่นคงอยู่ในคุณธรรมความดีได้อย่างแท้จริง โดยไม่กลัวความยากลำบากแล้ว โลกอันเป็นสภาพง่อนแง่นแปรปรวนอยู่ทุกเมื่อนี้ ก็จะกลายเป็นที่มั่นคงปลอดภัยมากพอ สำหรับบุคคลนั้นได้ ความปกติสุข ย่อมเป็นสิ่งอันบุคคลพึงหวังได้ แก่ตน ด้วยปัญญาอันแยบคาย






หัวข้อ: ความสงบ และความไม่ยึดมั่นถือมั่น
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กุมภาพันธ์ 22, 2009, 11:41:34 AM

          ความสงบ ไม่ได้หมายถึงความไม่พิจารณาสิ่งใดๆเลย แต่หมายถึง ความไม่กำหนัด ความไม่ฟุ้งซ่าน ความไม่เร่าร้อนกระวนกระวาย ความไม่สั่นไหวไปตามผัสสะทั้งหลายอันยั่วยุ

          บุคคลพึงพิจารณาถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความปล่อยวาง และความสละคืนสิ่งต่างๆ หรือความเป็นไปต่างๆในโลก โดยตั้งอยู่้ในความสงบ ประคองไปด้วยความสงบ เจริญไปเพื่อความสงบ และเมื่อตั้งเจตนาพิจารณาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้มาก ประคองให้สม่ำเสมอ ย่อมพิจารณาเห็นได้ว่า ทั้งหลายในโลก ล้วนเป็นเช่นนี้เอง ในอดีตก็อย่างนี้ ณ ปัจจุบันก็เช่นนี้ ต่อๆไปในอนาคตกาลก็ยังคงเป็นไปอย่างเดิม หาจุดเริ่มต้น และที่สิ้นสุดมิได้ ย่อมทราบได้ว่า ธรรม หรือความเป็นไปทั้งหลายในโลก ล้วนเป็นธรรมดา

          บุคคล เมื่อแทงตลอดบรรลุถึงความเป็นธรรมดาของโลก ย่อมไม่บังคับ ย่อมไม่เหนี่ยวรั้ง ย่อมไม่ทะยานแสวงหาความเป็นไปใดๆในโลกอีก ย่อมพ้นพันธนาการ เป็นอิสระจากโลก ย่อมไม่ทุกข์ ย่อมเยือกเย็น





หัวข้อ: โทสะ หรือเมตตา ใครเลือก?
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มีนาคม 06, 2009, 04:55:50 PM

          ภายใต้สภาพสังคม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่บีบคั้น ประกอบกับผู้คนส่วนมากในโลกยังไม่เข้าถึงความเป็นผู้อบรมจิตใจของตนดีแล้ว ยังเป็นผู้อ่อนแออยู่ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดความเบียดเบียนกันอยู่ทั่วไป ไม่ว่าทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี หรือทั้ง ๓ ประการก็ดี เกิดได้ทุกเมื่อ อย่างนี้แล้ว โทสะ ก็เป็นของมีอยู่เสมอๆ ทั่วไป มากบ้าง น้อยบ้าง แสดงออกบ้าง ไม่แสดงออกบ้าง แสดงออกต่อหน้าบ้าง ลับหลังบ้าง โกรธแล้วก็แล้วกันไปบ้าง โกรธแล้วก็เพ่งเล็งอาฆาตพยาบาทกันบ้าง รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง หรือรู้ตัวมากบ้าง รู้ตัวน้อยบ้าง เมื่ออย่างนี้แล้ว การมีเจตนาไปด้วยอำนาจแห่งโมหะอันครอบงำใจก็มีอยู่เป็นธรรมดา ทุกเมื่อเชื่อวัน ความสงบระงับก็มีน้อย ความกระวนกระวายทะยานออกก็มีมาก ความเยือกเย็นเป็นสุขก็มีน้อย ความเร่าร้อนประทุษร้ายก็มีมาก กุศลธรรมก็ตั้งอยู่ได้ยาก อกุศลธรรมก็เกิดขึ้นได้ง่าย ก็บุคคลผู้ตั้งตนอยู่ในทุกข์ร้อน ย่อมยากจะปรารถนาความเป็นสุขร่มเย็นแก่ผู้อื่น ผู้มีความเห็นว่าตนเดือดร้อนเพราะความขาดแคลนอยู่ ย่อมยากจะปรารถนาความเสียสละแก่ผู้อื่น ฯลฯ อีกประการหนึ่ง ที่เป็นอันตรายมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ คนโดยมาก เมื่อกระทำตนไปตามโลกดั่งนี้แล้ว เมื่อนานไป ก็เคยชิน เห็นเป็นเรื่องธรรมดา จนกระทั่งเห็นเป็นปกติ เป็นความถูกต้อง เป็นความชอบธรรม เป็นธรรมชาติ ที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้น อย่างนี้แล้ว ยิ่งนานไป ก็ยิ่งขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดหิริโอตัปปะ(ความละอายกลัวเกรงต่อบาปกรรมอันชั่ว) ขาดจาคะ(ความเสียสละ) เห็นความเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกันเป็นเรื่องสมควร มีความเพ่งเล็งโทษต่อผู้อื่นเป็นนิสัย ความดีก็กลายเป็นสิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ ความชั่วก็เป็นสิ่งปกติยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่บุคคลผู้ทำความดีเพียงเพื่อแสดง อวด หรือข่มผู้อื่น ว่าตนเป็นผู้ดีกว่าผู้อื่น ก็มีความเห็นว่า สิ่งที่ตนทำไปนั้น เป็นความดีอันประเสริฐยิ่งใหญ่ หาคนดีเทียบเท่าตนได้ยากในโลก บ้างก็ตั้งตนสั่งสอน หรือตัดสินผู้อื่น ว่าสิ่งใดเป็นคติ สิ่งใดมิใ่ช่คติ ทั้งที่จริงแล้ว เมื่อสัมปรายภพ ตนก็มีอบายเป็นที่ไป อย่างนี้ก็มีมาก

          ประมาณด้วยเหตุประการทั้งปวงดังกล่าวมานี้ บุคคลในโลกนี้ย่อมเป็นโทสะได้มาก เพราะขาดการอบรมจิตใจของตนให้ดีพอ ให้มีขันติมากพอ ให้ตั้งมั่นมากพอ ให้เข้มแข็งพอ ให้เป็นกุศลมากพอ ให้เกิดปัญญาอันทั่วถึงพอ ก็ย่อมเร่าร้อนอยู่เป็นปกติ นานไปก็จำแนกไม่ออก สังเกตไม่ออก ว่าตนเร่าร้อนอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้แยบคายก็ยังพอมีอยู่ ก็จะสังเกตได้บ้างบางครั้ง ว่าตนเป็นโทสะอยู่ แต่บางทีก็ห้ามไม่ได้

          แท้จริงแล้ว โทสะที่กำเริบขึ้นแก่ตนนั้น ตนเองนั่นแหละ เป็นผู้เลือก เป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้กำหนดเจตนา ให้น้อมไปในโทสะนั้น (และเมื่อน้อมไปในโทสะแล้ว โมหะก็ย่อมครอบงำจิตตนอยู่โดยปริยาย โดยสภาพ) ไม่ใช่เพราะผู้อื่น ไม่ใช่เพราะสิ่งอื่นบังคับตนให้โกรธได้ อย่างเช่นว่า เมื่อผู้อื่นกล่าววาจาดูหมิ่นดูแคลนเรา แล้วเราโกรธ ก็จะตัดสินว่า เพราะผู้อื่นทำให้เราโกรธนั้น เป็นความรู้ความเห็นอย่างโลกๆ ไม่ฉลาด ไม่แยบคาย ก็หากความเห็นอย่างนี้ถูกต้อง เป็นสัจจะจริงแล้ว เหตุใดบุคคลบางจำพวก เมื่อประสบคำดูหมิ่นเหล่านี้แล้ว กลับไม่โกรธ บางครั้งกลับมีเมตตาเห็นอกเห็นใจผู้ที่กล่าวกระทบกระทั่งตนด้วยซ้ำ โดยความเป็นจริงแล้ว การที่บุคคลจะมีโทสะหรือไม่นั้น บุคคลเลือกเองได้ เพียงแต่บุคคลโดยมากขาดการอบรมจิตใจของตนให้เข้มแข็งพอ ดังนั้น เมื่อเกิดปฏิฆะความกระทบกระทั่งใจกับแล้ว ด้วยทิฏฐิมานะของตน ก็เกิดเวทนา คือความเดือดเนื้อร้อนใจ เมื่อทนความเดือดเนื้อร้อนใจของตนมิได้ก็ปรารถนาความตอบโต้ ปรารถนาการประทุษร้าย โทสะ และโมหะ ก็ตามมา แต่หากบุคคลอบรมจิตใจตนให้มีความเข้มแข็งมากพอ เมื่อไปปรารถนาความประทุษร้ายต่อผู้อื่น ก็จะทนทานต่อความเดือดเนื้อร้อนใจของตนได้ ไม่หวั่นไหว หรือหากหวั่นไหวบ้าง ก็อยู่ในกำลังที่จะประคองสติมิให้หลงตาม มิให้ถูกเวทนานั้นครอบงำได้ เมื่ออย่างนี้แล้ว บุคคลก็จะพึุงกำหนดรักษาเจตนาของตนเอาไว้ได้ ไม่ให้ตกลงไปในโทสะ โมหะ ความคิดชั่ว ความกระวนกระวายเร่าร้อน ความคิดประทุษร้าย หรือ ความไหลลงสู่อบายได้ อย่างนี้เรียกว่า มีสติ และสัมปชัญญะ เป็นเครื่องกั้นกิเลส บาป อกุศล ส่วนสติอย่างที่ระลึกได้ว่าตนมีโทสะอยู่ แต่ไม่สามารถอดกลั้น หรือระงับโทสะนั้นลงได้ เรียกว่า สติอย่างทราม เป็นจิตที่ประกอบอกุศลอยู่ ไม่ใช่สัมมาสติ

          ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า สังขารทั้งหลายในโลก ล้วนเป็นไปตามกฏแห่งไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)นั้น หมายความว่า สิ่งทั้งหลายในโลก ไม่เที่ยง ปรวนแปร เปลี่ยนแปลง แปรงสภาพ ไปตามอำนาจแห่งเหตุ อันเป็นปัจจัย ให้เกิดขึ้น ให้ตั้งอยู่ ให้เสื่อมไป ดับไป ก็หมายความว่า เมื่อบุคคลไม่สามารถห้ามมิให้อกุศลเกิดขึ้นแก่จิตใจตนได้นั้น ย่อมเป็นเพราะบุคคลนั้น ยังประกอบเหตุไม่ถูกต้อง หรือยังไม่พอเพียงแก่การกำราบห้ามปรามกิเลสอกุศลในจิตใจตน แต่หากเมื่อบุคคลประกอบเหตุอย่างถูกต้อง และพอเพียงแก่การนี้แล้ว ก็ย่อมกำหนดบังคับกำราบห้ามปรามกิเลสอกุศลในจิตใจตนได้ เป็นธรรมดา เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่สั่งสมมา มิใช่ให้ไปตีความว่า การที่จิตของตนเป็นอกุศลขึ้นมานั้น เป็นเรื่องธรรมดา เป็นสัจจะธรรม เป็นไปตามกฏแห่งไตรลักษณ์ จะกำหนดบังคับห้ามปรามแก้ไขมิได้ ก็หากเป็นจริงตามทิฏฐิอย่างนี้แล้ว เหตุใดพระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ภิกษุเพียรป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด เพื่อมิให้เกิด เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้บรรเทาเบาบางลง หรือเพื่อให้ดับไป เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิด เพื่อให้เกิดขึ้น เพียรเจริญกุศลที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปในกุศลนั้น อีกประการหนึ่ีง ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตร ในหัวข้อจิตตานุปัสสนา มีข้อความตอนหนึ่งที่ทรงตรัสว่า "..... จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ ....." ท่านมิใช่สอนให้รู้อย่างทั่วๆไป มิใช่สอนให้รู้อย่างโลกๆ ท่านสอนให้รู้อย่างไร? ก็มีปรากฏอยู่ในตอนท้ายว่า "..... อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯ" จะเห็นว่า ท่านสอนให้รู้ด้วยสติที่ตั้งมั่น ท่านสอนให้รู้อย่างไม่มีตัณหาและทิฐิ ท่านสอนให้รู้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่ออย่างนี้แล้ว ก็ควรพิจารณาดูว่า การที่รู้ว่าตนโกรธ แต่ตนเองก็ยังโกรธอยู่ ยังคิดไม่ดีต่อผู้อื่นอยู่ อย่างนี้ยังไม่ชื่อว่าสติปัฏฐานที่ถูกต้อง ถึงจะอ้างว่าเป็นการเห็นไตรลักษณ์ก็เถอะ แต่ก็เป็นไตรลักษณ์ที่เห็นอยู่อย่างคนตาบอด อย่างคนจักษุมืดมัว ยังไม่ใช่การเห็นไตรลักษณ์อย่างที่เป็นจริงเลย ก็ถ้า่จิตยังตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งโทสะอยู่ ย่อมไม่เรียกว่าเป็นผู้มีสติตั้งมั่น ย่อมไม่เรียกว่าเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในตัณหาและทิฐิ และย่อมไม่เรียกว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในโลกอยู่

          สรุปแล้ว จะเรียกว่าการปฏิบัติกรรมฐานก็ดี จะเรียกว่าการภาวนาจิตก็ดี จะเรียกว่าการเจริญสติปัฏฐานก็ดี ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการอบรมจิตใจของตนให้ตั้งมั่น ให้เข้มแข็ง ให้เป็นผู้เลือกได้ ว่าจะตั้งเจตนาของตนให้น้อมจิตน้อมใจไปในสิ่งใด หรือไม่น้อมไปในสิ่งใด ส่วนผู้ที่ยังกระทำเช่นนี้ไม่ได้ อย่ามัวไปให้ผู้อื่นหลอกลวง อย่ามัวหลอกลวงตนเองอยู่ ว่าที่บังคับจิตใจตนเองไม่ได้นั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นสัจจะ เป็นสิ่งถูกต้องแล้ว เป็นไปตามกฏไตรลักษณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขมิได้ เป็นสิ่งไม่ควรบังคับแก้ไข ฯลฯ เพราะบุคคลที่ตั้งทิฐิของตนไว้เช่นนี้อย่างมุ่งมั่นแล้ว ย่อมพึงคาดหวังได้ ในความทุกข์ ความเสื่อม อบาย เป็นที่ไป ผู้ฉลาด เมื่อบังเกิดโทสะ ย่อมพึงเพ่งเล็งความอ่อนแอ ความไม่ตั้งมั่น ความไม่มั่นคง อกุศล กิเลส ตัณหา และทิฐิ ของตนเองให้รอบคอบ ให้ทั่วถึง ให้แยบคายก่อน ไม่ควรแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเพ่งเล็งผู้อื่นก่อน เพราะการกระทำของผู้อื่นต่อเรานั้น เป็นเพียงปัจจัยยั่วยุเท่านั้น ไม่สามารถบังคับให้เราเกิดโทสะได้โดยตรง การที่เราทนทานต่อเวทนาของตนมิได้ จนเกิดโทสะนั้น เป็นความอ่อนแอ ไม่ตั้งมั่น พ่ายแพ้แก่กิเลสตัณหาของตนเอง เท่านั้นเอง ไม่ควรโทษสิ่งอื่น ไม่ควรขบคิดแสวงหาเหตุผลอื่นคำตอบอื่นอีก

          ผู้มีปกติทนทานต่อความเป็นอกุศลได้ หรือทนทานต่อสิ่งอันยั่วยุให้เกิดอกุศลได้ ย่อมเป็นผู้มีปกติน้อมไปในความเป็นกุศลได้ง่าย ย่อมเป็นผู้ตั้งตนอยู่ในสุขได้ง่าย ย่อมเป็นผู้บำรุงง่าย ย่อมเป็นผู้อาศัยปัจจัยน้อย ย่อมเป็นผู้ไม่แก่งแย่งเบียดเบียน ย่อมเป็นผู้มีเมตตา คือ ความปรารถนาความไม่เบียดเบียนกัน







หัวข้อ: จิต และ กริยา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มีนาคม 26, 2009, 01:47:14 PM

          โลกียะธรรม(โลกธรรม หรือธรรมอันเนื่องอยู่ด้วยโลก) ย่อมไม่มีปรากฏอยู่ใน โลกุตตระธรรม(นิพพานธรรม หรือธรรมอันพ้นไปจากโลก) ฉันใดฉันนั้น โลกุตตระธรรม ย่อมไม่มีปรากฏอยู่ใน โลกียะธรรม ดังนั้น ปุถุชนผู้ยังแสวงหาโลกุตตระธรรมในสิ่งอันปรากฏอยู่ด้วยโลก ย่อมไม่มีวันประสบสัจจะของธรรมนั้น เมื่อโลกธรรมบังเกิด พระนิพพานย่อมถูกบดบัง และเมื่อโลกธรรมดับไป หรือล่วงไป พระนิพพานธรรมย่อมปรากฏ

          โลกธรรมทั้งหลาย ย่อมได้ชื่อว่า มีกริยา เป็นกริยา ส่วนพระนิพพานเป็นธรรมไม่มีกริยา

          ผัสสะทั้งหลาย อันเป็นความกระทบ ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งกริยา สัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกย่อมเป็นไปด้วยกริยาแห่งจิต หรือด้วยจิตที่ประกอบกริยาอยู่ เพราะเหตุแห่งอวิชชา จิต จึงหลงอยู่ในกริยาแห่งจิต คำว่า กริยา นี้ มิได้หมายความเฉพาะอาการที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ และอาการว่าหยุด บางอย่าง ก็ยังนับเป็นกริยาจิตอยู่ เช่น ความหวงแหน ความหน่วงบังคับไว้ ฯลฯ เป็นต้น เหล่านี้เป็นสังขาร เมื่อมีสังขาร ก็ย่อมยังมีกริยาอยู่ เป็นธรรมดา ถึงแม้บางเวลาจะมิได้ขยับก็ตาม

          ผู้ใฝ่รู้ในธรรมควรนมสิการความเป็นกริยาทั้งหลายแห่งจิตตนให้ดี ให้แยบคาย ให้ประณีต เพราะเมื่อบุคคลกำหนดรู้กริยาทั้งหลายแห่งจิตได้เป็นอย่างดีแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นได้ว่า กริยาทั้งหลาย เมื่อเกิดย่อมเกิดขึ้นในที่ใด เมื่อตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในที่ใด และเมื่อดับย่อมดับลงในที่ใด มีสิ่งใดเป็นปัจจัย เมื่อรู้ชัดเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมเป็นปัญญา อันเป็นเครื่องปรุงจิตให้พ้นไปจากความหลงในกริยาแห่งจิตได้ เพราะรู้ว่า สิ่งใดเป็นกริยา สิ่งใดเป็นอกริยา(ไม่ใช่กริยา) ก็สิ่งทั้งหลายอันปุถุชนรู้อยู่ว่า คือ จิต นั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียง กริยา แห่งจิตเท่านั้น ยังไม่ใช่จิต ผู้ใฝ่ธรรมแต่สุดโต่งไปในความตรึก ย่อมตกลงในความเห็นผิดเช่นนี้ได้ เพราะเหตุใด เพราะพระนิพพานเป็นธรรมอันบุคคลคาดเดาเอามิได้ ต้องประสบชัดแก่ตนเท่านั้น จึงจะกำหนดรู้ได้

          พระนิพพานธรรม เป็นธรรมไม่ประกอบความเพ่งเล็ง แต่บุคคลจะบรรลุพระนิพพานได้ ย่อมอาศัยประกอบความเพ่งเล็งเป็นอย่างดีก่อน มิเช่นนั้น ปุถุชน จะไม่พึงบรรลุถึงความเป็นอรหันต์ได้เลย

          พระนิพพาน เป็นธรรมไม่มีผล เพราะพ้นไปจากเหตุ

          พระนิพพาน เป็นธรรมไม่มีกริยา เพราะเป็นธรรมพ้นไปจากสภาพ แต่สภาพที่ปรากฏความหมายว่าหยุดอยู่ ยังไม่ใช่พระนิพพาน เพราะยังสำคัญอยู่ว่า หยุด ย่อมยังเป็นกริยาอยู่ เมื่อจิตพ้นจากกริยา ก็ย่อมพ้นไปจากสภาพทั้งที่สำคัญว่า หยุด และทั้งที่สำัคัญว่า แล่นไป โดยไม่มีความปิดบัง




หัวข้อ: ประโยชน์สูงสุด
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ พฤษภาคม 14, 2009, 12:50:37 PM

          สภาพที่บุคคลอยู่ท่ามกลางปัจจัยอันเป็นทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงในโลก แต่ไม่ทุกข์ นี้คือ ประโยชน์สูงสุดในชีวิตที่บุคคลพึงบรรลุ อุปมาดั่งหยดน้ำแห่งทุกข์ อันกลิ้งอยู่บนใบบัวแห่งจิตใจอันบริสุทธิ์ แต่ไม่ซึมซับเข้าไป ใบบัวนั้นก็ย่อมไม่เปียกน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น จิตใจอันบริสุทธิ์นั้นก็ย่อมไม่ทุกข์ เป็นธรรมดา




หัวข้อ: ผู้ไม่เบียดเบียนโลก
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มิถุนายน 18, 2009, 12:02:27 PM

          ปุถุชนที่วนเวียนกันอยู่ทั้งหลายในโลก ย่อมประกอบความเบียดเบียนกันอยู่ ไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ด้วยหยาบก็ประณีต ไม่มากก็น้อย ด้วยกายบ้าง ด้วยใจบ้าง ด้วยกาย และใจบ้าง และไม่ใช่วิสัยทั่วไปที่บุคคลจะเล็งเห็นได้ทั้งหมด ก็เป็นธรรมดาที่ผู้ยังประกอบความเบียดเบียนตนเองอยู่โดยที่แม้แต่ตนเองก็ไม่เล็งเห็นเพราะเหตุว่ายังไม่ถ่องแท้แทงตลอดในจิตใจของตน ก็ย่อมไม่อาจระงับความเบียดเบียนผู้อื่นได้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าบางคนจะสำคัญตนเองอยู่ว่าไม่ได้ประกอบความเบียดเบียนผู้ใดอยู่เลย ก็ตาม ผู้รู้จักตนเองมีน้อยกว่าผู้ปรารถนาดีต่อตนเอง ผู้รู้จักโลกมีน้อยกว่าผู้ปรารถนาดีต่อโลก เมื่ออย่างนี้แล้ว ความสงบสุขในตน และความสงบสุขในโลก จึงมีน้อย ความเดือดร้อนก็มีมาก

          บุคคลใดไม่เบียดเบียนโลก ย่อมไม่ถูกโลกเบียดเบียน

          บุคคลผู้ไม่คาดหวังในโลก ย่อมไม่มีที่ผิดหวังในโลก

          บุคคลผู้ไม่อาลัยในโลก ย่อมพ้นความโศกเศร้าทั้งหลายในโลก

          บุคคลผู้สละแก่โลก ย่อมพ้นไปจากความยั่วยุบีบคั้นทั้งหลายในโลก





หัวข้อ: ปุถุชนย่อมหลงในมายา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มิถุนายน 25, 2009, 01:36:03 AM

          ความที่จิตถือเป็นอารมณ์ในสิ่งที่รับรู้ ย่อมเป็นความหลงไปในสิ่งนั้น ว่าเป็นที่ตั้ง ว่าเป็นอารมณ์ ว่าเป็นสิ่งน่ายินดี หรือน่ายินร้าย แม้กระทั่งเวทนาอันไม่ปรากฏชัดไปในทางใดทางหนึ่งว่าน่ายิน หรือน่ายินร้าย ที่มักเรียกว่า เป็นกลางๆ หรือเ็ป็นอุเบกขา แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตนรับรู้ เช่นว่า เมื่อเห็นคนหน้าตาดี ก็รู้สึกว่าน่ามอง เมื่อเห็นคนหน้าตาน่ารังเกียจ ก็รู้สึกว่าไม่น่ามอง หรือแม้กระทั่งว่า เมื่อเห็นคนหน้าตาธรรมดา ปานกลาง ไม่ใช่หน้าตาดี และไม่ใช่หน้าตาน่ารังเกียจ ก็รู้สึกเฉยๆ ไม่รู้สึกว่าน่ามอง และไม่รู้สึกว่าไม่น่ามอง ก็ตาม ก็ยังเป็นไปตามเวทนาทั้งสิ้น ก็เรียกว่า ยังถือเป็นอารมณ์ในสิ่งที่รับรู้อยู่นั่นเอง เรียกว่า ยังไม่พ้นมายา

          อย่างไรก็ดี อุเบกขามีหลายระดับ แต่อุเบกขาอย่างที่ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่จิตรับรู้อยู่นั้น ประเสริฐที่สุด




หัวข้อ: สิ่งที่เป็นเรา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กรกฎาคม 09, 2009, 10:58:22 PM

          ธรรมทั้งหลาย หรือสิ่งที่เป็นสภาพทั้งหลายในโลก ทั้งที่ปรากฏเป็นวัตถุก็ดี ไม่ปรากฏเป็นวัตถุก็ดี สัมผัสได้ด้วยกายก็ดี หรือที่ไม่สามารถสามารถสัมผัสได้ด้วยกายก็ดี เป็นสิ่งภายนอกกายก็ดี เป็นสิ่งภายในกายก็ดี แม้แต่ความคิด ความระลึกรู้ทั้งหลายในโลกเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ เรา อย่างแท้จริงเลย แต่ เป็นของโลก เป็นของธรรมชาติ ที่ไม่มีบุคคลใดจะเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริงเลย

          สิ่งที่เป็นเราอย่างแท้จริงนั้น ก็คือ จิต อันเป็นสิ่งที่เข้าไปอาศัยรู้ในสภาพต่างๆ ที่เป็นของธรรมชาติ เท่านั้น ดังนั้น สภาพ หรือ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย ที่เราสัมผัส รับรู้ หรืออาศัยเป็นอารมณ์ ทั้งหลายเหล่านั้น ยังไม่ใช่ จิต และ ไม่ใช่ เรา

          คนบางพวก เมื่อครุ่นคิดศึกษา ก็เข้าใจว่า ความคิด ก็คือ จิต หรือบางทีก็ว่า จิต คือ ผู้คิด แต่แท้ที่จริงแล้ว แม้แต่ความคิด ก็เป็นเพียงเครื่องอาศัยแห่งจิต เพื่อระลึก เพื่อประมวล เพื่อพิจารณา เพื่อรู้ ฯลฯ ในสิ่งต่างๆ หรือในสภาพต่างๆ หรือในหลักการของสิ่งต่างๆ เมื่อรู้ในสิ่งเหล่านั้นแล้ว ก็ย่อมอาศัยสิ่งที่รู้นั้น เป็นธรรมารมณ์ หรือเป็นอารมณ์ในใจนั่นเอง ดังนั้น ความคิด ก็นับเป็นเพียงสังขารชนิดหนึ่งที่ จิต อาศัยนั่นเอง เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว ก็มิใช่ว่า ปุถุชนทั้งหลายควรละความคิดทั้งหมด เพราะเหตุใด? ก็เพราะเหตุว่า จริงอยู่ ว่า ความคิดบางอย่าง เป็นเหตุให้จิตน้อมไปในสิ่งที่เสื่อมลง แต่ ความคิดบางอย่าง หรือบางจำพวก ก็เป็นเหตุให้จิตน้ิอมไปในความเจริญยิ่งๆขึ้นไป ดังนั้น ความคิดชนิดหลังนี้ ควรอาศัยไว้ก่อน จนกว่าตนจะคิดได้ในสิ่งที่ประเสริฐยิ่งกว่า หรือจนกว่าความคิดเดิมนั้น จะเป็นเครื่องเสื่อม เครื่องถ่วง หรือเครื่องกั้นความเจริญอันยิ่งๆขึ้นไปแห่งตน สรุปแล้ว ไม่ว่าความคิดที่ถูก หรือที่ผิด ก็ดี บุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอย่างสุดโต่งจนเกินไป นั่นเอง




หัวข้อ: อริยะสัจจ์ ๔ ประการ
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กรกฎาคม 13, 2009, 10:44:17 PM

          ทุกข์ คือ สภาพบีบคั้น หรือสภาพตั้งอยู่ไม่ได้
          สมุทัย คือ ความหยั่งลงสู่
          นิโรธ คือ ความดับ ความถอดถอน หรือความสลัดคืน
          มรรค คือ การเจริญ หรือการดำเนินไป เพื่อความมั่นคง หรือ บริบูรณ์




หัวข้อ: เวทนา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กรกฎาคม 27, 2009, 11:18:36 PM

          เวทนา คือ แรง กำลัง หรือ อำนาจ อันยั่วยุ ผลักดัน บังคับ หรือหน่วงเหนี่ยว จิต ให้แล่นไปสู่ ให้ติดตาม หรือไม่อาจแยกออกจาก สภาพ หรืออารมณ์ อันปรากฏ

          เวทนา ในสิ่งใด ก็คือ กำลังที่ทำให้จิตผูกติดอยู่กับสิ่งนั้น

          ก็จริงอยู่ว่า เวทนา มีทั้งที่สำคัญว่า สุข และที่สำคัญว่า ทุกข์ หรือที่ไม่สำคัญไปในทางใดทางหนึ่งว่า สุข หรือ ทุกข์ จึงอาจเป็นเหตุให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ยาก ว่า ทุกขเวทนา ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเป็นกำลังที่จะทำให้จิตติดอยู่กับสิ่งนั้น ได้อย่างไร? เรากล่าวว่า ผู้ไม่ติดใจในสิ่งใด ย่อมไม่ทุกข์ใจในสิ่งนั้น หรือ ผู้ไม่ติดใจในสิ่งใด ย่อมไม่มีความสำคัญอย่างแรงกล้า ว่า สิ่งนั้นมิได้เป็นสุข หรือ สิ่งนั้นมิได้เป็นทุกข์ หรือ สิ่งนั้นมิได้เป็นสุข และมิได้เป็นทุกข์ หรือในทางกลับกัน

          เรากล่าวว่า ผู้อยู่เหนือเวทนา ย่อมเป็นผู้สำคัญ หรือไม่สำคัญ ในสิ่งใดๆ ได้ตามความปรารถนาของตน อย่างไรก็ดี ความหลงลืม หรือความเลอะเลือน ไม่ใช่คำตอบ




หัวข้อ: สุข และทุกข์ ของตน
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กันยายน 11, 2009, 11:18:40 AM

          ก็เป็นธรรมดาทั่วๆไป ที่เราจะใส่ใจต่อความสุข และความทุกข์ของตน แต่หากเราอบรมพัฒนาจิตใจของตนเอง จนกระทั่งเป็นผู้มีทัศนะวิสัยอันเที่ยงตรง ประณีต และกว้างไกลมากพอแล้ว ก็อาจพิจารณาเล็งเห็นได้ว่า สุข และทุกข์ ทั้งหลาย ของบุคคลทั้งหลายในโลกนี้ มีมากมายเหลือประมาณ และหากเป็นผู้เห็นได้อย่างแท้จริงแล้ว ย่อมสังเกตได้ว่า เวทนาส่วนใหญ่ ของบุคคลส่วนมากในโลกนี้ ค่อนไปในทุกข์ ถึงมีสุข ก็เพียงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าบางบุคคลจะสำคัญอยู่ในบางเวลาว่า สุขมาก ก็ตาม แต่มักไม่เป็นจริงตามนั้น เนื่องด้วยโมหะในจิตมีอยู่ เป็นเหตุให้บางที ถึงทุกข์อยู่ แต่บุคคลก็สำคัญว่าสุข แม้กระทั่งบุคคลที่สำคัญว่าเมตตาอยู่ ก็ประกอบความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ความหวังดี ไม่จำเป็นต้องสำเร็จผลที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหวังดีที่ยังมีโลภะ โทสะ และโมหะ ครอบคลุมจิตใจอยู่ แม้แต่ผู้มีจิตใจสะอาด บริสุทธิ์ ก็ยังประกอบด้วยปฏิภาณ ประสพการณ์ ทัศนะ และความแยบคาย ที่แตกต่างกันอยู่ ยังมิได้บริบูรณ์เพียบพร้อมดุจดั่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น พระสัพพัญญูพระพุทธเจ้า จึงประเสริฐกว่าพระอรหันต์สาวก

          ผู้ยังขาดวิสัยทัศน์ ย่อมมักเล็งเห็นสุข และทุกข์ ของตน ว่าสำคัญยิ่งกว่า ยิ่งใหญ่กว่า สิ่งอื่นใดในโลก แต่สำหรับผู้ที่อบรมตนจนเป็นผู้มีวิสัยทัศน์มากพอดังได้กล่าวไปในข้างต้นแล้วนั้น ย่อมอาจพิจารณาเห็นได้ว่า สุข และทุกข์ ของบุคคลทั้งหลายในโลกนี้ มีมากมายล้นเหลือเกินประมาณ เกินกว่าที่ตนจะพึงมัวหมกมุ่นสำคัญอยู่แต่เฉพาะกับสุข และทุกข์ ส่วนตัวของตนเองได้

          หากสมมุติว่า เรากำลังรับประทานอาหารอย่างหนึ่งอยู่ ที่เราสำคัญว่า อร่อย รสชาติดี น่ารับประทาน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นอยู่ว่า ผู้อื่นมากมายรอบๆตัวเราทั้งหมด เมื่อได้รับประทานอาหารอย่างเดียวกันนี้ไปแล้ว ปรากฏว่า ปวดท้องทรมานกันทั้งหมด เราจะพึงสำคัญคุณ โทษ และความน่ายินดีในอาหารอย่างเดียวกันนี้ อย่างไร?  เพียงแต่ บุคคลทั่วไป มักไม่เล็งเห็น เพราะมัวแต่ประกอบความเพลิดเพลินกันอยู่ในความประมาท ในรสชาติอันน่ายินดีของอาหารนั้น

          ผู้ใดสำคัญสุข และทุกข์ ของตนเองอยู่ว่า เล็กน้อย ด้วยความเที่ยงตรง ผู้นั้น ย่อมมักไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อย

          ผู้ใดสำคัญสุข และทุกข์ ของตนเองอยู่ว่า ใหญ่ยิ่ง ด้วยทิฐิ และตัณหา ผู้นั้น ย่อมมักทุกข์ใจมาก

          ผู้ใดเล็งเห็นสุข และทุกข์ ได้อย่างเที่ยงตรง และชัดเจน แต่ไม่สำคัญในสุข และทุกข์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ปราศจากทุกข์ อยู่เสมอเป็นปกติ ย่อมเป็นผู้ตั้งตนอยู่เป็นสุข โดยชอบ




หัวข้อ: ความรัก
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 01, 2010, 09:09:45 PM

          ความรักมีหลายประเภท ตามนิยามของคนทั่วไปในโลก

          ความรักที่เป็นไปเพื่อเมตตา ย่อมดี ส่วนความรักที่เป็นไปเพื่อตัณหา และทิฐิ ย่อมไม่ดี เพียงแต่คนโดยมาก ไม่สำคัญอย่างนี้ หรือไม่ก็ไม่ทนทานสิ่งยั่วยุ

          ความรักประเภทที่บุคคลหนึ่ง พึงเป็นสุขได้ เพราะเหตุว่า ผู้อื่น มีความสุข ย่อมประเสริฐกว่าความรักประเภทที่ บุคคลนั้นจะพึงพอใจ หรือเป็นสุขได้ เพราะเหตุว่า ผู้อื่น เป็น หรือ กระทำในสิ่งตนพึงพอใจ และย่อมไม่พึงพอใจ หรือเป็นทุกข์ เมื่อผู้อื่น หรืออีกฝ่ายหนึ่ง เป็น หรือกระทำในสิ่งที่ตนไ้ม่พึงพอใจ

          ด้วยเหตุนี้ จึงมักปรากฏเสมอๆว่า ความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก มักประเสริฐ บริสุทธิ์ และมั่นคง กว่าความรักระหว่างหญิงชาย หรือหนุ่มสาว ฯลฯ เป็นต้น

          ความรักที่เป็นสุขได้ ด้วยความอดกลั้น และเสียสละ ย่อมประเสริฐกว่า ความรักที่เป็นสุขได้ ด้วยการเรียกร้องแสวงหาความอดกลั้น และความเสียสละ จากผู้อื่น



หัวข้อ: ต่างบุคคล ต่างทัศนะ ต่างที่ไป
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กุมภาพันธ์ 26, 2010, 12:40:08 AM

          บุคคลทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ ด้วยอำนาจแห่งวิบาก เป็นเหตุให้ได้ขันธ์ในโลกนี้ครบทั้ง ๕ ประการ อันเป็นเครื่องให้จิตตั้งอาศัยอยู่ในโลกนี้ เมื่อมีขันธ์ครบทั้ง ๕ ประการตั้งอยู่ในโลกนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่า มีชีวิตตั้งอยู่แล้วในโลกนี้ หรือในภพนี้ ดังนี้แล้ว ก็ย่อมอาศัยความมีชีวิต หรือขันธ์ ๕ ประการที่จิตตนครองอยู่นี้ เป็นเครื่องรับรู้โลกที่ปรากฏอยู่แก่ตน ด้วยอาศัยอายตนะอันจำแนกเป็นหมวดหมู่ได้เป็นอายตนะภายใน ๖ ประการ และอายตนะภายนอก ๖ ประการ อายตนะภายนอกนั้น เป็นปัจจัยภายนอก อันเป็นอาหารแก่อายตนะภายในอันจิตครองอยู่ หรืออาศัยอยู่ เช่นว่า เสียง อันเป็นอายตนะภายนอก มากระทบ เป็นปัจจัย เป็นอาหาร แก่หู โสตะอายตนะ ก็เกิด พร้อมผัสสะ วิญญาณ อันเป็นสภาพที่จิตไปรู้เสียงที่เกิดจากการกระทบนั้น ก็เกิดในผัสสะนั้น ในอายตนะนั้น ฯลฯ เป็นต้น

          นัยยะที่จะกล่าวแสดงในที่นี้ก็คือว่า เนื่องด้วยวิญญาณ(อันเป็นเครื่องรับรู้ในโลก หรือสภาพสิ่งต่างๆในโลก) อาศัยผัสสะเกิด ส่วนผัสสะ เป็นสภาพที่มีได้ด้วยอาศัยการกระทบ หรือการประกอบเข้าด้วยกันของอายตนะ(ภายใน และ ภายนอก) ส่วนอายตนะ เป็นสภาพที่มีได้ด้วยขันธ์ ส่วนขันธ์ เป็นสภาพที่ได้มาด้วยวิบาก (ที่จริงแล้ว วิบาก มีได้ด้วยอาศัย ธาตุ เป็นเครื่องรองรับ หรือเป็นที่ตั้ง แต่จะไม่อธิบายในที่นี้ เพราะจะยาก และแตกประเด็นมากจนเกินเจตนาในที่นี้) ซึ่งบุคคลทั้งหลายที่วนเวียนอยู่นี้ ย่อมประกอบวิบากมาต่างกัน มากบ้าง น้อยบ้าง เ็ป็นธรรมดา ดังนั้น ถึงแม้ว่า มนุษย์โดยทั่วไปในโลกนี้ จะมีขันธ์ครบทั้ง ๕ ประการเหมือนกันโดยรวม แต่ลักษณะ หรือองค์ประกอบย่อย แตกต่างกันไปตามวิบากที่ตนประกอบมา อายตนะภายในทั้ง ๖ ประการของแต่ละบุคคล ก็ย่อมแตกต่างกัน และเมื่อแต่ละบุคคลมีอายตนะของตนที่แตกต่างกัน ทัศนะ หรือความรับรู้ที่บุคคลทั้งหลายมีต่อโลก หรือรับรู้่ได้จากโลก ก็ย่อมแตกต่างกัน แต่ที่มุ่งเน้นในที่นี้ ก็คือ มโนอายตนะ ก็คือ มโนทวาร หรือ ใจ หรือที่บางทีก็เรียกรวมเอาว่า จิตใจ นั่นเอง (ที่ใช้คำว่า "เรียกรวมเอา" ก็เพราะเหตุว่า ที่แท้จริงแล้ว จิต หรือ จิตตะ ยังไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับ ใจ หรือ มโนทวาร หรือ มโนอายตนะ แต่ที่มักเรียกรวมกันก็เนื่องด้วยปุถุชนโดยทั่วไป ย่อมมี จิต ที่ตั้ง รวม อาศัย หรือประกอบอยู่ใน หรืออยู่กับสิ่งที่จิตรู้ได้ด้วยใจ ส่วนสิ่งที่จิตรู้ได้ด้วยใจ ก็คือ ธรรมารมณ์ นั่นเอง) สาเหตุที่มุ่งเน้น ใจ หรือ มโนอายตนะ ก็เพราะเหตุว่า ปุถุชนโดยทั่วไป เมื่อใจเป็นอย่างไร กระทบธรรมารมณ์อย่างไร หรือรู้ธรรมารมณ์อย่างไร จิต ก็จะเป็นอย่างนั้น หรือคล้อยตามไปอย่างนั้น หรือกล่าวสั้นๆว่า ใจเป็นอย่างไร จิตก็เป็นอย่างนั้น เมื่ออย่างนี้แล้ว มโน หรือ ใจ นี้เอง จึงเป็นเครื่องสำคัญยิ่ง ในการที่จิตจะปรุงแต่งกรรมทั้งหลาย ทั้งที่ดี และชั่ว อันเป็นเหตุของวิบากทั้งหลาย ทั้งที่เป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบาก และที่เป็นอัพยากฤต (คือ เป็นกลางๆ ไม่ค่อนไปทางกุศล หรืออกุศล) และการที่ปุถุชนทั้งหลายในโลกจะรับรู้ สัมผัส รู้สึก สำคัญสิ่งต่างในโลก ก็ด้วย ใจ นี้เอง เป็นหลัก เป็นสำคัญ เป็นประธาน จะสุข หรือจะทุกข์ ก็ด้วยใจนี้เอง เป็นประธาน ดังนี้แล้ว ภายใต้สภาพแห่งภพเดียวกัน โลกเดียวกัน หรือสถานะการณ์ความเป็นไปในโลกแบบเดียวกัน แต่ละบุคคลจะรับรู้ได้แตกต่างกันได้อย่างยิ่งยวด ด้วย ใจ ดังนั้น บุคคลที่เกิดมา เติบโตมา ภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกัน จึงอาจมีนิสัย หรือพฤติกรรมที่แตกต่างกันได้มาก เพราะทัศนะวิสัยที่รับรู้ได้ด้วย ใจ นั้น ต่างกัน หรือ บางบุคคลที่เกิดมา เติบโตมา ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ต่างกันมาก ก็อาจมีนิสัย หรือพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันได้ เช่นกัน ฯลฯ ส่วนพระอรหันต์นั้น ท่านเห็นสิ่งต่างๆในโลกที่เป็นสภาพแตกต่างกัน(ตามวิบาก ธาตุ ขันธ์ อายตนะ ของแต่ละท่าน) แต่ด้วยทัศนะคติอย่างเดียวกันอันไม่ขึ้นอยู่กับผัสสะ และธรรมารมณ์ที่เป็นไปตามวิบาก ธาตุ ขันธ์ อายตนะ ก็จึงบรรลุถึุงสัจจะธรรมอย่างเดียวกัน ก็คือ วิราคะ นั่นเอง แต่อย่างไรก็ดี การที่ปุถุึชนจะพัฒนาตนไปสู่ความเป็นอริยะ จนกระทั่งหลุดพ้นไปได้นั้น ก็อาศัยเหตุปัจจัยเป็นลำดับ ด้วยการอบรมขัดเกลาจิตใจของตน ให้เข้าถึงธรรมารมณ์อันประเสริฐ ประณีต และถูกต้อง เป็นไปเพื่อความวิราคะ ยิ่งๆขึ้นไปเป็นลำดับ จนกระทั้่งถอดถอนได้แม้กระทั่งธรรมารมณ์อันประณีตที่สุดในโลกได้จากจิตตน แต่เมื่อเริ่มต้น ก็ต้องเริ่มจากอัตตภาพ หรือสิ่งที่ตนเป็นอยู่ ก็คือ ธรรมารมณ์ที่ตนเองเข้าถึงได้แล้วด้วยจิตใจของตนก่อน แล้วจึงพิจารณาอบรมพัฒนาให้ยิ่งๆขึ้นไปเป็นลำดับ

          ที่กล่าวแสดงมาทั้งหลายนี้ ก็เพื่อเตือนใจผู้มีศรัทธามุ่งมั่นในการศึกษา และปฏิบัติธรรม อันชอบ อันเป็นสัมมา ว่า ความรู้ ความเห็นทั้งหลายในโลก ที่ตนรู้มา เห็นมา ประสพมา ด้วยตาก็ดี ด้วยหูก็ดี ด้วยจมูกก็ดี ด้วยลิ้นก็ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยใจ ก็ดี เหล่านี้ ไม่ใช่แก่นอันบริสุทธิ์ แม้กระทั่งโวหาร หรือคำสอน ที่มาจากครูบาอาจารย์ หรือจากพระไตรปิฏกอันเป็นถ้อยคำที่บริสุทธิ์แล้ว ก็ดี ก็มิได้หมายความว่า ความรู้ หรือความเข้าใจของตน ที่ได้รู้ ได้ตีความ ได้เข้าใจนี้ จะต้องถูกต้องเสมอไป ความคิด ความวิจารณ์ หรือความรู้สึก ที่ตนมีต่อโลก หรือเหตุการณ์ที่ตนประสบพบเห็นมาแล้วก็ดี อาจจะผิดพลาดไปทั้งหมดเสียก็ได้ ใจที่ยังหยาบกระด้าง(อย่าหลงผิดไปวัดความหยาบกระด้างของใจตนด้วยประสบการณ์ หรือบรรทัดฐานของมนุษย์ทั่วไปในโลก) ย่อมไม่อาจมองเห็นธรรมอันประณีต จิต ที่ยังอาศัยใจ อาศัยโลก เป็นที่ตั้ง ย่อมยังไม่อาจเห็นธรรมอันบริสุทธิ์ อันพ้นไปจากโลก แม้แต่พระอนาคามี โดยทั่วไป ก็ยังมิได้ถ่องแท้ในโลกธรรมเท่ากับพระอรหันต์ อย่างนั้นแล้ว จะนับอะไรกับปุถุชน ธรรมที่ผู้ยังต้องพัฒนาเห็นว่าอาศัยแล้วประเสริฐกว่าธรรมอื่นที่ตนเคยรู้มา ก็ควรอาศัยไปก่อน แต่ไม่ควรเห็นว่า ธรรมนั้น จะนับเป็นที่สุดเสมอไป หรือจะต้องถูกต้องเสมอไป อย่าปล่อยให้ธรรมอันตนเห็นเป็นเครื่องนำไปสู่อมตะ กลายเป็นเครื่องประหารตนให้ย่อยยับพินาศลงไป ด้วยความประมาทในตน หรือในธรรม หรือในโลก

          ปัญหาที่แก้ได้ยากที่สุด ก็คือ ปัญหาที่ตนไม่รู้ว่ามีอยู่ ทิฐิในโลก ที่แก้ไขได้ยากที่สุด ก็คือ สิ่งในโลก ที่ตนเห็นว่า จริง แล้วประมาท สุดโต่งไปตามนั้น

          ธรรมบางประการ ที่นักบวชสมัยก่อนพุทธกาล บรรลุถึง หรือเห็นว่าจริง ก็มีจริง แต่จริงไปตามโลก หรือแม้นักบวชบางพวก เมื่อในสมัยพระพุทธกาล หรือหลังพระพุทธกาล ก็เฉกเช่นเดียวกัน ส่วนธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านบรรลุถึงนั้น เป็นความจริงที่เหนือโลก ไม่เป็นไปตามโลกธรรม พ้นไปจากวิสัยของโลก ปุถุชนรับรู้โลกนี้ได้อย่างไรก็ตามด้วยจิตใจ พระอรหันต์ท่านไม่ได้รับรู้โลกตามนั้นเลย ด้วยความเป็นจริงว่า ในโลกนี้ โดยสภาพอย่างเดียวกัน หรือโดยสิ่งๆเดียวกัน แต่ละบุคคล ย่อมรับรู้ต่างกัน เป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่ตั้งอยู่ในโลกเดียวกัน มุ่งแสวงหาสิ่งที่ตนยินดีเช่นเดียวกัน แต่มักมีผล หรือ มีที่ไปแตกต่างกัน

          สุดท้ายนี้ ขอเตือนว่า บุคคลทั้งหลายในโลก ย่อมเห็นโลกจริง แต่ผู้ที่เห็นโลกอย่างที่เป็นจริง หรือเห็นความจริงแท้ของโลก นั้น หายากแท้ในโลกนี้ ถึงแม้จะกล่าววาจาอยู่ คิดอยู่ ประมวลอยู่ ด้วยถ้อยคำโวหารว่า ขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ตาม




หัวข้อ: ความละอายต่อบาป
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มีนาคม 15, 2010, 10:22:08 PM

          สำหรับผู้มุ่งธรรมอันบริสุทธิ์โดยชอบแล้ว ความละอาย เกรงกลัว แม้ต่อบาปอันเล็กน้อย นี้ เป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง

         คนบางพวก สุดโต่งเกินไป บ้างสำคัญในบาปอันใหญ่ แต่ละเลยต่อบาปอันเล็กน้อย เพราะประมาท หรือมักง่าย บ้างก็สำคัญในบาปอันเล็กน้อย หยุมหยิม แต่กลับประมาทต่อบาปอันใหญ่ เพราะเหตุว่า จำแต่ศีลที่ผู้อื่นบอกมา ไม่ทนทานต่อเวทนาอันยั่วยุไปสู่โลภะ โทสะ และโมหะ ดังนั้น เรื่องเล็กน้อยยังพอเว้นได้ แต่ในเรื่องใหญ่ กลับมักเว้นเสียไม่ได้ เพราะอดกลั้นต่อเวทนาในเรื่องนั้นไว้มิได้ ก็จึงทะยานไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง หรือทั้งสามประการบ้าง ฯลฯ

          สำหรับผู้ฉลาด ก็แม้แต่บาปอันเล็กน้อย ก็ยังมีความละอาย เกรงกลัวอยู่ จะกล่าวไปใยกับบาปอันยิ่งไปกว่านั้นเล่า




หัวข้อ: การรับผลแห่งวิบาก
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มิถุนายน 13, 2010, 01:14:17 PM

          บุคคลเมื่อก่อกรรมแล้ว ย่อมมีวิบากส่งผลแก่ตน ทั้งที่น่ายินดี และไม่น่ายินดี ยกเว้นแต่เฉพาะอโหสิกรรม

          การที่บุคคลได้รับผลจากวิบากของตนอยู่ หรือได้รับผลไปแล้วนั้น ไม่นับว่าเป็นการสร้างบุญ หรือการสร้างบาป แต่หากรับผลนั้นไว้ด้วยจิตใจที่เพ่งเล็ง ระลึกไป น้อมไป ในกุศลธรรม ย่อมเป็นการสร้างกุศล หรือในทางกลับกัน หากรับผลนั้นไว้ด้วยจิตใจที่เพ่งเล็ง ระลึกไป น้อมไป ในอกุศลกรรม ย่อมเป็นการสร้างอกุศล แก่ตน

          การที่ผลของวิบากต่างๆนั้น จะเป็นผลให้บุคคลยินดี หรือยินร้ายได้ แท้ที่จริงนั้น ด้วยเวทนา ดังนั้น บุคคลที่ทนทาน ย้อนทวน ถอดถอน ดับ สลัดคืน หรือก้าวล่วงความบีบคั้นของเวทนานั้นไปได้ ย่อมไม่ปรากฏความยินดี หรือยินร้าย ในผลของวิบากนั้น อันเกิดแก่ตน เป็นแต่เพียงรับผลของวิบากนั้นไว้ ด้วยกาย




หัวข้อ: เวทนา ทิฐิ และโมหะ
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 27, 2010, 03:38:08 PM

          สุญญตะวิโมกข์ ย่อมพ้น เวทนา

          อนิมิตตะวิโมกข์ ย่อมพ้น ทิฐิ

          อัปปณิหิตะวิโมกข์ ย่อมพ้น โมหะ




หัวข้อ: ความขุ่นหมอง ความหงุดหงิด
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กันยายน 06, 2010, 03:50:17 PM

          เมื่อบางสิ่งบางอย่างในโลกนี้ไม่เป็นไปอย่างที่ใจตนคาดหวัง คนทั่วไปมักโกรธ เคือง กระวนกระวาย หรือหงุดหงิด

          เมื่ออย่างนี้แล้ว ย่อมเสมือนว่า ตน กำลังสุมไฟเผาผลาญจิตใจตนเองให้รุ่มร้อน ให้ทุกข์ทรมาน ด้วยตนเอง

          บุคคลควรรู้จักยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่พิจารณาว่าเป็นคุณประโยชน์ เป็นกุศล เป็นความเจริญ อีกทั้งควรรู้จักปล่อยวางลงแม้แต่ในสิ่งเดียวกันนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นโทษภัย เ็ป็นอกุศล เป็นความเสื่อม จึงจะหลีกเลี่ยงความสุดโต่ง

          มิเช่นนั้นแล้ว เมื่อนานไป บุคคลนั้นย่อมมักเป็นทุกข์ได้ง่าย โดยที่ตนเองก็ไม่ชัดเจนว่าเพราะอะไรกันแน่ หนทางอันที่จะแก้ไขความทุกข์นั้น ก็ย่อมยากเย็นขึ้นทุกทีๆ

          ผู้ใดที่ปรารถนาที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง ควรเริ่มต้นด้วยการ หยุดเพ่งเล็ง หยุดโทษผู้อื่นลงเสียก่อน อย่างสนิทใจ เมื่อทำได้อย่างนี้แล้ว ค่อยเพ่งพิจารณาสิ่งที่เหลืออยู่ในจิตใจตน ก็จะอาจสามารถเริ่มเห็นหนทางที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง และมั่นคง ยิ่งๆขึ้นไป เป็นลำดับ




หัวข้อ: ความรักอันเป็นที่พึ่ง
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กุมภาพันธ์ 23, 2012, 05:16:06 PM

          หากคิดว่าเรารักใครสักคน เราควรมุ่งว่า เราจะเข้าใจเขาอย่างไร? จะประพฤติตนเป็นที่พึ่งแก่ผู้ที่เรารักได้อย่างไรบ้าง?
ไม่ควรมุ่ง หรือคาดหวังว่า เขาจะดีต่อเราอย่างไร ให้อะไรเราได้บ้าง เติมเต็มความไม่บริบูรณ์ไม่สุขสมหวังในชีวิตเราได้อย่างไรบ้าง ฯลฯ

          มิเช่นนั้นแล้ว เมื่อนานไป ผู้ที่คิดว่ารักกัน กลับมักไม่พ้นความกระทบกระทั่งเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพราะต่างฝ่ายต่างเอาประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง ถึงแม้จะอ้างว่า เพื่อความเจริญ ความถูกต้อง จึงควาดหวังบีบคั้นบังคับกันไปต่างๆนาๆ ด้วยสิ่งที่คิดว่า หวังดี สุดท้ายก็เพียงเอาตนเองเป็นที่ตั้ง เพื่อความพอใจแห่งตน ฯลฯ

          หากยังทำไม่ได้มาก หรือยังไม่บริบูรณ์ อย่างน้อยก็ควรหมั่นระลึกเช่นนี้ไว้ให้มาก ให้บ่อย จะค่อยๆลดความเบียดเบียนกันได้เป็นลำดับ




หัวข้อ: ปัญหาแห่งชีวิต
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ พฤศจิกายน 21, 2014, 05:39:20 AM
มนุษย์แต่ละคนก็เห็นปัญหาของชีวิตแตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง แล้วสติปัญญา ประสพการณ์ ฯลฯ

ไม่ว่าจะสมหวัง หรือ ผิดหวัง น่าพอใจ หรือ ไม่น่าพอใจ สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วก็เป็นความจริงส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะเห็นว่าเป็นปัญหาหรือไม่ก็ตาม

แท้จริงแล้ว ความเป็นจริงทั้งหลายในชีวิตมนุษย์นั้น ล้วนไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาด้วยตัวของมันเอง ที่เป็นปัญหาต่อตนเองอย่างแท้จริงก็คือ มนุษย์ มีปัญหาต่อความเป็นจริง หรือ ขาดความยอมรับความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา หรือกล่าวเรียกอีกอย่างว่า ไม่ซื่อสัตย์ต่อความเป็นจริงนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ชนส่วนมากจึงมักใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหาความเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่เคยพบคำตอบ หรือทางออก ที่เป็นที่สิ้นสุดแห่งปัญหาตนอย่างแท้จริงเลย จนเวลาสุดท้ายของชีวิตมาถึง ส่วนมากก็ยังไม่สามารถสำเหนียก ว่าสิ่งที่มุ่งแสวงหามาตลอดทั้งชีวิตตนนั้น ไม่นำไปสู่คำตอบ หรือ ทางออกที่ถูกต้องเลย แม้แต่น้อย


ท่ามกลางความมืดมิดแห่งความหวาดกลัว อย่ามัวเสียเวลาเสียโอกาสด้วยการปล่อยให้ความหวาดกลัวครอบงำสติจิตใจตน ควรแน่วแน่จ้องมองเพ่งพิจจารณาให้ถึงก้นบึ้งที่สุดแห่งความมืดมิดอันน่าหวาดกลัวเหล่านั้นไปจนถึงที่สุด เพื่อที่จะสามารถล่วงรู้สภาพความเป็นจริงทั้งหมดของปัญหา หากปฏิบัติเช่นนี้ได้อย่างแท้จริงแล้ว ความจริงย่อมปรากฏ หนทางย่อมปรากฏ คำตอบที่แท้จริงย่อมปรากฏ