กระดานธรรมะ

กระดานสนทนาธรรม => สาระธรรมทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: gig ที่ มีนาคม 05, 2010, 08:06:23 PM



หัวข้อ: อยากทราบสาเหตุที่บทสวดมนต์เป็นภาษาบาลี
เริ่มหัวข้อโดย: gig ที่ มีนาคม 05, 2010, 08:06:23 PM
อยากทราบว่าทำไมไม่สวดเป็นภาษาไทย แต่ยังคงใช้ภาษาบาลีไว้ครับ
ทั้งที่ถ้าแปลเป็นภาษาไทย และสอนกันด้วยภาษาไทยจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายกว่า ไม่ต้องมาแปล และตีความอีกรอบ
หลายคนพอพระสวดเป็นภาษาบาลีที่ตนไม่รู้เรื่องก็พากันคุยกันบ้าง หลับบ้าง พอไปสะกิดว่าอย่าหลับ ก็บอกว่าฟังไม่รู้เรื่อง และเสียงพระสวดก็ชวนง่วง
เห็นบางวัดก็มีคำแปลออกมาแต่ก็ยังสวดควบไปกับภาษาบาลีดั้งเดิมอยู่ และคำแปลภาษาไทยก็ไม่ค่อยแพร่หลายด้วยครับ
เหมือนจะเคยได้ยินมาว่าเป็นพระบัญญัติของพระพุทธองค์ ที่ออกกฎไว้ว่าพระต้องสวดเป็นภาษาบาลี แต่หาข้อมูลใน Google แล้วตอบกันไปคนละทาง สองทางครับ
ขอความกระจ่างด้วยครับ ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: อยากทราบสาเหตุที่บทสวดมนต์เป็นภาษาบาลี
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มีนาคม 07, 2010, 10:36:19 PM

          หลังพระพุทธปรินิพพาน แรกเริ่มทีเดียว การสวดพระไตรปิฏกนี้ เพื่อท่องจำคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า และในการสังคยานาพระไตรปิฏกครั้งแรกนั้น ไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นอักษร อาศัยการสวด หรือท่องจำเท่านั้นเพื่อรักษาพระไตรปิฏก และถึงแม้ต่อมาในภายหลัง พระไตรปิฏกได้เผยแผ่ไปถึงประเทศอื่นๆที่ไม่ได้ใช้ภาษาบาลีก็ตาม และถึงแม้จะมีคำแปลเป็นภาษาอื่นๆ อย่างเช่น ภาษาไทย ก็ตาม แต่ต้นฉบับเดิมที่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานชั้นต้นนั้น เป็นภาษาบาลี ดังนั้น การสวด หรือท่องเป็นภาษาบาลี จึงเป็นการรักษาคำเดิม หรือต้นฉบับเดิมเอาไว้ไปด้วย เพราะภาษาแต่ละภาษามีความแตกต่างกัน ดังนั้น คำบาลีบางคำ หรือหลายๆคำ ไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยที่มีความหมายตรงตัวกันพอดี การแปลมาเป็นภาษาไทยจึงต้องขึ้นอยู่กับความแตกฉานในภาษาทั้งสองภาษา และบางคำก็ยังต้องอาศัยการประมวล หรือการคะเน มาเป็นเครื่องประกอบการแปลอีกด้วย ฯลฯ (ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เชี่ยวชาญภาษาบาลีมากๆบางท่าน จึงนิยมที่จะอ่านพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีมากกว่าฉบับภาษาไทย ทั้งๆที่ตนเป็นคนไทย รู้ภาษาไทยดี โดยให้เหตุผลว่า ได้อรรถรสที่เที่ยงตรงมากกว่าฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว) ก็หมายความว่า ภาษาที่เป็นต้นบัญญัติเดิม น่าจะเป็นโวหารที่ใกล้เคียงกับเจตนาของพระพุทธเจ้ามากที่สุด หากเป็นอย่างนี้ ก็ควรเืชื่อได้ว่า มีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าภาษาที่แปลกันต่อๆไปในชั้นหลัง

          อย่างไรก็ดี หากตั้งใจว่าจะศึกษาความหมายตามคำสอนในพระไตรปิฏกแล้ว ก็สามารถหาอ่านฉบับภาษาไทยได้ จากหนังสือ หรือ ทางอินเตอร์เน็ท ก็มี เวลาสวด ก็สวดเป็นบาลี ส่วนเวลาสอน พระท่านก็คงจะสอน หรือเทศนา ด้วยภาษาไทยนั่นแหละ

          ส่วนปัญหาว่า เวลาฟังพระสวดเป็นบาลีแล้ว ง่วง นั่นอาจเป็นเพราะยังไม่ได้ฝึกฝนอบรมสมาธิจิตใจของตนมาดีพอ เมื่อฟังคำสวดที่ตนแปลไม่ออก ก็อาจฟุ้งซ่านไป เคลิ้มไปได้ เป็นธรรมดา ควรตั้งสติ แล้วสำรวมใจไว้ให้ดี ให้เป็นกุศล ฯลฯ

          อีกประการหนึ่ง บุคคลทั่วไปโดยมาก ถึงอ่านพระไตรปิฏกฉบับภาษาไทยแล้ว ก็มักจะเข้าได้น้อยมาก หรือบ้างก็เข้าใจผิดอยู่ดี

          ส่วนเรื่องที่ว่า คำแปลที่เป็นภาษาไทยนั้น ไม่ค่อยแพร่หลาย นั่นก็อาจเป็นเพราะว่า ผู้ที่มุ่งศึกษาเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ มีน้อย โดยมากแล้ว ที่สวด หรือที่ไปฟังพระสวด ก็อาจจะมุ่งเน้นว่า ฟังแล้วได้บุญ หรือได้อานิสงส์ มากกว่าที่จะมุ่งเข้าใจพระธรรมจริงๆ อย่าว่าแต่บุคคลในปัจจุบันนี้ ถึงแม้บวชเป็นพระสงฆ์แล้วก็จริง แต่ที่บวชแล้วมุ่งที่จะทั่วถึง หรือแทงตลอดในธรรมนั้น มีเป็นส่วนน้อยมาก และในบรรดาที่มุ่งอย่างนั้นจริง จะหาท่านที่บรรลุรู้จริงอย่างนั้น ก็ยิ่งหายากยิ่งขึ้นไปอีก และหากจะนับเฉพาะท่านที่บรรลุคุณธรรมอย่างนั้นจริง ที่เชี่ยวชาญบัญญัติอย่างที่ท่านเรียกกันว่า ขุนคลัง นั้น ก็หาได้ยากแท้

          ประการสุดท้าย พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมเป็นภาษาบาลี ดังนั้น หากจะรักษาพระพุทธวจนะให้เที่ยงตรงที่สุด ก็สมควรที่จะรักษาบทเดิมที่เป็นภาษาบาลีไว้ด้วย ส่วนการอธิบาย หรือแสดงธรรมตามกาลนั้น ก็อาจเป็นอีกกรณีหนึ่ง