กระดานธรรมะ

กระดานสนทนาธรรม => สาระธรรมทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: zen ที่ เมษายน 11, 2009, 11:03:31 PM



หัวข้อ: ฝากไว้ให้พิจารณา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ เมษายน 11, 2009, 11:03:31 PM

          จงเป็นผู้ระวังตนอยู่เสมอ แต่ไม่ระแวง
          จงเป็นผู้ไม่หวาดกลัวในสิ่งใด แต่รอบคอบ ไม่ประมาท
          จงเป็นผู้มีจิตใจเยือกเย็นอยู่เสมอ แต่ขยัน ไม่เกียจคร้าน
          เมื่อกระทำกิจหน้าที่การงานใดๆอยู่ อย่าฟุ้งซ่าน

          บุคคลผู้ปรารถนาความสุข ความเจริญ แก่ตน ไม่ควรหวาดกลัวทุกข์ เพราะความหวาดกลัวในทุกข์ จะไม่ทำให้เขาพ้นไปจากทุกข์
          ผู้ไม่ยินดียินร้ายในสุข และทุกข์ทั้งหลายในโลก ย่อมประสพสุขอันประณีตยิ่งกว่า ที่กล่าวว่าประณีตกว่า ก็เพราะว่า เป็นสุขที่พ้นไปจากสุข และทุกข์ทั้งหลายในโลก ดังนั้น ผู้รังเกียจความยากลำบาก ย่อมไม่บรรลุผลอันประณีต และมั่นคง เป็นธรรมดา





หัวข้อ: คำกล่าวร้าย
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ เมษายน 23, 2009, 11:13:03 AM

           คำเท็จที่ผู้อื่นกล่าวร้ายแก่เรา ก็เปรียบเสมือนข้าวบูดที่ผู้อื่นยื่นให้ หากเรารับไว้เสพด้วยตน โทษก็ย่อมเกิดแก่เรา โทสะ ความเร่าร้อน ความเศร้าหมอง ฯลฯ ก็ย่อมมีได้แก่ตน แต่ หากเราไม่รับไว้ หรือไม่เสพ เราก็ย่อมไม่ต้องถูกโทษนั้น ดังนั้น เมื่อใดที่ผู้อื่นกล่าวร้ายแก่เราด้วยความเท็จ แล้ว ความทุกข์ร้อนย่อมบังเกิดขึ้นด้วยโทสะ เราพึงพิจารณาตนเองก่อน ว่าเราเป็นผู้รับไว้เอง เป็นผู้ประพฤติการเสพเอง ด้วยตนเอง จึงทุกข์ เมื่อพิจารณาให้แยบคายอย่างนี้แล้ว ย่อมกำหนดรู้วิธีที่จะละออกจากเหตุแห่งความทุกข์นี้ได้ ย่อมไม่หลงผิดไปเพ่งโทษผู้อื่นว่า เป็นผู้บังคับให้เราเสพ เป็นผู้บังคับให้เราทุกข์ แต่เป็นเพราะเรารับไว้เองจึงทุกข์ เมื่อเราไม่รับไว้แล้ว เจ้าของย่อมนำกลับไปเสพเองในเรือนตน





หัวข้อ: เพื่อความสุข หรือเพื่อสิ่งใด?
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ เมษายน 23, 2009, 11:54:47 AM

          คนบางคน อยู่บ้านหลังเล็ก เก่า ซอมซ่อ หรือบางทีก็เช่าเรือนผู้อื่นอยู่ แต่มีเวลาอยู่บ้านมาก มีความสุขกับครอบครัว ช่วยกันจัดแจงบ้านให้สะอาดเรียบร้อย เป็นประโยชน์เพื่อประทัง อาศัย ใช้สอย ตามสมควร ตามอัตภาพ มีความพึงพอใจ

          คนบางพวก ขวนขวายหาบ้านหลังใหญ่ งดงาม หรูหรา เมื่อมีทรัพย์ไม่พอที่จะซื้อได้ในทีเดียว ก็ผ่อน ก็สร้างหนี้ วันๆก็ต้องพยายามขวนขวาย วิ่งหาเงินทอง เพื่อมาจ่ายหนี้นั้น ไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้าน กว่าจะกลับถึงบ้าน ก็เหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง หรือทั้งกาย และใจบ้าง ดังนั้น เมื่อกลับมาก็มืดบ้าง ดึกบ้าง ก็หลับ ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมา ก็ต้องรีบออกจากบ้านไปหาเงินทองมาอีก หรือแม้กระทั่งว่า บางวัน อยู่บ้าน ไม่ได้ไปไหน ใจก็คิดกังวลอยู่แต่กับเรื่องงาน เรื่องการหาเงิน ครุ่นคิด เคร่งเครียด หมอง ไม่ผ่องใส กว่าจะผ่อนบ้านได้หมด ก็ไม่รู้ว่าจะเหลือเวลาอยู่ในโลกนี้ ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่นี้ไปได้อีกสักกี่ปีกันแน่ แต่ถึงจะอยู่ได้อีกหลายปี อายุก็คงมากแล้ว สังขารก็ถดถอย ไม่สบายกาย อยู่เฉยๆกับบ้านก็หงุดหงิด อึดอัด เพราะไม่เคยชิน เนื่องด้วยเคยชินอยู่แต่กับการวิ่งขวนขวายอยู่นอกบ้านมาเป็นสิบๆปี ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง สุดท้าย ก็ทำอย่างอื่นไม่เป็น ไม่รู้วิธีที่จะมีความสุขอยู่ในบ้านตน

          ทั้งหลายทั้งปวงที่ขวนขวายไปตลอดชีวิตตนนั้น เพื่อสิ่งใด? เพื่อใคร? บางคนก็กล่าวว่า เพื่อลูกหลาน ก็จริงอยู่ว่า เมื่อมีทรัพย์ เขาก็ตั้งกายของเขาไว้ได้ แต่เมื่อเขาตั้งกายของเขาไว้ได้แล้ว เขาจะอาศัยกายนั้นเพื่อกระทำสิ่งใด? ทำตามอย่างที่เราเองทำมาตลอดชีวิตอย่างนั้นหรือ? ยอมทุกข์ยากลำบากเพื่อลูกหลานเรา แล้วลูกหลานเราก็ทนทุกข์ยากลำบากตลอดชีวิต เพื่อลูกหลานของเขาต่อๆไปเรื่อยๆ เพียงเท่านั้นหรือ?

          แท้จริงแล้ว สิ่งที่บุคคลทั้งหลายแสวงหา คือ สุข
          ทรัพย์ที่มีคุณค่าที่สุดในโลก คือ ปัญญา อันเป็นทรัพย์ที่นำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง
          แต่บุคคลมากมายหลงสำคัญไปว่า ความมีทรัพย์ คือ สุข แต่ไม่ได้พิจารณาให้แยบคายว่า  โดยแท้จริงแล้ว เมื่อได้ทรัพย์นั้นมาแล้ว ทรัพย์นั้นนำมาซึ่งความสุขแก่พวกเขาอย่างไรบ้าง แม้กระทั่งว่า สิ่งใดบ้าง ที่นับเป็นทรัพย์? หรือทรัพย์ในโลกนี้ มีกี่ประเภท? แต่ละประเภทมีคุณมีโทษอย่างไรบ้าง? พวกเขาก็ไม่กำหนดรู้ เช่นนี้แล้ว ทุกข์บางประเภท พวกเขาก็ไม่พ้นไป หรือ สุขบางประเภท พวกเขาก็ไม่เคยบรรลุถึง อย่างนี้แล้ว ขวนขวายได้มามากเท่าไร ก็ไม่เรียกว่า มั่งคั่ง ไม่เรียกว่า ร่ำรวย ไม่เรียกว่า มั่นคง ได้อย่างแท้จริงเลย ความคับแค้น ความทุกข์ยาก ความลำบาก ความขัดสน ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างมากมาย

          พึงพิจารณาให้แยบคาย ด้วยปัญญา





หัวข้อ: กิเลส ตัณหา ความกดข่ม
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กันยายน 23, 2009, 02:29:02 PM

          ในสมัยนี้ ปรากฏบุคคลบางพวก มีความเห็นว่า กิเลส และ ตัณหา เป็นสิ่งที่ผู้มุ่งหวังปัญญาไม่ควรกดข่ม ไม่ควรระงับ ไม่ควรกำจัด แต่ควรมีสติตามรู้กิเลส และตัณหาเหล่านั้น ก็พอ ก็จะเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอดได้เอง ฯลฯ

          แต่เรากล่าวว่า หากบุคคลใดไม่พยายามขวนขวายเพื่อระงับ กดข่ม หรือไม่มุ่งมั่นในการต่อสู้ฟาดฟันเพื่อกำจัดกิเลส ตัณหา ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นในจิตใจของตนเองแล้ว บุคคลนั้น จะพึงเรียนรู้อุบาย เล่ห์กล แห่งกิเลสเหล่านั้นได้อย่างไร? ด้วยเหตุดังนี้ บุคคลผู้มีความคิดเห็นอันไม่แยบคายดังที่ได้กล่าวในข้างต้นนั้น จึงมี

          แท้จริงแล้ว ความยินดี หรือความพึงพอใจ มีทั้งที่เ็ป็น ราคะ และมีทั้งที่เป็น วิราคะ แต่ชนสุดโต่งบางพวก สำคัญว่า เป็นราคะทั้งหมด จึงเป็นที่มาแห่งคำสอนสุดโต่ง เป็นเหตุให้ผู้เชื่อถือตามก็ปฏิบัติอบรมจิตใจของตนเองไปด้วยความแห้งแล้ง ฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย ด้วยสำคัญผิดตามที่อาจารย์ของตนประกาศว่า สติอย่างนี้เป็นกลาง ท้ายที่สุด ก็กลายเป็นการพอกพูนความกระวนกระวาย ความทุกข์ และกิเลส ในใจตน แต่ตนเองไม่รู้ตัว เพราะมัวสำคัญตนอยู่ว่า มีปัญญา กลายเป็นผู้ไม่รู้จักความสงบ มีจิตใจกระด้าง มีความคิด ความประพฤติือันรุกรานประทุษร้ายต่อผู้อื่น แต่สำคัญตนว่ากระทำไปด้วยเมตตาอยู่





หัวข้อ: ข้อคิดบางประการ
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 07, 2010, 12:31:33 AM

          บุคคลควรพิจารณาโดยแยบคายซึ่งความสุขชนิดที่มีได้ในปัจจุบัน อันไม่มัวคอยผู้อื่นหยิบยื่นให้ ไม่รอเวลา ไม่เป็นโทษในภายหลัง และไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งรอบตัว

          ผู้ยินดีในผล แต่รังเกียจการประกอบเหตุอันควร ย่อมมักไม่เป็นสุข

          ความคิด หรือคำวิจารณ์ ที่ผู้อื่นทั่วไปมีต่อเรา ย่อมแสดงถึงมุมมองของบุคคลนั้นๆที่มีต่อเราเท่านั้น อาจถูกต้องทั้งหมด หรืออาจผิดทั้งหมด หรืออาจถูกบ้างผิดบ้าง ก็อาจเป็นไปได้ทั้งหมด ควรรับฟังเมื่อเห็นว่าเป็นกุศล ไม่ควรใส่ใจเมื่อเห็นว่าไม่เป็นกุศล

          บุคคลใดตัดสินความสำเร็จของชีวิต ด้วยความได้มาในโลกธรรม ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ ความสมหวังได้มาในสิ่งที่ต้องการจากโลก อย่างนี้แล้ว บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ไร้แก่นสารในชีวิต เป็นผู้ไม่เห็นคุณค่าแห่งชีวิต เพราะสิ่งอันเขาปรารถนา เห็นว่าเป็นความหมายของชีวิต เหล่านั้น ย่อมสูญไปพร้อมชีวิต ดังนั้น เรียกได้ว่า เป็นผู้เกิดมาเพียงเพื่อรอความตาย ความดับ หรือความเสื่อมไป เท่านั้นเอง

          บุคคลผู้ท่องอยู่ในโลก ย่อมอาศัยปัจจัยอาหาร เพื่อประทังตน อย่างเช่นในปัจจุบัน ก็มักอาศัยเงินทอง ดังนั้น คนทั่วไปก็ขวนขวายหาเงินทอง แต่การขวนขวายนั้น มีทั้งประเภทที่ไม่เป็นโทษในภายหลัง และที่เป็นโทษในภายหลัง การขวนขวายอย่างประการหลัง ควรละเว้น

          ความหวงแหน หรือคาดหวังต่อผู้อื่น แม้แต่บุคคลที่ได้ชื่อว่ารักกัน ไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม มักย้อนกลับมาบีบคั้น ทำร้ายตัวเราเอง

          เหตุอย่างหนึ่ง ที่มักสร้างทุกข์ หรือผิดหวัง แก่บุคคลส่วนใหญ่ในโลก คือ ความที่ตนเองไม่รู้ชัดว่า ความคิดคาดหวังเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนความเกิดขึ้นจริง เป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือ สิ่งที่เราเ้ข้าใจว่าผู้อื่นเป็นอย่างไรนั้น เป็นสิ่งหนึ่ง ส่วนสิ่งที่คนผู้นั้นเป็นจริงๆนั้น เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องตรงกัน แท้ที่จริงแล้ว บุคคลที่รู้จักตนเองเป็นอย่างดีแล้ว หาได้ยากในโลก จะกล่าวไปใยกับการที่จะรู้จักผู้อื่นได้อย่างแท้จริง

          ผู้ฉลาดอย่างไม่แยบคาย ประมาท มักง่าย หยาบกระด้าง ย่อมยินดีกับการได้เปรียบผู้อื่น และย่อมทุกข์ใจเมื่อถูกผู้อื่นเอาเปรียบ ส่วนผู้ฉลาดอย่างแยบคาย สุขุม ประณีต ย่อมพิจารณาเห็นประโยชน์สุข หรือประโยชน์อันไม่ทุกข์แก่ตน ในการให้อภัย หรือเสียสละแก่ผู้อื่น ตามสมควร ถึงแม้ว่าผู้อื่นจะไม่รู้ หรือจะไม่ซาบซึ้งก็ตาม

          วัตถุธาตุ เป็นของตาย จิตใจ เป็นของเป็น ของที่ตายไปแล้ว ย่อมรอวันเสื่อมสลาย ส่วนของที่ยังเป็นอยู่นั้น ฟื้นฟูได้ พัฒนาได้ รักษาได้

          อาหารไม่ว่าจะรสเลิศถูกใจสักเพียงใดก็ตาม รับประทานมากเกินไป ก็ย่อมอึดอัดปวดท้องแน่นท้องได้ เป็นธรรมดา

          บุคคลจำนวนมากในโลก จำแนกไม่ออก หรือไม่ก็จำแนกได้น้อย ถึงความแตกต่างระหว่าง ความเป็นสุข กับความที่คิดว่าเป็นสุข

          หากโลกนี้เป็นสิ่งที่บริบูรณ์จริงแล้ว บุคคลทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในโลก ย่อมไม่มีทุกข์เสมอไป แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า โลกนี้ เป็นของบกพร่องอยู่เป็นธรรมดา เป็นสัจจะ เมื่ออย่างนี้แล้ว บุคคลผู้มีความเห็นหนักแน่นว่า เราจะมุ่งแสวงหาความสุขอันบริบูรณ์ด้วยโลกนี้ หรือในโลกนี้ ย่อมไม่มีทางสมหวังได้จริง ย่อมเป็นผู้หลงทางอยู่ เป็นธรรมดา

          สุขในโลกนี้ มีอยู่จริง เพียงแต่ไม่ถาวร ดังนั้น ผู้ฉลาด ย่อมอาศัยสุขในโลกนี้ที่ปรากฏเป็นไปอยู่แก่ตน เพียงเพื่อเป็นฐาน เป็นปัจจัย เป็นเครื่องประคอง เป็นเครื่องประทัง แห่งตน ในการที่จะพิจารณา หาหนทาง เพื่อความเจริญไป น้อมไป พัฒนาไป ให้ยิ่งๆขึ้นไป สู่ความสุขอันประเสริฐยิ่งกว่า ประณีตยิ่งกว่า มั่นคงยิ่งกว่า บริบูรณ์ยิ่งกว่า เป็นลำดับไป จนกระทั่งบรรลุถึงสุขอันมั่นคงปลอดภัยจากความไม่แน่นอนทั้งหลายในโลก

          ความคิดดีคิดร้ายนั้น เป็นผลจากอนุสัย หรืออาสวะ อันประกอบมาในอดีต เป็นของอดีต ส่วนหน้าที่ตนในปัจจุบันก็คือ ความเฟ้น หรือความเลือก ว่าตนจะกระทำสิ่งใด หรือไม่กระทำสิ่งใด ความคิดนั้น เป็นเพียงความประมวลมา ส่วนความกำหนดเจตนาตัดสินใจว่า ตนจะกระทำ หรือเว้นจากการกระทำในสิ่งใด นั้น ย่อมเป็นเหตุปัจจัยแก่ผลที่จะตามมาในอนาคต

          บุคคลผู้มั่งมีทรัพย์ในโลก แต่ตายไปด้วยความหวาดผวา มีอยู่จริง และ บุคคลผู้ขัดสนยากไร้ทรัพย์สมบัติในโลก แต่จากโลกนี้ไปด้วยความปลอดโปร่ง เยือยเย็น ไม่หวาดเขลา ไม่อาลัยในโลก มีอยู่จริง

          บุคคลกล่าวคำไพเราะ เพื่อผลประโยชน์ตน มีมาก บุคคลผู้กล่าวคำไม่น่าฟัง แต่เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น มีน้อย

          บุญ ไม่ลบล้าง บาป
          คำพูดดี ไม่ลบล้าง เจตนาอันชั่ว

          ผู้ขัดสนมีมาก ผู้ไม่รู้จักพอยิ่งมีมากกว่า

          ความเกียจคร้าน มักง่าย ไม่อดทน เป็นเหตุสำคัญของบาปโดยมากในโลก

          ผู้พอใจในความดี ไม่ควรกระทำความดีเพื่อรอผู้อื่นชื่นชม

          ผู้มีปัญญา ไม่ควรกล่าวในสิ่งที่ไม่รู้ และไม่ควรกล่าวทุกสิ่งที่รู้

          บุคคลผู้ตั้งใจว่า จะเป็นผู้มั่นคงในความดี ควรเป็นผู้มีความพอใจสุขใจในการกระทำความดี ถึงแม้อาจต้องทนความลำบากบ้าง ไม่ใช่ว่าจะต้องรอให้ความดีนั้นเป็นผลเสียก่อน จึงค่อยพอใจ

          ผู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี ควรที่จะเป็นผู้ที่อยู่กับเฉพาะตนเองได้เป็นอย่างดีเสียก่อน

          บุคคลผู้ยึดมั่นถือมั่นความเป็นไปในโลกนี้ เป็นสาระ ย่อมไม่บรรลุความรู้เห็นในแก่นสารที่แท้จริงแห่งตน




หัวข้อ: คำจริง คำเท็จ และ อคติ
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 18, 2010, 11:03:08 PM

            สำหรับบุคคลจำนวนมาก คำเท็จที่ตนพอใจ มักเชื่อได้ง่าย รับฟังได้ง่าย กว่าคำจริงที่ตนไ่ม่พอใจ เพราะอคติ
            อคติ จะบรรเทาลงได้ ด้วยความเพียรอย่างแยบคาย
            ผู้มักง่าย จึงมักตัดสินเรื่องราวที่ตนยังไม่รู้ชัดในมูลเหตุ ไปตามอคติตน
            ดังนี้เอง อคติ จึงยิ่งพอกพูนได้ง่าย แก่ผู้เกียจคร้าน ไม่หมั่นพิจารณาสืบสาวมูลเหตุในสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่น หรือรังเกียจอยู่ให้ดีเสียก่อน




หัวข้อ: โทสะ และทิฐิในโลก
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กุมภาพันธ์ 05, 2010, 10:13:16 PM

          ผู้ที่จะละความเพ่งโทษต่อผู้อื่นได้ ก็ต่อเมื่อพิจารณาหาตรรกะเหตุผลในโลกที่จะละความโกรธได้ ย่อมได้ชื่อว่า ยังเป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นทิฐิในโลกอยู่ แต่ก็ยังประเสริฐกว่าผู้เพียรพยาบาท เพ่งโทษ หรือประทุษร้ายผู้อื่น

          อย่างไรก็ดี คำตำหนิบางประเภท ไม่ได้เกิดจากโทสะ




หัวข้อ: มรณะสติ
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มีนาคม 22, 2010, 10:33:50 PM

          เมื่อเช้านี้ ผู้ภาวนาจิตได้ดีท่านหนึ่ง ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ด้วยโรคมะเร็งตับ เท่าที่ผ่านมา ท่านได้ภาคเพียรตั้งสติ ทำสมาธิ อันประกอบด้วยส่วนแห่งสมถะ และประกอบด้วยส่วนแห่งวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยความอดทนต่อเวทนาทางกายที่หนักหนา ด้วยจิตใจที่ไม่ถอยหลัง ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น และกล้าหาญ จนกระทั่งถึงลมหายใจสุดท้าย จากโลกนี้ไปด้วยความสงบ ไม่คร่ำครวญ ไม่โอดครวญ ไม่ตัดพ้อ ไม่พยาบาท สมจริงดังที่ได้เคยรับปากกับข้าพเจ้าไว้ว่า จะต่อสู้กับความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายนี้ ด้วยความมีสติอันตั้งมั่น ประกอบด้วยสัมปชัญญะ อันเป็นกุศล อันไม่ตกลงในอกุศล จนถึงลมหายใจสุดท้าย จนได้พิสูจน์แล้วว่า คำที่ได้รับปากไว้นั้น เป็นสัจจะ สมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นผู้ปฏิบัติจิตภาวนา เพื่อความเป็นผู้มั่นคง เป็นผู้สงบ เป็นไปเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นกุศล ไม่เป็นไปเพื่อความโศก และคร่ำครวญ มีคติอันเป็นกุศลเป็นที่ไป ไม่เกรงกลัวมัจจุราช บรรลุถึงประโยชน์อันไม่เสียทีที่มีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในสมัยที่พระธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังปรากฏตั้งอยู่ ข้าพเจ้าขอสรรเสริญความเพียรอันชอบทั้งหลายที่ท่านได้ทำมาในชาตินี้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีสุดท้ายที่ผ่านมานี้

          ก็ขอให้เหตุการณ์นี้ ประสพการณ์นี้ เป็นอุทาหรณ์ เป็นคติ เป็นเครื่องเตือนใจแก่ผู้ภาวนาว่า ความตาย เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนสำหรับผู้ที่เกิดมา หากอบรมจิตตนไม่ดีพอ ความตาย ความพลัดพราก จะเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างยิ่ง แต่หากอบรมจิตตนดีพอแล้ว ความตาย จึงจะไม่เป็นสิ่งน่าหวาดกลัวแก่ตน เพราะกล้าหาญ เพราะมีสติ เพราะรู้คติ อันเป็นสุข อันประณีต อันสงบ อันวิญญูชนควรรู้ ปล่อยวางได้ในสิ่งที่ควรวาง เมื่อถึงกาลที่ควรวาง และขอให้ความอดทน และความเพียร ทั้งหลาย ที่คุณสมหวังได้บำเพ็ญ ได้แสดงให้เห็นแล้ว เหล่านี้ จงเป็นตัวอย่างแก่ผู้ภาวนา เพื่อความบรรลุถึงความอดทน และความเพียร อันชอบ อันถูกต้อง อันกระทำให้สมบูรณ์ได้มาก อย่างที่คุณสมหวังได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างไว้แล้วเหล่านี้

          ขอให้เจริญในธรรม




หัวข้อ: ความเพียร ความพอ และความสุข
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ เมษายน 29, 2010, 11:16:54 PM

กิเลสมักวูบวาบ ส่วนคุณธรรมมักยั่งยืน

สำหรับผู้ที่เข้าใจ โลกนี้ ย่อมทับถมอย่างมากได้เพียงกาย ไม่ทับถมไปถึงจิตใจ

ความร่ำรวยเงินทอง ไม่ทำให้พบกัลยาณมิตร แม้จะยืนอยู่ต่อหน้า ความยากลำบากต่างหาก ที่ทำให้เรามองเห็นกัลยาณมิตร

คนที่รู้จักพอ เมื่อไหร่ ก็พอ

คนที่รู้จักสุขอย่างถูกต้อง เมื่อใด ก็สุข

คนที่รู้จักพอ ไม่ใช่หมายถึงคนที่งอมืองอเท้า ไม่ขวนขวายพากเพียรสิ่งใดเลย แต่หมายถึงคนที่ไม่ทุกข์ เมื่อขวนขวายแล้วไม่ได้มา หรือได้มาน้อย เช่นนี้แล้ว ย่อมพากเพียรขวนขวายอยู่ ด้วยความเป็นสุข มีกุศลเป็นที่ตั้ง





หัวข้อ: My twitter
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มิถุนายน 28, 2010, 10:17:16 PM

          https://twitter.com/zen_synergy




หัวข้อ: ต้นเหตุ ปลายเหตุ
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ ตุลาคม 13, 2010, 11:31:05 PM

          ผู้ฉลาดควรใส่ใจระมัดระวังในสิ่งที่จะเป็นเหตุ หรืออาจเป็นเหตุ ส่วนสิ่งอันเป็นปลายเหตุแล้ว ไม่ควรวิตกทุกข์ร้อน เมื่อแก้ไขมิได้ ควรวางใจ และศึกษาเหตุของสิ่งนั้น เพื่อป้องกัน



หัวข้อ: Re: ฝากไว้ให้พิจารณา
เริ่มหัวข้อโดย: janejira ที่ พฤศจิกายน 12, 2010, 08:46:09 PM
ขอบคุณค่ะ พีเอ๋ เป็นหลักธรรมะที่ให้ข้อคิดเข้ากับชีวิตตอนนี้มากๆเลยค่ะ
ทำให้ไม่คิดร้ายกับผู้ที่เอาเปรียบเรา เพราะทำให้ใจเราเร่าร้อนเปล่าๆ
ตอนนี้ขอเคลียร์ธุระส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนนะคะ
แล้วจะขอให้พี่รับเป็นศิษย์อีกครั้งค่ะ
                                  หมอเจน  :)


หัวข้อ: เท่าใด จึงพอเพียง?
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ พฤศจิกายน 22, 2010, 04:00:00 PM

          สิ่งอันน่ายินดี น่าพอใจ น่าได้มา เพราะเห็นว่าได้มาแล้ว ย่อมเป็นสุข ย่อมสะดวกสบาย ย่อมไม่อึดอัด ย่อมเพลิดเพลิน ฯลฯ ทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมมีมาก จะเป็นวัตถุอันน่าพอใจก็ดี บุคคลอันน่าพอใจก็ดี เหตุการณ์อันน่าพอใจก็ดี คนทั้งหลายก็มักพอใจ อยากได้มา เพื่อความสุขตน แต่เมื่อนานไป ไม่ว่าจะขวนขวายสำเร็จได้มามากน้อยเพียงใดแล้วก็ตาม สิ่งที่ยังอยากได้เพิ่มเติมให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก ก็ยังมี และไม่ทีท่าว่าจะลดลง ดังนี้แล้ว คนโดยมากมักทุกข์เป็นอันมากในการที่จะพยายามขวนขวายไขว่คว้าสิ่งต่างๆเหล่านี้มาเป็นของตนให้มากยิ่งๆขึ้นไปอีก ฯลฯ

          ปัญหาคือ คนโดยมาก มักซาบซึ้ง หรือเห็นความสำคัญในสิ่งที่ตน มีอยู่แล้ว ได้รับมาแล้ว เหล่านั้น น้อยมาก จนบางทีแทบไม่มีเลย หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ไม่ค่อยมีความสุขเท่าที่ควรกับสิ่งที่ตนมีอยู่ เป็นอยู่ เหตุเพราะมัวแต่คอยเสาะแสวงหา เพ่งเล็งอยู่มากแต่กับสิ่งที่ตนยังไม่ได้มา เป็นทุกข์ร้อนอย่างมากเพื่อสิ่งที่ตนยังไม่ได้มา มุ่งอยู่แต่ว่า ตนจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อตนสำเร็จได้มาซึ่งสิ่งที่ตนไม่ได้มาก่อน ทั้งๆที่ถึงแม้สำเร็จได้ในสิ่งนั้นมาแล้ว ก็ยังมีสิ่งอื่นๆต่อๆไปอีก ยิ่งนานไป ยิ่งขวนขวายมาไ้ด้มากยิ่งขึ้นเพียงใด ตนเองก็ยิ่งไม่รู้ได้เลยว่า เท่าใดจึงพอ เท่าใดจึงไม่ต้องขวนขวายต่อไปอีก ถึงแม้ว่าบางครั้ง เมื่อยังไม่ได้มาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราอาจจะคิดว่า ถ้าได้สิ่งนั้นมาแล้ว ได้มาเท่านั้นเท่านี้แล้ว ก็จะพอใจ ไม่ต้องแสวงหาให้มากไปกว่านั้นอีก แต่เมื่อได้มาแล้วจริง ไม่นาน ตนเองก็อดไม่ได้ที่จะคาดหวังในสิ่งนั้นให้มากขึ้นไปอีก หรืออดไม่ได้ที่จะอยากได้มาในสิ่งอื่นๆอีก หรือทั้งสองประการ ยิ่งได้มามาก ก็กลับยิ่งเหมือนไม่มีวันพอ ความทุกข์จากสิ่งที่ตนต้องการแต่ยังไม่ได้มา จึงมีมาก ส่วนความสุขในสิ่งที่ตนได้มาแล้ว มีอยู่แล้ว กลับน้อยลงทุกที หรือบางเวลาอาจเห็นความสำคัญมากขึ้น ก็มักจะเป็นเวลาเมื่อสูญเสีย หรือเห็นว่าจะสูญเสียสิ่งนั้นไป เสมือนว่า สุขที่ได้มาแล้วกลับไม่น่ายินดี กลายเป็นว่า มีแต่ทุกข์ เพราะจ้องอยู่แต่ สุข ที่ไม่ได้มาเป็นของตน เช่นนี้แล้ว คนโดยมากจึงมักทุกข์ มักโศกเศร้า เหงา หงุดหงิด ผิดหวัง เสียใจ โอดครวญ ร่ำไห้ และเป็นโทสะ อาฆาต พยาบาท ฯลฯ ไปไม่มีที่สิ้นสุด ขาดความสงบสุขอย่างแท้จริง พึ่งตนเองได้ยาก ทำร้ายจิตใจตนเองได้ง่าย จนพาลกระทบกระทั่งไปถึงคนรอบๆตัว รวมถึงคนที่ตนรัก หรือผูกพัน

          ทั้งหลายทั้งปวงนี้ หากบุคคลรู้่จักพิจารณาให้ลึกซึ้ง ให้แยบคาย ในสิ่งที่ตนได้มาแล้วนั้นเป็นสำคัญ ปัญหาทุกข์ร้อนจำนวนมาก ก็จะเป็นสิ่งที่ละเว้นได้ หลีกเลี่ยงได้ หรือระงับได้ ความกระทบกระทั่ง เบียดเบียน ทำร้าย แม้กระทั่งกับบุคคลที่ตนรัก หรือผูกพัน ก็จะลดน้อยลงอย่างยิ่ง กับบุคคลโดยมาก

          ก็จริงอยู่ว่า บุคคลทั้งหลาย ย่อมมักต้องการความสุขที่ยิ่งๆขึ้นไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ความสุขที่ไม่แยบคาย ไม่ลึกซึ้ง ประกอบด้วยความมักง่าย ประมาท มักนำพามาซึ่งทุกข์ ในภายหลัง ดังนั้น บุคคลผู้ฉลาด ย่อมแสวงหาความสุขด้วยความละเอียด รอบคอบ ลึกซึ้ง ไม่ประมาท ไม่พยายามมองหาความสุขจากสิ่งที่ยังไม่ได้มาจนมองข้ามความสุขที่ตนพึงมีได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่แล้ว ได้มาแล้ว แก่ตน

          ความสุข เป็นสิ่งที่มีได้เสมอๆ หากเรารู้จักมองชีวิตจิตใจของตนให้เป็น ให้ถูกต้อง ความสุขที่มากที่สุดในโลกนี้ ไม่มีจริง แต่ ความสุขที่พอแก่อัตตภาพของบุคคลนั้น มีอยู่จริง หวังว่าท่านทั้งหลายจะพิจารณาความเป็นจริงในข้อนี้ให้ดี ให้แยบคายพอ เพื่อให้บรรลุถึงความสุขตนได้ดีที่สุดตามแต่อัตตภาพแห่งตน เท่าที่แต่ละบุคคลจะพึงเข้าถึงได้




หัวข้อ: Re: ฝากไว้ให้พิจารณา
เริ่มหัวข้อโดย: kittykitten ที่ พฤศจิกายน 24, 2010, 09:27:08 AM
  :-[

 :)  :)  :)


หัวข้อ: ปัญญา และความหยุด
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ เมษายน 16, 2012, 02:48:02 PM


          วัตถุกาม เช่น วัตถุ บุคคล ฯลฯ ทั้งหลาย ที่ตนพอใจ ย่อมยังให้เกิด กามตัณหา
          สภาพ หรือความเป็นไป ที่ตนยินดี ย่อมยังให้เกิด ภวตัณหา
          สภาพ หรือความเป็นไป ที่ตนขัดเคืองใจ ย่อมยังให้เกิด วิภวตัณหา

          ตัณหา ย่อมเป็นไปเพื่อความทะยาน
          ปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความหยุด
          ผู้ยังไม่รู้จักหยุด ถึงแม้จะรู้หลักการ ถ้อยคำธรรมะมากมายสักเพียงใดก็ตาม ย่อมยังเป็นผู้ไม่รู้จักปัญญาอยู่นั่นเอง

          ผู้ยังเขลา ย่อมไม่เห็นได้ว่า ความหยุด จะยังสุขให้เกิดขึ้นแก่จิตใจตนเองได้อย่างไร
          ผู้มีปัญญา ย่อมรู้ชัดความเ็ป็นสุข อันเกิดจาก ความหยุด

          ผู้ไม่มีปัญญา ย่อมใช้ปัญญาตน ไปเพื่อความแสวงหาในสิ่งอันรกรุงรัง เป็นภาระ พอกพูนแก่จิตใจตน
          ผู้มีปัญญาดี ย่อมใช้ปัญญาตน ไปเพื่อความแสวงหาในการกำจัดสิ่งอันรกรุงรัง กำจัดสิ่งอันเป็นภาระ ยังจิตใจตนให้เป็นอิสระ เบิกบาน