กระดานธรรมะ

กระดานสนทนาธรรม => สมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน => ข้อความที่เริ่มโดย: zen ที่ มกราคม 13, 2009, 02:12:32 AM



หัวข้อ: สมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน กับ สติปัฏฐาน
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 13, 2009, 02:12:32 AM

          คนจำนวนไม่น้อย เข้าใจ หรือแสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่า สติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนา ไม่เป็นสมถะ หรือบางพวกก็กล่าวว่า ในสติปัฏฐาน ๔ นั้น บางฐานเป็นสมถะ บางฐานเป็นวิปัสสนา เช่น กล่าวว่า ฐานกาย หรือฐานเวทนา เป็นสมถะ ส่วนฐานจิต และฐานธรรม เป็นวิปัสสนา ทั้งๆที่ทั้ง ๔ ฐานนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสใช้คำว่า "พิจารณาเห็น" ทุกฐาน ซึ่งคำว่า "พิจารณาเห็น" นี้ เป็นสภาพของวิปัสสนา ดังนั้นจึงไม่ควรกล่าวว่า ฐานกาย หรือฐานเวทนา (ซึ่งพระพุทธองค์ทรงกล่าวคำว่า พิจารณาเห็นกายในกาย หรือใช้คำว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา) เป็นสมถะอย่างเดียว ซึ่งบางครั้งก็มีข้อแย้งว่า ครูบาอาจารย์บางท่านสอนไว้ว่า อานาปานสติ เป็นได้ทั้งสมถะ และวิปัสสนา ก็มีคนบางพวกแก้ บางทีก็เพื่อกลบเกลี่อน ว่า อานาปานสติเป็นวิปัสสนาก็ได้ แต่ยากเกินไป ทั้งๆที่ไม่ใช่วิสัยของผู้ไม่รู้จักจริง หรือผู้ไม่ชำนาญ จะพึงตัดสินได้ อย่างไรก็ดี ถึงแม้กล่าวเช่นนี้ ก็ยังเป็นข้อแย้งกับคำกล่าวของตนเองอยู่ดี เพราะได้กล่าวไว้ว่า การพิจารณากาย เป็นของสมถะเท่านั้น หรือแม้แต่ผู้ที่กล่าวว่า สติปัฏฐาน เป็นของวิปัสสนาส่วนเดียว ไม่เป็นสมถะ ความเห็นอย่างนี้ ก็ยังไม่ควรยินดี เพราะแท้จริงแล้ว สติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการ หากเจริญอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมต้องประกอบด้วยส่วนของสมถะ และส่วนของวิปัสสนา ยกเว้นแต่จะกล่าวถึงสติปัฏฐานชนิดอื่น ที่นอกเหนือไปจากสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้

          แท้ที่จริงแล้ว ผู้เจริญสติปัฏฐานได้ถูกต้อง และเป็นผล ก็ย่อมกำหนดได้ถูกต้อง รู้ได้ด้วยตนเอง อย่างน้อยก็โดยสภาพ ว่า สติปัฏฐานนั้น ไม่ว่าจะเป็นฐานใด ก็ประกอบอยู่ด้วยทั้งส่วนสมถะ และส่วนวิปัสสนา แม้กระทั่งสัมโพชชงค์(อันเป็นธรรมแห่งความหลุดพ้น) ก็ประกอบอยู่ด้วยส่วนของสมถะ และวิปัสสนาเช่นกัน แต่สำหรับผู้ที่ยังอาศัยเพียงศรัทธา ยังเป็นผู้ได้แต่เพียงเชื่อถือไปตามบุคคลที่ตนเคารพอยู่ ยังเป็นผู้เข้าไม่ถึงสติปัฏฐานอย่างแท้จริงอยู่ หรือสำหรับผู้ยังไม่รู้ ก็อาจสังเกตในมหาสติปัฏฐานสูตร ว่า ปรากฏคำว่า "ตั้งมั่น" อันเป็นสภาพแห่งสมถะ และปรากฏคำว่า "พิจารณาเห็น" อันเป็นสภาพแห่งวิปัสสนา ปรากฏอยู่ทั่วไปในพระสูตรนี้ แม้แต่ครูบาอาจารย์ในยุคหลัง เช่น หลวงปู่ดูลย์ ซึ่งคนบางพวกประกาศว่า คำอธิบายการเจริญจิต หรือเจริญสติ ที่ท่านแสดงนั้น เป็นจิตตานุปัสสนาโดยตรง ทั้งๆที่จริงแล้ว ท่านแสดงโดยใจความที่ประกอบอยู่ทั้ง ๔ ฐาน อย่างไรก็ดี ท่านก็ได้แสดงความไว้ว่า ให้ดูจิต เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ซึ่งก็สอดคล้องกับคำตรัสสอนของพระพุทธองค์ เพียงแต่คำว่า "ดูจิต" ไม่ใช่คำตรัสสอนในหมวดของสติปัฏฐาน ๔ แต่ปรากฏในคำตรัสสอนในหมวดของ โพชชงค์ ๗ ประการ ซึ่งปรากฏอยู่ในโพชชงค์ข้อที่ ๖ ก็คือ สมาธิสัมโพชชงค์ (แต่ก็มีผู้ที่ประกาศว่า การดูจิต ที่หลวงปูดูลย์ท่านสอน ไม่ต้องใช้สมาธิ หรือใช้เพียงสมาธิอ่อนๆ เช่น ขณิกะสมาธิ ก็พอแล้ว ถ้าสมาธิมากไป จะดูจิตไม่ได้ ฯลฯ)

          อีกประการหนึ่ง พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสเริ่มต้นแสดงธรรม ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ประการ โดยใช้สำนวนว่า "พิจารณาเห็น" กับทั้งสี่ประการ ดังนี้



             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ ชื่อว่ากัมมาสทัมมะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ ฯ


          ดังนั้น ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการ จึงประกอบอยู่ด้วยส่วนของวิปัสสนาทั้งหมด อีกทั้งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในบางพระสูตร โดยอธิบายสภาพของสติปัฏฐานว่า เป็นสภาพ"ตั้งมั่น"แห่งสติปัฏฐาน และยังตรัสถึงสติสัมโพชชงค์ ว่า สภาพตั้งมั่น แห่งสติสัมโพชชงค์ ซึ่งเหล่านี้แสดงว่า คำว่า "สติ" ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนนั้น หมายถึงสภาพที่"ตั้งมั่น" ซึ่งควรจะอธิบายได้ว่า หมายถึง สติ ของจิตที่เป็นสมาธิ ไม่ใช่จิตที่ฟุ้งซ่านอย่างทั่วไป อีกทั้งยังได้ทรงตรัสถึงความมีกิจเสมอกันแห่งสมถะ และวิปัสสนา ซึ่งควรจะแปลความหมายได้ว่า คือ สภาพที่สมถะ และวิปัสสนา ทำหน้าที่ไปด้วยกัน หรือทำหน้าที่ไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน

          รวมความแล้ว ก็พอจะสรุปได้คร่าวๆว่า บุคคลควรหยุด (คือ หยุดฟุ้งซ่าน หยุดทะยานออกเพื่อแสวงหาสิ่งภายนอก) ก็จะปรากฏสภาพที่พิจารณาอยู่กับตน พิจารณาอยู่ในตน คือ สมถะ พร้อมทั้งพิจารณาทำความเข้าใจกับสิ่งที่เห็น หรือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในตน คือ วิปัสสนา เมื่อเข้าใจหลักการ หรือสัจจะในสิ่งที่เห็น หรือปรากฏอยู่ในตนนั้น ก็ย่อมเกิดปัญญาในตนเอง อันเป็นเครื่องขจัดทุกข์ในตน ก็คือ ปัญญา และผลแห่งปัญญานี้ ก็คือ ความสงบระงับ นั่นเอง

          สรุปในท้ายนี้ว่า สติปัฏฐาน นั้น ก็คือ สภาพอะไรก็ตาม องค์ประกอบปัจจัยอะไรก็ตาม ธรรมอย่างใดก็ตาม ที่เป็นไปเพื่อความตั้งจิตมั่น ความตั้งมั่นแห่งสติ ความตั้งจิตมั่นในการงาน หรือความตั้งมั่นแห่งการงานของสติ ได้ชื่อว่า สติปัฏฐาน ส่วนสัมโพชชงค์ ก็คือ สภาพแห่งการงานเพื่อความนำออก(จากทุกข์)โดยมั่นคง นั่นเอง






หัวข้อ: สติปัฏฐาน ในชีวิตประจำวัน
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กุมภาพันธ์ 23, 2010, 03:54:24 PM

          อุบายอย่างหนึ่งในการเพียรภาวนาในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นอุปการะแก่การทำกรรมฐาน

          สำหรับผู้มีกิจหน้าที่ในทางโลก ที่จะต้องกระทำในระหว่างวัน หากปล่อยให้จิตใจมีกังวล หรือฟุ้งซ่านมากเกินไป ก็จะเป็นอุปสรรคแก่การทำกรรมฐานอย่างเป็นกิจลักษณะได้ ทำให้กระวนกระวาย อึดอัด ฟุ้งซ่าน ง่วง ซึม ฯลฯ ได้ง่าย อาจเป็นเหตุให้หลายคนท้อแท้ หรือเห็นว่า เป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับตน ที่จะทำสมถะ และวิปัสสนากรรมฐานอย่างเป็นกิจลักษณะได้ หรือเห็นว่าไม่เหมาะกับตน เพราะไม่เป็นผล เพราะเข้าไม่ถึงผลตามลำดับ ก็เป็นเหตุให้บุคคลบางพวก เลิกปฏิบัติ หรือไม่ก็พยายามหาทางลัดที่ง่ายกว่า แต่กลับเป็นเหตุให้หลงไปตามคำสอนที่ไม่บริสุทธิ์ของคนบางพวก ดังนั้น อุบายในการประคองสติ สมาธิ หรือจิตใจของตนในระหว่างกระทำกิจหน้าที่ในทางโลกในช่วงระหว่างวัน จึงมีความสำคัญ หากเพียรพออย่างถูกต้อง ก็จะเป็นอุปการะแก่การทำกรรมฐานอย่างเป็นกิจลักษณะได้มาก

          อุบายที่จะแสดงในที่นี้ก็คือ การพยายามตั้งสติ มีจิตใจที่จดจ่อ พิจารณาในหน้าที่การงานที่กระทำอยู่ในขณะนั้น ด้วยความเพลิดเพลิน ยินดี และปลอดโปร่งอยู่ ในหน้าที่การงานนั้นๆ เช่นว่า กวาดบ้าน ล้างจาน อ่านเอกสาร พิมพ์งาน ฯลฯ ก็ให้ตั้งสติจดจ่อ รู้หน้าที่ที่ตนกำลังกระทำอยู่นั้น มีความสังเกตพิจารณาอยู่เนืองๆว่ากำลังทำอยู่ด้วยอาการทางกายอย่างไร ทางวาจาอย่าง และด้วยอารมณ์ความรู้สึกทางใจอย่างไรอยู่ในขณะนั้นๆ และอาการต่างๆเหล่านั้นมีประการใดบ้าง ที่เป็นอุปสรรค หรือที่เป็นอุปการะ แก่หน้าที่ที่ตนกำลังกระทำอยู่นั้น อย่างไรบ้าง ด้วยความเพลิดเพลิน แต่ไม่ฟุ้งซ่าน(ไปในสิ่งที่ไม่เป็นอุปการะแก่หน้าที่ที่ตนกำลังกระทำอยู่นั้น) ที่กล่าวว่า เพลิดเพลิน นั้น ไม่ใช่ว่าเพลิดเพลินอย่างมัวเมา หรือลุ่มหลง หรือหมกมุ่นเป็นอารมณ์ แต่ให้เพลิดเพลินด้วยความพอใจในการกระทำการงานนั้น ด้วยความปลอดโปร่ง เย็นใจ มีความพอใจที่จะรู้หน้าที่ของตนเป็นอย่างดี ส่วนหน้าที่ที่ต้องทำอย่างรีบเร่ง หรือรวดเร็วนั้น ให้ทำด้วยความเป็นสมาธิ กล่าวคือ ไม่วอกแวกสัดส่ายฟุ้งซ่าน หรือวิตกกังวลไปในเรื่องอื่น และไม่กระทำไปด้วยความกลัวว่าจะเสร็จไม่ทัน เมื่ออย่างนี้แล้ว ก็จะสามารถทำการงานให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็วตามสมควร ไม่ใช่รวดเร็วแบบลวกๆ ขาดสติ ผิดพลาดมาก หรือผิดพลาดแล้วก็ไม่รู้ตัว อย่างนี้กลับไม่ดี ฯลฯ แม้เมื่อกำลังพักจากหน้าที่การงานนั้นอยู่ก็ตาม ก็ด้วยหลักการเดียวกัน

          ควรสังเกตว่า หากกระทำตามอุบายนี้ได้อย่างถูกต้อง และมากพอ ก็จะทำให้มีปีติสุข ในขณะที่กำลังตั้งใจทำหน้าที่การงานนั้นๆอยู่ แต่หากทำแล้วยิ่งเครียด ยิ่งกังวล ยิ่งหงุดหงิด หรือยิ่งฟุ้งซ่าน แสดงว่ายังกระทำไม่ถูกต้อง ให้ตั้งสติ และลองเริ่มต้นใหม่ เมื่อทำได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็ควรเพียรทำให้ชำนาญ ต้องใช้เวลา ช่วงแรกๆอาจเผลอบ่อย แต่หากเพียรตั้งจิตระลึกไปเรื่อยๆ ไม่เกียจคร้าน และไม่ท้อถอย ก็จะค่อยๆเป็นความเคยชิน เป็นนิสัย ไปได้เอง ต่อๆไปก็จะยิ่งประคองรักษาไว้ได้ง่ายยิ่งๆขึ้นไป จิตใจก็จะเป็นกุศล คือ มีปีติสุขได้ง่าย ได้เรื่อยๆ เสมอๆ

          อย่างไรก็ดี การที่จะกระทำสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยสติปัฏฐาน ให้บรรลุผลได้เป็นอย่างดีตามลำดับ อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ใช่สักแต่ว่าได้ทำเฉยๆ ก็ควรที่จะต้องกระทำอย่างเป็นกิจลักษณะ เป็นสัปปายะ กล่าวคือ ไม่ถูกรบกวน หรือบั่นทอน ด้วยกิจหน้าที่อย่างอื่นในโลก เพราะการที่จะเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน ไม่เคยประสบมาก่อน ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งนั้น พละ หรืออินทรีย์ทั้ง ๕ ประการ ควรที่จะต้องมีความบริบูรณ์มากพอ ทั้ง ๕ ประการ ไม่ใช่อย่างละเล็กละน้อย ได้แก่ ศรัทธา ปัญญา ความเพียร สติ และสมาธิ เพราะทั้ง ๕ ประการนี้ ได้ชื่อว่า กุศลธรรม เป็นเหตุให้มีความยินดี พอใจ สุขใจ ในการปฏิบัติธรรม ในการที่จะบรรลุธรรมอันเป็นกุศลยิ่งๆขึ้นไปนั้น ควรที่จะต้องมีกุศลธรรมที่มากพอ มีกำลังพอ มั่นคงพอ ที่จะเป็นอุปการะ เป็นสัปปายะ เป็นบาทฐาน เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ ในการกระทำหน้าที่การงานทางจิตใจ หรือในทางธรรม ได้เป็นอย่างดี อุปมาว่า หากชาวเมืองเพาะปลูกทำไร่ทำนาอยู่ในเมืองที่การป้องกัน ค่าย คู ประตูเมือง และทหารรักษาเมือง ไม่แน่นหนา หรือมีสภาพง่อนแง่น เสี่ยงต่อโทษภัยอันตราย ในขณะที่ข้าศึกกำลังล้อมตีเมืองอยู่ ย่อมเป็นการยากที่ชาวบ้านเหล่านั้นจะทำไร่ทำนาได้เป็นผลอย่างเต็มที่ เพราะทำหน้าที่การงานนั้นอยู่ด้วยความหวาดกลัว ขาดเขลา ถูกบีบคั้นอยู่เนืองๆ ย่อมถึงความอุดมสมบูรณ์ได้ยาก การเจริญสติภาวนาจิตใจนั้น ก็เช่นกัน หากกุศลธรรมไม่เพียงพอ ย่อมยากจะภาวนาจิตไปด้วยความวางใจได้เป็นอย่างดี

          และถึงแม้ว่า จะรู้ถ้อยคำที่กล่าวมาเหล่านี้แล้วก็ตาม บุคคลจำนวนมาก ก็ยังจำแนกกุศล และอกุศล ด้วยความคิด ความเข้าใจ ที่ได้จำมาจากการอ่าน และการฟังเท่านั้น ทั้งๆที่กุศล และอกุศลธรรมทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอารมณ์ทางใจทั้งสิ้น และเมื่อจำแนกกุศล และอกุศล ด้วยความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องดังนี้แล้ว ก็เป็นเหตุให้หลงจำแนกผิดบ้าง สับสนบ้าง จนเป็นเหตุให้สุดโต่งไปในทิฏิต่างๆมากมาย เรื่องบางประการก็กลายเป็นเรื่องก้ำกึ่งไป ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรือจะเป็นกลางๆ(ไม่กุศล และไม่อกุศล) ทั้งๆที่จริงแล้ว หากจำแนกด้วยวิธีที่ถูกต้องแล้ว เรื่องเหล่านั้น ไม่ได้ก้ำกึ่งเลย ฯลฯ

          สุดท้ายนี้ สำหรับผู้ที่ตั้งใจว่าจะลองเพียรทำตามกุศโลบายตามที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น ขอให้หมั่นระลึกในใจอยู่เสมอๆว่า ปีติ และสุข อันเป็นกุศลนั้น ย่อมเกิดแก่ตนได้ ด้วยอาศัยความเพียรยิ่งอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ด้วยเพียงแค่ความอยากได้สุขเท่านั้น และ ความคิดว่าตนชำนาญแล้ว นั้น ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญ แก่ผู้ที่ยังกระทำความเพียรอันควรอยู่