กระดานธรรมะ

กระดานสนทนาธรรม => ชี้แจงข้อธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: zen ที่ พฤศจิกายน 10, 2008, 02:26:37 AM



หัวข้อ: จำแนกสมถะ และวิปัสสนา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ พฤศจิกายน 10, 2008, 02:26:37 AM

          พระนิพพานธรรม เป็นธรรมหลุดพ้น สงบ ระงับ เป็นธรรมสำรวม ไม่ยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิอันสุดโต่งในโลก

          บุคคลมากมาย พยายามจำแนก หรือให้คำอธิบาย เพื่อแยกสมถะ และวิปัสสนา ออกจากกัน อันเป็นเหตุให้คลาดเคลื่อนจากสัจจะแห่งธรรมทั้งสองนี้ไป

          หากกล่าวว่า ธรรมทั้งสองนี้ เป็นธรรมต่างกันสองประการ ก็ถูก ในบางคราว พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า สมถะ ย่อมเป็นไปเพื่อความ สงบ วิปัสสนา ย่อมเป็นไปเพื่อ ปัญญา คนบางพวก สุดโต่งไปในความสงบ ว่าน่ายินดี เป็นสุข อย่างนี้ก็มีเหตุอันควร คนบางพวก สุดโต่งไปในปัญญาความรู้ ว่าประเสริฐกว่า มีปัญญามากกว่า อย่างนี้ก็มีเหตุอ้นควร เช่นกัน แต่ก็มิใช่เจตนาแท้จริงของพระพุทธองค์ ผู้ตรัสสอนความไม่สุดโต่ง

          หากกล่าวว่า ธรรมทั้งสองนี้ เนื่องกันอย่างยิ่ง เป็นธรรมประกอบเข้าด้วยกัน อาศัยกัน ก็มีเหตุที่จะกล่าวเช่นนี้ได้ เช่นกัน เช่นในบางคราว พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนโดยสาระว่า เมื่อจิตสัดส่ายฟุ้งซ่านอยู่ ย่อมเป็นเวลาแห่งสมถะ (หมายถึง ถ้ายังฟุ้งซ่านอยู่ ควรเจริญสมถะ) อานิสงค์ หรืออำนาจแห่งสมถะ ย่อมทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่าน กล่าวคือ เป็นการทำจิตให้ตั้งมั่น ไม่สัดส่าย ฯลฯ พ้นไปจากความครอบงำ หรือความสั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลส ตัณหา นิวรณ์ ทั้งหลายนั่นเอง และ เมื่อจิตมีความตั้งมั่น ไม่สัดส่ายฟุ้งซ่านดีแล้ว พระพุทธองค์ทรงตรัสโดยสาระว่า นั่นย่อมเป็นเวลาแห่งวิปัสสนา เมื่อพิจารณาตามนี้แล้ว ผู้แยบคาย ไม่สุดโต่งจนเกินไป ย่อมพิจารณาถึงความประกอบเข้าด้วยกันของธรรมทั้งสองนี้ คือ สมถะ และวิปัสสนา อันเป็นธรรมซึ่งมีหน้าที่ต่างกันสองประการ แต่เป็นไปเพื่อความบรรลุกิจเดียวกัน คือความบรรลุวิเศษ อันไม่กำเริบ นั่นเอง

          สมถะ อย่างที่พระพุทธองค์สอน ย่อมเป็นธรรมเพื่อเข้าถึงความสงบ อันเป็นไปเพื่อพัฒนาปัญญาให้ยิ่งๆขึ้นไป จนถึงความแทงตลอดในสัจจะ ไม่ใช่เพื่อความยึดมั่นถือมั่นในความสงบ

          วิปัสสนา อย่างที่พระพุทธองค์สอน ย่อมเป็นธรรมเพื่อเข้าถึงปัญญา อันเป็นไปเพื่อความสงบระงับอันยิ่งๆขึ้นไป จนถึงความสงบไม่กำเริบ ไม่ใช่เพื่อความยึดมั่นถือมั่นในปัญญาความรู้ที่ตนประสบ

          อนึ่ง สมถะธรรม ไม่ใช่ความสงบ แต่ผู้เจริญสมถะย่อมบรรลุถึงความสงบ และ วิปัสสนาธรรม ไม่ใช่ปัญญา แต่ผู้เจริญวิปัสสนา ย่อมบรรลุถึงปัญญา

          บุคคลโดยมาก ยังจำแนกความแตกต่างของสมถะ และสมาธิ ไม่ถูกต้อง แม้กระทั่งความหมายของคำว่า สมาธิ ตามที่พระพุทธองค์ทรงเจตนาถึง ก็ยังเข้าใจไม่ถูก เช่นว่า ตามหลักฐานจากพระวินัยปิฏก พระพุทธเจ้าทรงตรัสคำว่า สมาธิ หมายถึง สุญญตะสมาธิ ๑ อนิมิตตะสมาธิ ๑ และ อัปณิหิตตะสมาธิ ๑ ทรงตรัสถึงเพียงสมาธิสามอย่างนี้ เท่านั้น มิได้ทรงตรัสจำแนกเป็นสี่ หรือแปด ตามการจำแนกฌาน(ได้แก่ รูปฌานสี่ และอรูปฌานสี่ รวมกันเป็นแปด) ก็จริงอยู่ว่า ผู้ประกอบอยู่ในฌาน ย่อมมีสมาธิอยู่(ฌาน เป็นผลจากสมาธิภาวนา) เพียงแต่ สมาธิ ที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้น เป็นสมาธิแบบใด ผู้ที่ประสบแก่ตนแล้ว จึงจะเป็นผู้กำหนดรู้ได้อย่างถูกต้อง(บางครั้งท่านจำแนกชนิดของสมาธิภาวนา ตามผลของสมาธิภาวนานั้นๆ เช่นบางครั้ง ทรงจำแนกสมาธิภาวนาเป็น ๔ ประเภทว่า เป็นไปเพื่อสุขในปัจจุบัน คือ ฌานสี่ ๑ เป็นไปเพื่อญาณทัศนะ คือ นมสิการอาโลกสัญญา ๑ เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ คือ รู้แจ้งเวทนา สัญญา และวิตก ที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ และที่ดับไป ๑ เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ คือ การพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไป ของอุปทานขันธ์ทั้งห้า ๑ เป็นต้น) ดังนั้น สมถะ ๑ สมาธิ ๑ และฌาน ๑ ไม่ใช่ธรรมประการเดียวที่มีสามชื่อ แต่เป็นธรรมที่แสดงนัยยะต่างกัน ๓ ประการ สมถะ ได้ชื่อว่า เป็นธรรมไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ทะยาน ไม่กระวนกระวาย สมาธิ ได้ชื่อว่า เป็นธรรมมีกิจเดียว ฌาน ได้ชื่อว่า เป็นธรรมอันเป็นเครื่องเพ่ง ด้วยเหตุนี้ ธรรมทั้งสามประการนี้ จึงเป็นธรรมที่ประกอบลงไปพร้อมกันกับธรรมอันได้ชื่อว่า วิปัสสนา ได้

          อนึ่ง คนบางพวกในโลก ลงความเห็นสุดโต่งว่า ความเพ่งเล็งในสิ่งใดๆ ย่อมไม่ดี เสมอไป แต่เรากล่าวว่า บุคคลเข้าถึงปัญญาได้ ย่อมอาศัยประกอบด้วยการเพ่งเล็ง จิตที่ปราศจากการเพ่งเล็งแล้ว ย่อมมิได้พิจารณาสิ่งใดอยู่เลย ดังนี้แล้ว ผู้เจริญปัญญาจนบริบูรณ์แล้ว เป็นผู้อาสวะสิ้นแล้ว ย่อมมิต้องเพ่งเล็งสิ่งใดในโลกเพื่อตน แต่คนโดยมากในโลกนี้ ยังไม่เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ยังมิใช่ผู้ประกอบปัญญาบริบูรณ์แล้ว ย่อมอาศัยการพิจารณาเพ่งเล็งในธรรมต่างๆ เพื่อทำความสงบที่ยังไม่บังเกิด ให้บังเกิดแก่ตน เพื่อทำปัญญาที่ยังไม่บังเกิด ให้บังเกิดแก่ตน เพื่อทำสมถะ และวิปัสสนาให้บริบูรณ์ เพื่อทำอาสวะที่ยังหลงเหลืออยู่ ให้สิ้นไป ฯลฯ

          เท่าที่ผ่านมา ก็จะได้อ่าน ได้ฟัง เป็นอันมาก ว่า การทำสมถะ เหมาะแก่ผู้มีจริตไปในทางเพ่ง และ การทำวิปัสสนา เหมาะแก่ผู้เด่นไปในทางปัญญา เหล่านี้ เป็นความเห็นสุดโต่ง เป็นความรู้แบบโลกๆ ไม่พ้นการคาดเดา ไม่ใช่การรู้แจ้ง แต่เป็นเพียงการรู้ตามๆกันมา สาวกในชั้นหลัง มีการบัญญัติคำว่า สมถะยานิก และวิปัสสนายานิก อันมีนิยามที่เข้าใจกันทั่วไปว่า สมถะยานิก คือ ผู้ไม่เด่นปัญญา ต้องอาศัยการเพ่ง ต้องอาศัยการข่ม เพื่อให้จิตใจสงบ แล้วค่อยพิจารณาธรรมตามความเป็นจริงในภายหลัง(แต่ต้องเลิกข่มก่อน จึงจะวิปัสสนาได้) ส่วนวิปัสสนายานิก เข้าใจกันว่า คือผู้มีปัญญาเด่น เจริญปัญญาไปได้เลย ไม่ต้องอาศัยสมาธิมาก ไม่ต้องอาศัยฌาน ไม่ต้องอาศัยความเป็นสมถะ ซึ่งคำเรียกทั้งสองนี้ ไม่ปรากฏในพระไตรปิฏก จะมีก็เพียงคำตรัสของพระพุทธองค์ ซึ่งได้จำแนกบุคคลตามจริต หรืออัธยาสัยว่า คนบางพวก ย่อมเจริญสมถะนำวิปัสสนา คนบางพวกย่อมเจริญวิปัสสนานำสมถะ คนบางพวก ย่อมเจริญสมถะ และวิปัสสนา คู่กันไป แต่ไม่ทรงตรัสถึงการเจริญสมถะอย่างเดียว และไม่ทรงตรัสถึงการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ซึ่งหากพิจารณาให้แยกคาย อาจเห็นได้ว่า หากคำนิยามของคำว่า สมถะยานิก และวิปัสสนายานิก เป็นจริงดังความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจอย่างนั้นแล้ว ผู้เจริญสมถะ และวิปัสสนา ควบคู่ หรือเคียงคู่เสมอกันไป ย่อมเป็นสิ่งไม่อาจมีจริงได้ แท้จริงแล้ว ผู้ที่ปล่อยวางธรรมให้ล่วงพ้นไปได้โดยไม่เหลียวหลัง เป็นผู้ข่มธรรมลงได้โดยไม่ต้องอาศัยการตรึก ย่อมเจริญสมถะนำวิปัสสนาได้ ผู้ที่ต้องอาศัยการตรึก แล้วจึงสามารถปล่อยวางธรรมให้ล่วงพ้นไปได้โดยไม่เหลียวหลัง เป็นผู้อาศัยการตรึกแล้ว จึงข่มธรรมลงได้ พึงเจริญวิปัสสนานำสมถะได้ ส่วนผู้ที่อาศัยการตรึกในธรรมใด ก็ข่มธรรมนั้นลงได้ ปล่อยวางได้ ไม่อาศัยการตรึกในธรรมใด ก็ข่มธรรมนั้นลงได้ ย่อมเป็นผู้เจริญสมถะ และวิปัสสนาเคียงคู่เสมอกันไปได้ อย่างไรก็ดี ทั้งสามประเภทนี้ ก็เป็นเพียงการจำแนกโดยรวมๆ โดยคร่าวๆให้ครอบคลุมเท่านั้น บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเจริญสมถะนำวิปัสสนาเสมอไป ไม่จำเป็นต้องเจริญวิปัสสนานำสมถะเสมอไป ไม่จำเป็นต้องเจริญสมถะ และวิปัสสนาเสมอกันตลอดไป

          อีกประการหนึ่ง คนสุดโต่งบางพวก มีความพอใจในสมาธิแล้ว กล่าวตำหนิคนพวกอื่นว่า ติดวิปัสสนึก คนสุดโต่งบางพวก มีความพอใจในการตรึก ที่พวกเขาสำคัญว่า คือ ปัญญา แล้วกล่าวตำหนิคนพวกอื่นว่า ติดสมถะ แท้จริงแล้ว คนบางพวก สุดโต่งไปในความคิด คนบางพวก สุดโต่งไปในสภาพของสิ่งต่างๆที่เป็นไป ไม่ใช่การติดสมถะ และมิใช่การติดวิปัสสนา ดังนั้น ผู้มีความเห็นเป็นที่สุดว่า สมถะ เป็นสิ่งที่ลุ่มหลงยึดติดได้ ผู้นั้น ไม่รู้จักสมถะ เป็นผู้สุดโต่งไปในความคิด ความตรึก ผู้มีความเห็นเป็นที่สุดว่า วิปัสสนา เป็นสิ่งหลงได้ เช่น วิปัสสนูปกิเลส แท้ที่จริงแล้ว หมายถึง กิเลสอย่างประณีต หรือการยึดมั่นถือมั่นสุดโต่งในสภาพอันประณีต หรือการยึดมั่นถือมั่นโต่งในความสุขอันประณีต ไม่ได้หมายถึงกิเลสที่เกิดเพราะติดการวิปัสสนา และคำว่า “วิปัสสนูปกิเลส” ไม่มีในคำตรัสของพระพุทธเจ้า เป็นเป็นศัพท์ที่บัญญัติภายหลัง กำกับเข้าในพระไตรปิฏก ดังนั้น คำว่า ติดสมถะ และคำว่า ติดวิปัสสนา ไม่มีในพระพุทธวจนะ(กล่าวคือ พระพุทธองค์ไม่ได้กล่าวคำนี้ไว้) ดังนั้น ผู้เข้าถึงสมถะแล้ว จะหลงผิดว่าทำวิปัสสนาอยู่ ไม่มี จะมีก็แต่ผู้ที่เข้าถึงสมถะแล้ว ย่อมมีจิตน้อมเอียงไปในการพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญาเข้าใจในสภาพที่ตนประสบ แต่ผู้ติดอยู่ในความสุขอันเกิดจากฌาน มีได้ และผู้ที่เจริญวิปัสสนา จนเกิดปัญญาตัดกิเลส หรืออุปกิเลสอย่างหยาบ และอย่างกลางได้ แต่ยังติดอยู่ในอุปกิเลสอย่างประณีต นั้น มีได้

          พระสาวกในชั้นหลัง บางท่าน เปรียบเปรยว่า สมถะ และวิปัสสนา เปรียบเสมือนไม้ท่อนเดียว มีสองปลาย ข้อนี้ เราไม่หักล้าง และไม่เห็นดีด้วย แต่กล่าวโดยนัยยะหนึ่งว่า สมถะ คือ รู้สภาพ และองค์ประกอบ ของท่อนไม้นี้ ส่วนวิปัสสนา คือ กำหนดได้ว่า สภาพที่รู้นี้ ชื่อว่า ท่อนไม้ และกำหนดรู้ว่า เพราะองค์ประกอบเหล่านี้ ประกอบเข้าด้วยกันอย่างนี้ จึงปรากฏสภาพอันได้ชื่อว่า ท่อนไม้ ไม่ใช่รู้ปลายข้างใดข้างหนึ่ง ดังนี้ สมถะ และวิปัสสนา จึงเป็นธรรมที่เจริญควบคู่เสมอกันไปได้ อนึ่ง บุคคลเห็นสภาพเดียวกัน แต่กำหนดเหตุ หรือทำความเข้าใจได้ ไม่เท่ากัน มีได้ ดังนั้น คนบางพวก เมื่อเห็นธรรมอันเป็นปฐมมูลแล้ว แทงตลอดในธรรมได้ไม่เท่ากันในจิตเดียว บ้างบรรลุโสดาบันได้ในจิตเดียว บ้างบรรลุโสดาบัน และสกิฏทาคามีได้ในจิตเดียว บ้างบรรลุถึงอนาคามีได้ในจิตเดียว บ้างบรรลุถึงพระอรหันต์ได้ในจิตเดียว แล้วแต่ปฏิภาณ จริต วาสนา บารมี ฯลฯ ของแต่ละบุคคล

          ถึงแม้ศรัทธา จะมิใช่ของเล็กน้อย แต่ ผู้แทงตลอดในธรรมอันเป็นสัจจะได้ ย่อมเป็นผู้กระทำธรรมอันเป็นสัจจะให้ปรากฏแก่ตนก่อน ไม่ใช่เป็นเพราะรู้ตามคำบอกเล่า หรือความเชื่อถือ อันสืบต่อกันมา หรือเพียงเพราะคำรับรองจากผู้อื่นเลย

          บุคคลผู้ยังสุดโต่งอยู่ในสภาพอันน่ายินดี เช่น ความสุขจากความสงบ ที่ตนบรรลุ ที่ตนเป็นว่าน่ายินดี ย่อมยังไม่หลุดพ้นไปจากความเวียนว่ายตายเกิด แต่นี่มิใช่ความเป็นสมถะ แท้จริงแล้ว บุคคลเช่นนี้ ยังเจริญสมถะไม่บริบูรณ์ เพราะผู้เจริญสมถะบริบูรณ์แล้ว ย่อมไม่สุดโต่งไปในสภาพที่เป็น บุคคลผู้ยังสุดโต่งอยู่ีในความรู้ ในปัญญา ที่ตนบรรลุ ที่ตนเห็นว่าน่ายินดี ย่อมยังไม่หลุดพ้นไปจากความเวียนว่ายตายเกิด แต่นี่มิใช่วิปัสสนา แท้จริงแล้ว บุคคลเช่นนี้ ยังเจริญวิปัสสนาไม่บริบูรณ์ เพราะผู้เจริญวิปัสสนาบริบูรณ์แล้ว ย่อมไม่สุดโต่งไปในปัญญา หรือความรู้ ที่ตนได้เคยตรึกมา

          สมถะ คือ รู้ ตามสภาพ ย่อมไม่ฟุ้งซ่าน จึงข่มกิเลสได้ วิปัสสนา คือ รู้ชื่อ รู้ความหมาย รู้ความเป็นเหตุเป็นผล ด้วยอรรถะว่า วิปัสสนา คือ การพิจารณารู้ ย่อมเกิดปัญญา จึงข่มโมหะได้

          สมถะ คือ ละในสิ่งที่รู้ ย่อมละตัณหา และกามาสวะ เพื่อความไม่ยึดติด วิปัสสนา คือ รู้ในสิ่งที่ละ ย่อมละตัณหา และอวิชชา เพื่อความไม่กำเริบซ้ำด้วยเหตุเดิมอีก

          บุคคลทั้งหลาย ควรเจริญสมถะ และวิปัสสนา ให้บริบูรณ์





หัวข้อ: สมถะ และวิปัสสนา นาม และ รูป
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กุมภาพันธ์ 17, 2009, 12:10:11 PM

          นาม ย่อมอาศัย รูป เกิด
          รูป ย่อมอาศัย นาม เกิด
          หากปราศจาก นาม รูป ย่อมไม่เกิด
          หากปราศจาก รูป นาม ย่อมไม่เกิด
          ดังนั้น ในพระธรรมเทศนาเรื่องปฏิจจสมุปบาท พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติคำว่า นาม และรูป ไว้คู่กัน เพราะเป็นสิ่งอาศัยร่วมกันเกิด

          ที่ผ่านมา ก็ได้เห็นคนบางพวก พยายามอธิบายจำแนกว่า สมถะยานิก หรือผู้ที่เจริญสมถะ ก็คือ ผู้ที่ศึกษาจิต ด้วยการพิจารณาตามรู้รูปธรรม ได้แก่ การพิจารณากาย หรือการเจริญกายานุปัสสนา ส่วนวิปัสสนายานิก หรือผู้ที่เจริญวิปัสสนา ก็คือ ผู้ที่ศึกษาจิต ด้วยการพิจารณาตามรู้นามธรรม ได้แก่ การพิจารณาเวทนา การพิจารณาจิต หรือการพิจารณาธรรม ก็หมายความถึง เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธรรมานุปัสสนา นั่นเอง เพราะหมายมั่นว่า กาย เป็นรูปอย่างเดียว และเพราะหมายมั่นว่า เวทนา จิต และธรรม เป็นนามอย่างเดียว เมื่อจำแนกเช่นนั้นแล้ว ก็ย่อมเข้าใจคลาดเคลื่อนไปทั้งส่วนของสมถะ และส่วนของวิปัสสนา

          โดยแท้จริงแล้ว ทั้งส่วนของกาย เวทนา จิต และธรรม ตามเจตนาของมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ล้วนและประกอบอยู่ด้วยส่วนของรูป คือ สภาพ และ นาม คือ ชื่อ ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงมิได้จำแนกด้วยหลักการว่า การพิจารณากาย คือ สมถะ และการพิจารณาเวทนา จิต และธรรม คือ วิปัสสนาเลย

          สมถะ คือ ความรู้สภาพ
          วิปัสสนา คือ ความพิจารณาเห็นชื่อ หลักการ หรือความหมาย ของสภาพนั้น
          บุคคล เมื่อยังเข้าไม่ถึงสภาพของสิ่งใด ย่อมไม่อาจกำหนดพิจารณาชื่อ หลักการ หรือความหมายในสิ่งนั้นได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
          ดังนั้น เมื่อบุคคลจำแนกกีดกันสมถะ และวิปัสสนา แยกออกจากกัน ว่าเป็นของต่างหากกัน ก็ย่อมเข้าใจธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ผิดไป
          บุคคล เมื่อบรรลุสมถะในสิ่งใด หรือ ในธรรมใด ย่อมแทงตลอดในสภาพของสิ่งนั้น ธรรมนั้น
          บุคคล เมื่อบรรลุวิปัสสนาในสิ่งใด หรือ ในธรรมใด ย่อมแทงตลอดในชื่อของสิ่งนั้น ธรรมนั้น
          บุคคล เมื่อดับระงับความกำหนัดในสิ่งใดได้แล้ว แต่ไม่แทงตลอด ยังไม่พ้นไปจากอำนาจของชื่อ หรือความหมายในสิ่งนั้น ความกำหนัดในสิ่งนั้น ก็ย่อมอาจกำเริบได้อีก หรือ บุคคล เมื่อสำคัญตนว่า แทงตลอดในชื่อ หรือความหมายของสิ่งใดได้แล้ว แต่กลับยังดับระงับความกำหนัดในสิ่งนั้นไม่ได้ อย่างนี้ไม่เรียกว่า พ้นไปจากสิ่งนั้นเลย พระอรหันต์ จึงเป็นผู้บรรลุซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ ทั้งสองส่วน ไม่ใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น

          ดังนั้น บุคคล เมื่อปรารถนาที่จะแทงตลอด หลุดพ้นไปจากสภาพ และชื่อของธรรมใด ย่อมควรเจริญประกอบไปให้มากด้วยสมถะ และวิปัสสนา ทั้ง ๒ ส่วน ก็จะพึงหลุดพ้นไปจากธรรมทั้งสองส่วนคือ ตัณหา และโมหะได้ ในที่สุด