กระดานธรรมะ

กระดานสนทนาธรรม => ชี้แจงข้อธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: zen ที่ สิงหาคม 08, 2008, 04:34:58 PM



หัวข้อ: อริยะสัจ ๔ ที่สอนต่อกันมา
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 08, 2008, 04:34:58 PM
          อริยะสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค อันเข้าใจไปตามที่สอนต่อๆกันมานั้น ว่า ทุกข์ ควรกำหนดรู้(บางสำนักก็ว่า "ควรมีสติรู้" ซึ่งมิใช่คำตรัสของพระพุทธเจ้า) สมุทัย ควรละ นิโรธ ควรทำให้แจ้ง มรรค ควรเจริญ ฯลฯ ถึงกระนั้น คนส่วนใหญ่ ก็ยังกำหนดคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะพยายามตีความไปเพียงส่วนเดียว ตามคำนิยามที่บันทึกไว้ ว่า ทุกข์ คือ อย่างนั้น อย่างนี้ สมุทัย ..... นิโรธ ..... มรรค คือ อย่างนั้น อย่างนี้ มิได้ใส่ใจให้ทั่วถึง อย่างเช่นว่า ตามหลักฐานในพระไตรปิฏกนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอริยะสัจ ๔ เป็นครั้งแรก แก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ อันได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ( http://dhamma.living.in.th/webboard/index.php?topic=5.0 ) โดยก่อนที่จะกล่าวถึงความหมายของอริยสัจ ๔ นั้น ทรงได้ตรัสแสดงโวหารไว้ก่อนดังนี้ว่า

" ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน. "

แล้วจึงค่อยทรงแสดงธรรม คือ อริยะสัจ ๔
สังเกตว่า ท่านกล่าวเงื่อนไข คือ " ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง " แล้วจึงแสดงอริยะสัจ ๔ เพราะมิใช่ธรรมที่จะแทงตลอดได้ด้วยการฟัง หรือจำต่อๆกันมา แล้วนำมาพิจารณาขบคิดตีความไปตามตรรกะของคนทั่วไป นี่เอง ก็เป็นเหตุให้ชนรุ่นหลังตีความกันวุ่นวาย อาจารย์นั้น อาจารย์นี้ ต่างก็ประกาศอริยะสัจ ว่าเป็นอย่างนั้น ว่าเป็นอย่างนี้ เป็นของที่ใครๆก็รู้ ด้วยเหตุนี้เอง คนโดยมาก เมื่อขวนขวายไปตามนี้ ก็ไม่บรรลุ อย่างเช่นการสอนว่า ทุกข์ คือ ความเจ็บป่วย ความโศก ความพลัดพราก ความไม่สมหวัง ฯลฯ เป็นต้น ที่จริงเหล่านี้ ก็เป็นทุกข์ แต่เมื่อปุถุชนเข้าใจว่า เหล่านี้ คือ ทุกข์อริยะสัจจ์ ก็จะกำหนดรู้ผิด แต่ที่แสดงเช่นนี้ ก็เพื่อให้พอนำพาไปได้แก่ผู้ยังไม่เห็นธรรม แต่อย่างไรก็ดี หากผู้ใดที่สำคัญตนว่า เห็นธรรมอันเป็นโลกุตตระแล้ว บรรลุเป็นอริยะขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว แต่ยังมีความเห็นแก่ตนว่า โดยแท้จริงแล้ว ทุกข์อริยะสัจ คือสิ่งเหล่านี้ ย่อมหลงอยู่ ย่อมหลอกลวงตนเองอยู่ เมื่อออกเผยแพร่ คนโดยมากที่เชื่อตาม ก็จะกำหนดรู้ทุกข์อริยะสัจผิดตามไปด้วย

          หรือตัวอย่างบางที ก็พยายามสอนกันว่า พอรู้ทุกข์อริยะสัจได้แล้ว จึงเป็นเหตุให้ละสมุทัยอริยะสัจได้ (ทั้งๆที่พระพุทธองค์ไม่เคยสอนว่า เพราะรู้ทุกข์อริยะสัจ จึงเป็นเหตุให้ละสมุทัยเลย) อันเป็นความเห็นไม่แยบคาย แต่คนโดยมาก ขบคิดตาม ก็เห็นตามว่า น่าจะถูกต้อง เพราะสมเหตุผลตามตรรกะในโลกที่ตนรู้มา เมื่อเป็นเช่นนี้ คนเหล่านี้ก็ไม่อาจรู้ได้ว่า แท้จริงแล้ว อริยะสัจนี้ ถึงแม้มี ๔ ประการ แต่รู้ได้ เพราะอาศัยรู้เห็นในธรรมธรรมเดียว อาศัยรู้เห็นในธรรมมีสภาพเดียวเท่านั้น เพียงแต่ธรรมธรรมเดียวอันเป็นปฐมเหตุนี้ แสดง หรือเป็นเหตุให้พิจารณารู้ถึงสัจจะ ๔ ประการ ไม่ใช่ปรากฏทีละสิ่ง หรือทีละประการ ดังนั้น ผู้เห็นธรรมนี้แล้วน้อมพิจารณาไปด้วยปัญญาจึงรู้แจ้งในสัจจะทั้ง ๔ ประการนี้ จะมีได้ ผู้ยังไม่เคยเห็นธรรมนี้แล้วไม่รู้แจ้งในสัจจะทั้ง ๔ ประการนี้ จะมีได้ ผู้ยังไม่เคยเห็นธรรมนี้แล้วรู้แจ้งในสัจจะทั้ง ๔ ประการนี้ จะไม่มี ผู้ไม่เคยเห็นธรรมนี้แล้วรู้แจ้งเพียงข้อใดข้อหนึ่งในสัจจะ ๔ ประการนี้ จะไม่มี ผู้ได้เห็นธรรมนี้แล้วรู้แจ้ง แต่ไม่ครบทั้ง ๔ ประการนี้ จะไม่มี ดังนั้น จึงกล่าวว่า ผู้รู้แจ้งในอริยะสัจ ๔ ย่อมรู้ความเป็นอริยะ และ ผู้รู้แจ้งในอริยะสัจ ไม่ครบสี่ประการ ไม่มี

          ทุกข์อริยะสัจ เป็นสิ่งที่มีแก่ผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยะสัจ ก็จริงอยู่ แต่ปุถุชนจะกำหนดรู้ทุกข์อริยสัจอย่างที่เป็นจริงโดยยังไม่ประสบธรรมอันเป็นปฐมมูลมิได้ เพราะบุคคลจะพึงกำหนดรู้สภาพแท้ของทุกข์อริยะสัจได้ เมื่อละ หรือพ้นไปจากสมุทัยของทุกข์นั้นได้แล้ว เท่านั้น และเมื่อบุคคลรู้ชัดในทุกข์อริยะสัจ และสมุทัยอริยะสัจ นี้แล้วทั้งสองประการ บุคคลย่อมกำหนด หมาย ความแจ้งในนิโรธได้ แต่มิใช่ว่า นิโรธ มีภายหลัง หรือเกิดภายหลังทุกข์อริยะสัจ และสมุทัยอริยะสัจ ส่วนทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยะสัจ (อริยะมรรค) อันเป็นหนทางกระทำให้บริบูรณ์ในนิโรธ ก็ในทำนองเดียวกัน ฯลฯ

          อย่างไรก็ดี ทั้งหลายที่กล่าวมานี้ มิใช่เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถกำหนดอริยะสัจได้อย่างถูกต้องโดยอาศัยเพียงคำบอกเล่านี้เท่านั้น แต่ เพื่อให้ผู้ที่เห็นแล้วน้อมพิจารณา และเพื่อให้ผู้ที่ยังไม่เห็น ได้หลีกเลี่ยงการสุดโต่งไปในความเชื่อที่บอกเล่าต่อๆกันมา เพราะแม้กระทั่งว่าพยัญชนะอาจจะยังคงเดิม แต่ อรรถได้เปลี่ยนแปลงไป หรือเสื่อมลงแล้ว
 http://dhamma.living.in.th/webboard/index.php?topic=14.0 ( ดูข้อ ๕๓๔ )