หัวข้อ: พระศาสดาตรัสเหตุเสื่อมพระศาสนา เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กรกฎาคม 15, 2008, 01:31:46 AM พระสัทธรรมปฏิรูป แปลว่า “ สัทธรรมเทียม ” หรือ “ ธรรมปลอม ” (ความหมายตาม พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)) จะสังเกตว่า เว็บนี้ ถึงแม้จะแสดงว่า "ควรทำฌานให้เกิด แต่ไม่ควรหลงติดอยู่ในฌาน" แต่ข้อความมากมายในเว็บนี้ เน้นปรับความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับเรื่อง สมาธิ ฌาน และสมาบัติ ขอให้ทุกท่าน พิจารณาคำสอนของพระพุทธองค์ เกี่ยวกับเรื่องเหตุที่ทำให้พระศาสนาเสื่อม ดังพระสูตร จากพระไตรปิฏก ดังนี้ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๑๓. สัทธรรมปฏิรูปกสูตร [๕๓๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นพระมหากัสสปนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เมื่อก่อนสิกขาบทมีน้อย และภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผลมีมาก และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้บัดนี้ สิกขาบทมีมาก และภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผลมีน้อย ฯ [๕๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป ข้อนั้นเป็นอย่างนี้คือ เมื่อหมู่สัตว์เลวลง พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป สิกขาบทจึงมีมากขึ้น ภิกษุที่ตั้งอยู่ในพระอรหัตผลจึงน้อยเข้า สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป และสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้นในโลก ตราบใด ตราบนั้นทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป และเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น ทองคำธรรมชาติจึงหายไป ฉันใด พระสัทธรรมก็ฉันนั้น สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลก ตราบใด ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป เมื่อสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป ฯ [๕๓๓] ดูกรกัสสป ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป เปรียบเหมือนเรือจะอัปปาง ก็เพราะต้นหนเท่านั้น พระสัทธรรมยังไม่เลือนหายไปด้วยประการฉะนี้ ฯ [๕๓๔] ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑ เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ [๕๓๕] ดูกรกัสสป เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑ เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือนไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ จบสูตรที่ ๑๓ จบกัสสปสังยุตต์ที่ ๔ ------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ ๑. โมฆบุรุษ หมายถึง บุรุษเปล่า, คนเปล่า, คนที่ใช้การไม่ได้, คนโง่เขลา, คนที่พลาดจากประโยชน์อันพึงได้พึงถึง ๒. สงฆ์ หมายถึง หมู่, ชุมนุม 1. หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า เรียกว่า สาวกสงฆ์ ดังคำสวดในสังฆคุณ ประกอบด้วยคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ เริ่มแต่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จนถึงพระอรหันต์ ต่างจาก ภิกขุสงฆ์ คือ หมู่แห่งภิกษุหรือชุมนุมภิกษุ (ดูความหมาย ๒), ต่อมา บางทีเรียกอย่างแรกว่า อริยสงฆ์ อย่างหลังว่า สมมติสงฆ์ 2. ชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย ต่างโดยเป็นสงฆ์จตุรวรรคบ้าง ปัญจวรรคบ้าง ทศวรรคบ้าง วีสติวรรคบ้าง (ความหมายตาม พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)) หัวข้อ: สัทธรรมปฏิรูป คืออะไรครับ เริ่มหัวข้อโดย: gig ที่ มกราคม 30, 2009, 04:54:42 AM สัทธรรมปฏิรูป คืออะไรครับ เพราะคำว่า ปฏิรูป ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า
(คำวิเศษณ์) สมควร เหมาะสม (คำกริยา) ปรับปรุงให้สมควร ความหมายดูจะดีนะครับ จึงอยากทราบความหมายที่แท้จริงของ สัทธรรมปฏิรูป ครับ และอยากให้ยกตัวอย่าสักนิดครับ และไม่ทราบว่าในปัจจุบันนี้มี สัทธรรมปฏิรูป เกิดขึ้นบ้างแล้วหรือยังครับ หากพบเจอจะได้ช่วยกันปรับแก้ไขให้ถูกต้องครับ หัวข้อ: ตอบ สัทธรรมปฏิรูป คืออะไร? เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 30, 2009, 05:10:08 PM พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปฏิรูป สมควร, เหมาะสม, ปรับปรุงให้สมควร; ถ้าอยู่ท้ายในคำสมาสแปลว่า “เทียม” “ปลอม” “ไม่แท้” เช่น สัทธรรมปฏิรูป แปลว่า “สัทธรรมเทียม” หรือ “ธรรมปลอม” อธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า "สัทธรรม" แปลความหมายอย่างหนึ่งได้ว่า คือ ธรรม หรือ ความเป็นจริง อันเที่ยงแท้ ที่ว่าเที่ยงแท้นี้ ก็หมายความว่า ไม่แปรผัน และเมื่อไม่แปรผันย่อมเป็นธรรมบริสุทธิ์ อนึ่ง วิธีการที่จะแนะนำ หรือชี้ทางให้แก่บุคคล เพื่อบรรลุ หรือรู้แจ้งในสัทธรรมที่ยังไม่เป็นฐานะของบุคคลนั้นๆได้ เรียกว่า อุบาย เช่นว่า วิธีการที่จะสั่งสอน หรือแนะนำ เพื่อให้ปุถุชนรู้แจ้งพระนิพพานธรรม อันเป็นธรรมที่ยังไม่เป็นฐานะอยู่แก่ปุถุชนนั้น เรียกว่าเป็นอุบาย แต่หากพระอรหันต์กล่าวพระนิพพานธรรมแก่พระอรหันต์ด้วยกัน ผู้ซึ่่งรู้แจ้งพระนิพพานแล้ว คำกล่าวนั้น ย่อมมิใช่อุบาย แต่เป็นการกล่าวเป็นความหมายโดยตรง ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้น อุบาย เป็นสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม ให้สอดคล้องกับเหตุปัจจัยแห่งการใดการหนึ่งได้ ตามฐานะ หรือตามสภาพ ของบุคคล ในกาลนั้น แต่ พระสัทธรรม เป็นหลักการ หรือความเป็นจริง ที่ไม่แปรผันไปตามบุคคล หรือกาลเวลา การที่สาวกผู้ใฝ่ธรรมจะพลิกแพลง หรือปรับปรุง หรือบัญญัติโวหารใหม่ๆขึ้นมา เพื่อเป็นอุบาย เป็นเครื่องเข้าถึง เป็นเครื่องให้เข้าใจยิ่งในพระสัทธรรมที่องค์พระศาสดาท่านได้บัญญัติไว้ดีแล้ว ยังไม่ใช่ สัทธรรมปฏิรูป แต่ การที่สาวกจะพลิกแพลง หรือปรับปรุง หรือบัญญัติโวหารใหม่ๆขึ้นมา หรือแม้กระทั่งว่า จะกล่าวโดยโวหารเดิมที่พระศาสดาได้บัญญัติไว้แล้วก็ตาม แล้วเป็นเหตุให้บิดเบือน หมิ่น ไม่เคารพ หักล้าง หรือเข้าใจผิด ในเจตนา ในอรรถะ หรือในแก่นของพระสัทธรรม ที่องค์พระศาสดาได้บัญญัติไว้ดีแล้ว ก็กล่าวได้ว่า เป็น สัทธรรมปฏิรูป ทั้งสิ้น ซึ่งมักเกิดกับผู้มีเจตนาทำลายพระศาสนา หรือกับผู้มีศรัทธาในพระศาสนาแต่ไม่บรรลุธรรมแล้วพยายามอธิบายแก่ผู้อื่นว่าตนรู้จริง บรรลุแล้วจริง หรือกับผู้ที่เข้าใจผิดว่า อรรถะ เป็นสิ่งเดียวกันกับ พยัญชนะ ฯลฯ เป็นต้น หัวข้อ: เพิ่มเติม เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 31, 2009, 03:37:18 PM อ้างอิงจากหนังสือ มุตโตทัย ของท่านพระอาจารย์มั่น มีข้อความตอนหนึ่ง ดังนี้ ๑. การปฏิบัติ เป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าธรรมของพระตถาคต เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอม (สัทธรรมปฏิรูป) แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตสันดานของพระอริยเจ้าแล้วไซร้ ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง และเป็นของไม่ลบเลือนด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อยังเพียรแต่เรียนพระปริยัติถ่ายเดียว จึงยังใช้การไม่ได้ดี ต่อเมื่อมาฝึกหัดปฏิบัติจิตใจกำจัดเหล่า กะปอมก่า คือ อุปกิเลส แล้วนั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมบริสุทธิ์ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมด้วย |