หัวข้อ: กรรมฐาน ตามพระไตรปิฏก เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 07, 2008, 03:19:52 PM คำนำ
ในหัวข้อนี้ จะเป็นการนำข้อความเกี่ยวกับการภาวนาทำกรรมฐานจากพระไตรปิฏกขึ้นมาแสดง และอาจมีคำอธิบายประกอบ ซึ่งเป็นความรู้ ความเห็น ประสบการณ์ หรือการตีความของผู้อธิบายเอง มิได้ถือเป็นบรรทัดฐาน หรือคำตัดสินใดๆ เพียงเป็นการอธิบายเพื่ออรรถะอันอาจเป็นแง่คิดประโยชน์บางประการแก่ผู้ศึกษาบางพวกเท่านั้น ไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ใฝ่ธรรมควรทราบว่า ถ้อยคำ หรือพยัญชนะทั้งหลายในตำรา เป็นเพียงอุบายเครื่องมือเพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าถึงอรรถะประโยชน์ ดังนั้น การศึกษาตำราย่อมอาจมีประโยชน์ได้อย่างยิ่ง แต่ไม่ควรนับถ้อยคำทั้งหลาย เป็นที่สุด แต่ควรนับอรรถะประโยชน์ เป็นที่สุด ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การอ่านพระสูตรนี้ อาจจะรู้สึกว่ายาว หรือเข้าใจยาก แต่ก็ขอให้อ่านช้าๆ ให้ละเอียด อ่านให้ครบถ้วน อย่าเกี่ยงว่ายาวเกินไป เพราะธรรมเหล่านี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด บางครั้ง การขับรถไปหาครูบาอาจารย์ในที่ต่างๆ อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้ประโยชน์เท่ากับการอ่านพระสูตรเหล่านี้สักสามสิบนาทีเลยก็ได้ ขอให้ผู้ใฝ่ธรรม โปรดใส่ใจ หัวข้อ: กระทำจิต ให้เสมอด้วยแผ่นดิน เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 07, 2008, 05:00:49 PM ตั้งจิต ให้เสมอด้วยแผ่นดิน .....
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ๒. มหาราหุโลวาทสูตร เรื่องพระราหุล ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕ [๑๔๐] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.[๑๔๑] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. [๑๔๒] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนไฟที่เผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. [๑๔๓] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้ ดูกรราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. [๑๔๔] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. หัวข้อ: สุญญตสมาบัติ เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 08, 2008, 06:02:30 PM พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค [๓๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-๑. จูฬสุญญตสูตร (๑๒๑) สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขามิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ออกจากสถานที่หลีกเร้นอยู่ในเวลาเย็น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่สักยนิคมชื่อนครกะ ในสักกชนบท ณ ที่นั้น ข้าพระองค์ได้สดับ ได้รับพระดำรัสนี้เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ บัดนี้ เราอยู่มากด้วยสุญญตวิหารธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ข้าพระองค์ได้สดับดีแล้ว รับมาดีแล้ว ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้วหรือ ฯ [๓๓๔] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรอานนท์ แน่นอน นั่นเธอสดับดีแล้ว รับมาดีแล้ว ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว ดูกรอานนท์ ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้ เราอยู่มากด้วยสุญตวิหารธรรม เปรียบเหมือนปราสาทของมิคารมารดาหลังนี้ ว่างเปล่าจากช้าง โค ม้า และลา ว่างเปล่าจากทองและเงิน ว่างจากการชุมนุมของสตรีและบุรุษ มีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะภิกษุสงฆ์เท่านั้น ฉันใด ดูกรอานนท์ ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่ใส่ใจสัญญาว่าบ้าน ไม่ใส่ใจสัญญาว่ามนุษย์ ใส่ใจแต่สิ่งเดียว เฉพาะสัญญาว่าป่า จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในสัญญาว่าป่า เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในสัญญาว่าป่านี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยสัญญาว่าบ้าน และชนิดที่อาศัยสัญญาว่ามนุษย์เลย มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวายคือภาวะเดียวเฉพาะสัญญาว่าป่าเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าบ้าน สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่ามนุษย์ และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะสัญญาว่าป่าเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๓๕] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่ามนุษย์ ไม่ใส่ใจสัญญาว่าป่า ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะสัญญาว่าแผ่นดิน จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในสัญญาว่าแผ่นดิน เปรียบเหมือนหนังโคที่เขาขึงดีแล้วด้วยหลักตั้งร้อย เป็นของปราศจากรอยย่น ฉันใด ดูกรอานนท์ ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่ใส่ใจแผ่นดินนี้ ซึ่งจะมีชั้นเชิง มีแม่น้ำ ลำธาร มีที่เต็มด้วยตอหนาม มีภูเขาและพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ ทั้งหมด ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะสัญญาว่า แผ่นดิน จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในสัญญาว่าแผ่นดิน เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในสัญญาว่าแผ่นดินนี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยสัญญาว่ามนุษย์ และชนิดที่อาศัยสัญญาว่าป่า มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือภาวะเดียวเฉพาะสัญญาว่าแผ่นดินเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่ามนุษย์ สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าป่า และรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะสัญญาว่าแผ่นดินเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละเธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๓๖] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่าป่า ไม่ใส่ใจสัญญาว่าแผ่นดิน ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะอากาสานัญจายตนสัญญา จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในอากาสานัญจายตนสัญญา เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในอากาสานัญจายตนสัญญานี้ ไม่มีความกระวนกระวาย ชนิดที่อาศัยสัญญาว่าป่าและชนิดที่อาศัยสัญญาว่าแผ่นดิน มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือภาวะเดียวเฉพาะอากาสานัญจายตนสัญญาเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าป่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าแผ่นดิน และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะอากาสานัญจายตนสัญญาเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๓๗] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่าแผ่นดินไม่ใส่ใจอากาสานัญจายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะวิญญาณัญจายตนสัญญา จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในวิญญาณัญจายตนสัญญา เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในวิญญาณัญจายตนสัญญานี้ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยสัญญาว่าแผ่นดิน และชนิดที่อาศัยอากาสานัญจายตนสัญญา มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือภาวะเดียวเฉพาะวิญญาณัญจายตนสัญญาเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าแผ่นดิน สัญญานี้ว่างจากอากาสานัญจายตนสัญญาและรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะวิญญาณัญจายตนสัญญาเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลยและรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๓๘] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจอากาสานัญจายตนสัญญา ไม่ใส่ใจวิญญาณัญจายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะอากิญจัญญายตนสัญญา จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในอากิญจัญญายตนสัญญา เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในอากิญจัญญายตนสัญญานี้ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยอากาสานัญจายตนสัญญาและชนิดที่อาศัยวิญญาณัญจายตนสัญญา มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวายคือภาวะเดียวเฉพาะอากิญจัญญายตนสัญญาเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากอากาสานัญจายตนสัญญา สัญญานี้ ว่างจากวิญญาณัญจายตนสัญญา และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะอากิญจัญญายตนสัญญาเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละเธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลยและรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๓๙] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจวิญญาณัญจายตนสัญญา ไม่ใส่ใจอากิญจัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญานี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยวิญญาณัญจายตนสัญญาและชนิดที่อาศัยอากิญจัญญายตนสัญญา มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวายคือภาวะเดียวเฉพาะเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญาเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากวิญญาณัญจายตนสัญญา สัญญานี้ว่างจากอากิญจัญญายตนสัญญา และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือสิ่งเดียวเฉพาะเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญาเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๔๐] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจอากิญจัญญายตนสัญญา ไม่ใส่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในเจโตสมาธินี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยอากิญจัญญายตนสัญญาและชนิดที่อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา มีอยู่แต่เพียงความกระวนกระวายคือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากอากิญจัญญายตนสัญญา สัญญานี้ว่างจากเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญาและรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๔๑] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจอากิญจัญญาตนสัญญา ไม่ใส่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตนี้แล ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้ ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้นั้น ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่าในญาณนี้ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยกามาสวะ ชนิดที่อาศัยภวาสวะและชนิดที่อาศัยอวิชชาสวะ มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากกามาสวะ สัญญานี้ว่างจากภวาสวะ สัญญานี้ว่างจากอวิชชาสวะ และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นปัจจัย ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ [๓๔๒] ดูกรอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์ในอดีตกาลไม่ว่าพวกใดๆ ที่บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ก็ได้บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ในอนาคตกาลไม่ว่าพวกใดๆ ที่จะบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ก็จักบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ในบัดนี้ ไม่ว่าพวกใดๆ ที่บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ย่อมบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้เถิดว่า เราจักบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ จบ จูฬสุญญตสูตร ที่ ๑ ----------------------------------------------------- ๑. อากาสานัญจายตนะ ๒. วิญญาณัญจายตนะ ๓. อากิญจัญญายตนะ ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทั้งสี่ประการนี้ คือ ลำดับขั้นของอรูปฌานทั้งสี่ชั้น เจโตสมาธิ หมายถึง สมาธิจิต หรือจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ หมายเหตุ มีคนบางกลุ่ม แสดงความเห็นว่า สุญญตสมาบัติ นี้ เป็นฐานะของพระอริยะเท่านั้น และยังมีผู้ที่เชื่อ หรือประกาศเป็นที่สุด ว่า เป็นสมาบัติสำหรับพระอริยะเพื่อใช้พักผ่อนเท่านั้น ไม่ใช่กรรมฐานที่จะฝึกได้ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้ฝึก และไม่ใช่วิธีเจริญภาวนาจิต ไม่เป็นเหตุของการรู้แจ้งในสิ่งใดเลย ฯลฯ อาจจะเนื่องด้วยว่า มีอรรถกถา(ซึ่งเป็นการแปล ขยายความ และแสดงความเห็นของตนเพิ่มเติมลงในภายหลัง โดยพระสาวกในชั้นหลัง)แสดงไว้ว่า เป็นสมาบัติที่อาศัยอารมณ์พระนิพพาน ประกอบกับความเชื่อต่อๆกันมาว่า ในสมาบัตินั้น บุคคลจะพิจารณาสิ่งใดๆไม่ได้เลย ( แต่ในใจความเดิมตามพระไตรปิฏก ไม่ปรากฏว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้เช่นนั้นเลย ) ก็เป็นเหตุให้บางอาจารย์ หรือบางสำนัก ตำหนิติเตียน หรือหมิ่น ผู้ที่ใฝ่ศึกษาเพื่อเจริญสุญญตา ว่าเป็นผู้หลงบ้าง ผิดบ้าง หรือน่าเป็นห่วงบ้าง ฯลฯ (มีพระสูตรต่อ) หัวข้อ: สุญญตา และสัมปชัญญะ เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 11, 2008, 01:06:04 AM ๒. มหาสุญญตสูตร (๑๒๒) [๓๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธารามเขตพระนครกบิลพัสดุ์ในสักกชนบท ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งสบง ทรงบาตรจีวรแล้ว เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ เพื่อทรงพักผ่อนในเวลากลางวัน สมัยนั้นแล ในวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ มีเสนาสนะที่แต่งตั้งไว้มากด้วยกัน พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นเสนาสนะที่แต่งตั้งไว้มากด้วยกันแล้ว จึงมีพระดำริดังนี้ว่า ในวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ เขาแต่งตั้งเสนาสนะไว้มากด้วยกัน ที่นี่มีภิกษุอยู่มากมายหรือหนอ ฯ [๓๔๔] สมัยนั้นแล ท่านพระอานนท์กับภิกษุมากรูป ทำจีวรกรรมอยู่ในวิหารของเจ้าฆฏายะ ศากยะ ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ทรงหลีกเร้นอยู่แล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้าฆฏายะ ศากยะ แล้วประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ในวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ เขาแต่งตั้งเสนาสนะไว้มากด้วยกัน ที่นั่นมีภิกษุอยู่มากมายหรือ ฯ ท่านพระอานนท์ทูลว่า มากมาย พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จีวรกาลสมัยของพวกข้าพระองค์กำลังดำเนินอยู่ ฯ [๓๔๕] พ. ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่ ย่อมไม่งามเลย ดูกรอานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่นั้นหนอ จักเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ ตามความปรารถนาโดยไม่ยากไม่ลำบาก นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ ส่วนข้อที่ภิกษุเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่อยู่ พึงหวังเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ ดูกรอานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่นั้นหนอ จักบรรลุเจโตวิมุติอันปรารถนาเพียงชั่วสมัย หรือเจโตวิมุติอันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้ ส่วนข้อที่ภิกษุเป็นผู้ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่อยู่ พึงหวังบรรลุเจโตวิมุติอันน่าปรารถนาเพียงชั่วสมัย หรือเจโตวิมุติอันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ฯ ดูกรอานนท์ เราย่อมไม่พิจารณาเห็นแม้รูปอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ไม่เกิดโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เพราะความแปรปรวนและความเป็นอย่างอื่นของรูป ตามที่เขากำหนัดกันอย่างยิ่งซึ่งบุคคลกำหนัดแล้ว ฯ [๓๔๖] ดูกรอานนท์ ก็วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้นๆ นี้แล คือ ตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่ ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์เข้าไปหาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้นๆ ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ มีภายในปราศจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง จะเป็นผู้ทำการเจรจาแต่ที่ชักชวนให้ออกเท่านั้น ในบริษัทนั้นๆ โดยแท้ ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล ภิกษุถ้าแม้หวังว่า จะบรรลุสุญญตสมาบัติภายในอยู่ เธอพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้นตั้งจิตภายในให้มั่นเถิด ฯ [๓๔๗] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุจะดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่นได้อย่างไร ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (๑) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ฯ (๒) เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ฯ (๓) เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุข อยู่ ฯ (๔) เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯ ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่น ฯ ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายใน เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้ ฯ ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ... ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ... ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้ ฯ ดูกรอานนท์ ภิกษุนั้นพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่น ในสมาธินิมิตข้างต้นนั้นแล เธอย่อมใส่ใจความว่างภายใน เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในความว่างภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในความว่างภายใน ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้ ฯ ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ... ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ... ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้ ฯ [๓๔๘] ดูกรอานนท์ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะจงกรม เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌา และโทมนัส จักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการจงกรม ฯ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะยืน เธอย่อมยืนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำเราผู้ยืนอยู่แล้วอย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการยืน ฯ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนั่ง เธอย่อมนั่งด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำเราผู้นั่งอยู่แล้วอย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการนั่ง ฯ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนอน เธอย่อมนอนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำเราผู้นอนอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการนอน ฯ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะพูด เธอย่อมใส่ใจว่า เราจักไม่พูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเลวทราม เป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องพระราชาบ้าง เรื่องโจรบ้าง เรื่องมหาอำมาตย์บ้าง เรื่องกองทัพบ้าง เรื่องภัยบ้าง เรื่องรบกันบ้าง เรื่องข้าวบ้าง เรื่องน้ำบ้าง เรื่องผ้าบ้าง เรื่องที่นอนบ้าง เรื่องดอกไม้บ้าง เรื่องของหอมบ้าง เรื่องญาติบ้าง เรื่องยานบ้าง เรื่องบ้านบ้าง เรื่องนิคมบ้าง เรื่องนครบ้าง เรื่องชนบทบ้าง เรื่องสตรีบ้าง เรื่องคนกล้าหาญบ้าง เรื่องถนนหนทางบ้าง เรื่องทาสีในสถานที่ตักน้ำบ้าง เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้วบ้าง เรื่องเบ็ดเตล็ดบ้าง เรื่องโลกบ้าง เรื่องทะเลบ้าง เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยเหตุนั้นเหตุนี้บ้าง ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด และเธอใส่ใจว่า เราจักพูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด ฯ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะตรึก เธอย่อมใส่ใจว่า เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นวิตกที่เลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการตรึก และเธอใส่ใจว่า เราจักตรึกในวิตก เห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นวิตกของพระอริยะ เป็นเครื่องนำออก ที่นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ทำตาม คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในการตรึก ฯ [๓๔๙] ดูกรอานนท์ กามคุณนี้มี ๕ อย่างแล ๕ อย่างเป็นไฉน คือ รูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่รู้ด้วยโสต ... กลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ... รสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูกรอานนท์ นี้แล กามคุณ ๕ อย่าง ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า มีอยู่หรือหนอแลที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่า มีอยู่แล ที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เรายังละไม่ได้แล้ว แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ไม่มีเลยที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เราละได้แล้ว ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องกามคุณ ๕ ฯ [๓๕๐] ดูกรอานนท์ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้แล ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอยู่ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ เธอผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่ ย่อมละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้แล้ว ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕ ฯ ดูกรอานนท์ ธรรมนั้นๆ เหล่านี้แล เนื่องมาแต่กุศลส่วนเดียว ไกลจากข้าศึก เป็นโลกุตระ อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้ ดูกรอานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สาวกมองเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงควรใกล้ชิดติดตามศาสดา ฯ ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นเหตุ มีพระผู้มีพระภาคเป็นแบบอย่าง มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึงอาศัย ขอได้โปรดเถิดพระพุทธเจ้าข้า เนื้อความแห่งพระภาษิตนี้ แจ่มแจ้งเฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้ ฯ [๓๕๑] พ. ดูกรอานนท์ สาวกไม่ควรจะติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังสุตตะ เคยยะ และไวยากรณ์เลย นั่นเพราะเหตุไร เพราะธรรมทั้งหลายอันพวกเธอสดับแล้ว ทรงจำแล้ว คล่องปากแล้ว เพ่งตามด้วยใจแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยความเห็น เป็นเวลานาน ดูกรอานนท์ แต่สาวกควรจะใกล้ชิดติดตามศาสดาเพื่อฟังเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อความกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ ฯ ดูกรอานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น จะมีอุปัททวะของอาจารย์อุปัททวะของศิษย์อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ฯ [๓๕๒] ดูกรอานนท์ ก็อุปัททวะของอาจารย์ย่อมมีได้อย่างไร ดูกรอานนท์ ศาสดาบางท่านในโลกนี้ ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้งและลอมฟาง เมื่อศาสดานั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบทจะพากันเข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว ศาสดานั้นจะปรารถนาอย่างหมกมุ่น จะถึงความวุ่นวาย จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ดูกรอานนท์ ศาสดานี้เรียกว่า อาจารย์มีอุปัททวะด้วยอุปัททวะของอาจารย์ อกุศลธรรมอันลามกเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าศาสดานั้นเสียแล้ว ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล อุปัททวะของอาจารย์ย่อมมีได้ ฯ [๓๕๓] ดูกรอานนท์ ก็อุปัททวะของศิษย์ย่อมมีได้อย่างไร ดูกรอานนท์ สาวกของศาสดานั้นแล เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามศาสดานั้น ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นจะปรารถนาอย่างหมกมุ่น จะถึงความวุ่นวาย จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ดูกรอานนท์ สาวกนี้เรียกว่า ศิษย์มีอุปัททวะด้วยอุปัททวะของศิษย์ อกุศลธรรมอันลามก เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสีแล้ว ดูกรอานนท์ อย่างนี้แลอุปัททวะของศิษย์ย่อมมีได้ ฯ [๓๕๔] ดูกรอานนท์ ก็อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้อย่างไร ดูกรอานนท์ ตถาคตอุบัติในโลกนี้ ได้เป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก อย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ตถาคตนั้นย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อตถาคตนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว ตถาคตนั้นย่อมไม่ปรารถนาอย่างหมกมุ่น ไม่ถึงความวุ่นวาย ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ดูกรอานนท์ ส่วนสาวกของตถาคตผู้ศาสดานั่นแล เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามตถาคตผู้ศาสดา ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อสาวกนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นย่อมปรารถนาอย่างหมกมุ่น ถึงความวุ่นวาย เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ดูกรอานนท์ สาวกนี้เรียกว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีอุปัททวะ ด้วยอุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ อกุศลธรรมอันลามก เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ ฯ ดูกรอานนท์ ในอุปัททวะทั้ง ๓ นั้น อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้ มีวิบากเป็นทุกข์ มีวิบากเผ็ดร้อนกว่าอุปัททวะของอาจารย์และอุปัททวะของศิษย์ ทั้งเป็นไปเพื่อความตกต่ำด้วย ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงเรียกร้องเราด้วยความเป็นมิตร อย่าเรียกร้องเราด้วยความเป็นข้าศึก ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเธอตลอดกาลนาน ฯ [๓๕๕] ดูกรอานนท์ ก็เหล่าสาวกย่อมเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นข้าศึก ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นมิตรอย่างไร ดูกรอานนท์ ศาสดาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้นไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ดูกรอานนท์ อย่างนี้แลเหล่าสาวกชื่อว่าเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นข้าศึก ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นมิตร ฯ [๓๕๖] ดูกรอานนท์ ก็เหล่าสาวกย่อมเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นมิตร ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นข้าศึกอย่างไร ดูกรอานนท์ ศาสดาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ เหล่าสาวกของศาสดานั้น ย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้และไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เหล่าสาวกชื่อว่าเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นมิตร ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นข้าศึก ฯ ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงเรียกร้องเราด้วยความเป็นมิตร อย่าเรียกร้องด้วยความเป็นข้าศึก ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พวกเธอตลอดกาลนาน ดูกรอานนท์ เราจักไม่ประคับประคองพวกเธอเหมือนช่างหม้อประคับประคองภาชนะดินดิบที่ยังดิบๆ อยู่ เราจักข่มแล้วๆจึงบอก จักยกย่องแล้วๆ จึงบอก ผู้ใดมีแก่นสาร ผู้นั้นจักตั้งอยู่ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ จบ มหาสุญญตสูตร ที่ ๒ ----------------------------------------------------- หมายเหตุ อาเนญชสมาบัติ ในบางความหมาย หมายถึง อรูปฌาน ๑. สังเกตว่า ท่านเน้นเสมอว่า เมื่ออาศัยรูปฌานเป็นฐาน เป็นธรรมเอก แล้วใส่ใจในความว่าง หรือใส่ใจในอรูปสมาบัติ(เป็นสมาบัติอันว่างจากนิมิตแห่งรูปฌาน) แล้วรู้ชัดว่าน้อมเข้าไปแล้ว หรือยังไม่น้อมเข้าไปในความว่างนั้น นับเป็น "ความรู้สึกตัว" ซึ่งหมายถึง สัมปชัญญะ และสัมปชัญญะเป็นสิ่งที่เกิดได้เมื่อมีสติเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่า หมายถึง มีทั้งสติ และสัมปชัญญะอยู่ และเมื่ออาศัยธรรมนี้เป็นวิหารธรรม (ธรรมอันเป็นเครื่องอาศัย เป็นที่ตั้ง) แล้ว เมื่อบุคคลนั้นน้อมใจกระทำสิ่งต่างๆ เช่น การเดินจงกรม การยืน การนั่ง การนอน (สี่อย่างนี้ รวมกัน เรียกว่า อิริยาบท ๔) การพูด การตรึก การพิจารณาธรรมต่างๆ ฯลฯ ก็จะกล่าวได้ว่า บุคคลนั้น มีความรู้สึกตัวในการนั้น ก็คือหมายถึง มีสติ และสัมปชัญญะอยู่ ในการกระทำต่างๆ หรือในอิริยาบทต่างๆ นี่เอง ก็คือคำตอบของผู้ที่พยายามฝึกให้มีสติ และสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน ว่า วิหารธรรมใด จะเป็นเหตุให้ไม่เผลอสติ ไม่ขาดสัมปชัญญะได้ ๒. บางท่านจะพอรู้มาว่า บางสำนัก ได้เน้นให้ฝึกให้มีสติกำหนดรู้ในอิริยาบทต่าง (ซึ่งก็หมายถึงอิริยาบท ๔ นั้นเอง) เช่นว่า เวลาเดิน ก็ให้รู้การก้าว ย่าง สัมผัสที่ส่วนต่างๆของเท้าที่กำลังกระทบพื้นเป็นลำดับ ฯลฯ ก็ให้บริกรรมว่า อย่างนั้นหนอ อย่างนี้หนอ เป็นต้น ก็เ็ป็นวิถีทางอย่างหนึ่ง แต่ ตามพระสูตรนี้ ท่านมิได้นับที่การรู้กระทบอย่างนั้น แต่ ท่านนับตรงที่การรู้ชัดว่า อกุศลธรรม ไม่สามารถครอบงำจิตได้อยู่ จึงจะเรียกว่า การเดินจงกรมนั้น การยืนนั้น การนั่งนั้น การนอนนั้น ฯลฯ เป็นไปโดยมีสติ และสัมปชัญญะ คือ รู้สึกตัวอยู่ หัวข้อ: การพิจารณานิมิต และความคิด เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ สิงหาคม 13, 2008, 06:13:11 PM พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร ว่าด้วยอาการแห่งวิตก [๒๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว. [๒๕๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้หมั่นประกอบอธิจิต ควรมนสิการถึงนิมิต ๕ ประการ ตามเวลาอันสมควร นิมิต ๕ ประการเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล เหมือนช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้ผู้ฉลาด ใช้ลิ่มอันเล็ก ตอก โยก ถอน ลิ่มอันใหญ่ออก แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่ออาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศลประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล เมื่อเธอมนสิการนิมิตนั้นอันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล อันประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายใน นั้นแล. [๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นว่า วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศล แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษ แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบาก แม้อย่างนี้ ดังนี้ เมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่ชอบแต่งตัว รู้สึกอึดอัด ระอา เกลียดชังต่อซากงู ซากสุนัข หรือซากมนุษย์ ซึ่งผูกติดอยู่ที่คอ [ของตน] แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นว่า วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศล แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษ แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบาก แม้อย่างนี้ ดังนี้ เมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายใน นั้นแล [๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะ อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ไม่ต้องการจะเห็นรูปที่ผ่านมา เขาพึงหลับตาเสีย หรือเหลียวไปทางอื่นเสีย แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ฯลฯ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล. [๒๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนบุรุษพึงเดินเร็ว เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะเดินเร็วทำไมหนอ ถ้ากระไร เราพึงค่อยๆ เดิน เขาก็พึงค่อยๆ เดิน เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราค่อยๆเดินไปทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรยืน เขาพึงยืน เขาพึงมีความคิดอย่างนี้อีกว่า เราจะยืนทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรนั่ง เขาพึงนั่ง เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะนั่งทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรนอน เขาพึงลงนอน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษคนนั้น มาผ่อนทิ้งอิริยาบถหยาบๆ เสีย พึงสำเร็จอิริยาบถละเอียดๆ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้น หากว่าเมื่อเธอมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ฯลฯ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล. [๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกแม้เหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ภิกษุนั้นพึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับ จิตด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนบุรุษผู้มีกำลังมากจับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่าไว้ได้แล้วบีบ กด เค้นที่ศีรษะ คอ หรือก้านคอไว้ให้แน่น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกแม้เหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ภิกษุนั้นพึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตไว้ด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตอยู่ได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล. ผู้ชำนาญในทางเดินแห่งวิตก [๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วย ฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล เมื่อภิกษุนั้นถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล เมื่อภิกษุนั้นมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล เมื่อภิกษุนั้นกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ชำนาญในทางเดินของวิตก เธอจักจำนงวิตกใด ก็จักตรึกวิตกนั้นได้ จักไม่จำนงวิตกใด ก็จักไม่ตรึกวิตกนั้นได้ ตัดตัณหาได้แล้ว คลี่คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ [ได้มารู้ยิ่งซึ่งธรรมของท่านที่เป็นพระอรหันต์โดยชอบ]พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของผู้มีพระภาค แล้วแล. จบ. วิตักกสัณฐานสูตร ที่ ๑๐ จบ สีหนาทวรรค ที่ ๒ ----------------------------------------------------- ข้อสังเกต ๑. พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนถึงเรื่องการทำจิตให้ธรรมเอกผุดขึ้น อยู่เสมอ ๒. ในพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสสอนว่า "... ภิกษุผู้หมั่นประกอบอธิจิต ควรมนสิการถึงนิมิต ๕ ประการ ตามเวลาอันสมควร ... " สังเกตว่า มีบางอาจารย์ หรือบางสำนักในชั้นหลัง สอนเป็นเด็ดขาดว่า ให้ปฏิเสธนิมิตทุกชนิด ทั้งๆที่การพ้นไปจากนิมิตทั้งหลายได้แล้วนั้น เป็นฐานะของพระอรหันต์เท่านั้น ไม่ใช่ฐานะของปุถุชน พระโสดาบัน พระสกิทาคามี หรือพระอนาคามี ดังนั้น ผู้ยังไม่บรรลุอรหันต์ ย่อมอาศัยนิมิตอยู่เป็นธรรมดา ถึงแม้เจ้าตัวจะไม่รู้ก็ตาม ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ผู้ที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์อาศัยนิมิตเป็นเครื่องระลึก เป็นเครื่องพิจารณา และทรงสอนให้พิจารณาเฟ้นนิมิตที่ควร ที่เกื้อกูล ที่เป็นกุศล แก่การภาวนาเพื่อความหลุดพ้นไปจากความยึดมั่นถือมั่นในนิมิตทั้งหลาย มิใช่ปฏิเสธทั้งหมดในทันที แต่ให้พิจารณากำหนดละนิมิตที่ทราม ที่เป็นอกุศล ไปก่อน เป็นลำดับ อีกประการหนึ่ง ผู้ที่จะกล่าวว่า ต้องไม่ไปใส่ใจนิมิตทั้งหมด ควรที่จะเป็นผู้ศึกษานิรุติบัญญัติ(ความหมายของถ้อยคำภาษา)ให้ดีเสียก่อน ว่า คำว่า "นิมิต" หมายรวมครอบคลุมถึงสิ่งใดบ้าง เพราะหลายคนเข้าใจว่า "นิมิต" หมายถึง การไปเห็นอดีต อนาคต การไปเห็นภาพสวรรค์ นรก ผีสาง เทวดา ฯลฯ อันพิศดาร ก็จริงอยู่ว่า เหล่านี้เป็นนิมิต แต่ที่จริงแล้ว คำว่า "นิมิต" ครอบคลุมสภาวะ หรืออาการทั้งหลาย ที่จิตหมายมั่นอยู่ทั้งสิ้น เ่ช่น ผู้เจริญอานาปานสติ ก็ย่อมมีลมหายใจของตน เป็น "นิมิต" อันตั้งอยู่ อาศัยอยู่ เป็นเครื่องระลึกอยู่ หรือแม้แต่การเจริญสติปัฏฐานสี่ อันได้แก่การพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม ทั้งหลายนี้ ก็เป็นการอาศัยพิจารณาในนิมิตอยู่ ทั้งสิ้น ฯลฯ เป็นต้น บางท่าน อาจเคยผ่านตามาบ้างว่า คำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ในเรื่องการภาวนาจิต มีคำสอนตอนหนึ่งว่า "รูปนิมิต ให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิต อย่าไปใส่ใจ" ซึ่งบางอาจารย์ก็พยายามแปลความหมายข้อความนี้ในเชิงว่า อย่าไปใส่ใจทั้งรูปนิมิต ทั้งนามนิมิตนั่นแหละ ก็ขอให้ผู้ที่อ่านข้อความนี้แล้ว พิจารณาเองด้วยตน ว่าสำนวนเช่นนี้ ควรจะแปลว่าอย่างนี้หรือไม่ หรือบางท่าน อาจสงสัยว่า รูปนิมิต ต่างจากนามนิมิตอย่างไร ก็รูปนิมิต หมายถึง รูป ลักษณะ อาการ หรือสภาวะอะไรก็ตาม ที่มีสภาพ ซึ่งจิตรับรู้อยู่ หรือหมายรู้อยู่ นั่นเอง ส่วนนามนิมิต ก็หมายถึง การไปเจตนากำหนดชื่อ หรือความหมาย ให้แก่รูป ลักษณะ อาการ หรือสภาวะอะไรก็ตาม ที่มีสภาพ ซึ่งจิตรับรู้อยู่ นั่นเอง อย่างไรก็ดี เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ไม่พัวพันอยู่ในนิมิตทั้งหลาย เป็นธรรมดา แต่ก็ดังที่กล่่าวไว้แล้วว่า ยังไม่ใช่ฐานะของผู้ที่ยังไม่จบกิจ อีกประการหนึ่ง ผู้ที่อาศัยพิจารณานิมิตอยู่ ควรระลึกรู้ว่า นิมิต เหล่านี้ เป็นเพียงอุบาย เป็นเครื่องมืออาศัยพิจารณา เพื่อความถอดถอนเท่านั้น และพึงระลึกรู้ว่า นิมิตทั้งหลาย ไม่เที่ยง ไม่ถาวร เปรียบเสมือนเรือ หรือแพ ที่ใช้ข้ามน้ำ ข้ามฝั่ง จะมีประโยชน์พึงอาศัย ก็ต่อเมื่อยังไม่ถึงฝั่งที่หมายเท่านั้น เมื่อถึงแล้ว ก็ย่อมควรสละ ส่วนเมื่อยังไม่ถึงฝั่งนั้น ย่อมอาศัยเรือ หรือแพ คือ นิมิต อันเกื้อกูล เช่นว่า นิมิต อันเป็นกุศล นิมิตอันป้องกันอกุศล นิมิตอันเป็นเครื่องให้ถึง อธิจิต(หมายถึง จิต ที่ปราศจากบาป อกุศล กิเลส อุปกิเลส นิวรณ์ เครื่องหมอง ฯลฯ อันปิดบัง ครอบงำจิตอยู่) ซึ่งที่จริง เรื่องความหมายของ อธิจิต นี้ ก็มีประเด็นอยู่ เนื่องด้วยลักษณะ หรือคุณสมบัติของอธิจิตนี้ เป็นคุณสมบัติที่ปรากฏอยู่เฉพาะแก่จิตที่อยู่ในอัปปนาสมาธิ หรือที่เรียกว่า ฌาน เท่านั้น เพราะจิตที่เข้าไม่ถึงฌาน จะไม่มีกำลังพอที่จะอยู่เหนือความครอบงำของโมหะได้(จึงมีข้อความในพระสูตรหนึ่งอธิบายในเชิงว่า ที่ประเสริฐประณีตยิ่งกว่าการเข้าถึง ศีล คือ การเข้าถึงสมาธิ ที่ประเสริฐประณีตยิ่งกว่าการเข้าถึง สมาธิ คือ การเข้าถึงญาณทัศนะ ที่ประเสริฐประณีตยิ่งกว่าการเข้าถึง ญาณทัศนะ ก็คือ การบรรลุฌานต่างๆ อันได้แก่ สมาบัติทั้ง ๘ รวมไปถึงสมาบัติที่ ๙(นิโรธสมาบัติ) อันจะได้แสดงพระสูตรดังกล่าวนี้ในหัวข้ออื่นต่อๆไปเมื่อมีโอกาส ดังนี้เอง ครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญพระไตรปิฏกในระดับโลก ในระดับสากล เช่น ท่าน ปอ.ปยุตโต ท่านจึงได้ให้เรียกแทนคำว่า "อธิจิต" นี้ ด้วยคำว่า "สมาธิ" ก็ได้เช่นกัน แต่ด้วยความไม่ทั่วถึงในธรรม บางอาจารย์ที่ยังมิได้เชี่ยวชาญพอ แต่สำคัญตนว่าเชี่ยวชาญแล้ว ไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยกับความเห็นนี้ ก็ได้พยายามคัดค้านว่า ไม่ใช่ความหมายเดียวกัน ไม่ควรเรียกแทนด้วยคำว่า "สมาธิ" ก็พยายามยกเอาหลักการจากพระอภิธรรม เรื่ององค์ประกอบของเจตสิก มาอธิบาย ว่า ต้องประกอบด้วยเจตสิกตัวนั้น ตัวนี้ โดยมิได้เฉลียวว่า องค์ประกอบของเจตสิกดังที่ตนได้อ้างมานั้น เป็นองค์ประกอบของเจตสิก ที่ปรากฏอยู่ร่วมกันในจิตที่เป็นฌานเท่านั้น ไม่ใช่อุปจาระสมาธิ และไม่ใช่ขณิกะสมาธิ และอารมณ์โลกุตตระก็เป็นอารมณ์อัปปนา ไม่ใช่เป็นอุปจาระ หรือขณิกะสมาธิ อย่างที่บางอาจารย์เข้าใจกัน เพราะโลกุตตระธรรม เป็นธรรมไม่ปรวนแปรไปตามโลกธาตุ ดังนั้น จึงเป็นธรรมมั่นคง เป็นอมตะธรรม ไม่ปรวนแปร ไม่เป็นขณะๆ(ขณิกะสมาธิ) ไม่เป็นธรรมที่เกือบมั่นคงแต่ยังไม่มั่นคง(อุปจาระสมาธิ) ดังนี้เอง พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้พระสาวกเป็นผู้ไม่ทำฌานให้ห่าง(หมายถึง ไม่ทำจิตให้ห่างจากฌาน หรือหมายถึง ให้ทำฌานให้บังเกิดเสมอๆนั่นเอง) ดูได้ตามลิ๊งค์นี้ http://dhamma.living.in.th/webboard/index.php?topic=76.msg85#msg85 และยังทรงตรัสถึงเหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการ ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม ซึ่งปัจจัยข้อที่ ๕ นั้น ก็คือ การขาดความเคารพยำเกรงใน สมาธิ นั่นเอง ดูได้ตามลิ๊งค์นี้ http://dhamma.living.in.th/webboard/index.php?topic=14.0 แต่อย่างไรก็ดี การไปยึดมั่นถือมั่นในฌาน หรือการไปยึดติดความสุขความเพลิดเพลินในฌานโดยสุดโต่ง ขาดการพิจารณาด้วยปัญญา ย่อมอาจเป็นเหตุให้พลาดโอกาสที่จะบรรลุธรรมอันยิ่งๆขึ้นไปได้ เช่น พระนิพพาน ดังนั้น ฌาน ควรทำให้มาก แต่ ความสุดโต่่งยึดมั่นถือมั่นในฌาน ว่าเป็นสิ่งที่วิเศษสุดแล้ว ไม่ควรมี การบรรลุฌาน แล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นในฌานที่ตนบรรลุ ได้ชื่อว่า บรรลุสมถะ การบรรลุปัญญาในธรรมใดแล้ว เป็นเหตุให้พ้นไปจากชื่อของธรรมนั้นได้ เรียกว่า บรรลุวิปัสสนา ผู้ที่สำคัญตนว่า รู้แล้ว หรือเป็นผู้รู้ มีมาก แต่ ผู้ที่รู้แล้ว ไม่สุดโต่งในสิ่งที่ตนรู้ หาได้ยากในโลก เป็นแก่นสำคัญของ มัฌชิมาปฏิปทา อันมีแต่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่มีในคำสอนของศาสดาในศาสนาอื่น ๓. มีบางอาจารย์พยายามสอนว่า การบรรลุธรรมสูงสุด คือ การพ้นไปจากความคิด หรือพยายามสอนว่า การเจริญภาวนาที่ถูกต้องอันประกอบไปด้วยสติ และสัมปชัญญะนั้น หากมีสติรู้อยู่อย่างถูกต้อง ความคิดจะต้องดับไป บ้างก็สอนให้พยายามตามดูความคิด ที่จริงก็เป็นอุบายที่อาจมีประโยชน์ในบางกรณี แต่ ยังไ่ม่ใช่แ่ก่นที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน หรือบางอาจารย์ก็พยายามอธิบายเกินฐานะของตนไปว่า ผู้บรรลุพระนิพพาน ต้องดับความคิด ต้องไม่มีความคิด ต้องหมดความนึกคิด ฯลฯ เป็นต้น ในตอนท้ายของพระสูตรนี้ จะเห็นว่า พระพุทธดำรัสมีดังนี้ว่า " ... ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ชำนาญในทางเดินของวิตก เธอจักจำนงวิตกใด ก็จักตรึกวิตกนั้นได้ จักไม่จำนงวิตกใด ก็จักไม่ตรึกวิตกนั้นได้ ตัดตัณหาได้แล้ว คลี่คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ ... " สังเกตว่า ท่านตรัสถึงฐานะของผู้ที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว(หมายถึงพระอรหันต์)ด้วยประการฉะนี้ ว่า ย่อมเป็นผู้ที่จะตรึกในสิ่งใดเรื่องใดก็ได้ หรือจะไม่ตรึกในสิ่งใดเรื่องใดก็ได้ ตามปรารถนา เช่นนี้แล้ว พระอรหันต์ ย่อมไม่ใช่ผู้ที่ห้ามคิด แต่ เป็นผู้ที่่มีอิสระในการคิด(การตรึก)อย่างยิ่งยวดต่างหาก เพราะเป็นผู้ที่ตรึกด้วยเจตจำนงของตน ไม่เป็นผู้ที่ตรึกไปเพราะอำนาจครอบงำ หรืออำนาจบีบคั้น แห่งอกุศล อุปกิเลส ตัณหา สังโยชน์ และมานะ ฯลฯ ดังนั้น การบรรลุพระนิพพาน จึงไม่ใช่การบรรลุถึงความเป็นก้อนหิน เป็นตอไม้ที่ตายแล้ว คิดไม่ได้ รับรู้สิ่งใดๆไม่ได้ ฯลฯ แต่ประการใด ก็สรุปได้ประการหนึ่งว่า การภาวนาเพื่อความหลุดพ้นนั้น ไม่ได้นับเพียงแค่ความคิด หรือความไม่คิดนั้น เป็นแก่นเลย เพราะผู้ที่กำลังเจริญสู่ความหลุดพ้น ก็คิดได้ ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว ก็คิดได้ ดังพระสูตรในตอนต้นนี้ แต่ก็จริงอยู่ว่า การคิด หรือการตรึกในสิ่งใดๆในโลก ไม่ใช่แก่นของพระนิพพาน ๔. ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ มีบางอาจารย์ บางสำนัก พยายามแสดงธรรม โดยสอนให้หมิ่นในการกดข่ม อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของขันติธรรม เช่นสอนว่า สมถะคือการกดข่ม ก็จริงอยู่ว่าในบางกรณี สมถะเกิดเพราะอาศัยการกดข่มก่อน แต่ไม่ใช่ความหมายในเชิงไม่ดีดังที่หลายที่พยายามสอนกันอยู่ว่าไม่ใช่วิถีสู่ความหลุดพ้น ไม่เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ฯลฯ อันเป็นความเข้าใจเพียงเปลือก เพียงกระพี้ ไม่รู้แก่น เป็นเหตุให้หมิ่นทั้งสมถะธรรม และหมิ่นทั้งการกดข่ม เช่นสอนว่า การกดข่ม หรือสมถะ มีแต่จะทำให้ตึง เครียด จิตเป็นอกุศล ฯลฯ เป็นต้น ก็จริงอยู่ว่า การกดข่ม บังคับ ไม่ได้ดีเสมอไป แต่การไม่รู้จักกดข่ม อดกลั้น หรือบังคับจิตใจของตนในเวลาที่ควร ก็ไม่ดีเช่นกัน ลองพิจารณาจากพระสูตรข้างต้นดังจะยกส่วนมา ดังนี้ " [๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกแม้เหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ภิกษุนั้นพึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับ จิตด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล ..... " พุทธบริษัททั้งหลาย จึงควรไตร่ตรองคำตรัสสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ดี ให้ทั่วถึง ให้แยบคาย ก็จะพอจำแนกได้บ้าง ว่าคำสอนในชั้นหลังเหล่านี้ ส่วนใดสอดคล้องกับคำเดิมของพระพุึทธองค์ พึงน่าเชื่อถือ หรือส่วนใดไม่สอดคล้อง พึงพิจารณาให้แยบคาย หรือหากส่วนใดขัดแย้ง ย่อมควรระวังให้จงมาก เพราะเคยมีปรากฏว่า บางอาจารย์ สอนโดยตัด(หมิ่น)คำสอนบางข้อของพระศาสดา ในส่วนที่ตนเองไม่เคยเจริญ หรือไม่เคยบรรลุถึง ว่าธรรมข้อนั้นไม่มีจริง หรือเป็นเท็จ หรือไม่ใช่ฐานะอันพึงมีได้ หรือแม้กระทั่ง บางอาจารย์ ก็ถึงกับสอนขัดกับหลักธรรมบางข้อในพระไตรปิฏกทั้งๆที่บางทีก็พยายามยกพระไตรปิฏกขึ้นมาอ้างบ่อยๆ(แต่ก็ยกขึ้นมาเฉพาะในส่วนที่หากอ่านแบบลวกๆทั่วๆไปแล้ว จะดูคล้ายๆว่าสนับสนุนทิฏฐิของผู้อ้าง) พอเมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้น ก็เริ่มมีผู้ที่ศึกษาพระสูตร(อันเป็นบ้ันทึกคำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้า)มาพอสมควร ได้มารู้มาเห็นคำสอนของอาจารย์เหล่านี้ ก็รู้ว่าขัดกับคำพระพุทธเจ้า บางคนเห็นเช่นนี้ ก็รังเกียจ ปลีกตัวออกห่าง แต่บางคนก็ตำหนิ ประกาศแย้งขึ้นว่า ขัดกับพระไตรปิฏกในข้อนั้น ในข้อนี้ อาจารย์เหล่านั้น บางท่านก็แสดงเหตุผลไถลไป ว่าสิ่งที่สอนไปนั้นไม่ได้หมายถึงอย่างนั้นอย่างนี้ มิได้ขัดกับพระไตรปิฏกอย่างนั้นอย่างนี้ ขาดความละอาย ขาดความซึ่อตรงในธรรม เช่นว่า สิ่งที่สอนลับหลัง ไม่สอดคล้องกันกับสิ่งที่กล่าวอยู่ต่อหน้า ฯลฯ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เกรงกลัวว่าจะเสื่อมลาภ สักการะ ชื่อเสียง เกรงกลัวว่าจะพึงถึงการถูกตำหนิ ติเตียน หรือความอับอาย หรือแม้กระทั่งถูกลงโทษ แต่ถึงจะพยายามไถลไปกระนั้นแล้วก็ตาม ความเป็นจริงก็รู้เห็นได้จากทิฏฐิ อันแสดงออกภายนอกทางกริยา และวาจาของศิษย์ผู้ศรัทธา ใกล้ชิด และเจริญรอยตามคำสอนอันลับหลังเหล่านั้นอยู่ ฯลฯ เป็นต้น การอดทน อดกลั้น หรือบังคับกดข่มในสิ่งใดก็ตาม หากเป็นเหตุให้ลด ละ หรืออยู่ห่างจากกิเลสตัณหาได้ ย่อมเป็นกุศล ย่อมเป็นสิ่งควรเจริญ ขันติบารมี จึงมี การอดทน อดกลั้น หรือบังคับกดข่มในสิ่งใดก็ตาม หากเป็นเหตุให้เพิ่ม ติดข้องอยู่ หรือพาตนให้ไม่สามารถอยู่ห่างจากกิเลสตัณหาได้ ย่อมเป็นอกุศล ย่อมไม่ควรเจริญ |