กระดานธรรมะ

กระดานสนทนาธรรม => ชี้แจงข้อธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: zen ที่ กรกฎาคม 14, 2008, 04:36:00 PM



หัวข้อ: ปัญญาวิมุติ ฉลาดกว่า เจโตวิมุติ ?
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ กรกฎาคม 14, 2008, 04:36:00 PM
          บางคนจะเข้าใจต่อๆกันมาว่า ผู้ที่สำเร็จปัญญาวิมุติ คือผู้ที่มีปัญญามากกว่า หรือมีนิสัยไปในทางปัญญา มากกว่าผู้ที่บรรลุโดยเจโตวิมุติ บ้างก็ว่า เจโตวิมุติ เหมาะแก่ผู้มีจริตนิสัยไปทางสมถะ ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับนิสัย วิธีการเจริญกรรมฐาน หรือปัญญาเลย เพราะผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานได้นั้น จะต้องบรรลุปัญญาเฉกเช่นเดียวกัน ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสชอบไว้แล้วในพระวินัยปิฏกว่า

"ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ไม่มีอาสวะเพราะสิ้นอาสวะ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันนี้แหละเข้าถึงอยู่"

ความหมายว่า ทั้งสองอย่างนั้น ก็ล้วนสิ้นอาสวะ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทั้งคู่  ดังนั้น ปัญญา ไม่ใช่เครื่องจำแนกความแตกต่างระหว่าง เจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อย่างที่หลายคนเข้าใจเลย โดยแท้แล้ว เหตุที่มีบุคคลบรรลุโดยเจโตวิมุต และปัญญาวิมุตินั้น เป็นเพราะอำนาจแห่งอินทรีย์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคลต่างหาก ดังเช่นข้อความตอนหนึ่งจากพระไตรปิฏก ดังนี้




พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

 
๔. มหามาลุงโกฺยวาทสูตร
ทรงโปรดพระมาลุงกยะและพระอานนท์
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕


            [๑๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ามรรคนี้ ปฏิปทานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิย*สังโยชน์ ๕ เมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร ภิกษุบางพวกในพระศาสนานี้ จึงเป็นเจโตวิมุติ บางพวกเป็นปัญญาวิมุติเล่า.
             ดูกรอานนท์ ในเรื่องนี้ เรากล่าวความต่างกันแห่งอินทรีย์ ของภิกษุเหล่านั้น.
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
                                     จบ มหามาลุงโกฺยวาทสูตร ที่ ๔.

                          -----------------------------------------------------




          ดังนั้น การที่มีบุคคลบางจำพวก พยายามแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถือพวก ชูธง ว่าอย่างไหนดีกว่ากัน มีปัญญามากกว่ากัน ง่ายกว่ากัน หรือเป็นทางลัดสั้นมากกว่าอีกฝ่าย นั้น เป็นเพียงพฤติกรรมของผู้ที่ยังไม่ทั่วถึงในธรรม และยังสุดโต่งอยู่ เท่านั้น ที่จริงแล้ว ในบรรดาท่านที่บรรลุโดยเจโตวิมุติ แต่ละท่าน ก็มิได้บรรลุโดยอุบายเดียวกัน หรือโดยสติปัฏฐานเดียวกัน และในบรรดาท่านที่บรรลุโดยปัญญาวิมุติ ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น มหาสติปัฏฐาน จึงเป็นข้อธรรมที่เป็นอนันตนัย กล่าวคือ อุบายที่บุคคลทั้งหลายจะเข้าถึงธรรมอันบริสุทธิ์ได้นั้น ไม่ซ้ำกัน ร้อยบุคคล ล้านบุคคล ก็ร้อยวิธี ล้านวิธี ไม่ซ้ำกัน อันเป็นวิสัยของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะกำหนดรู้ได้ทั่วถึงทั้งหมด ไม่ใช่วิสัยของพระสาวก ที่จะกำหนดรู้ได้ทั้งหมด