กระดานธรรมะ

กระดานสนทนาธรรม => ชี้แจงข้อธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: zen ที่ พฤศจิกายน 16, 2008, 03:44:19 PM



หัวข้อ: ข้อแตกต่างของเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุต
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ พฤศจิกายน 16, 2008, 03:44:19 PM
          เจโตวิมุติ หรือ การหลุดพ้นด้วยจิต คือ การหลุดพ้นโดยสภาพ หรือการหลุดพ้นจากสิ่งมีสภาพอันปรากฏได้แก่จิต ก็กิเลส อุปกิเลส ตัณหา ภวราคะ ทั้งหลาย เป็นสิ่งมีสภาพ บางทีเรียกว่า คือ อารมณ์ของจิต นั่นเอง

          ส่วนปัญญาวิมุติ หรือ การหลุดพ้นด้วยปัญญา คือ การหลุดพ้นด้วยความเป็นพยาน ด้วยความรู้ยิ่งในเหตุ ในผล ในวิธี ในอาการ ในสภาพ แห่งความหลุดพ้น

          กล่าวโดยย่อก็คือ เจโตวิมุติ คือ การเข้าถึงสภาพที่จิตพ้นไปจากอาการปรุงแต่งทั้งหลาย ส่วนปัญญาวิมุติ ก็คือ ความรู้แจ้งในสภาพความเป็นจริงของจิตที่พ้นไปแล้วจากความปรุงแต่งทั้งหลาย นั่นเอง ดังนั้น ผู้บรรลุเจโตวิมุติ ย่อมบรรลุปัญญา ผู้บรรลุปัญญาวิมุติ ย่อมมีได้ด้วยเจโตวิมุติ (หมายถึง เกิดปัญญารู้การหลุดพ้นไป เพราะอาศัยการเป็นพยานรู้เห็นสภาพอันหลุดพ้นไปแล้วของจิต) เฉกเช่นผู้บรรลุความเป็นอริยะได้ ย่อมกระทำนิโรธให้แจ้งก่อน จึงจะกำหนดมรรคเพื่อเป็นหนทางเจริญไปจนถึงความบริบูรณ์ในกิจ หรือความบริบูรณ์ในนิโรธได้ นั่นเอง ต่างกันเพียงว่า มรรค เมื่อกำหนดได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่ต้องเจริญไปจนกว่าจะถึงความบริบูรณ์ ส่วนปัญญาวิมุตินี้ เมื่อรู้แล้ว เกิดแล้ว ก็นับว่าสำเร็จ โดยความเป็นผล ไม่ใช่โดยความเป็นเหตุ(ที่กล่าวว่า ไม่ใช่ด้วยความเป็นเหตุ ก็เพราะเป็นสิ่งที่เมื่อบรรลุแล้ว ก็นับว่าบริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องเจริญซ้ำอีก)

          อย่างไรก็ดี เจโตวิมุติ ยังแบ่งเป็นสองจำพวกหลักๆ คือ เจโตวิมุติอันกำเริบได้ และ เจโตวิมุติอันไม่กำเริบ หากเป็นเจโตวิมุติชนิดที่สิ้นอาสวะแล้ว ก็เรียกว่า ไม่กำเริบ หากเป็นชนิดที่ยังไม่สิ้นอาสวะ ก็เรียกว่า เจโตวิมุติอันไม่กำเริบ นอกจากนี้ เจโตวิมุติ ยังอาจจำแนกได้เป็นชนิดที่เกิดขึ้นได้โดยอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง และชนิดที่ไม่อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง ชนิดแรกเสื่อมได้ ส่วนชนิดที่สองไม่สามารถเสื่อมได้

          อนึ่ง ทั้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า บุคคลจะบรรลุได้ ก็ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทั้งสองประการ ไม่ใช่ว่าเจโตวิมุติไม่ต้องอาศัยปัญญาอันยิ่ง ไม่ใช่ว่าปัญญาวิมุติอย่างเดียวเท่านั้นที่บรรลุด้วยการอาศัยปัญญาอันยิ่ง แต่ที่ต่างกันก็คือ ผล จะสังเกตว่า ตามพระไตรปิฏก จะมีตรัสถึงเจโตวิมุติโดดๆ ทั้งชนิดที่เสื่อมได้ และชนิดที่ไม่กำเริบ ส่วนปัญญาวิมุตินั้น จะทรงตรัสคู่กับเจโตวิมุติเสมอ เช่นว่า "เจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะทำอาสวะให้สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง" เช่นเดียวกับที่ได้ตรัสถึงสมถะ และวิปัสสนา ว่า ทั้งสองประการนี้ เป็นธรรมที่ควรเจริญให้ยิ่ง ด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าการเจริญสมถะไม่ใช้ปัญญา ไม่ใช่ว่ามีแต่วิปัสสนาอย่างเดียวเท่านั้นที่ใช้ปัญญา เพียงแต่ ผลของสมถะคือความสงบ ผลของวิปัสสนาคือปัญญา ฯลฯ