กระดานธรรมะ

กระดานสนทนาธรรม => ชี้แจงข้อธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: zen ที่ มกราคม 05, 2010, 02:57:53 PM



หัวข้อ: ความตั้งมั่น
เริ่มหัวข้อโดย: zen ที่ มกราคม 05, 2010, 02:57:53 PM

          คำแปลโดยทั่วไปของความว่า สัมมาสติ มักแปลว่า ความระลึกชอบ และแปลความหมายของคำว่า สัมมาสมาธิ ว่า ความตั้งจิตมั่นชอบ

          แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงความหมาย หรือ สภาพ ของ สติ ในลักษณะอย่างอื่นด้วย เช่นว่า สภาพตั้งมั่นแห่งสติ สภาพมั่นคงแห่งสติปัฏฐาน เป็นต้น และมีคำตรัสถึงสมาธิว่า สภาพไม่ฟุ้งซ่านแห่งสมาธิ

          ผู้ยังไม่เข้าใจ ก็อาจสับสนได้ ก็ที่จริงแล้ว ลักษณะที่จิตตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว สัญญาเดียว ไม่น้อมไปตามอารมณ์อื่น สัญญาอื่น ก็เรียกว่า ไม่ฟุ้งซ่าน โดยนัยยะนี้เรียกว่า เป็นสมาธิ หรือเป็นสมถะ หรือบางที่ในพระไตรปิฏกท่านก็เรียกว่า อธิจิต และโดยนัยยะที่จิตสามารถกั้นได้จากอารมณ์อื่น หรือสัญญาอื่น ไม่ให้กำเริบ ครอบงำ หรือเป็นอารมณ์ได้ เรียกว่า สติ ก็จึงเรียกได้ว่า เป็นสภาพมั่นคงแห่งสติ

          นอกจากนี้แล้ว ความตั้งมั่นนี้ ยังอาจจำแนกแบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ ลักษณะแรก เป็นลักษณะที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เพราะเหตุว่าไม่น้อมไปในอารมณ์อื่น (บางครั้งท่านตรัสเรียกว่า เป็นสภาพที่จิตมีธรรมเอกผุดขึ้น) และลักษณะที่ ๒ เป็นลักษณะที่จิตตั้งมั่นอยู่ เพราะเหตุว่าไม่น้อมไปในอารมณ์ใดๆเลย ลักษณะอย่างที่ ๒ นี้ นับว่าเป็นสติที่บริสุทธิ์ยิ่งกว่า เพราะเป็นสภาพที่จิตตั้งมั่นโดยบริสุทธิ์หมดจดยิ่งกว่า และการแบ่งลักษณะของความตั้งมั่นเป็น ๒ ลักษณะ หรือเป็น ๒ ประเภทเช่นนี้ ยังเป็นเครื่องจำแนกแบ่งแยกสมาบัติออกเป็น ๒ ประเภท คือ โลกียะสมาบัติ และโลกุตตระสมาบัติ อีกด้วย